บายศรีจากใบตอง

ความเป็นมา

ในสมัยโบราณ ใบตองมีบทบาทมากในชีวิตประจำวัน เช่น การนำใบตองมาห่ออาหารห่อขนม ช่วยให้อาหารขนมมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ใช้ห่อผัก ห่อดอกไม้ช่วยให้สดทนนาน ตลอดจนนำมาประดิษฐ์เป็นชิ้นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มีรูปร่าง รูปทรงสวยงามประณีตยิ่งขึ้น เพื่อเป็นภาชนะบรรจุสิ่งของ เช่น กระทง ถาด กระเช้า สำหรับบรรจุหรือจัดวางอาหาร ขนม ผลไม้ ดอกไม้ นำไปให้บุคคลซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในวันปีใหม่ วันขึ้นบ้านใหม่ วันสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

ปัจจุบันการจัดงานมงคลต่าง ๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ บวช แต่งงาน งานต้อนรับ งานตกแต่งสถานที่ ฯลฯ และงานประเพณีต่าง ๆ เช่น ลอยกระทง แห่เทียนพรรษา การไหว้ครู งานใบตองยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านั้น และทำให้เกิดอาชีพรับประดิษฐ์งานใบตองในรูปแบบต่าง ๆ เป็นอาชีพทำรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554 ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 6 ประเด็น โดยประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยและการส่งเสริมงานศิลปาชีพ กศน.อำเภอร้องกวาง จึงได้น้อมนำพระราชเสาวนีย์ มาดำเนินการจัดทำหลักสูตรงานใบตองขึ้น ซึ่งเป็นหลักสูตรที่บูรณาการต้นทุนทางด้านวัฒนธรรมการจัดดอกไม้แบบไทยและขนบประเพณีของไทย เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้นำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพ อีกทั้งส่งเสริมให้มีเจตคติที่ดีต่องานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติเห็นแนวทางในการอนุรักษ์ส่งเสริมสนับสนุนและสืบทอด รวมทั้งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นพัฒนาลักษณะรูปแบบของงานใบตองให้เข้ากับยุคสมัย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ยังคงความสวยงามแบบไทยไว้ อีกทั้งเน้นให้ผู้เรียนได้มีความรู้เรื่องการประกอบอาชีพและการจัดการอาชีพอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม