บทที่ 3 เรื่องที่ 1 ความหมาย ความสำคัญ และหลักการของการจัดการความรู้

ความหมายของการจัดการความรู้

การจัดการ (Management) หมายถึง กระบวนการในการเข้าถึงความรู้และการถ่ายทอดความรู้ที่ต้องดำเนินการร่วมกันกับผู้ปฏิบัติงาน จึงเริ่มต้นจากการบ่งชี้ความรู้ที่ต้องใช้ การสร้างและการแสวงหาความรู้ การประมวลเพื่อกลั่นกรองความรู้ การจัดการความรู้ให้เป็นระบบการสร้างช่องทางเพื่อการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้อง การแลกเปลี่ยนความรู้ การจัดการสมัยใหม่ใช้กระบวนการทางปัญญาเป็นสิ่งสำคัญในการคิด การตัดสินใจ และส่งผลให้เกิดการกระทำ การจัดการจึงเน้นไปที่การปฏิบัติ

ความรู้ (Knowledge) หมายถึง ความรู้ที่ควบคู่กับการปฏิบัติ ซึ่งในการปฏิบัติจำเป็นต้องใช้ความรู้ที่หลากหลายสาขาวิชามาเชื่อมโยง บูรณาการเพื่อการคิดและตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติ จุดกำเนิดของความรู้ คือ สมองของคน เป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในสมอง เมื่อนำไปใช้จะไม่หมดไป แต่จะเกิดความรู้เพิ่มพูนมากขึ้น

การจัดการความรู้ (Knowledge Management) หมายถึง การจัดการกับความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวคน และความรู้เด่นชัด นำมาแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และองค์กร ก่อให้เกิดการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

ความรู้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ความรู้เด่นชัด (Explicit Knowledge) คือ ความรู้ที่เขียนอธิบายเป็นตัวอักษรได้สามารถถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น หนังสือ ตำรา คู่มือปฏิบัติงาน เว็บไซต์ เป็นต้นจึงเรียกว่า ความรู้รูปธรรม

2. ความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน/ความรู้ซ่อนเร้น (Tacit Knowledge) คือ ความรู้และประสบการณ์ที่แฝงอยู่ในตัวคน พัฒนาเป็นภูมิปัญญา ฝังอยู่ในความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่ได้มาจากประสบการณ์ พรสวรรค์ที่เป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัว

ความสำคัญของการจัดการความรู้

การจัดการความรู้ จะก่อให้เกิดการยกระดับความรู้ที่ส่งผลต่อเป้าหมายของการทำงานคือเกิดการพัฒนาประสิทธิภาพของงาน คนเกิดการพัฒนา ส่งผลต่อเนื่องไปถึงองค์กร เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ผลที่เกิดจากการจัดการความรู้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น มี 3 ประการ คือ

1. ผลสัมฤทธิ์ของงาน จะเกิดผลสำเร็จที่รวดเร็วขึ้น เกิดนวัตกรรมใหม่ในการทำงานและวัฒนธรรมการทำงานที่มีความเอื้ออาทรต่อกันขึ้นในองค์กร

2. บุคลากรเกิดการพัฒนาตนเอง และส่งผลรวมทั้งองค์กร กระบวนการเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน จะทำให้บุคลากรเกิดความมั่นใจในตนเอง เกิดความร่วมมือกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

3. ยกระดับความรู้ของบุคลากรและองค์กร ทำ ให้บุคลากรมีความรู้ร่วมกันมีแนวทางในการพัฒนางานชัดเจนขึ้น มีองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้งาน และจัดระบบงานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้

หลักการของการจัดการความรู้

หลักการของการจัดการความรู้ หมายถึง การให้คนหลากหลายทักษะ หลากหลายวิธีคิดทำงานร่วมกัน ช่วยกันคิด ร่วมกันพัฒนาวิธีการในรูปแบบใหม่ เกิดนวัตกรรมใหม่ และเกิดประสิทธิภาพในการทำงาน ตอบสนองความต้องการของตนเอง ผู้นำองค์กร ผู้รับบริการและสังคมโดยการเรียนรู้จากการทดลอง และขยายการเรียนรู้ไปสู่วิธีการปฏิบัติ สู่ความเป็นเลิศ โดยการเติมความรู้จากภายนอก จนเกิดเป็นความรู้ที่เหมาะสมตามสภาพที่ต้องการใช้

