เทคนิคการเรียนกฎหมาย

วิธีจับปลากับการเรียน

เวลาคนหาปลาโดยการหว่านแห ต้องรอให้ปลาผุดน้ำขึ้นแล้วจึงหว่านไปตรงที่ปลาผุดน้ำนั้น แต่ก็ใช่ว่าหว่านไปแล้วจะได้ปลาแน่นอน มันอาจจะไม่ใช่ปลาก็ได้ที่ผุดน้ำขึ้นมา ผุดมาหลอกๆ หรือหว่านไม่ทันบ้าง ก็ทำให้หว่านพลาดไม่ได้ปลา

เหมือนคนเกร็งข้อสอบเลยครับ แนวข้อสอบที่เอามาเกร็งกันเหมือนน้ำผุด ที่เราคิดว่าปลาว่ายอยู่แถวนั้น แล้วเราก็หว่านแหลงไป ทุ่มอ่านแต่ตรงนี้ เรื่องนี้ เอามันตรงนี้แหล่ะ เกร็งข้อสอบแบบนี้เหมือนหวานแหเมื่อเห็นน้ำผุด ก็อาจจะได้ปลา ถ้าปลามันอยู่ตรงนั้นจริงๆ แต่ก็ใช่ว่าจะได้เสมอไป ไม่แน่นอน

แต่ผมว่าก็ยังดีนะที่อุตสาห์เฝ้าสังเกตว่ามีน้ำผุดขึ้นมา ไม่หลับหุหลับตาหว่านแหออกไปมั่วๆ แต่ก็ต้องทำใจยอมรับว่า ขนาดของแหมันมีความกว้างจำกัด ไม่ครอบคลุม หว่านไม่ตรงก็ไม่ได้ปลา

ในการสอบทุกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ ต้องไม่ยอมเสี่ยงเลย ออกเรื่องไหนก็รู้เรื่อง เข้าใจ ครอบคลุมทั้งหมด อันนี้ปลอดภัยที่สุด ผ่านชัวร์ ผมเปรียบเทียบเหมือนการจับปลาโดยวิธีสูบน้ำออกให้หมด โอกาสที่จะจับได้ปลามีค่อนข้างชัวร์ ปลาเล็ก ปลาใหญ่ ถูกเราจับหมด แต่วิธีนี้ลงทุนค่อนข้างสูง โครงการใหญ่ ต้องทุมเทกำลังมาก

แต่ถ้าเราไม่สามารถใช้วิธีการแรกได้ ก็จับปลาโดยใช้ตาข่าย โอกาสที่จะจับปลาได้ก็มีมากกว่าการหว่านแห แต่ก็น้อยกว่าการสูบน้ำออก แต่วิธีการนี้ลงทุนน้อยกว่า ส่วนจะจับปลาได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับตาข่ายที่เราจับปลามันห่างหรือถี่แค่ไหน ถ้าตาข่ายห่างมาก โอกาสที่ปลาจะหลุดรอดมันก็มีมาก ปลาเล็กๆน้อยๆ จะหลุดรอดไปหมด เหมือนรู้ทุกเรื่อง แต่รู้ไม่ลึกสักเรื่อง รู้หลักการทั้่วไป แต่พอเจอคำถามที่ลึกๆ แล้วมักจะตอบไม่ได้ แต่ถ้าตาข่ายถี่โอกาสที่ปลาจะหลุดรอดไปก็น้อย ซึ่งความถี่หรือห่างของตาข่ายตรงนี้แล้วแต่ความขยันของแต่ละคน

แล้วแต่เราจะเลือกว่าจะจับปลาโดยวิธีไหน การที่เราจะได้ปลาเยอะ ปลาน้อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา เพราะถ้ามันเป็นเรื่องของโชคชะตา คงไม่มีคนจับปลาที่เราเรียกว่า "พรานปลา"

.....................................

เฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เทคนิคการอ่านหนังสือ


เวลาอ่านหนังสือ มีวัตถุประสงค์ในการอ่านอยู่ 2 อย่าง คือ อ่านเพื่อรู้ กับอ่านเพื่อสอบ

แรกเปิดเทอมต้องอ่านเพื่อ รู้ ยังไม่ต้องเน้นมากมายอะไรนัก เป็นการอ่านเพื่อให้เห็นภาพรวม อ่านด้วย เข้าเรียนด้วย จะทำให้เข้าใจเรื่องที่เรียนได้ง่ายและไวขึ้น

เมื่อใกล้สอบ ต้องเริ่มอ่านเพื่อสอบ ต้องเน้นในเรื่องที่สำคัญที่จะออกเป็นข้อสอบ ซึ่งโดยหลักๆก็เป็นเรื่องอาจารย์ได้เน้นย้ำ ออกข้อสอบบ่อยๆ เราต้องทำความเข้าใจให้ดี และจำหลักกฎหมายให้ได้ การอ่านเพื่อสอบ จะไม่อ่านทั้งหมด เพราะไม่มีทางอ่านทันได้

เราต้องอ่านหนังสือโดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ อย่างนี้ เราถึงจะอ่านหนังสือได้ทันและเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด และจะทำให้เราทำข้อสอบปลายภาคได้คะแนนดี

แต่เท่าที่เห็นส่วนใหญ่ นิสิตมักจะอ่านหนังสือเพื่อสอบอย่างเดียว โดยที่ไม่เคยอ่านเพื่อรู้มาก่อน เมื่อมาอ่านเพื่อสอบอย่างเดียว นิสิตจึงทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ไม่ได้ เพราะความรู้ทุกเรื่องมันมีความเกี่ยวพันกัน การจะทำความเข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะต้องเข้าใจเรื่องอื่นๆด้วย

สุดท้าย แม้นิสิตจะอ่านหนังสือแทบเป็นแทบตายเมื่อใกล้สอบ แต่นิสิตก็จะไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน อาจจะจำได้ บางเรื่อง บางตอน

เมื่อไปเจอข้อสอบ ถามไม่ตรงกับที่อ่านมานิดเดียว นิสิตก็จะหลง ออกไปหาปลาในทะเล บางครั้งข้าพเจ้าเคยเห็นนิสิตหลายคน เขียนข้อสอบตอบมาไม่ได้เกี่ยวกับข้อสอบ เคยถามว่าเขียนมาทำไม คำตอบที่ได้ ก็อ่านเรื่องนี้มา ถ้าไม่เขียนเรื่องนี้ก็ไม่รู้จะเขียนอะไร ><

ถ้านิสิตทำได้ อย่างที่ข้าพเจ้าได้เขียนมา ข้าพเจ้าขอรับรองว่า การอ่านหนังสือไม่ทันจะไม่เกิดขึ้น และท่านจะสอบผ่านได้อย่างไม่ต้องกังวลอะไร

"มันมีหลายวิธีนะครับ ก็เลือกเอาวิธีที่เหมาะกับตัวเอง แต่ไม่ว่าเราจะเลือกวิธีไหนก็ตาม มันจะเป็นผลได้ต่อเมื่อเราทำมัน ไอ้ลำพังแต่คิด ลำพังแต่รู้สึก มันไม่ช่วยอะไรเลยครับ"

เทคนิคการเขียนข้อสอบกฎหมาย


1. การทำความเข้าใจถึงความสำคัญเบื้องต้น

ผมขออธิบายให้เข้าใจไว้เพื่อความเข้าใจก่อนนะครับว่า ข้อสอบเป็นพยานหลักฐานอันแสดงถึงความรู้ ความเข้าใจในหลักกฎหมาย และความามารถในการนำหลักกฎหมายไปปรับใช้ได้ เป็นสิ่งที่อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบใช้วัดท่าน ดังนั้น ต่อให้เรามีความรู้ในเนื้อหาวิชาแต่ละวิชามากมายขนาดไหน จำได้ทุุกตอน เข้าใจทุกวรรค แต่ถ้าไม่สามารถที่จะเขียนให้อาจารย์ผู้ตรวจได้เข้าใจได้ ท่านก็จะไม่ได้คะแนน เพราะเราใช้ข้อสอบเป็นตัววัด สิ่งที่ยืนยันความรู้ความเข้าใจคือ ข้อสอบ ดังนั้นการเขียนข้อสอบจึงเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนนกฎหมาย ที่วัดผลโดยการสอบด้วยการเขียนเป็นหลัก

