การตีมีด

ชื่ออาชีพการตีมีด

 รายละเอียดผู้ประกอบอาชีพ (ข้อมูลส่วนตัว)

       ชื่อ-สกุล  นายสุมา  หัวยาว   อายุ  70 ปี

       ที่อยู่  49  หมู่ที่ 5  ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง 

       จังหวัดลำพูน     51160

 ประวัติการตีมีด

              การดำรงชีวิตของคนภาคเหนือ มีด เป็นสิ่งที่ใช้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ทำนา ทำไร่ ทำสวน ซึ่งเมื่อ 200 ปีก่อน มี พ่อหลวงมอญ สายปั่น เป็นผู้ริเริ่มการตีมีด มาก่อนต่อมาลูกหลานได้สืบทอดต่อกันมา ในการตีมีดได้สร้างเตาเหล็ก สำหรับเผามีด ประมาณ 3 , 4 เตา มีคนงานมาตีมีด ประมาณ 10 - 15 คน ต่อมาระยะหลัง มีลูกหลานบ้านแม่ปุงสนใจเพิ่มมากขึ้น ได้ขยายเตาเผาเหล็ก เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เตา มีคนงานเพิ่มขี้นเป็นจำนวนมาก ประมาณ 60 กว่าคน โดยการตีมีดทุกอย่าง ทำด้วยเหล็กแหนบทุก ๆ เล่ม ทำรายได้แก่ครอบครัว และเป็นอาชีพที่ดี ทำให้ลูกหลานสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน

                 ปัจจุบัน การตีมีด ได้พัฒนาและหาวิทีที่ทันสมัยในการตีมีด โดยการใช้เครื่องมือแบบไฮโดรลิก (แบบกระแทก) โดยการรวมทุน ในรูปแบบกลุ่มสมาชิกตีมีด จำนวน 28 คน และตั้งชื่อ กลุ่มตี๋เหล็ก คำว่า ตี๋ ภาษาเหนือ หมายความว่า ตี มีความหมายว่า กลุ่มตีเหล็ก ซึ่งเป็นการตีมีดโดยใช้เครื่องมือ แบบไฮโดรลิก ใช้คนงานในการตีเหล็ก ประมาณ 3 - 4 คน ต่อเตา และทำให้การตีมีมีคุณภาพที่ดีขึ้น และลดแรงงานคนลง

 อุปกรณ์

           1. เหล็ก

           2. คีบ(สำหรับจับ)

           3. ที่รองมีด (สำหรับรองเวลาตีมีด)

           4. ถ่าน

           5. เตาถ่าน

           6. ที่อัดลม (สำหรับเป่าไฟ)

            7. น้ำ

             8. อ่างปูนซีเมนต์ใส่น้ำ

             9. ค้อน

 ขั้นตอนการตีมีด

             1. การเตรียมเหล็ก

             2. การขึ้นบ้อง

             3. การตีแผ่ตัวมีด

             4. การลับ

             5. การชุบ

             6. การตกแต่ง

การเตรียมเหล็ก

          เหล็กที่จะเอามาตีเป็นมีดนั้นมีหลายชนิด คิอ เหล็กสำเร็จรูปจากโรงงานซึ่งจะเป็นเหล็กเป็นมัดๆ ทางโรงงานตีมีดจะเรียก เหล็กมัด ซึ่งเหล็กชนิดนี้ไม่ต้องเตรียมอะไรเลยเพียงแต่นำเหล็กแต่ละชิ้นมาใช้ได้เลยตามขนาดของมีดที่จะตีเริ่มจากเบอร์ 0 ซึ่งเป็นมีดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ถัดมาเป็นเบอร์ 1 เบอร์ 2 เบอร์ 3 เบอร์ 4 และเบอร์ 5 ซึ่งเป็นขนาดเล็กที่สุด  ส่วนเหล็กแหนบคนงานก็จะตัดออกเป็นท่อนๆตามขนาดของมีดที่จะตีเช่นเดียวกัน ปกติเหล็กแหนบ1แผ่นจะผ่าออกเป็น 2ชิ้นหรือ2 เล่ม แต่ถ้าแผ่นใหญ่มากๆก็จะได้มีดถึง
4 – 5 เล่ม  ส่วนเหล็กประเภทอื่น เช่น จานรถไถนา คนงานก็จะตัดออกเป็นชิ้นๆตามต้องการ เหล็กท่อนกลมซึ่งจะตัดใช้ทำบ้องก็จะตัดตามขนาดเช่นเดียวกัน เหล็กแผ่นก็เช่นเดียวกัน คนงานก็จะตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆเป็นรูปสามเหลี่ยมเหล็กบางครั้งอาจจะมีส่วนเกินในการใช้งานจึงจำเป็นต้องตัดออกในขณะที่ขึ้นบ้องและขึ้นรูปตัวมีดนั้นคนงานจะใช้เหล็กผ่าตัดแต่ถ้าเป็นการเตรียมเหล็กตัดเป็นท่อนๆนั้นจะใช้เครื่องตัดเหล็กอัตโนมัติ

