สวา

สวาบางกล่ำ .. ละมุนลิ้นกลิ่นละมุด

สวาคือละมุด


ละมุดจากอำเภอบางกล่ำ เป็นผลไม้รสหวาน กลิ่นหอมเฉพาะตัว ปรากฎชื่อเสียงกระฉ่อนมาแต่อดีต จนเข้าไปแทรกอยู่ในคำขวัญอำเภอที่ว่า “หลวงปู่เฟื่องเลื่องลือ ระบือเรือแข่ง แหล่งส้มโอหวาน ย่านสำเภานาวา สวาลือนาม เหนียวหลามรสดี”

ผลไม้ชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบเม็กซิโก อเมริกากลาง และหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ก่อนแพร่ขยายมาทางเอเชีย สวาต้นแรกมาถึงอำเภอบางกล่ำกว่าร้อยปีมาแล้ว เล่ากันว่าสมัยรัชกาลที่ 5 แรงงานชาวจีนกลุ่มที่มารับจ้างทำทางรถไฟ นำสวาพันธุ์ไข่ห่าน ซึ่งเป็นพันธ์ลูกใหญ่ หอมหวาน เนื้อละเอียด จากกลันตัน มาเลเซีย เข้ามาปลูก ริมคลองบางกล่ำ ซึ่งเป็นสายน้ำหลัก เป็นไปได้ว่าชาวจีนกลุ่มนี้มาทางเรือหรือติดต่อกับคนจีนกลุ่มอื่น ในเส้นทางปากอ่าวทะเลสาบสงขลา เห็นจากสวาพันธุ์บางกล่ำ มีความเป็นมาแบบเดียวกับที่เกาะยอ

สวาไข่ห่าน เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของบางกล่ำ ก่อนที่จะมีพันธุ์ อื่นนำมาปลูกเพิ่มเติม ในภายหลัง มีสวนสวาเก่าแก่ รสชาติดี อยู่หลายแห่ง เจ้าของสวนปัจจุบัน มักเกิดมาก็เห็นสวาปลูกอยู่รอบบ้านก่อนแล้ว ความสำเร็จของเกษตรกรกลุ่มแรก ยังปลุกกระแสให้ชาวบ้านหันมาปลูกสวาเอาไว้กินเองเกือบทุกบ้าน จำนวนอาจไม่มาก แต่ภายหลังตัดทิ้งเพราะขยายที่ทางทำบ้านเรือน หรือปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นแทน แต่ยังเหลือสวนสวาที่สืบทอด รุ่นสู่รุ่น อยู่มากกว่า ร้อยปีอยู่หลายแปลง

ชาวบางกล่ำเชื่อว่าสวาพันธุ์กลันตันเป็นพันธุ์ดี เป็นที่นิยม จากลักษณะผลใหญ่ ผิวสวย เนื้อเนียนแน่น กรอบ กลิ่นหอม หวาน และเมล็ดน้อย ความอุดมสมบูรณ์และยายุยืนนานของสวาโบราณเหล่านั้นมาจากพื้นที่สวนสวาบางกล่ำอยู่ลุ่มทะเลสาบสงขลา ปรากฎการณ์สามน้ำ “จืด กร่อย เค็ม” ขึ้นลงผ่านคลองบางกล่ำอยู่เป็นประจำ บำรุงดิน ทำให้ต้นสวาเติบโต แข็งแรง อายุยืน ออกผลดก รสชาติหอมนุ่มละมุน อย่างสม่ำเสมอ

ธรรมชาติของต้นสวาดูแลง่ายอยู่แล้ว ทนน้ำท่วม ทนแล้ง แทบไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ยกเว้นเกิดสภาวะแล้งยาวนาน สวนสวาริมสวนบางกล่ำลิ้มทะเลสาบสามน้ำ ผ่านคลองเข้ามาตามสภาพภูมิศาสตร์ นอกจากนั้น ทุกครั้งที่มีการขุดลอกคลอง ชาวสวนสวามักนำดินจากการขุดลอกซึ่งเป็นดินเหนียวสีดำมีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ ขึ้นมาถมภายในสวน สวาก็ยิ่งถูกอกถูกใจ ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านั้น

ทะเลสาบสงขลาจึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ดลบันดาลให้ผู้คนมีอยู่มีกิน อุดมสมบูรณ์ พิเศษกว่าถิ่นอื่น นอกจากผลผลิตชุกช่วงปลายปี หากสภาพอากาศไม่แปรปรวน น้ำดี จะมีผลผลิตให้เก็บขายได้ต่อเนื่อง หลายเดือน แม้ไม่มากตามฤดูกาลปกติ ก็ยังหากิน หาขายได้ หรือ บางปี เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตครั้งละมาก ๆ ได้ถึง 2 รอบ ยามที่ผู้คน กัดเคี้ยว สวาบางกล่ำ อันหอมหวาน ชุ่มฉ่ำ อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี ธาตุแคลเซียม และธาตุฟอสฟอรัส ในเชิงวัฒนธรรม อาจพาย้อนกลับถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อันงดงาม ของคนแห่งท้องถิ่น ริมคลองบางกล่ำอันเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา เส้นทางการค้าขายในอดีต ก่อนถนนหนทางมามาแทนที่

หลังยุคเดินทางขนส่งด้วยเรือ ชาวสวนสวาบางกล่ำ ต้องนำผลผลิตขึ้นรถโดยสารประจำทาง ไปขายยังตัวอำเภอหาดใหญ่ ถนนหนทางยังไม่ดี เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยาก ผลผลิตบอบช้ำเสียหาย แต่ปัจจุบันสะดวกและ ละมุดบางกล่ำเป็นที่รู้จัก ลูกค้ามาซื้อถึงหน้าสวน

สมัยก่อนสวาเป็นผลไม้ที่หาซื้อทั่วไปไม่ได้อย่างทุกวันนี้ แม้ออกตลอดปี แต่ผลดกช่วงปลายปี นอกจากขายหน้าสวน ตลาดชุมชนใกล้บ้าน การเทขายล็อตใหญ่ จะเล็งตรงงานทอดกฐินที่อยู่ช่วงเดือนสุดท้ายของปีเป็นหลัก ของฝากจากงานทอดกฐินย่านอำเภอบางกล่ำและละแวกใกล้เคียงที่ทุกคนรอคอยจึงเป็นสวานั่นเอง

นอกจากทอดกฐิน หาซื้อได้เฉพาะตามงานวัดท้องถิ่น ประเพณีช่วงท้ายปี ชักพระ แข่งเรือยาวประเพณีบางกล่ำ ลอยกระทง จนถึงงานปีใหม่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศไม้ผลบางกล่ำ มีบทบาท ในการดูแลสวนโดยไม่ใช้สารเคมี ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนในการปรับปรุงสวนและดูแลผลผลิต

สวนสวาร้อยปี มีอยู่หลายแปลง นอกจากเก็บผลผลิตออกขาย เจ้าของสวนหลายราย เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รูปแบบร้านกาแฟ กิจกรรมศิลปะเด็ก เก็บสวา ทำผ้าบาติก กางเต้นท์ ค้างคืนกลางสวนสวา การลงไปสวนจะได้ชิมสวาสดใหม่ อร่อย จากสวน สัมผัสสิ่งที่มากกว่ารสชาติทางลิ้น นั่นคือ เห็นขั้นตอน การดูแล เก็บเกี่ยว ผลอ่อนเปลือกจะเป็นสีเขียว ถ้าสุกเปลือกจะเป็นสีน้ำตาล และมีไคลสีน้ำตาลเกาะที่เปลือก เป็นผลไม้ที่ต้องมีการวางแผน เพราะผลดิบจะฝาด ปล่อยสุกเองบนต้น มักเน่าเสียก่อน ต้องมีการเก็บลงมาเพื่อบ่มให้สุกก่อนออกจำหน่าย

ชาวสวนมัก จัดการเองทั้งหมด ปีน เก็บ เกี่ยว ผลสวาตอนดิบจะมียาง ต้องนำมา ล้าง ขัดสีฉวีวรรณ ขี้ไคลออกจนเกลี้ยง ตั้งเอาไว้ในที่ร่มให้แห้ง บ่มในเข่ง 2 คืน วิธีการบ่มแบบโบราณ ที่ชาวบ้านนิยมทำกันมากับผลไม้ต้องบ่มทุกชนิดมักใช้ถ่านหิน(อะเซติลีน) ห่อมัดปากถุง วางใต้เข่ง ก่อนนำผลสวาไปเรียงข้างบนบุด้วยฟางข้าว ปิดด้านบน ให้ความร้อนอวลระอุอยู่ภายใน

สวาสุก กลิ่น หอมละมุน ชนิดแหวกเข่งออกมา ถึงไม่จัด แต่เตะจมูก แถมยังได้กลิ่นหอมฟางข้าวเป็นของแถม ก่อนทานต้องปอกเปลือก แกะออกจะเห็นเนื้อข้างในเป็นสีเหลืองน้ำตาลอมขาว

ก่อนนำไปขายมีการแยกเป็นขนาดเล็กกลางใหญ่ ราคาปัจจุบัน 40-50-60 บาทลดหลั่นตามขนาด อย่างไรก็ตามสวาผลใหญ่อาจทำราคา 80-100 บาท สวาบางกล่ำขายอยู่ใน พื้นที่บางกล่ำเอง และอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่คนต้องการมาก

เจ้าของสวนสวาบางกล่ำรายหนึ่งบอกว่า นอกจากพันธุ์ไข่ห่านทุกวันนี้ นิยมปลูกกัน 3 แบบ ทรงแอปเปิล (ไข่ไก่) ทรงรี (ไข่เป็ด) และแบบเดิมทรงลูกใหญ่ (ไข่ห่าน) สวาบางกล่ำแท้ ดั้งเดิม สุกแล้วเนื้อหอมหวาน เฉพาะตัว แต่ละต้นแต่ละลูกอาจอร่อยไปคนละแบบ ถ้ายังสุกไม่มากก็จะหวานกรอบ เมื่อสุกเต็มที่ เนื้อจะนุ่ม หวานเข้ม และหอมมากกว่าผลดิบ

คนรุ่นใหม่อาจเกี่ยงจะกินสวาเพราะต้องเสียเวลา ปอกเปลือกยุ่งยาก ขณะที่สามารถนำมาทำเป็นผลไม้แกะสลักสวยงาม ล้ำค่าหรูหราในโรมแรม ภัตตาคาร ทุกวันนี้ มีการแปรรูป สวาบางกล่ำ เป็นขนมเค้ก สวาลอยแก้ว ขนมถ้วยสวา และ ไวน์สวา ขณะที่อยู่ระหว่างการพัฒนาสวาเป็นของขบเคี้ยวแบบกล้วยฉาบ

การรับประทานสวาจะทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยในเรื่องการขับถ่าย เมล็ดยังใช้เป็นยาบำรุงกำลัง เปลือกนำมาต้มปรุงเป็นยาแก้บิด ยางสามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิอีกด้วย

การขยายพื้นที่ปลูกสวาบางกล่ำไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้นสวาอายุมาก การขยายพันธุ์ทำได้มีเพียงวิธีเดียวคือ การทาบกิ่ง ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญอย่างสูง ช่วงที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรอำเภอ พัฒนาคุณภาพสวา และขอใบรับรองมาตรฐาน GAP นอกจากนั้น มีการทำแปลงเรียนรู้ เป็นแปลงต้นแบบในการแปลงตัดแต่งกิ่ง ขยายพันธุ์ และส่งเสริมท่องเที่ยว ยังมีการทำ MOU กับ สะวาเกาะยอ ซึ่งมีลักษณะความเป็นมา และอยู่ในภูมิศาสตร์การปลูกเดียวกัน เพื่อรับรองมาตรฐาน GI รวมเป็นสวาสงขลา

น่าเสียดายที่แม้จะเป็นของดีแห่งท้องถิ่น แต่สวาบางกล่ำ ถูกลดพื้นที่การปลูกเหลือปลูกไว้เพื่อกินมากกว่าจำหน่าย จนเริ่มสูญพันธุ์ วันนี้จึงมีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่ร่วมกันส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และปลูกอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นผลไม้ประจำถิ่นที่ลูกหลานได้ลิ้มลองต่อไปยาวนาน