เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

"ดอยอีฮุ้ย"

ประวัติความเป็นมา 

     เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยอีหุ้ย เป็นเทือกเขาสูงชันที่ทอดตัวไปตามแนวเหนือ-ใต้ และกั้นอาณาเขตระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดลำพูน ประกอบด้วยยอดเขาสูงชันหลายลูก เช่น ดอยผาเมือง ดอยห้วยหก ดอยผาด่าน ดอยกิวโหวก ดอยฝัดดี ฯลฯ เป็นป่าต้นน้ำที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ต่อมาราษฎรได้เริ่มอพยพเข้าไปอยู่บริเวณรอบๆ ป่า และเริ่มมีการแผ้วถางป่าเพื่อการกสิกรรมส่วนบริเวณบนยอดดอยต่างๆ ก็มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงอยู่อาศัยกระจัดกระจายทั่วไป ในปี พ.ศ. 2507 รัฐบาลจึงประกาศป่าที่อยู่ในท้องที่อำเภอบ้านโฮ่ง เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านโฮ่ง ปี พ.ศ. 2508 ประกาศป่าที่อยู่ในอำเภอแม่ทา เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ทา และปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลได้ประกาศป่าที่อยู่ในอำเภอลี้ เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าขุน
แม่ลี้ 

สถานที่ตั้ง  ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลตะเคียนปม   อำเภอทุ่งหัวช้าง   จังหวัดลำพูน  

ข้อมูลด้านกายภาพ 

พื้นที่ : 64449  ไร่

ภูมิประเทศ : เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดตัวไปตามแนวทิศเหนือและทิศใต้ กั้นอาณาเขตระหว่างจังหวัดลำปางและจังหวัดลำพูน จังหวัดลำปางมีด้านลาดทางทิศตะวันออก จังหวัดลำพูนมีด้านลาดทางทิศตะวันตก ยอดเขาที่สูงที่สุด คือดอยนกสูง ความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำสุด 250 เมตร สูงสุด 1,293 เมตร และมีหินโผล่กระจัดกระจายทั่วไป

ภูมิอากาศ :  ลักษณะภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ฤดูหนาวค่อนข้างหนาว ฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัด ฤดูฝนมีฝนตกชุกเป็นบางแห่งของภูมิประเทศ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 35 องศาเซลเซียส

ธรณีวิทยา :  ชนิดของดิน เป็นดินร่วนปนทราย และดินลูกรังเป็นส่วนใหญ่

ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้  6  ฐานการเรียนรู้

ฐานที่ 1  หิน

            หินเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก  โดยขั้นแรกเกิดจากการเย็นตัวและแข็งตัวของหินร้อนที่หลอมละลายทั้งที่อยู่ใต้เปลือกโลก  และที่ออกมาพร้อมกับการระเบิดของภูเขาไฟ  หินเหล่านี้มีชื่อเรียกตามลักษณะของการเกิดว่า “ หินอัคนี” ต่อมาความดัน และอุณหภูมิสูงอย่างมากมายในเปลือกโลก  ทำให้หินอัคนีแปรสภาพมีสมบัติต่างไปจากเดิม  เกิดเป็นหินชนิดใหม่ที่มีชื่อเรียกตามลักษณะการเกิดว่า “หินแปร”  

ฐานที่ 3 ไลเคนส์

ไลเคนส์  มีประมาณ  15,000 ชนิด  เป็นพืชเล็กๆ  และมีรูปร่างสีสันต่างกันมากมายเป็นพืชที่ทนทาน  แต่การเจริญเติบโตช้ามาก  เจริญเติบโตบนพื้นผิวเปล่าๆ  เช่น  ตามกระเบื้องมุงหลังคา  ฝาผนัง  บนก้อนหิน  และลำต้นของต้นไม้ 

ฐานที่ 2 มอสส์ และเฟิร์น

มอสส์ มีอยู่ทั่วไปในป่าดิบชื้น ทั้งในระดับต่ำและระดับสูง จะเห็นว่าพืชประเภทนี้ปกคลุมราก ลำต้น กิ่ง และใบของต้นไม้ หรือตามก้อนหินอยู่ทั่วๆ ไป มักพบตามที่ชุ่มชื้นอยู่เสมอ และบางชนิดขึ้นอยู่ในน้ำ

ฐานที่  4 เถาวัลย์พืชพันธุ์ในป่าผสม

          ป่าบริเวณดอยอีหุ้ยเป็นป่าผสมผัดใบซึ่งมีเถาวัลย์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่  อาทิเช่น  เครือเขาน้ำซึ่งมีน้ำในลำต้นสามารถดื่มกินได้  บันไดลิง  

ฐานที่ 5 ต้นน้ำสายธาร สายใยแห่งชีวิต

โลกของเราปกคลุมด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 3 ใน 4 ของพื้นที่ผิวโลกทั้งหมดเป็นทะเลและมหาสมุทร น้ำในทะเลและมหาสมุทรมีรสเค็ม นอกจากนั้นบนพื้นดินยังมีแหล่งน้ำอยู่ทั่วไป ตามห้วย หนอง คลอง บึง บ่อ สระ ลำธาร แม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำใต้ดิน และที่อื่นๆ อีก น้ำเหล่านี้เกิดจากฝนจึงไม่มีรสเค็ม ในร่างกายมนุษย์ สัตว์ พืช ก็มีน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก หากปราศจากน้ำ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ฐานที่ 6 สุนทรียภาพทางธรรมชาติ

ฐานนี้เป็นพื้นที่สูงที่สุดในเขตป่าดอยอีหุ้ยเหมาะสำหรับถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อธรรมชาติที่ได้สัมผัส พบเห็น หรืออาจจะเป็นความรู้สึกของการเดินทางจากฐานอื่นๆ โดยการถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของ บทร้อยแก้ว บทร้อยกรอง บทความ หรือ รูปภาพ

ผู้เรียบเรียงข้อมูลโดย : นางสาวฐิติมา พนัสโยธานนท์ ตำแหน่ง บรรณารักษ์