การขึ้นบ้อง

ปัจจุบันการขึ้นบ้องจะใช้วิธีการสองแบบคือ

1. ใช้เหล็กแผ่นเดียวทั้งขึ้นบ้องและตีแผ่เป็นตัวมีด

2. ใช้เหล็ก 2 ชิ้นดังได้กล่าวมาแล้วมาเชื่อมต่อกันแล้วตีขึ้นบ้องอีกด้าน

การตีเป็นตัวมีดหรือขึ้นรูป

           เมื่อขึ้นบ้องเสร็จแล้วคนงานก็จะนำไปตีเป็นตัวมีดหรือขึ้นรูปต่อไป การตีเป็นตัวมีดนายช่างคนแรกจะเป็นส่วนสำคัญในการตีเพราะสามารถวินิจฉัยว่าจะตีแผ่ออกไปกว้างขนาดไหน ตรงไหนควรตัดออก ตรงควรให้หนา หรือบาง ลูกน้องจะตีตามที่นายช่างตี อุปกรณ์ที่ใช้ตีขึ้นรูปจะใช้ทั้งค้อนเล็ก ค้อนใหญ่ เหล็กผ่า โดะ ตะหมัง ที่โค้งหัวมีดหรือส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อตีได้ตามต้องการแล้วก็จะส่งให้ฝ่ายลับต่อไป

การลับ

         การลับเป็นขั้นตอนต่อไป การลับในสมัยก่อนจะใช้ตะไบจากต่างประเทศ เช่นจากประเทศอังกฤษ เยอรมันนี เท่าที่ผู้เขียนจำได้จะมียี่ห้อ นิโคลสัน ตราตา ตราตะไบไขว้ เป็นต้น ยี่ห้อที่กล่าวมานี้ใช้งานคงทน ใช้ได้นาน คมเมื่อหมดอายุการใช้งานหรือลับได้ไม่ค่อยคมแล้วสามารถนำมาตีเป็นมีดต่อไปได้อีก การใช้ตะไบลับปัจจุบันเลิกใช้แล้วเพราะกว่าจะได้สักเล่มต้องใช้เวลาหลายนาที ค่าแรงก็แพง  ปัจจุบันใช้เครื่องลับที่เป็นเครื่องยนต์ เครื่องลับมี2 แบบ คือแบบเคลื่อนที่ใช้มือจับ โดยจะใช้เครื่องจับซึ่งเรียกว่า “กรามช้าง” จับไว้กับที่แล้วใช้เครื่องลับลับไปมา อีกแบบหนึ่งเป็นแบบถาวรติดตั้งอยู่กับที่ แบบนี้ผู้ลับจะถือมีดเคลื่อนไหวลับไปลับมา  ทั้ง 2 แบบสรุปได้ว่าต่างกันคือแบบเคลื่อนที่ มีดจะอยู่กับที่ ส่วนอีกแบบตัวมีดจะเคลื่อนไหวไปมา

การชุบ

           ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการตีมีดก็คือการชุบ การชุบคือการทำให้คมมีดแข็งแกร่ง คมกริบ ไม่บิ่น หัก งอ เวลาใช้งาน การชุบคือการเผาคมมีดให้แดงแล้วเอาไปจุ่มน้ำอย่างรวดเร็ว จุ่ม 2 – 3 ครั้งแล้วเอาผึ่งลมไว้เพื่อให้สะเด็ดน้ำ เพราะถ้าไม่สะเด็ดน้ำก็จะทำให้เกิดอ๊อกไวด์(สนิม)ได้    คนงานที่มีหน้าที่ในการชุบให้ได้มาตรฐานแต่ละโรงงานนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ชำนาญในการชุบ มีเพียง 1 คนหรือ 2 คนเท่านั้น การชุบจะต้องใช้ความชำนาญ การสังเกตว่าอุณหภูมิได้ที่หรือยังเพราะถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป (80-100 องศาเซลเซียส)เหล็กก็จะละลาย เวลาชุบคมมีดจะบิ่น หักงอ แม้ว่าแต่ละโรงงานจะมีผู้ที่ชำนาญในการชุบเก่งเพียงใดก็ตามก็ยังปรากฏว่ามีดที่ชุบก็ยังบิ่น หักงอบ่อยๆ น้ำทั่ใช้ชุบจะต้องเป็นน้ำเย็นปกติเสมอ การใช้น้ำครั้งเดียวชุบหลายๆครั้งคมมีดจะไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร เวลาชุบจึงต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ

การตกแต่ง

           มีดที่ชุบและตากให้สะเด็ดน้ำแล้วถือว่าจบกระบวนการตีมีด แต่เนื่องจากโรงงานต้องส่งออกไปจำหน่ายยังท้องตลาดซึ่งมีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงต้องตกแต่งผลิดภัณฑ์ให้สวยงามเป็นที่สนใจของลูกค้า อันดับแรกคือตัวมีดจะต้องนำมาทาสี โดยเฉพาะที่คมมีดนิยมทาสีขาว ตัวมีด บ้องมีดทาสีดำ

เรื่อง/เนื้อหา  โดย นายจำนงค์ เครือจักร์    ที่อยู่ 65/2 7  ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง 52150

 เรียบเรียงโดย     นางสาวฐิติมา  พนัสโยธานนท์