ลอยกระทง

การลอยกระทงของคนในภาคเหนือ นิยมทำกันในเดือนยี่เป็ง เพื่อบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า แต่ในปัจจุบันได้มีการจัดงานวันลอยกระทงในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน๑๒ โดยจัดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ในหลายๆจังหวัด เช่น ประเพณีกระทงสาย ของจังหวัดตากเป็นพิธีที่น้ำเอาพระพุทธศาสนาภูมิปัญญาของชาวบ้าน มาหล่อหลอมกันจนเป็นรูปแบบที่โดดเด่น ซึ่งชาวบ้านได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น เมื่อเราน้ำกระทงมาลอยกระทงจะไหลไปตามร่องน้ำเกิดเป็นสายยาวต่อเนื่องทำให้แสงไฟของกระทงส่องแสงระยิบระยับเป็นสายยาวทำให้ดูแล้วสวยงามมาก ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาเป็นการประกวดกระทงสวย ส่วนประกอบของกระทงสาย มีดังนี้ 1. กระทงนำ เป็นกระทงที่มีขนาดที่ใหญ่ที่ตกแต่งด้วยใบตองสด ซึ่งประกอบไปด้วยดอกไม้สดหลากหลายที่สันที่มีความสวยงามพร้อมมีผ้าสบง เครื่องกระยาบวช หมาก พลู ขนม ฯลฯ เพื่อทำพิธีจุดธูปเทียวบูชาแม่น้ำคงคาและบูชาพระพุทธเจ้า และจากนั่นก็น้ำลงลอยเป็นอันดับแรก

2. กระทงตาม เป็นกระทงกะลามะพร้าวที่ไม่มีรู นำมาขัดถูให้สะอาด ภายในกะลานี้ ใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อด้วยเทียนไขหรือน้ำผึ้ง สำหรับเป็นเชื้อไฟจุดก่อนปล่อยลงลอย

3. กระทงปิดท้าย เป็นกระทงขนาดกลาง ที่ตกแต่งอย่างสวยงามคล้ายกระทงน้ำแต่มีขนาดที่เล็กกว่า เป็นการบ่งบอกถึงการสิ้นสุดการลอยของสายนั่นๆ

ภาคเหนือตอนบนนิยมทำโคมลอย เรียกว่า"ลอยโคม" หรือ"ว่าวฮม" หรือ"ว่าวควัน" ทำจากผ้าบางๆแล้ว สุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบอลลูน ประเพณีของชาวเหนือนี้เรียก"ยี่เป็ง" หมายถึงการทำบุญวันเพ็ญเดือนยี่(ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย) จังหวัดเชียงใหม่มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ในทุกๆปี จะมีการจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาและปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า

ประเพณีเดือนยี่เป็ง

เมื่อเริ่มขึ้นหนึ่งค่ำเดือนยี่ ทุกวัดวาอารามในภาคเหนือจะจัดเตรียมสถานที่ปัดกวาดวิหาร ศาลาให้สะอาดงดงาม แล้วจัดเตรียมสิ่งต่อไปนี้

ทำราชวัตรรอบวิหารหรือศาลา และทำประตูป่าหน้าทางเข้าวัด หรือหน้าวิหารทำโคมค้าง โคมแขวน โคมหูกระต่าย โคมรังมดส้ม (มดแดง) โคมรูปต่างๆ บางรายทำเป็นรูปเครื่องบิน ทำโคมผัดหรือโคมเวียนทำว่าวหรือโคมลอย โดยการนำกระดาษสามาต่อกันเป็นทรงกลม ทำส่วนหัวและปากโคมลอยให้มีสัดส่วนเท่ากัน ไม่เช่นนั้น โคมลอยจะไม่ลอยขี้นไป ลักษณะโคมลอยมีหลายแบบ เช่น แบบลูกฟัก แบบกล่อง หรือกระติ๊บข้าว แบบรังมดส้ม แล้วแต่ช่างผู้ทำจะเห็นอย่างไร โคมลอยมีลักษณะการปล่อย 2 อย่าง คือ โคมที่ใช้ปล่อยตอนกลางวันเรียกว่า ว่าว จะใช้การรมควัน คือ เพิ่มควันเข้าไปในตัวโคมลอยหรือว่าวเรื่อยๆ จนพองตัวมีความดันสูงขึ้น จนดึงมือ แล้วปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า

