กระเป๋าย่าผ้าทอกะเหรี่ยง บ้านห้วยหละ

 "สืบสานภูมิปัญญาวิถีชีวิต ชาวกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิม"

นายธนา หวันห้อ

เลขานุการ กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านห้วยหละ หมู่ที่ 3
ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

ประวัติความเป็นมา 
"ผ้าทอกะเหรี่ยงลายโบราณ" จนกลายมาเป็น       "กระเป๋าย่ามผ้าทอกะเหรี่ยง"

การทอผ้า หรือ "การทอ" (อังกฤษ : weaving) ถือเป็นศิลปะและหัตถกรรมหรืองานฝีมืออย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นกรรมวิธีการผลิตผืนผ้าโดยใช้เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนมาขัดประสานกันจนได้เป็นผืนผ้า ทั้งนี้ต้องมีเครื่องมือในการทอ เรียกว่า หูก หรือกี่ (ในภาษาไทยถิ่นอีสาน มักเรียกการทอผ้าว่า "ตำหูก")

การทอผ้าในภาคเหนือแถบล้านนาไทย (จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน) โดยเฉพาะในกลุ่มชาวไทยโยนก หรือไทยยวน และชาวไทยลื้อ ซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมของล้านนาไทย มีความเชื่อเรื่องการตั้งถิ่นฐาน ในสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขา และมีทางน้ำไหล ผู้หญิงไทยยวน และไทยลื้อในปัจจุบันนี้ ยังรักษาวัฒนธรรมการทอผ้า ในรูปแบบ และลวดลายที่สืบทอดกันมา โดยเฉพาะการทอ ซิ่นตีนจก ผ้าขิต และผ้าที่ใช้เทคนิค "เกาะ" เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไท อาศัยอยู่ในแถบภาคเหนือบริเวณล้านนาไทย เช่น ลื้อ ลัวะ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ มอญ และไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เช่น แม้ว มูเซอ อีก้อ เย้า ลีซอ เป็นต้น ชนกลุ่มน้อย เหล่านี้ ต่างก็มีวัฒนธรรมการทอผ้าซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผ้าฝ้าย และตกแต่งเป็นลวดลายสัญลักษณ์ที่แสดงเอกลักษณ์เผ่าพันธุ์ของกลุ่มชนของตนเอง ทั้งสิ้น

เสน่ห์ที่หาชมได้ยาก

ผ้าทอกะเหรี่ยง มีลักษณะเป็นผ้าทอหน้าแคบ ที่ใช้เครื่องมือทอแบบห้างหลัง หรือที่เรียกกันว่า 'กี่เอว' ผ้าที่ทอจะถูกกำหนดตามความต้องการใช้งานตั้งแต่เริ่มต้นทอ เช่น ผ้าทอสำหรับเสื้อ ผ้าทอสำหรับผ้าซิ่น ผ้าทอสำหรับผ้าโพกศรีษะ หรือผ้าทอสำหรับทำเป็นย่าม  

ศิลปะลวดลายบนผืนผ้าของชนเผ่ากะเหรี่ยง มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่แสดงถึงตัวตนของชนเผ่ากะเหรี่ยงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ลวดลายต่างๆ มักเกิดจากการสังเกต การใช้จินตนา การนำเอาลักษณะเด่นจากสิ่งที่พบเห็นในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งพืชพรรณ ดอกไม้ ต้นไม้ สัตว์น้อยใหญ่ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดไปจนถึงประเพณีและคตินิยมของชนเผ่ามาประยุกต์ถ่ายทอดลงสู่ลวดลายบนผืนผ้าได้อย่างงดงาม ด้วยเทคนิคการสร้างสรรค์ลวดลายที่หลากหลาย ทั้งการจก การทอยกดอก การมัดหมี่ การปักด้วยด้ายหรือไหมพรมหลากสี เอกลักษณ์ลวดลายที่มีลักษณะเป็นลวดลายดั้งเดิมที่ปรากฎบนผืนผ้าทอกะเหรี่ยงที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน เป็นลวดลายที่พบได้ในกะเหรี่ยงโปวและปกากะญอแทบทุกพื้นที่ เช่น ลักษณะลายเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนรูปแบบต่างๆ ลายดอกไม้ ลายเส้นตรง ลายกากบาท 