2. การเขียนเป็นข้อสอบ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

ที่บอกว่าเป็นศาสตร์ หมายถึงการเขียนข้อสอบเป็นสิ่งที่เรียนรู้และสอนกันได้ ไม่ว่าท่านจะจบสาขาใดมาก่อน จะสายวิทย์ คณิต หรือสายภาษา สังคม แต่การเรียนกฎหมาย จะต้องเขียนข้อสอบตามแบบการเขียนข้อสอบกฎหมาย ท่านจะต้องเรียนรู้ถึงรูปแบบการเขียน ส่วนประกอบของข้อสอบว่า ข้อสอบที่ดีนั้นจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง และที่บอกว่าเป็นศิลป์ หมายความว่า การจะเขียนข้อสอบได้ดีนั้น ท่านจะต้องหมั่นฝึกฝน จนชำนาญเหมือนคนที่ทำงานศิลป์ ไม่ว่าจะการสอบในระดับใด การเขียนตอบข้อสอบนั้นเหมือนๆ กันหมด จะแตกต่างกันไปบ้างตามแต่เวลาที่มีในการเขียนข้อสอบ แต่ท่านจะต้องจำวิธีการเขียน การเริ่มต้น ควรจะเริ่มจากอะไร และสรุปสุดท้ายคืออะไร สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นนจบ ตามรูปแบบ ตาม Pattern ของการเขียนข้อสอบ ต้องฝึกฝนให้ชำนาญ จนเจอข้อสอบไม่ว่าลักษณะใด เราก็สามารถเขียนได้ แม้เราจะตอบข้อสอบข้อนั้นไม่ถูก แต่รูปแบบต้องถูกไว้ก่อน

3. ก่อนที่เราจะสามารถเขียนข้อสอบกฎหมายได้ดีนั้น เราต้องมีลักษณะของข้อสอบที่ดีไว้เป็นแบบอย่างในการเขียนข้อสอบกฎหมายเสียก่อน ลักษณะของข้อสอบกฎหมายที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร

ข้อสอบกฎหมายที่ดีนั้น(เฉพาะการตอบข้อสอบแบบตุ๊กตา) ต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ

ส่วนที่ 1.

คือประเด็นปัญหา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงจากโจทก์ที่อยู่ในข้อสอบ ส่วนนี้ไม่ใช่การลอกโจทก์ซ้ำมา แต่เป็นการสกัดเอาประเด็น เพื่อให้ทราบว่ากำลังจะตอบประเด็นไหน และเพื่อจะได้นำหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องตอบได้ตรงกับประเด็น

ตรงนี้ขอเน้นย้ำนะครับ ว่าไม่ใช่การลอกโจทย์ที่อยู่ในข้อสอบมาเพื่อให้คำตอบของท่านดูยาว ตอบได้เยอะ แต่ต้องพยายามสรุปเอาประเด็นสำคัญๆ ที่เราจะตอบ

ส่วนที่ 2.

คือหลักกฎหมายที่เราจะนำมาวินิจฉัยประเด็นปัญหาที่เราจะต้องการจะตอบ หลักกฎหมายนี้ไม่จำเป็นจะต้องเขียนหรือจำให้ได้เหมือนกับตัวบทกฎหมายในประมวล แต่สาระสำคัญควรจะครบ และท่านควรยกมาแต่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่จะตอบเพียงเท่านั้น ถ้าไม่ครบ คะแนนของท่านในส่วนนี้ก็จะหายไป แต่ถ้ายกมาเกินก็ไม่ดี เพราะเมื่อหลักกฎหมายที่ยกมาไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา แสดงให้เห็นว่าท่านยังสับสนกับหลักกฎหมาย และอาจถูกหักคะแนนได้ รวมถึงจะเสียเวลาในการเขียนหลักกฎหมายนั้นๆไปด้วย

ข้อเน้นย้ำว่า ต้องยกหลักกฎหมายมาให้ครบ แต่อย่ายกมาเกิน

ส่วนที่ 3

ส่วนนี้หลายท่านเข้าใจว่าเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการเขียนข้อสอบ แต่ความจริงแล้วการเขียนข้อสอบ ทั้ง 3 ส่วน สอดคล้องกัน เริ่มจากการตั้งประเด็นปัญหาได้ถูกต้อง ยกหลักกฎหมายถูกต้อง เมื่อมาถึงส่วนที่ 3 คือการนำข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายมาผสมกัน หรือมาวินิจฉัย โดยการเขียนอธิบายปรับข้อกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็จะได้คำตอบมา

