บทที่ 6 ทักษะการเรียนรู้และศักยภาพหลักของพื้นที่ในการพัฒนาอาชีพ

ปัจจุบันโลกมีการแข่งขันในการประกอบอาชีพกันมากขึ้น ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เช่น ทักษะกระบวนการทำงาน ทักษะกระบวนการแก้ปัญหา ทักษะการทำงานร่วมกัน ทักษะการแสวงหาความรู้ ทักษะการบริหารและการจัดการ ตามที่ได้เรียนรู้มาแล้วในบทที่ 1 - 5 และในบทเรียนนี้ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เพิ่มเติม ในเรื่องการมีทักษะการเรียนรู้และศักยภาพหลักของพื้นที่ในการพัฒนา ซึ่งเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพ

เรื่องที่ 1 ความสำคัญของศักยภาพหลักของพื้นที่ในการพัฒนาอาชีพ

การศึกษา เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรของชาติให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงสามารถยืนหยัดได้อย่างสง่างามในประชาคมโลก การจัดการศึกษาจึงต้องให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของภูมิสังคม ภูมิรัฐศาสตร์ ศักยภาพทุกด้านที่จะเป็นต้นทุนทางการศึกษา รวมทั้งต่อยอดการศึกษาสู่การพัฒนาประเทศในด้านอื่น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม มีการค้นหาศักยภาพหลักของพื้นที่ในทุกภาคส่วนของสังคมปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน การจัดการศึกษาอาชีพจึงต้องเน้นพื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา ภายใต้ศักยภาพ ที่มีอยู่ในด้านต่าง ๆ ของพื้นที่นั้นเป็นสำคัญ จึงจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคม ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น พร้อมที่จะเข้าสู่สังคมการแข่งขันในระดับโลกได้การจัดการศึกษาด้านอาชีพ มีความสำคัญมาก เป็นการพัฒนาประชากรของประเทศให้มีความรู้ความสามารถและมีทักษะในการประกอบอาชีพ เป็นการแก้ปัญหาการว่างงานและส่งเสริมความเข้มแข็ง ให้แก่เศรษฐกิจชุมชน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา 5ศักยภาพของพื้นที่ ใน 5 กลุ่มอาชีพใหม่ ให้สามารถแข่งขันได้ใน 5 ภูมิภาคหลักของโลก โดยกำหนดภารกิจการพัฒนา ยกระดับและจัดการศึกษาอาชีพในกลุ่ม 5 อาชีพใหม่ ได้แก่ กลุ่มอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการบริหารจัดการและการบริการ โดยคำนึงถึงหลักการพื้นฐาน ของศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาอาชีพทั้ง 5 ด้านประกอบด้วย 1) ศักยภาพของธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ 2) ศักยภาพของพื้นที่ตามลักษณะ ภูมิอากาศ 3) ศักยภาพของภูมิประเทศและทำเลที่ตั้งของแต่ละพื้นที่ 4) ศักยภาพของศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี องค์ความรู้ ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ และ 5) ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละพื้นที่

เรื่องที่ 2 การวิเคราะห์ศักยภาพหลักของพื้นที่ในการพัฒนาอาชีพ

1. ศักยภาพหลักของทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ หมายถึง สิ่งแวดล้อมต่าง ๆที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น บรรยากาศ ดิน น้ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า แร่ธาตุ และพลังงาน เป็นต้น การแยกแยะเพื่อนำ เอาศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ ต้องพิจารณาว่าทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ มีอะไรบ้าง เพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ต้องพิจารณาใหม่ ว่าจะประกอบอาชีพที่ตัดสินใจเลือกไว้หรือไม่ เช่น ต้องการผลิตน้ำแร่ธรรมชาติจำหน่าย แต่ในพื้นที่ไม่มีตาน้ำไหลผ่าน และไม่สามารถขุดน้ำบาดาลได้ ก็ต้องพิจารณาต่อไป ถ้าต้องการอาชีพนี้ เพราะเห็นว่ามีคนนิยมดื่มน้ำแร่มาก ประกอบกับตลาดยังมีความต้องการเช่นกัน ก็ต้องพิจารณาอีกว่าการลงทุนหาทรัพยากรน้ำและแร่ธาตุ มาใช้ในการผลิตน้ำแร่ จะเสียค่าใช้จ่ายคุ้มทุนหรือไม่

2. ศักยภาพของพื้นที่ตามลักษณะภูมิอากาศ หมายถึง ลักษณะของลม ฟ้า อากาศที่มีอยู่ประจำท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง โดยพิจารณาจากค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิประจำเดือน และปริมาณน้ำฝนในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ในรอบปี เช่น ภาคเหนือของประเทศไทย มีอากาศหนาวเย็น หรือร้อนชื้นสลับกับฤดูแล้ง อาชีพทางการเกษตร ที่ทำรายได้ให้ประชากร ได้แก่ การทำสวน ทำไร่ทำนาและเลี้ยงสัตว์ หรือภาคใต้มีฝนตกตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเมืองร้อน ที่ต้องการความชุ่มชื้นสูง เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นการประกอบอาชีพอะไรก็ตามจำเป็นต้องพิจารณาถึงสภาพภูมิอากาศด้วย

3. ศักยภาพของภูมิประเทศและทำเลที่ตั้งของแต่ละพื้นที่ หมายถึง ลักษณะพื้นที่และทำเลที่ตั้งในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น เป็นภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบลุ่ม ที่ราบชายฝั่งสิ่งที่ควรศึกษา เช่น ขนาดของพื้นที่ ความลาดชัน และความสูงของพื้นที่ เป็นต้น รวมถึงการผลิตการจำหน่าย หรือการให้บริการ ต้องคำนึงถึงทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม

4. ศักยภาพของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ ประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภาค จึงมีความแตกต่างกัน ในการดำรงชีวิต ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี และการประกอบอาชีพ ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ มีวิถีชีวิตผูกพันกับการเกษตร ถึงร้อยละ 80 แต่ก็ควรพิจารณาเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ด้วย

5. ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละพื้นที่ หมายถึง การนำศักยภาพของแต่ละบุคคล ในแต่ละพื้นที่มาใช้ในการปฏิบัติงาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างให้แต่ละบุคคลเกิดทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ องค์กร ตลอดจนเกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเอง และเพื่อนร่วมงานในประเทศไทยยังมีบุคคลอีกหลายกลุ่มที่สามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ตลอดจนการพัฒนาอาชีพให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยเฉพาะอาชีพด้านเกษตรกรรม ปัจจุบันมีการทำเกษตรแบบผสมผสาน สามารถพลิกฟื้นคืนธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์แทนสภาพดินเดิม ที่เคยถูกทำลายไปทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ต้องพิจารณาดำเนินการประกอบอาชีพอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องกับความต้องการของบุคคลในแต่ละพื้นที่

จะเห็นได้ว่า การวิเคราะห์ศักยภาพตามหลักของพื้นที่ ทั้ง 5 ด้าน ดังกล่าวข้างต้นมีความสำคัญและจำเป็นต่อการประกอบอาชีพให้เข้มแข็ง หากได้วิเคราะห์ศักยภาพของตนเองอย่างรอบด้าน รวมถึงปัจจัยภายในตัวตน และภายนอกของผู้ประกอบอาชีพ ถ้าวิเคราะห์ข้อมูลได้มากและถูกต้อง ก็มีโอกาสเข้าสู่การประกอบอาชีพ ได้มากยิ่งขึ้น