นางสงกรานต์ 2566 ทรงนาม “กิมิทาเทวี” 

ประวัตินางสงกรานต์ ตำนานเล่าสืบต่อ

ตำนานนางสงกรานต์เล่าว่า ในอดีตมีเศรษฐีคนหนึ่งเพียบพร้อมทุกอย่าง แต่อาภัพเรื่องบุตรสืบสกุล จึงบวงสรวงขอบุตรกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ แต่ก็ยังไม่เป็นผล ในช่วงฤดูร้อนหลายปีต่อมา เศรษฐีได้ถวายข้าวสารซาวน้ำ 7 สี เครื่องถวาย ดนตรีปี่พาทย์บูชาขอลูกจากรุกขพระไทร ท่านเกิดความเห็นใจจึงขอบุตรกับพระอินทร์ให้ เศรษฐีจึงได้บุตรชาย ตั้งชื่อว่า "ธรรมบาลกุมาร"

ธรรมบาลกุมารเป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบ ฉลาดหลักแหลมจนมีชื่อเสียงร่ำลือ เป็นที่พูดถึง และเป็นที่รู้จักไปทั่ว เมื่อเรื่องถึงหูท้าวกบิลพรหม จึงเกิดการประลองปัญญาถามคำถาม หากฝ่ายใดแพ้ตอบไม่ได้จะต้องตัดศีรษะบูชา ซึ่งท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายแพ้ จึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ แต่หากศีรษะนี้ตกลงพื้นจะเกิดเพลิงไหม้โลก ท้าวกบิลพรหมจึงสั่งให้บุตรธิดาหรือนางสงกรานต์มาสลับสับเปลี่ยนทำหน้าที่อัญเชิญศีรษะของตน 

นางสงกรานต์ประจําปี 2566 คือ นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

วันที่ 14 เมษายน 2566 เป็น "วันมหาสงกรานต์" ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที นางสงกรานต์ 2566 จึงได้แก่ นางสงกรานต์กิมิทาเทวี ทัดดอกจงกลนี ประดับด้วยบุษราคัมหรือพลอยสีเหลือง พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ ภักษาหารคือ กล้วยและน้ำ ประทับนั่งเหนือมหิงสาหรือควายเป็นพาหนะ

คำทำนายนางสงกรานต์ 2566

หลังจากประกาศนางสงกรานต์ปี 66 โหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้ประกาศคำทำนายร่วมด้วยว่า

วันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้ วันเสาร์ เป็น ธงชัย, วันพุธ เป็น อธิบดี, วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ และวันศุกร์ ยังเป็น โลกาวินาศ

ปีนี้ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว

เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี ทำนายว่าในช่วงกลางปีฝนจะตก ดินอุดมสมบูรณ์