อนุสรณ์สถาน ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี บ้านแม่เทยพัฒนา หมู่ที่14


                       อนุสรณ์สถาน ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี บ้านแม่เทยพัฒนา หมู่ที่14                                                                   ครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี) เกิดเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ.2431                                                                           สภาณภาพ : มรณภาพ (เมื่อ 03 มีนาคม พ.ศ.2520)

 ปีพุทธศักราช 2431 ณ หมู่บ้านแม่เทย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในสมัยนั้น ความเจริญยังมาไม่ถึง มีความทุรกันดารไปทุกอย่าง และเป็นบ้านป่าหย่อมเล็กๆ ที่มีที่มีเพียง 9 หลังคาเรือนตั้งอยู่ในสมัยนั้น และจากคำบอกเล่า บ้านแม่เทยในยามค่ำคืน เสียงของสัตว์ ป่าน้อยใหญ่ ร้องระงมรอบบ้าน ไม่ว่าเสือ,ช้าง,เก้ง,กวาง คละเคล้ากันไปและได้ยินอย่างถนัด ในท้ายหมู่บ้านยังมีเป็นครอบครัวเล็กๆ ของสามีภรรยา หนุ่มสาวคู่หนึ่งอาศัยอยู่จะมีความยากจนแต่ก็มีความสุขตามประสาคนหนุ่มที่แต่งงานกันใหม่ ส่วนทางสามี มีเชื้อสายชาวลัวะชื่อ เม่า และภรรยา ชื่อจันตา เขาทั้งสองดำรงชีพแบบชาวบ้านป่า ด้วยการทำไร่ปลูกผัก ตัดฟืนไปวันๆ เนื่องจากความยากจน ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีการทำนา แต่จะพากันปลูกข้าวไร่แทน ได้ผลบ้างไม่ได้บ้างตามฟ้า ฝน ของแต่ละปี และถ้าหากข้าวเปลือกที่กักตุนเอาไว้หมดไม่พอทั้งปี จะต้องอาหารหลักมาเลี้ยงครอบครัวต่อจากข้าวก็คือกลอย


หัวกลอย

ซึ่งกลอยเป็นพืชใช้กินหัวจัดอยู่ในตระกูลมัน มีหัวอยู่ในดิน ชาวบ้านป่าจะขุดมากักตุนไว้ในช่วงฤดูของกลอยที่ออก ซึ่งสมัยมีกลอยออกเป็นจำนวนมาก โดยจะเอาหัวกลอยที่ขุดมาได้นั้นปอกเปลือก ฝานเป็นชิ้นบางๆ นำมาตากแดดให้แห้ง เก็บไว้ได้นานๆ เวลาจะกินก็ใช้วิธีนึ่งจนสุก แล้วแปรเป็นอาหารทั้งรูปข้าวและเป็นของหวาน