โคมลอยที่ใช้ปล่อยตอนกลางคืน มีกรรมวิธีเช่นเดียวกันกับโคมลอยว่าวตอนกลางวัน แต่แตกต่างกันที่เขาใช้ท่อนไม้พันด้ายเป็นก้อนกลม ๆ ชุบด้วยน้ำมันยางหรือน้ำมันขี้โล้ จนชุ่มแล้วทำที่แขวนติดกับปากโคมลอย เมื่อรมควันจนได้ที่แล้ว เข้าจะจุดไฟท่อนผ้าที่เตรียมไว้แล้วผูกติดกับปากโคมลอย ปล่อยขึ้นสู่อากาศ โคมลอยจะลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ และลอยไปตามกระแสลมจะมีลักษณะเป็นดวงไฟ คล้ายดาวเคลื่อนไปในเวหาอันเวิ้งว้างน่าดูยิ่งนัก แต่โคมลอยที่ปล่อยกลางคืนนี้ เป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นมาก บางครั้งผ้าที่ชุบน้ำมันยังไม่หมดเชื้อ ปรากฏว่า ว่าวตกลงมาก่อน จึงเกิดไหม้บ้านเรือน หรือย่านป่าที่แห้งจัด เกิดไฟไหม้ป่าลุกลามไป ดังนั้นโคมลอยที่ใช้ปล่อยตอนกลางคืนจึงขาดความนิยมไป

การทำบอกไฟ ประกอบด้วยบอกไฟหลายชนิด เช่น บอกไฟดอก (ดอกไม้ไฟ) บอกไฟดาว (พลุ) บอกไฟเทียน บอกไฟวี (เทียนเล็ก) บอกไฟช้างร้อง บอกไฟจักจ่า บอกไฟท้องตัน บอกไฟขี้หนู งานเกี่ยวกับดอกไม้ไฟเหล่านี้นิยมทำกันตามวัดต่างๆ อาศัยตำราทางเคมีแต่โบราณ เรียกกันว่า ตำราเล่นแร่ หรือตำราปะตา (ปรอท) เป็นคู่มือในการผสมดินประสิว กำมะถัน (มาด) และถ่านให้ถูกส่วนกัน ทำบอกไฟแต่ละชนิดขึ้นจุดในวันประเพณีเดือนยี่ มีคัมภีร์ที่กล่าวถึงการทำโคมลอย ทำว่าวไว้ด้วย หากคนใดทำจะมีอานิสงส์ 1 กากณึก และการปล่อยขึ้นไปนั้นเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ดาวดีงส์ด้วย

การเตรียมเดือนยี่ของประชาชน

เมื่อเทศกาลเดือนยี่มาถึงแล้ว ประชาชนจะมีความสนุกสนานรื่นเริง เพราะฟ้าฝนและฤดกาลเป็นใจ จึงได้เตรียมการไว้หลายอย่างหลายประการ คือ

เตรียมเครื่องแต่งกาย นุ่งหย้อง เพื่อจะใส่ไปวัดในวัดเดือนเพ็ง หรือวันอื่น ๆ ซึ่งหนุ่มสาวจะเตรียมกันเป็นพิเศษ เพราะที่วัดคือดินแดนแห่งอิสรเสรีในการเลือกคู่รัก คู่แพงเตรียมโคมหูกระต่าย โคมราวไว้ เพื่อประดับบูชาหน้าบ้านเรือนของตน

เตรียมผางผะติ๊ด (ถ้วยประทีป) ไว้ตามอายุของคนในเรือน เช่น อายุพ่อ อายุแม่และลูก มีกี่คนก็เตรียมการไว้หมด โดยไปหาถ้วยประทีปใส่ตีนกาและน้ำมัน หรือขี้ผึ้งไว้เป็นที่เรียบร้อย นำไปบูชาในวันเดือนยี่เพ็งเตรียมกันฑ์ธรรม หรือกัณฑ์เทศน์สำหรับจะนำไปฟังเทศน์ ตามคัมภีร์ธรรมชะตาวัน ชะตาเดือน และชะตาปี ที่นิยมกันมาแต่โบราณกาล เกี่ยวกับธรรมชะตานี้ ผู้ถวายจะต้องไปจ้างให้คนจารลงในใบลานเป็นผูก ๆ แต่ละเรื่อง แล้วประกอบพิธีการลบธรรมด้วยเขม่า และน้ำมันยาง จนเห็นตัวอักษรชัดเจน ผูกสายสยอง คือ ด้ายไว้สำหรับเทศน์ เรียกกันว่า ธรรมใหม่หรือคัมภีร์ แล้วทายกทายิกาจะเครียมไว้ที่ต้นกัณฑ์ ให้พระหยิบขึ้นเทศน์ ในตอนท้ายพระธรรมหรือคัมภีร์ จะมีชื่อผู้จารและผู้บริจาคไว้เช่น “ปถมมูลศรัทธา นายอภิชาต นางบัวเลี่ยม พร้อมด้วยลูกเต้า ได้ทานไว้ค้ำชูศาสนา 5000 พระวสา ขอสุขสามประการ มีพระนิพพานเป็นยอด จิ่มเทอะ” การกระทำของล้านนาแบบนี้จึงเกิดเป็นการสั่งสมพระคัมภีร์ต่างๆ ทางศาสนาไว้มากมาย นับเป็นล้านๆ ผูก นับเป็นกุศโลบายที่ดีเยี่ยมในการอนุรักษ์วิทยาการของบรรพบุรษไว้ได้นาน

