วันเข้าพรรษา

“วันเข้าพรรษา” 2564 ที่ตรงกับวันที่ 25 กรกฎาคม 2564

วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา" นั่นเอง โดย วันเข้าพรรษา 2564 ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 25 กรกฎาคม หรือแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งประวัติวันเข้าพรรษา ความสำคัญ กิจกรรม มีดังนี้

ประวัติวันเข้าพรรษา

"เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน โดยแบ่งเป็น

- ปุริมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

- ปัจฉิมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

อย่างไรก็ตาม หากมีกิจธุระ คือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่

1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย

2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้

3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด

4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

นอกจากนี้หากระหว่างเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่าน ครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้

ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในวันเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา...

อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ พอถึงฤดูฝนพระภิกษุส่วนใหญ่ก็อยู่ประจำที่เช่นเดียวกับนักบวชนอกพุทธศาสนาที่มักถือเป็นประเพณีปฏิบัติอยู่จำพรรษามาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ปรากฏว่ามีพระภิกษุกลุ่มฉัพพัคคีย์พาบริวารจำนวน ๑,๕๐๐ รูปเที่ยวจาริกไปตามที่ต่างๆ เนื่องจากตอนต้นพุทธกาลยังไม่มีพุทธานุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษา ทำให้ชาวบ้านพากันติเตียนถึงการจาริกของท่านเพราะไปเหยียบข้าวกล้าในนาเสียหาย เมื่อรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสถามจนได้ความจริง แล้วทรงบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน

อย่างไรก็ดี หนังสือ “วันเข้าพรรษา” ที่จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวไว้ว่า ในกรณีที่มีกิจจำเป็น พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอนุญาตให้พระภิกษุไปค้างคืนที่อื่นได้คราวละไม่เกิน ๗ วัน โดยไม่ถือว่าอาบัติ เรียกว่าเป็นเหตุพิเศษหรือ “สัตตาหกรณียกิจ” ซึ่งมีอยู่ 4 ประการคือ

  1. เพื่อนสหธรรมิก (ผู้มีธรรมร่วมกัน) ทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขามานา(นางผู้กำลังศึกษา /สามเณรีผู้มีอายุ ๑๘ปีและอีก ๒ ปีจะครบบวชเป็นภิกษุณี) สามเณร สามเณรี หรือบิดามารดาป่วยไปเพื่อพยาบาลได้

  2. ไปเพื่อยับยั้งเพื่อนสหธรรมิกที่อยากสึก มิให้สึกได้

  3. ไปเพื่อกิจของสงฆ์ เช่น หาอุปกรณ์ซ่อมกุฏิ วิหารที่ชำรุดทรุดโทรมได้

  4. ไปเพื่อฉลองศรัทธาทายกที่เขาส่งตัวแทนมานิมนต์ไปร่วมบำเพ็ญบุญได้

นอกจากนั้น วันเข้าพรรษา ยังยกเว้นสำหรับพระภิกษุที่ประสบเหตุดังต่อไปนี้ แม้จะเป็นระหว่างพรรษาก็สามารถหลีกไปที่อื่นได้โดยไม่อาบัติ แต่ขาดพรรษา คือ ถูกสัตว์ร้ายรบกวนหรือเบียดเบียน ถูกงูรบกวนหรือขบกัด ถูกโจรเบียดเบียนหรือปล้น ทุบตี ถูกปีศาจรบกวน เข้าสิงหรือฆ่า ชาวบ้านที่ให้ความอุปถัมภ์ไม่สามารถอุปถัมภ์ได้ต่อไปเพราะย้ายถิ่น ฐานไปที่อื่น หรือเสนาสนะของภิกษุถูกไฟไหม้น้ำท่วม หรือมีผู้จะพยายามทำร้าย พระภิกษุสามารถหลีกไปอยู่ที่อื่นระหว่างพรรษาได้

วันเข้าพรรษา นอกจากจะเป็นช่วงที่พระภิกษุอยู่ประจำที่ดังกล่าวแล้ว ยังก่อให้เกิดประเพณีสำคัญขึ้นอีก 2 ประเพณีคือ ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน และ ประเพณีแห่เทียนพรรษา

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน เกิดขึ้นโดยมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งนางวิสาขา มหาอุบาสิกาต้องการจะนิมนต์พระภิกษุไปฉันภัตตาหารที่บ้าน

จึงให้หญิงรับใช้ไปพระวิหารเชตวันเพื่อนิมนต์พระ ปรากฏว่านางไปเห็นพระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนอยู่ ก็กลับมารายงานด้วยความเข้าใจผิดว่าไม่พบพระ เห็นแต่พวกชีเปลือย นางวิสาขาก็รู้ด้วยปัญญาว่าคงเป็นพระอาบน้ำฝนอยู่ ดังนั้น นางจึงได้ทูลขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุและภิกษุณีเป็นประจำแต่นั้นมา จึงเกิดเป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อมาจนทุกวันนี้ และกล่าวกันว่า ผู้ที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนจะได้รับอานิสงส์เหมือนการถวายผ้าอื่นๆตามนัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ ทำให้เป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส สวยงาม ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีความสะอาดผ่องใสทั้งกายและใจ

ประเพณีแห่เทียนพรรษา เกิดจากความจำเป็นที่ว่าสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อพระภิกษุอยู่รวมกันมากๆเพื่อปฏิบัติกิจวัตร เช่น การสวดมนต์ตอนเช้ามืดและพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม การบูชาพระรัตนตรัย ฯลฯ จำเป็นต้องใช้แสงสว่างจากเทียน
ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันนำเทียนมาถวาย ซึ่งช่วงต้นก็คงจะถวายเป็นเทียนเล็กๆธรรมดา ครั้นต่อมาก็ได้มีการมัดเทียนเล็กๆมารวมกันเป็นต้น คล้ายต้นกล้วยหรือลำไม้ไผ่ แล้วติดกับฐาน ที่เรียกกันว่า ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา และก็วิวัฒนาการมาเรื่อยๆจนเป็นเทียนพรรษาอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
กล่าวกันว่า เทียนพรรษา เริ่มมาจากผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือวัว ที่เป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตาย ก็จะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระเป็นเจ้าที่ตนเคารพ แต่ชาวพุทธจะทำเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย โดยเอามาจากรังผึ้งร้าง ต้มเอาขี้ผึ้งมาฟั่นเป็นเทียนเล็กๆเพื่อจุดบูชาพระ และได้ยึดเป็นประเพณีที่จะนำเทียนไปถวายพระภิกษุในช่วงเข้าพรรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดดุจดังแสงสว่างของดวงเทียน