กระบวนการจัดการความรู้

กระบวนการจัดการความรู้ เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้องค์กรเข้าถึงขั้นตอนที่ทำให้เกิดการจัดการความรู้ หรือพัฒนาการของความรู้ที่จะเกิดขึ้นในองค์กร มี 7 ขั้นตอน ดังนี้

1. การบ่งชี้ความรู้ เป็นการพิจารณาว่าเป้าหมายการทำงานของเรา คืออะไร และถ้าจะให้บรรลุเป้าหมาย จำเป็นต้องใช้อะไร และขณะนี้องค์กรมีความรู้อะไร รูปแบบใด อยู่กับใครทุกคนต้องเข้าใจและทุกเรื่องต้องชัดเจน

2. การสร้างและแสวงหาความรู้ เป็นการจัดบรรยากาศ และวัฒนธรรมการทำงานของคน ในองค์กรให้เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดความรู้ใหม่

3. การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ เป็นการเตรียมความพร้อมในการเก็บรวบรวมความรู้ประเภทต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ หรือการค้นหา เพื่อนำมาใช้งานได้ง่ายและรวดเร็ว

4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ เป็นการประมวลความรู้ในรูปแบบเอกสารหรืออื่น ๆ ให้เป็นมาตรฐาน ปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและใช้ได้ง่าย

5. การเข้าถึงความรู้ เป็นการเผยแพร่ความรู้ให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์ เข้าถึงได้ง่ายและสะดวก เช่น เว็บบอร์ด บอร์ดประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ ทำได้หลายวิธีการ หากเป็นความรู้เด่นชัด อาจจัดทำเป็นเอกสาร ฐานความรู้ที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หากเป็นความรู้ฝังลึกในตัวคน อาจจัดเป็นระบบแลกเปลี่ยนความรู้ การสอนงาน การสับเปลี่ยนงาน ชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น

7. การเรียนรู้ ต้องให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน การนำความรู้ไปใช้ทำให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่หมุนเวียนต่อเนื่อง เรียกว่าเป็น “วงจรแห่งการเรียนรู้”

การรวมกลุ่มเพื่อการต่อยอดความรู้

หมายถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อดึงความรู้ที่ฝังลึกในตัวบุคคลออกมาเป็นองค์ความรู้เพื่อนำมาใช้หรือประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน โดยจะต้องมีบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการเรียนรู้วิธีการทำงานของคนที่ประสบผลสำเร็จมาเป็นบทเรียน และนำมาประยุกต์ใช้กับตนเอง จนเกิดวิธีการปฏิบัติงานใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

การพัฒนาขอบข่ายความรู้ของกลุ่ม

การพัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็งยั่งยืนได้นั้น ต้องมีขอบข่ายความรู้ที่จำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนากลุ่ม ดังนี้

1.ความรู้เรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม มีความโปร่งใส ระบบบัญชีเป็นปัจจุบันตรวจสอบได้ มีความร่วมมือ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

2. ความรู้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพทันสมัย ได้รับความนิยมตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้มีลูกค้า ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

3. ความรู้เรื่องการตลาด ต้องมีความรู้เกี่ยวกับทำเลที่ตั้ง ช่องทางการจำหน่ายและขยายตลาดให้มากขึ้น

4. การรักษามาตรฐานของสินค้า กลุ่มต้องมีความรู้ในเรื่องการผลิตสินค้าให้มีมาตรฐาน สินค้าจึงจะได้รับการยอมรับ เช่น ถ้าเป็นสินค้าที่ผลิตในชุมชน จะต้องมีมาตรฐานชุมชนเป็นเครื่องกำกับ

การจัดทำสารสนเทศเผยแพร่ความรู้

การจัดทำสารสนเทศ หมายถึง การจัดรวบรวมข้อมูลความรู้ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติให้เป็นระบบ เพื่อสร้างช่องทางให้คนที่ต้องการใช้ความรู้เข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายและเกิดการแบ่งปันความรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ

การเผยแพร่ความรู้ เป็นการนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้บุคลากรในองค์กรได้รับรู้โดยสามารถทำได้หลายทาง คือ การเขียนบันทึกรายงานการประชุม สัมมนา การฝึกอบรม การจัดทำเป็นบทเรียน รูปแบบหนังสือ บทความ วีดิทัศน์ การฝึกสอน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การเล่าเรื่อง การสอบถาม การสัมภาษณ์ เป็นต้น