                   ครูบาอภิชัยขาวปี เป็นบุตรของนายเม่า และนางจันตา หล้าแก้ว เป็นชาวบ้านเชื้อสายลัวะ ชาวบ้าน  แม่เทย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 7 เหนือ ปีกัดเป้า (ปีฉลู) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 เดือน เมษายน พ.ศ. 2431 อันเป็นวันมหาสงกรานต์ หรือวันปากปี เพื่อให้เป็นมงคลตามวันจึงมีชื่อว่า "จำปี" หรือ "จุมปี" เมื่ออายุได้ 16 ปี มารดานำไปฝากบวชเป็นสามเณรกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดบ้านปาง เมื่ออายุครบ 22 ปี ท่านบวชเป็นพระภิกษุ มีฉายาว่า พระอภิชัย เมื่ออุปสมบทได้ 2 พรรษา จึงกราบลาอาจารย์ เพื่อมุ่งมั่นงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดร้างต่างๆ ตามแนวทางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยวางไว้ ถือเป็นช่วงต้นของชีวิตพระภิกษุ ระหว่างอายุ 24 ปีจนถึงอายุ 35 ปี ที่อุทิศทุ่มเทให้แก่งานการก่อสร้างพระอารามอย่างเต็มที่ นอกจากแถบอำเภอลี้ แม่ทา บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้างในลำพูนแล้ว ยังได้เดินทางไปก่อสร้างศาสนสถานทั่วล้านนาทั้งในลำปาง พะเยา เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย และข้ามเขตแดนพม่าแถบลุ่มน้ำสาละวิน ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ 3 ครั้ง ครองผ้าขาวอย่างชีปะขาว 3 ครั้ง ดังนี้คือ อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ครั้งแรกโดยครูบาศรีวิชัยเมื่ออายุได้ 22 ปี ที่วัดบ้านปาง ได้สมญานามว่า อภิชัยภิกขุ ช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างกุฎีที่วัดบ้านปาง จนอายุได้ 35 ปี ถูกจับสึกจากผ้าเหลืองไปห่มผ้าขาว ด้วยความผิดตามพ.ร.บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร รศ.124 (2448) บังคับใช้และต้องติดคุก6 เดือน ที่คุกจังหวัดลำพูน ในขณะที่ท่านถูกจองจำอยู่ในคุก ซึ่งเป็นที่ตั้งเก่าของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย (ก่อนหน้านั้นเดิมเคยเป็นวัดแสนข้าวห่อ) ครูบาขาวปีได้เห็นโรงพยาบาลจังหวัดลำพูนในสมัยนั้นชำรุดทรุดโทรม ท่านจึงได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลลำพูนโดยประชาชนที่เลื่อมใสในตัวท่านทราบข่าวว่าท่านมาเป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาล ก็พากันมาช่วยร่วมบุญอย่างคับคั่ง จนสร้างโรงพยาบาลแล้วเสร็จ เมื่อเดือน 9 เหนือ แรม 2 ค่ำ เป็นวันที่ท่านพ้นโทษตามคำพิพากษาครบ 6 เดือนพอดี เมื่อพ้นโทษออกจากคุกแล้ว ท่านได้เดินทางไปกราบครูบาศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์ ที่นี่ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นครั้งที่ 2 โดยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์เป็นอุปัชฌาย์ ท่านอยู่จำพรรษากับครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ 1 พรรษา ก็ลาอาจารย์จาริกไปสร้างวัดและโรงเรียนอีกหลายแห่ง                   ในปี พ.ศ.2465 ขุนระมาดไมตรี กำนันคนแรกแห่งอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ปรารถนาจะได้พุทธรูปหินอ่อน หน้าตักว้าง 1.30 เมตร สูง 1.6 เมตร มูลค่า 800 บาท จึงได้นิมนต์ครูบาอภิชัยไปเป็นประธานสร้างฝ่ายสงฆ์ แต่ปรากฎว่าเงินไม่พอถึง 700 บาท ท่านจึงบอกบุญไปตามศรัทธา แต่มีการร้องเรียนว่าท่านเรี่ยไรเงินอันเป็นการผิดระเบียบสงฆ์ เจ้าคณะจังหวัดจึงจับท่านสึกเป็นครั้งที่ 2 ท่านกลับมานุ่งห่มสีขาวอีกครั้ง ต่อมาไม่นาน ขณะนั้นครูบาศรีวิชัยกำลังสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ครูบาขาวปีจึงพากะเหรี่ยง 500 คน ขึ้นไปช่วยทำถนนขึ้นดอยสุเทพร่วมกับอาจารย์จนแล้วเสร็จ จึงกลับลงมาพักกับอาจารย์ที่วัดพระสิงห์ ที่วัดพระสิงห์นี้ ท่านครูบาศรีวิชัยก็อุปสมบทให้ท่านเป็นภิกษุอีกเป็นครั้งที่ 3 การอุปสมบทครั้งนี้ ถูกดึงไปเป็นเหตุผลหนึ่งให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์อีกครั้ง ด้วยข้อหาว่าทำการอุปสมบทให้แก่ "ผ้าขาวปี๋ หรือหนานปี๋ ซึ่งคณะสงฆ์ประกาศห้ามมิให้อุปสมบท เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางไปต่อสู้คดีที่กรุงเทพฯ ครูบาอภิชัยขาวปีอยู่รักษาวัดพระสิงห์แต่เพียงผู้เดียว มหาสุดใจ วัดเกตุการาม กับพระครูวัดพันอ้นรูปหนึ่ง ถือโอกาสมาข่มขู่ให้ครูบาอภิชัยขาวปีสึกเสีย เพราะมิฉะนั้นทางการจะเอาเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ติดคุกจนถึงที่สุด ด้วยจิตใจที่เป็นห่วงในตัวอาจารย์ ท่านจึงเสียสละผ้ากาสาวพัสตร์ ยอมสึกเป็นชีปะขาวและนับเป็นครั้งสุดท้ายแห่งการครองผ้าไตรจีวรของท่านตราบจนละสังขาร แม้แต่ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้มีอำนาจล้นเหลือในระหว่างปี             พ.ศ. 2502-2506 ได้รับทราบผลงานของท่านครูบาขาวปี ยังใคร่ปรารถนามานมัสการกราบคารวะท่าน ผู้มีใจมุ่งพัฒนา ยอมอุทิศชีวิตเพื่อพระบวรพุทธศาสนาและสังคมโดยส่วนรวม ไม่ปรารถนาผลตอบแทนแต่ประการใด แม้ว่าท่านครูบามิได้มีสมณศักดิ์หรือสถานภาพที่สูงส่งในสังคมก็ตาม แต่ท่านจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้ปวารณาตัวจะช่วยอุปถัมภ์ในการก่อสร้างโรงเรียนในชนบทที่ห่างไกลให้ครบ 100 หลัง ก่อนที่ ฯพณฯ จะถึงแก่อสัญกรรม ไม่นาน ครูบาอภิชัยขาวปี มรณภาพ เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 6 เหนือ ตรงกับวันพฤหัสที่ 3 มีนาคม 2520 เวลา 16.00 น สิริรวมอายุได้ 89 ปี ทุกวันนี้ได้เก็บพระสรีระร่างอันไม่เปื่อยไม่เน่าของท่านไว้ ณ โลงศพแก้ว ในหอปราสาทรักษาศพ จัดสร้างให้โดยครูบาวงค์ (ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา) เพื่อเก็บพระสรีระร่างของครูบาอภิชัยขาวปี ที่วัดพระพุทธบาทผาหนาม ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน และมีประเพณีเปลี่ยนผ้าห่อสรีระเป็นประจำทุกปีในวันที่ 3 มีนาคม

 


ทำบุญตักบาตร

 ฟ้อนรำถวาย เจ้าอภิชัยขาวปี

เสาร์หลักเมือง ประจำหมู่บ้านบ้านแม่เทยพัฒนา หมู่ที่14

ทำความสะอาดสถานที่ก่อนทำบุญ วันที่16 เมษายน  ทุกปี

ตุงที่นำมาถวายวันปีใหม่เมือง

ทำพิธีสร้างเสาร์หลักบ้านแม่เทยพัฒนาหมู่ที่14

ภาพถ่าย นางสาวสุภาพ  เสาร์ภิระ 

ภาพถ่ายประกอบบทความโดย พ่อหลวงบุญเลิศ สตรอง

ที่มา ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่เทยพัฒนา หมู่ที่14 ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

เรียบเรียง นางสาวสุภาพ  เสาร์ภิระ