การแห่ครัวทาน

การแห่ครัวทานเป็นประเพณีที่ชาวบ้านนำเอาสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค วัสดุ อุปกรณ์จตุปัจจัยไทยทาน ที่ช่วยกันคิดและทำขึ้นเป็นรูปแบบต่างๆ และนำไปถวาย วัดในหมู่บ้านของตนหรือหมู่บ้านใกล้เคียง เนื่องในโอกาสที่หมู่บ้านนั้นมีงานเทศกาล สำคัญ เช่น งานตานสลากภัตร งานฉลองโบสถ์ วิหาร ศาลา หรือถาวรวัตถุที่เป็นสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน

รูปแบบของครัวทานมีหลายลักษณะตามแนวความคิดของชาวบ้าน เช่น เป็นรูปจำลองโบราณสถานที่เคารพนับถือ รูปสัตว์ในนิทานชาดก หรืออาจเป็นของใช้ที่จำเป็นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ตลอดจนพืชผักที่มีในท้องถิ่น ในการทำครัวทานชาวบ้านจะมาปรึกษาหารือกันว่า จะเอาอะไรเป็นเครื่องไทยทาน เมื่อตกลงกันได้แล้ว ก็จะมาคิดว่าทำเป็นรูปแบบอะไร และจะมีสล่าเค้าเป็นผู้ออกแบบ ชาวบ้านจะมา ช่วยกันประดิดประดอยครัวทานให้สวยงามและที่สำคัญคือ ต้องสื่อความหมายให้ผู้คนในท้องถิ่นเข้าใจด้วย

พอถึงวันแห่งครัวทาน ก็จัดรูปขบวนครัวทาน ให้มีป้ายชื่อหมู่บ้านมีขบวนพานข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน ขบวนกลองยาวหรือ กลองซิ่งมอง และที่ขาดไม่ได้คือมีขบวนฟ้อนรำฟ้อนนำหน้าครัวทาน ขณะที่ขบวนครัวทานของแต่ละหมู่บ้านเข้าวัดจะมีโฆษกหรือพิธีกรอธิบายความหมายของครัวทาน หรือบางทีก็มีการฮ่ำครัวทานเมื่อแห่ครัวทานเข้าวัดแล้ว ก็จะนำไปถวายพระสงฆ์หรือเจ้าอาวาสวัดนั้น และรับศีลและรับพรเป็นอันเสร็จพิธี