บทที่ 4 เรื่องที่ 4 กระบวนการและเทคนิคการเก็บข้อมูล

เรื่องที่ 4 กระบวนการและเทคนิคการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลทั้ง 3 ประการของบุคคล ครอบครัว และชุมชน เพื่อประกอบการคิดการตัดสินใจ

ข้อมูล คือ ข่าวสาร รายละเอียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นข้อเท็จจริงของสิ่งต่าง ๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสัญลักษณ์ ตัวเลข จำนวน รูปภาพ เสียงวีดิทัศน์ คำอธิบาย เช่น ตัวเลขแสดงจำนวนลูกค้า จำนวนคนป่วย คะแนนสอบ ภาพแผ่นดินไหวพายุหมุน เป็นต้น

สารสนเทศ คือ ข้อมูลที่ผ่านกระบวนการประมวลผล วิเคราะห์จนสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจต่อไปได้ทันทีข้อแตกต่างระหว่างข้อมูลและสารสนเทศ

ตัวอย่าง

ข้อมูล : ผู้เรียน กศน.อำเภอเวียง มีจำนวน 30,000 คน มีครูผู้สอนจำนวน 30 คน สารสนเทศ : อัตราส่วนครูผู้สอนต่อผู้เรียน 

กศน.อำเภอเวียง เท่ากับ 30,000/30 =1,000

ลักษณะของข้อมูล

ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Data) เป็นข้อมูลที่แสดงความแตกต่างในเรื่องปริมาณหรือขนาด ในลักษณะของตัวเลขโดยตรง เช่น อายุ ส่วนสูง น้ำหนัก ปริมาณต่างๆ

ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) เป็นข้อมูลที่แสดงลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น เพศชาย เพศหญิง จะเป็นข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในรูปของตัวเลขโดยตรง

ประเภทของข้อมูล

1. ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการที่ผู้ใช้เป็นผู้เก็บข้อมูลโดยตรง ซึ่งอาจจะเก็บด้วยการสัมภาษณ์หรือสังเกตการณ์ เป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดเนื่องจากยังไม่มีการเปลี่ยนรูป และมีรายละเอียดตามที่ผู้ใช้ต้องการ แต่จะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก เช่น ข้อมูลที่ได้จากการนับจำนวนรถที่เข้า - ออก ห้างสรรพสินค้า ในช่วงเวลา01.00-12.00 น . ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์นักศึกษาเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด

2. ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูล ที่มีผู้เก็บรวบรวมไว้แล้ว เป็นข้อมูลในอดีต และมักจะเป็นข้อมูลที่ได้ผ่านการวิเคราะห์เบื้องต้นมาแล้ว ผู้ใช้นำมาใช้ได้เลย จึงประหยัด ทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย บางครั้งข้อมูลทุติยภูมิจะไม่ตรงกับความต้องการหรือมีรายละเอียดไม่เพียงพอ นอกจากนั้นผู้ใช้จะไม่ทราบถึงข้อผิดพลาดของข้อมูลซึ่งอาจจะทำให้ผู้ที่นำมาใช้สรุปผิดพลาดไปด้วย

คุณสมบัติที่เหมาะสมของข้อมูล

1. ความถูกต้อง ความผิดพลาดของข้อมูลมาจากคน หรือเครื่องจักร ต้องออกแบบโครงสร้างวิธีการเก็บข้อมูลให้ผิดพลาดน้อยที่สุด

2. ความรวดเร็วและเป็นปัจจุบัน การได้มาของข้อมูลต้องรวดเร็ว ให้ทันต่อเหตุการณ์เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

3. ความสมบูรณ์ ต้องสำรวจและสอบถามความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล

4. ความชัดเจนและกะทัดรัด ต้องออกแบบโครงสร้างของข้อมูลให้กะทัดรัดสื่อความหมายได้

5. ความสอดคล้อง ต้องมีการสำรวจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

การทำข้อมูลให้เป็นสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล การตรวจสอบข้อมูล การประมวลผล และการดูแลรักษาสารสนเทศเพื่อการใช้งาน

เทคนิคการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ การตอบแบบสอบถาม การทดสอบ ทดลอง การสำรวจ และการศึกษาเอกสาร หรือแหล่งข้อมูลออนไลน์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

การบันทึกข้อมูล เป็นการนำเอาข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาเพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ และนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ ซึ่งการบันทึกข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย

1. อ่านข้อความที่จะย่อให้เข้าใจ หาใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้าและใจความรองที่สำคัญ ๆ

2. นำใจความสำคัญและใจความรอง มาเรียบเรียงด้วยสำนวนของตนเอง

3. ถ้าข้อความที่อ่านไม่มีชื่อเรื่อง ต้องตั้งชื่อเรื่องเอง กรณีตัวเลขหรือจำนวนต้องระบุหน่วยชัดเจน

การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ

1. การวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการแยกแยะข้อมูล หรือส่วนประกอบของข้อมูลออกเป็นส่วนย่อย ๆ ศึกษารายละเอียดของข้อมูลในการคิดเป็นทั้ง 3 ประการ ว่าแต่ละด้านมีข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อให้รู้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร วิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลรอบด้าน ทั้งด้านบวกและด้านลบ ดูความหลากหลายและพอเพียงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ เที่ยงตรง เชื่อถือได้สมเหตุสมผล การวิเคราะห์ข้อมูล มีประโยชน์ช่วยให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวหรือเรื่องต่าง ๆที่แท้จริง ไม่เชื่อตามคำบอกเล่าหรือคำกล่าวอ้างของใครง่าย ๆ

2. การสังเคราะห์ข้อมูล

การสังเคราะห์ข้อมูล เป็นการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ถูกต้อง ใกล้เคียงกันมารวบรวมจัดกลุ่ม จัดระบบเป็นกลุ่มใหญ่ นำข้อมูลการคิดเป็นทั้ง 3 ประการ ที่วิเคราะห์แม่นยำ เที่ยงตรงหลากหลายและพอเพียง ทั้งด้านบวกและด้านลบไว้ แล้วมาจัดกลุ่มทางเลือกในการแก้ปัญหาใช้ในการประกอบการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับและพอใจที่สุดนำมาแก้ปัญหาต่อไป

การวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูลทั้ง 3 ด้าน เป็นเรื่องของทักษะที่จะต้องมีการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะกระบวนการคิด