1) เข้าใจว่า การอ่าน Text คล้ายการ อ่านนิยาย คือ กวาดสายตาไปวูบหนึ่ง ก็จะเข้าใจเนื้อความมาท่อนหนึ่ง หลายท่อนมารวมกัน จนเป็นองค์ความรู้ที่ text มอบให้ /// ครั้นพออ่าน text ไม่เข้าใจ ก็คิดว่าเป็นเพราะ ภาษาอังกฤษไม่แข็ง ทำนองว่า อ่านนิยายภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง แต่ที่จริงแล้ว ปัญหาอยู่ที่ วิธี การ อ่าน
อ่าน Text ฟิสิกส์ ต้องอ่านแบบตำรากฎหมาย คือ ตีความ ไป ที ละ ประโยค บางครั้ง ทีละวลีเลยก็ว่าได้ นี้เป็นว่า กว่าจะไปได้แต่ละบรรทัดต้องใช้เวลาพอสมควร ต้องคิด ว่าผู้แต่งทำไมใช้คำๆนั้น ทำไมใช้ภาษาอย่างนี้ คำศัพท์อันนี้ที่เขาใช้ ตีความครอบคลุมกรณีใดบ้าง หรือมีช่องโหว่อย่างไร
2) นศ.บางคน เน้นดูเฉพาะตัวสมการ แต่ไม่อ่านเนื้อความให้ละเอียด /// อาจเป็นเพราะขยาดกับภาษาอังกฤษ แต่ไอ้ตัวเนื้อความนี้แหละ สำคัญมาก เพราะผู้แต่งมักอธิบายเหตุผลทางฟิสิกส์ หรือหลักคิดที่สำคัญ ส่วนสมการนั่น มันแค่คณิตศาสตร์
หนำซ้ำบางคน ท่องตำราไปสอบ ท่องซีรี่ย์ของสมการ แทนที่จะจำหลักคิดในเนื้อความ แล้วค่อยเอาหลักคิดนั้น ไปประยุกต์เอาข้างหน้า ตามแต่ปลีกย่อยของข้อสอบที่เราเจอ
3) นศ. จำนวนมาก ไม่เปิดดู อ้างอิง ที่แทรกไว้ตามเนื้อหา /// ที่จริงแล้ว หากมองว่าการอ่าน Text คือทำความเข้าใจหลักคิด การที่ผู้แต่งแทรกอ้างอิงไว้ ส่วนมาก จะมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เนื้อหาใน Text นั้นสมบูรณ์
4) นศ. ไม่ทำการบ้านหรือแบบฝึกหัด คู่ขนานไปกับเนื้อหา แต่ 5555+ รอจนกว่า อาจารย์จะสั่ง /// อันที่จริง แบบฝึกหัดมีไว้ให้ทดลองคิดเอง มันถูกออกแบบมาเหมือนการฝึกมวยจีนในหนัง ที่พัฒนาการจะต้องก้าวไป ทีละขั้น มันจะทำให้คุณเข้าใจเนื้อหาหัวข้อถัดไปได้ง่ายขึ้น
5) นศ. ไม่อ่าน Text ให้จบ ครบเล่ม /// แต่จะอ่านเฉพาะบทที่ หรือซ้ำร้ายไปกว่านั้น หัวข้อที่ อาจารย์บอกว่าจะออกข้อสอบ
อาการบ่งชี้ ว่าคุณกำลังอ่านผิดวิธี /// คุณไปถามอาจารย์ ว่าอ่าน XXX ไม่เข้าใจ อาจารย์ถามว่า “เธอไม่เข้าใจ ตรงไหน?” แล้วคุณมืดไปหมด พบว่าไม่เข้าใจทั้งหมดเลย !!!!
ลองมาวิเคราะห์ดู นี้ เป็น! ไปไม่ได้ เพราะอย่างน้อยเวลาคุณเริ่มอ่านประโยคแรก ประโยคสอง มันต้องมีเนื้อความที่แปลได้ง่าย คงต้องลึกเข้าไป ในประโยค 5-6 โน่นแหละ ที่คุณเริ่มเขว ไม่รู้ว่าผู้แต่งต้องการสื่ออะไร
การที่คุณบอกอาจารย์ว่า “ไม่เข้าใจทั้งหมด” เป็นอาการที่คุณ กำลังอ่าน text ในลักษณะการอดทนสะสมข้อมูล ไปให้ครบ 1 หัวข้อ (5-6 หน้า) แล้วคาดเอาเองว่า ข้อมูลเหล่านั้นจะมาขมวดเป็นความคิดรวบยอด เป็นความเข้าใจในที่สุด ในทำนอง ซดข้าวต้มไปทั้งถ้วย ให้กระเพาะมันย่อยเอาเอง
ผิด !!!
เมื่ออาจารย์ถามว่า “คุณไม่เข้าใจตรงไหน?” คุณต้องเริ่มตอบว่า 1) ดิฉัน อ่านประโยคนี้ เข้าใจ 2) มาตรงนี้รู้ว่าคือ จุด จุด จุด แต่ พอมาถึง ประโยคนี้ ค่ะ! อาจารย์คะ หนูตีความไม่ออก
คือ ต้องค่อยๆเคี้ยว ทีละประโยค เคี้ยวตรงไหนไม่ละเอียด จึงเริ่มถามตรงนั้น
ผมเสียใจ ที่อ่าน text มันไม่ง่าย ไม่ไหลเลื่อนเหมือนซดข้าวต้ม แต่นี่คือความจริงของชีวิต และก็มีเหตุผลที่ดีอยู่ ว่าทำไมจึงอ่านใช้เวลานาน
หลักคิด ตลอดจนการถ่ายทอดหลักคิดออกมาเป็นแต่ละสมการใน text ฟิสิกส์ ได้มาจากการคิดของนักวิจัยที่ต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี บางที ทั้งชีวิตของเขา นึกดู ขนาดเขามีอาชีพต้องคิด ยังใช้เวลานานขนาดนั้น /// คุณมาอ่านเอา วูบ เดียวแล้วจะเข้าใจ มันก็ออกจะเกินหน้าเกินตาไปอยู่ จริงมั้ยครับ?
สุดท้าย ก่อนเปิด Text เล่มนั้น ถามตัวเองดู
1) กับหลายๆชั่วโมงที่คุณจะอ่านมัน
2) กับโอกาสที่คุณสามารถถามอาจารย์หากมีข้อสงสัย และ
3) กับผู้แต่งที่คงเป็นสุดยอดนักคิดแหละถึงกลายเป็นตำราสากลอยู่ในมือคุณได้ กับองค์ประกอบเหล่านี้
คุณ คาดหวัง จะได้อะไร? จาก Text เล่มนั้น?
ได้แต้ม? ที่อาจารย์มอบให้?
ได้ความเข้าใจ ในกฎธรรมชาติที่นักคิดสั่งสมมา กว่าจะคิดออก ทีละ คน ทีละคน รวบรวมมาไว้ให้คุณได้ซึมซับรับรู้ และ ต่อยอด /// ลองนึกดู เวลาคุณดูละคร ***พอเข้าใจ*** แล้วว่าอ๋อ! พระเอกมีความลับอย่างโน้น มิน่าเขาจึงทำอย่างนี้ จริงๆแล้วทำไปเพราะรัก ฯลฯ อดทนดูมาตั้งนาน ในที่สุด ก็เข้าใจ
สิ่งที่อยู่ใน Text ฟิสิกส์ ก็คือความเข้าใจ เช่นกัน อาจไม่ใช่เรื่องราวของบุคคล แต่ตัวละครใน Text เป็น อะตอม เป็นดวงอาทิตย์ เป็นกาแลกซี เวลา อวกาศ ตัวละครเจ้าบทบาทเหล่านี้ ซ่อนไว้ด้วย Character ด้วยสมบัติ ที่พร้อมจะให้เราดึงมาใช้ประโยชน์ เพื่อความอยู่รอดและคุณภาพชีวิตที่ดีของเรา ได้เสมอ
ด้วยรักและผูกพัน, ทีปานิส ชาชิโย