บ้านห้วยหละ เป็นหมู่บ้านชนเผ่าชาวกะเหรี่ยง มีภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมานาน การทอผ้าเป็นการทอแบบวิถีดั้งเดิม ลายผ้าแบบโบราณ การทอเรียกว่าทอแบบ กี่เอว หรือ การทอแบบห้างหลัง โดยใช้อุปกรณ์เครื่องทอขนาดเล็กเรียกว่า กี่เอว ลักษณะการทอผ้าแบบกี่เอวนี้ ผู้ทอจะต้องนั่งกับพื้น เหยียดขาขนานตรงไปข้างหน้าทั้งสองข้าง มีสายคาด (สายคาดอาจทำด้วยแผ่นหนัง หรือผ้าที่ทบกันหลายๆ ชั้น หรือเชือกที่ฝั้นเป็นเกลียวให้แข็งแรง) ที่ผูกติดด้วยด้ายเส้นยืนคาดรัดโอบไปด้านหลังของเอว อีกด้านหนึ่งจะผูกมัดกับเสาเรือนหรือโคนต้นไม้ หรือหลักที่มีความเข็งแรงก็ได้ 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอ

ประกอบด้วย

 1) ฉือหย่า (ด้าย) 

2) คว่าผี่ (ผ้าพันสะโพก) 

3) หย่าสือผี่ (ไม้กระทบ) 

4) หย่าคู้ลูถู (ไม้แยกด้าย) 

5) หย่าลู่ดา (ไม้ค้ำเอว) 

ขั้นตอนการทอผ้ากะเหรี่ยงด้วยกี่เอว มีดังนี้ 

1) คล้องเส้นด้ายลงหลักที่ 1 แล้วสาวเส้นด้ายผ่านหลักที่ 2-5 แล้วคล้องหลักที่ 6 จากนั้นจึงสาวกลับมาคล้องหลักที่ 1 อีก

2) ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึงเสมอกัน แล้วนำมาพันรอบหลักที่ 2

3) ดึงด้ายให้ตึงเสมอกัน พาดด้านหน้าหลักที่ 3 เป็นจุดแยกด้าย

4) ใช้ด้ายอีกกลุ่มหนึ่งเป็นด้ายตะกอ สอดเข้าไประหว่างด้ายหรือแยกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน

5) ส่วนที่ไม่ได้คล้องตะกอ แยกเส้นด้ายผ่านหลังไปหลักที่ 4 และส่วนที่คล้องตะกอให้ดึงผ่านหน้าหลักที่ 4

6) ดึงด้ายให้ตึง พันรอบหลักที่ 6 แล้วสาวด้ายให้ตึงอีกครั้ง

7) ดึงด้ายกลับมาเริ่มที่หลักที่ ๑ อีกครั้ง โดยทำตาม 1-6 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ความสูงและความกว้างที่ต้องการ

8) หากต้องการสลับสี ก็เปลี่ยนสีด้าย

9) ถอดไม้ออกจากเครื่องทอ แล้วรั้งผ้าไปผูกไว้กับฝาเสาหรือระเบียงเรือนให้มีความสูงประมาณศีรษะของผู้ทอ

10) นำไม้ค้ำเอวและผ้าพันสะโพกผูกรอบเอวของผู้ทอ ดึงเครื่องทอให้ตึงพอประมาณ แล้วจึงเริ่มทอ

ขั้นตอน
การทำกระเป๋าย่ามผ้าทอกะเหรี่ยง

แผนที่การเดินทางติดต่อ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอกะเหรี่ยง กลุ่มชาวบ้านบ้านห้วยหละ


ข้อมูลการติดต่อ นายธนา หวันห้อ  เลขานุการ กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านห้วยหละ  หมู่ที่ 3  ตำบลป่าพลู  อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โทร: 093-2950713



ข้อมูลเนื้อหา โดย นายธนา  หวันห้อ

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นายทวีศักดิ์  ศรีชัยวงศ์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นายทวีศักดิ์  ศรีชัยวงศ์และนายธนา หวันห้อ