หลอดต๋าแหลวหลวง 7 ชั้น พิธีกรรมล้านนา วัดหนองบัวคำ           1 เดียว แห่งอำเภอลี้

          ที่มา หลอดต๋าแหลวหลวง

                ‘ต๋าแหลว’ เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ไผ่จะทำจาก ‘ตอก’ หนึ่งก้านที่หักไปมาเป็นแฉก หรือจะทำจากตอกหลายก้านมาสานรวมกันเป็นแฉกก็ได้ สำหรับ คำว่า ต๋าแหลว หรือ ตาเหลว เป็นภาษาเหนือ หมายถึง                    ‘ตานกเหยี่ยว’ (‘แหลว’ เป็นชื่อเรียกนกเหยี่ยวชนิดหนึ่งในภาษาเหนือ) การสร้างต๋าแหลวด้วยการนำไม้ไผ่มาจักตอกให้เป็นเส้นบางแล้วนำมาสานเป็นทบๆ จึงเปรียบเสมือนการสร้างตาที่แหลมคมเฉกเช่นเหยี่ยว คอยสอดส่องเฝ้าระวังสิ่งอาถรรพ์หรือสิ่งคุกคามไม่ให้ย่างกรายเข้ามาในอาณาเขต ด้วยเหตุนี้ นอกจากประเพณีแฮกนา (แรกนา) แล้ว เรายังสามารถพบเห็นต๋าแหลวประกอบพิธีกรรมอื่นๆ ได้อีก เช่น ในประเพณีของชาวไทลื้อ มีการใช้ต๋าแหลวในการปิดกั้นหมู่บ้าน ไม่ให้คนนอกเข้าและคนในออก ระหว่างทำพิธีเซ่นสรวงผีบ้าน

                 ต๋าแหลว เรียกชื่อเป็นภาษากลางก็คือ ‘เฉลว’ ทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์เป็นสัญลักษณ์บอกสถานที่ ในอดีตภาคกลางใช้เฉลวเป็นเครื่องบอกด่านเก็บภาษีอากรทางน้ำ หรือที่เรียกว่าการเก็บจังกอบ ถ้าเห็นสัญลักษณ์เฉลวอยู่ที่ท่าแสดงว่าท่านี้เป็นด่านจังกอบ ตามความเชื่อเฉลวเป็นสิ่งอันเป็นมงคล เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์บ่งบอกถึงเขตห่วงห้าม เขตป้องกันสิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่ดี ชาวบ้านจะนำเฉลวมาประกอบพิธีต่างๆ เกี่ยวกับความเชื่อ เช่น การสู่ขวัญข้าว สืบชะตา ทำบุญบ้าน ทำบุญเมือง มัดติดหน้าบ้าน ปักบนหม้อยาเพื่อรักษาสรรพคุณ ปักไว้ในที่ไม่ใช้ผีผ่าน และที่สำคัญในการประกอบการปลุกเสกที่เป็นพุทธคุณ

          ประเภทของต๋าแหลวในภูมิปัญญาของชาวล้านนามีอยู่หลายประเภทด้วยกัน โดยจะแบ่งตามลักษณะการใช้งาน ซึ่งพอจะแบ่งได้ 4 ประเภท คือ

          1) ‘ต๋าแหลวหลวง’ เป็นต๋าแหลวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาต๋าแหลวทั้งหมด มีลักษณะเป็นต๋าแหลว 6 แฉก และ 8 แฉก ใช้ตอกไม้ไผ่จำนวน 42 เส้น การสานต๋าแหลวหลวงมักถูกใช้ในงานสืบชะตาเมือง สืบชะตาหลวง หรือใช้สำหรับให้คน สัตว์ ลอดผ่านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้ลอดผ่านใต้ต๋าแหลว ขจัดสิ่งชั่วร้ายและความอัปมงคลทั้งหลาย

