บทที่  3 เรื่องที่ 2 ทักษะการจัดการความรู้ด้วยตนเองและด้วยการรวมกลุ่มปฏิบัติ

ทักษะการจัดการความรู้ด้วยตนเอง

การเรียนรู้เพื่อให้เกิดการจัดการความรู้ด้วยตนเอง ต้องเริ่มจากการคิด แล้วลงมือปฏิบัติการปฏิบัติจะทำให้จดจำได้แม่นยำกว่า และมีการบันทึกความรู้ระหว่างปฏิบัติไว้ใช้ทบทวน หรือให้ผู้อื่นนำไปปฏิบัติตามได้ ขั้นสุดท้ายให้ย้อนกลับไปทบทวนกระบวนเรียนรู้ เพื่อตรวจหาจุดบกพร่องและปรับปรุง พัฒนาจุดบกพร่องนั้นให้ได้ ทักษะในการจัดการความรู้ด้วยตนเอง สามารถฝึกได้ดังนี้

ฝึกสังเกต ใช้สายตา หู ในการสังเกตจะช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

ฝึกการนำเสนอ เพื่อนำความรู้ไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น จะทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างกว้างขวางขึ้น

ฝึกตั้งคำถาม การตั้งคำถามให้ตนเองหรือผู้อื่นตอบ ทำให้ได้ขยายขอบข่ายความคิดความรู้กว้างขึ้นไปอีก

ฝึกแสวงหาคำตอบ ต้องรู้ว่าความรู้หรือคำตอบมีแหล่งข้อมูลอยู่ที่ใดบ้าง เช่น จากเอกสาร อินเทอร์เน็ต หรือสอบถามจากตัวบุคคล เป็นต้น

ฝึกบูรณาการเชื่อมโยงความรู้ เนื่องจากความรู้ที่มีอยู่หลากหลาย และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จึงจำเป็นต้องรู้องค์รวมของเรื่องนั้น ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ปุ๋ยหมัก ไม่เฉพาะมีความรู้เรื่องวิธีทำ แต่ต้องรู้เชื่อมโยงไปถึงวิธีการนำไปใช้หรือแนะนำผู้อื่น โยงไปถึงการกำหนดราคาเพื่อขาย การบรรจุภัณฑ์ทุกอย่างต้องบูรณาการกันทั้งหมด

ฝึกบันทึก การจดบันทึกความรู้จากการปฏิบัติของตนเอง ใช้เป็นหลักฐานร่องรอยการคิด การปฏิบัติ เพื่อการทบทวนการเรียนรู้ของตนเอง การเข้าถึงและการเรียนรู้ของบุคคลอื่นด้วย

ฝึกการเขียน การเขียนงานของตนเองเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของตนเองและผู้อื่นเป็นการเผยแพร่ความรู้ผ่านการอ่าน การเขียน

ทักษะการจัดการความรู้ด้วยการรวมกลุ่มปฏิบัติการ

การจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนาในระดับกลุ่มองค์กรหรือชุมชน มีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

1. การบ่งชี้ความรู้ โดยการสำรวจ วิเคราะห์ปัญหาภายในกลุ่ม เรียงลำ ดับความสำคัญของปัญหา กำหนดความรู้ที่ต้องใช้แก้ปัญหา หรือพัฒนากลุ่ม

2. การสร้างและแสวงหาความรู้ เมื่อกำหนดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาแล้ว จึงทำการสำรวจและแสวงหาความรู้ที่ต้องการจากหลาย ๆ แหล่ง

3. การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ นำข้อมูลที่ได้จากการแสวงหาความรู้มาจัดระบบเพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ และตัดสินใจในการนำไปใช้

4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ ความรู้ที่ได้มาจากแหล่งต่าง ๆ ต้องมีการประมวลและกลั่นกรองก่อนนำมาใช้ ความรู้ที่ผ่านการปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ เป็นความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกลุ่มได้

5. การเข้าถึงความรู้ ทุกคนในกลุ่มควรมีส่วนร่วมในการเข้าถึงความรู้ในการแก้ปัญหาและพัฒนากลุ่ม การเข้าถึงความรู้ได้ง่าย คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในตัวคน การศึกษาดูงานกลุ่มอื่น หรือการศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ

6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ ความรู้ส่วนใหญ่อยู่ในสมองคน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นการต่อยอดความรู้ให้แก่กันและกัน ทำได้หลายวิธี เช่น การประชุมสัมมนา ศึกษาดูงาน การสอนงานโดยรวมกลุ่มปฏิบัติการเรื่องที่สนใจ เป็นต้น

7. การเรียนรู้ สมาชิกในกลุ่มเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดแนวคิดนำไปใช้โดยการปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น จนเกิดผลสำเร็จ ถือว่าเป็นผลสำเร็จจากการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)