เตรียมบุปผาลาชาข้าวตอกดอกไม้ ชาวบ้านจะเอาข้าวเปลือก ข้าวฟ่าง ไปคั่วทำเป็นข้าวตอก เพื่อใช้โปรยเวลามีงาน เช่น โปรยเวลามีขบวนแห่ โปรยเวลาเทศน์มหาชาติกัณฑ์นคร ตอนมาถึงเวลาฝนห่าแก้ว รัตนธาราตกลงมา การเตรียมดอกไม้เครื่องประดับสถานที่ เช่น ทำโคมระย้า อุบะดอกไม้นำไปถวายพระในวัด เป็นความเชื่อถือที่มีค่าอย่างนึ่ง คือ หากใครได้ถวายดอกไม้และข้าวตอกบูชา เกิดมาในภพชาติใดจะเป็นผู้มีกลิ่นหอม และเป็นคนมีเสน่ห์น่ารักแก่ประชาชน เมื่อใกล้วันเดือนยี่มาถึง ประชาชนจึงเตรียมข้าวตอกดอกไม้ไว้เป็นเครื่องบูชา

การเตรียมอาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ เป็นประเพณีเดือนยี่มาแต่โบราณแล้ว หากวันขึ้น 14 ค่ำมาถึง ประชาชนจะพากันตระเตรียมของถวายพระสงฆ์ คือ อาหาร ขนม และผลไม้ อาหารประกอบด้วย แกงอ่อม แกงฮังเล ห่อนึ่ง (ห่อหมก) และลาบ อาหารเหล่านี้เป็นอาหารพื้นเมืองที่นิยมทำกันในสังคมล้านนามาช้านาน ขนมประกอบด้วย ขนมจ็อก (ขนมเทียน) ข้าวต้ม ถั่วแปบ ข้าวต้มหัวหงอก ขนดปาด (ศิลาอ่อน) ฯลฯ ผลไม้ที่ปลูกกันในท้องถิ่นก็มี กล้วยต่างๆ ส้มโอ ส้มเกลี้ยง และอื่นๆ อาหารการกินเหล่านี้จะนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัดในวันรุ่งขึ้น

การถวายประกอบด้วย

การทานขันข้าว คือ นำอาหารใส่ถาดไปถวายพระสงฆ์ เพื่อให้ตนเองได้บุญกุศลและต้องการจะอุทิศบุญกุศลแก่บรรพชนของตน เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว

การถวายอาหารภายในวิหาร คือ การนำเอาอาหารไปรวมกันแล้วถวายพระสงฆ์ ผลประโยชน์ที่ได้รับคือ การได้เข้าวัดเป็นการไปสังสรรค์กัน ได้พูดจาปราศรัยเล่าสารทุกข์สุกดิบให้แก่กันและกัน

การนำเอากัณฑ์เทศน์ หรือกัณฑ์ธรรม ไปถวายโดยนิมนต์พระสงฆ์ให้มาเทศน์คัมภีร์ ซึ่งทายกผู้นั้นเตรียมไว้

การเตรียมประเพณีใส่บาตรข้าวพระเจ้าหลวง การถวายข้าวมธุปายาส การถวายข้าว 49 ก้อน การใส่บาตรข้าวพระเจ้าหลวง การต่างชอมต่อแบไทยใหญ่ การถวายข้าวทิพย์

ประวัติและความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงล้านนาไทย

ประเพณีลอยกระทงในภาคเหนือ หรือที่เรียกตามหนังสือตำนานโยนก และจามเทวีวงศ์ว่า “ประเพณีลอยโขมด” หรือลอยไฟนั้น เป็นประเพณีที่สนุกสนานครึกครื้นมาก แม้ว่าจะไม่เป็นการใหญ่โตเหมือนปัจจุบัน คือ ก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือน 12 ใต้ ก็จัดการปัดกวาดแผ้วถางบ้านเรือน สถานที่ให้สะอาดเรียบร้อย ประดับประดาด้วยธงชาติ จัดเปลี่ยนดอกไม้ในแจกันหิ้งบูชาพระ จัดเตรียมประทีปหรือเทียนขี้ผึ้งไว้สำหรับจุดบูชาพระ ที่ประตูบ้านก็จะหาต้นกล้วย ต้นอ้อย ก้านมะพร้าว หรือไม้อื่นๆ มาประดิษฐ์ทำเป็นซุ้มประตูป่า แบบต่างๆ ให้เป็นที่สวยงาม บ้างก็จัดหาดอกบานไม่รู้โรยหรือที่เมืองเหนือเรียกว่า “ดอกตะล่อม” มาร้อยเป็นอุบะห้อยไว้ตามขอบประตู ประตูเรือน หรือประตูห้อง หรือหิ้งบูชาพระ ผู้ที่มีใจศรัทธาแรงกล้าถึงกับทำมากๆ แล้วนำไปประดับประดาตามวัดเป็นพุทธบูชา หรือเมื่อประดับประดาดอกไม้เรียบร้อยแล้ว ก็หาโคมญี่ปุ่นหรือประทีปมาเตรียมไว้ เพื่อจะได้ใช้ตามไฟในงาน

ในขณะเดียวกันตามวัดวาอารามหรือสถานที่สำคัญก็จะจัดสถานที่ให้สวยงามเป็นพิเศษ ที่ซุ้มประตูของวัด และในพระวิหารก็จัดตกแต่งด้วยดอกไม้ โคมไฟสวยงาม และบ้างก็ประดิษฐ์โคมชนิดหนึ่งรอบๆ จะมีรูปสัตว์ต่างๆ อยู่ภายในโคม แขวนหรือตั้งไว้ในวัด เมื่อจุดไฟแล้วจะมองเห็นภาพต่างๆ ในโคมนี้ ตามภาษาพื้นเมือง เรียกว่า “โคมผัด” ในงานวันนั้นรอบ ๆ บริเวณก็จะจุดไฟด้วยเทียน หรือตั้งประทีปไว้รอบ ๆ เพื่อเป็นการบูชาระลึกถึงพระพุทธเจ้า นอกจากมีการประดับประดาโคมไฟแล้ว ทุกวัดก็จะมีการทำบุญทางศาสนา ในตอนเช้าของวันเพ็ญและมีการฟังเทศน์มหาชาติ แบบพื้นเมือง ซึ่งการเทศน์พระธรรมกถึกผู้เทศน์จะต้องใช้เคล็ดในการเทศน์ให้ฟังกันอย่างสนุกสนาน และได้เนื้อหาทางศีลธรรมพร้อมๆ กันไป

สำหรับประเพณีการลอยกระทงในภาคเหนือนี้ ตามหนังสือพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาก) และหนังสือจามเทวีวงศ์ ว่าสอดคล้องกันดังนี้ เมื่อจุลศักราช 309 หรือ พ.ศ. 1490 พระยาจุเลราชได้ครองราชสมบัติต่อจากกมลราชในลำพูน สมัยนั้นลำพูนได้เกิดโรคระบาด หรือที่ตำนานว่า “โรคหิว” หรือ “โรคห่า” หรือ “อหิวาตกโรค” ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก พวกที่ยังไม่ตายเห็นว่าถ้าอยู่ในเมืองลำพูนต่อไปก็ต้องตายแน่ จึงพากันอพยพไปอาศัยอยู่ยังเมือง “สุธรรมวดี” คือเมืองสะเทิม ประเทศรามัญ หรือมอญ เพราะชาติไทยเราสมัยนั้นลงมาตั้งอยู่แต่เมืองเชียงแสนเท่านั้น ต่อมาพระเจ้าพุกามกษัตริย์พม่าตีได้เมืองสะเทิม และได้เก็บเอาบุตรธิดาของชาวเมืองไปเป็นบาทบริจาริกาเป็นอันมาก เมื่อเบื่อหน้าก็ทอดทิ้งเสีย พวกชาวเมืองหริภุญชัย ก็อพยพหลบหนีไปอาศัยอยู่กับพระเจ้าหงสาวดี ซึ่งทรงอนุเคราะห์เป็นอย่างดี ไปอยู่นานถึง 6 ปี ครั้นทราบว่าโรคระบาดสงบลงแล้ว ก็คิดถึงบ้านเมืองเดิมของตัว ก็พากันกลับมายังลำพูนอีด ครั้นถึงวัน เดือน ปี ครบรอบที่ได้จากพี่น้อง ทางเมืองหงสาวดีมา ก็จัดแต่งธูปเทียน เครื่องสักการบูชาใส่ในกระทงลอยไปตามแม่น้ำเป็นการส่งเสริมความคิดถึงไปยังญาติพี่น้อง ที่อยู่เมืองหงสาวดี นั้น เรียกว่า ลอยโขมด หรือลอยไฟ และถือเป็นประเพณีสืบมา