          2) ‘ต๋าแหลว 7 ชั้น’ หรือ ‘ต๋าแหลวคาเขียว’ ใช้ในพิธีกรรมพื้นเมือง เช่น พิธีสืบชะตา หรือประดับไว้ตรงบนประตู หรือทางเข้าบ้าน หรือหน้าบ้าน เพื่อดักความชั่วร้ายและสิ่งอัปมงคล หากผู้ใดได้ลอดต๋าแหลว ก็สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายนั้นออกไปจากตัวได้

         3) ‘ต๋าแหลวแม่หม้าย’ คล้ายกับตาแหลว 7 ชั้น มีลักษณะเหมือนกงจักรจะถูกสานด้วยตอก 6 เส้น ให้มีลักษณะเป็นตา หกเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง ส่วนปลายของไม้ทั้งสองด้านถูกพับให้งอในมุม 90 องศา ใช้กับพิธีกรรมแฮกข้าวทำขวัญต้นข้าว หรือก่อนปลูกข้าวและก่อนข้าวตั้งร่วง โดยจะเรียกว่า ‘หมายนา’ ขึ้นรั้วสานสี่แจ่ง ใส่ต๋าแหลวแม่หม้ายไว้ทั้ง 4 มุม มีปลาสาน มีกุ้งสานแขวน ไว้ป้องกันภูตผีร้ายมาทำร้ายพระแม่โพสพ กันแมลงสิ่งอัปมงคลมารบกวนข้าว และเป็นการทำขวัญพืชพรรณให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ตามตำนานกล่าวว่า แต่ก่อนเมล็ดข้าวใหญ่มากมีแม่หม้ายมาตีข้าว ข้าวแตกไปอยู่บนเขากลายเป็นข้าวไร่ของชาวเขา ที่ตกมาอยู่กับน้ำก็เป็นข้าวนาดำ ข้าวก็เหมือนกับแม่ เรียกว่า'แม่โพสพ' มีนิสัยอ่อนโยนต้องดูแลให้ดี ทุกคนต้องไหว้แม่โพสพต้องกตัญญูกับแม่โพสพ ถ้าเราละเลยเรื่องการกตัญญูต่อข้าว แม่โพสพก็จะหนีไปบนเขา

         4) ‘ต๋าแหลวหมาย’ ใช้เป็นตัวกำหนดเขตในการครอบครองพื้นที่ทำกิน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ หากผู้ใดมาพบเห็นก็จะได้ไม่ล่วงเกิน เช่น ห้ามฉี่รด ห้ามถมน้ำลาย ห้ามทิ้งขยะสิ่งสกปรก และแย่งชิง

  ‘ต๋าแหลวหลวง’ เป็นต๋าแหลวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาต๋าแหลวทั้งหมด มีลักษณะเป็นต๋าแหลว 6 แฉก และ 8 แฉก ใช้ตอกไม้ไผ่จำนวน 42 เส้น การสานต๋าแหลวหลวงมักถูกใช้ในงานสืบชะตาเมือง สืบชะตาหลวง หรือใช้สำหรับให้คน สัตว์ ลอดผ่านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้ลอดผ่านใต้ต๋าแหลว ขจัดสิ่งชั่วร้ายและความอัปมงคลทั้งหลาย

หลอดต๋าแหลวหลวง 7 ชั้น พ้นเคราะห์ พ้นภัยพ้นพยาธิโรคา อยู่ดีมีสุข 

ก่อเจดีย์ทรายถวายวัดวันปี้ใหม่เมือง

มุมหลอดต๋าแหลวหลวงรอบด้านเพื่อป้องกันภัย

ที่วางสรวยหลอดต๋าแหลวหลวงเมื่อหลอดครอบ 7 ชั้น

มุมหลอดต๋าแหลวหลวงรอบด้านเพื่อป้องกันภัย

ภาพถ่าย เจ้าอาวาสวัดหนองบัวคำ หมู่ที่10 ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ภาพถ่ายประกอบบทความโดย พ่อมี คำทราย และ คุณหมูตู้ วัตถุมงคล

ที่มา https://www.facebook.com/chiangmaicityheritagecentre/posts/3172376879496942/

เรียบเรียง นางสาวสุภาพ  เสาร์ภิระ