เล่าขานตำนานไตลื้อบ้านธิ

ผ่านมุมมอง "พิพิธภัณฑ์ชุมชน"

"จากความหลงใหลในวัฒนธรรมไตลื้อ...สู่การสร้าง "พิพิธภัณฑ์ชุมชน" จากน้ำพักน้ำแรง"

พิพิธภัณฑ์ไตลื้อบ้านธิ 

 ตั้งอยู่ที่ 99 หมู่ที่ 11 บ้านแพะยางงาม ตำบลบ้านธิ  อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน 51180

เปิดให้บริการ 09.00-16.00 น. บริเวณอาคารชั้นบนเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์ ของสะสมโบราณ ด้านล่างเป็นคาเฟ่ และด้านหลังเป็นเรือนให้บริการโฮมสเตย์

ครูซันเดย์ (เพิ่มศักดิ์ บุษงาม)

ชาวจังหวัดกรุงเทพมหานคร อายุ 48 ปี เป็นผู้ที่มีความสนใจและหลงใหลในวัฒนธรรมของชาวไทลื้อบ้านธิ จึงได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมา เอกลักษณ์ของชาวไตลื้อ ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชุมชน จนตัดสินใจย้ายรกรากของตน มาอยู่ ณ ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน และเปิดบ้านของตนเป็นพิพิธภัณฑ์ไตลื้อบ้านธิ โดยเก็บสะสมข้าวของโบราณ และจำลองวิถีชีวิตไตลื้อไว้ให้เยาวชนลูกหลานได้เรียนรู้และอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป

>>>  จากการศึกษา สั่งสม สู่การถ่ายทอด... <<<

         ครูซันเดย์ ได้เล่าตำนานไตลื้อบ้านธิ ให้ฟังว่า "ชาวไทลื้อ หรือที่เรียกว่าไตลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง และได้อพยพลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส (เมืองคุนหมิงในปัจจุบัน) แล้วอพยพลงมาสู่ลุ่มลำน้ำโขง ในดินแดนสิบสองปันนาจนถึงปัจจุบัน ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ ดังสำนวนภาษาไทลื้อได้กล่าวไว้ว่า “ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง (เชียงรุ้ง) เป็น 12 ปันนา” นอกจากนั้นยังมีเมืองน้อย อีก 32 หัวเมือง ต่อมาได้เกิดการขยายตัวของชาวไทลื้อ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2-4 เจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งตั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า “สิบสองปันนา” และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ”  

            ส่วนเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ตำนานชาวไทลื้อบ้านธิ จังหวัดลำพูน ย่อมมีการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นๆ เรื่องที่เล่าอาจเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง แล้วเล่าสืบต่อ กันมา หรืออาจจะมีการผิดเพี้ยนไปบ้างตามการเล่าสืบต่อกันก็ได้ เรื่องมีอยู่ว่า... “ชาวไทลื้อบ้านธิเดิมอยู่ที่ดินแดนสิบสองปัน­นาแต่ด้วยเหตุหลายปัจจัยทำให้ต้องย้ายถิ่น­ฐานมาที่จังหวัดลำพูน ชาวไทลื้อชอบอาศัยบริเวณริมน้ำเพื่อสะดวกใ­นการทำมาหากิน และนับถือผี ประเพณีของชาวไทลื้อมีมากมาย เช่น กินหวานต๋านม่วน เลื้ยงผีขุนน้ำ เป็นต้น ชาวไทลื้อจะรักพวกพ้อง และจะแต่งงานกันเองในเครือญาติ ผู้ที่มาสร้างถิ่นฐานในบ้านธิคนแรกคือพ่อห­นานปัญโญกับแม่อุ๊ยขา รอนแรมจากเมืองจอมหงส์จนมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่ภูมิลำเนาคล้ายแหล่งที่อยู่เดิม จึงมาตั้งรกรากไว้ที่นี้และสถานที่แห่งนั้นคือบ้านขิ หรือ บ้านธิ "ขิ" คือไผ่ชนิดหนึ่งที่ขึ้นเยอะมากๆๆในบริเวณนั้น บ้านแพะเป็นบ้านแรกที่ไทลื้อบ้านธิมาอาศัย และขยายไปเรื่อยๆจนมีลูกหลานมากมายและได้ขยายครัวเรือนออกเป็น 10 หมู่บ้าน” 

          หากมาถึงดินแดนบ้านธิ แต่เราไม่ได้เข้ามาแวะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ไตลื้อบ้านธิ ที่เฮือนข้าวเจ้าของครูซันเดย์ คงไม่ได้รับฟังเรื่องราวที่สนุกสนานแฝงไปด้วยความรู้อิงประวัติศาสตร์เป็นแน่...

พิพิธภัณฑ์ไตลื้อบ้านธิ...กระจกสะท้อนวัฒนธรรมไตลื้อในอดีต

"ซิ่นตาหมาคว(า)ยหลวง"

แม้แต่การแต่งกายของชาวไตลื้อบ้านธิในอดีต ยังมีความเป็นมาที่สนุกสนานให้เราได้รับฟัง ครูซันเดย์เล่าว่า "ผ้าซิ่นไตลื้อจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “ซิ่นตาหมาคว(า)ย(หลวง)” มีตำนานพื้นเมืองสิบสองปันนาได้กล่าวไว้ว่า “กาลครั้งหนึ่งมีเทวบุตรลงมาเกิด ในเมืองมนุษย์เป็นหมาควายหลวง (ในตำนานคำว่า “ควาย” นั้น ไม่มีสระอา) และได้ฆ่าชายชาวเมืองเชียงรุ่งจนหมด และได้ผู้หญิงในเมืองเป็นเมีย ต่อมามีมานพ หนุ่มกล้าหาญ ได้พลัดหลงเข้ามาในเมืองและได้ฆ่าหมาควายหลวงตาย ฝ่ายหญิงทั้งหลายต่างก็ร้องไห้และใช้มือตะกุยตะกายซากศพจนเปื้อนเลือด และได้เอามือ ที่เปื้อนเลือดมาเช็ดผ้าซิ่นตรงสะโพก ตั้งแต่นั้นมาซิ่นไทลื้อจึงมีลวดลายสีแดง เป็นจุดเด่นตรงสะโพก” ท่านเจ้าอาวาสวัดบ้านธิหลวงในอดีตและพระลูกวัดเล็งเห็นคุณค่าของการแต่งกายแบบไทลื้อ จึงสนับสนุนให้เกิดการย้อนวัฒนธรรมการแต่งกายแบบไตลื้อเพื่อการอนุรักษ์ ผู้ชายสวมเสื้อคล้ายเสื้อหม้อฮ่อมแขนยาว กางเกงก้นลึก เรียกว่า เต่วสามดูก มีผ้าขาวม้าคาดพุง สวมผ้าโพกศีรษะ ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อปั๊ดแขนยาว สีดำ กรม ขาว ส่วนซิ่นก็เป็นตาลื้อธรรมดาแต่ปรับให้เป็นแบบของตัวเองเท่านั้น


เครื่องไม้เครื่องมือวัฒนธรรมการทอผ้าไตลื้อ

พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นที่ครูซันเดย์เก็บรวบรวมไว้ให้ชม

จัดสถานที่จำลองวิถีชีวิตของคนไตลื้อโบราณ

ครูซันเดย์เล่าเรื่องราวลายผ้าซิ่นไตลื้อ

ผ้าโพกหัว/เคียนหัวของคนไตลื้อบ้านธิ

ที่นอนของคนไตลื้อ

ขันโตกอาหารของชาว
ไตลื้อบ้านธิ

เครื่องแต่งกายสตรีไตลื้อบ้านธิโบราณ

พระพุทธรูปและของตกแต่ง

ของใช้โบราณ

ผ้าทอของชาวไตลื้อโบราณมีแรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว

ฮอก สำหรับใช้เรียกวัว ควาย
แบบโบราณ

ข้อมูลเนื้อหา โดย ครูซันเดย์ (เพิ่มศักดิ์ บุษงาม) เจ้าของเว็บไซต์ ไตลื้อบ้านธิลำพูน

เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์  และนางวิไลวรรณ อุ๋ยสกุล 

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์