ในส่วนนี้จะยากตรงการเขียนอธิบายการวินิจฉัย คนที่หมั่นฝึกเขียนข้อสอบจะสามารถเขียนในส่วนนี้ได้ดี กลมกลืนกัน และเขียนได้อย่างรวดเร็ว

สุดท้าย สรุป คำตอบ ซึ่งท่านผู้เขียนอาจจะเขียนหรือไม่เขียนก็ได้ แต่แนะนำว่าควรจะเขียนสรุป คำตอบ ของท่านในแต่ละประเด็นไว้ เพื่อความชัดเจนของคำตอบ ในบางกรณีผู้ตรวจเองอ่านการวินิจฉัยคำตอบของผู้สอบแล้ว ไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร การสรุปจะทำให้ผู้ตรวจได้เข้าใจในคำตอบของท่าน โดยเฉพาะท่านผู้เขียนด้วย ลายสือไทย อันอ่านยากด้วยแล้ว ต้องเขียนสรุปให้ผู้ตรวจด้วย ไม่ต้องยากว แค่บรรทัด หรือสองบรรทัด

.....................................................

ขอยกตัวอย่างการเขียนข้อสอบตามหลักการเขียนข้างต้นนะครับ

กรณีของแก่แต่ซิง ซึ่งเป็นภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายยุงบินชุม เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นายยุงบินชุมตาย นางแก่แต่ซิงยังไม่ได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน นางแก่แต่ซิงยังคงเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะที่นายยุงบินชุมถึงแก่ความตาย ซึ่งตามหลักของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 วรรค 2 “คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของ บทบัญญัติพิเศษแห่ง” ดังนั้นเมื่อปรากฎว่านายแก่แต่ซิงยังมีชีตอยู่ขณะนายยุงบินชุม ถึงแก่ความตาย นางแก่แต่ซิงจึงเป็นทายาทโดยธรรม แม้จะมีข้อเท็จจริงว่านางแก่แต่ซิง ได้ทิ้งร้างกับนายยุงบินชุมก็ตาม ก็ไม่ทาให้เสียไปซึ่งสิทธิในการรับมรดกของกันและกัน ตาม มาตรา 1628 “สามีภริยาที่ร้างกันหรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาด จากกันตามกฎหมาย มิได้สิ้นไปซึ่งสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกัน และกัน” ดังนั้นนางแก่แต่ซิงจึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายยุงบินชุม

ท่านจะเห็นว่า การเขียนข้อสอบ นั้นประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 1.ประเด็นปัญหา 2. หลักกฎหมาย 3. การวินิจฉัยปรับบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง

ไม่ว่าจะเขียนข้อสอบกฎหมายในระดับใดก็ควรจะต้องจำรูปแบบหรือลักษณะการเขียนข้อสอบแบบนี้ไว้ แม้ว่าคำตอบของท่านจะผิด ตอบไม่ถูกธงคำตอบแต่การตอบข้อสอบให้ได้แบบนี้ ท่านจะได้แคแนนหลักกฎหมาย(ถ้ายกมาถูกต้อง) และอาจได้คะแนนในส่วนวินิจฉัย แม้ท่านจะตอบผิด แต่มีเหตุผลตามความคิดของท่าน ผู้ตรวจเองก็อาจให้คะแนนในส่วนนั้นได้

เอาไว้เท่านี้ก่อนนะครับ ตอนต่อไปจะเขียนในส่วนของ ข้อควรระวัง และเทคนิคในการเขียนข้อสอบ ให้ได้คะแนนดี

ด้วยความปารถนาดี

............................

เฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


เอกสารเปล่า 2.pdf

ประเมินผู้เรียน


ข้อสังเกตจากการสอนกฎหมายในวิากฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สัมมนากฎหมายอาญา ในปีการศึกษา 2559 ได้ข้อสรุปว่าเด็กนิติขาด "อิทธิบาท 4"

อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น 4 ประการ

ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น เด็กนิติขาดฉันทะในวิชาชีพนักกฎหมาย ไม่ได้รักที่จะเรียนกฎหมาย มาเรียนเพราะที่บ้านอยากให้เรียน หรือเรียนเพราะสอบคณะอื่นไม่ได้ เมื่อขาดฉันทะ ก็ไม่มีความสนใจ ใส่ใจ จดจ่อที่จะศึกษากฎหมายอย่างจริงจัง

วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น เด็กนิติขาดความเพียร รักความสบาย ไม่อดทนต่ออุปสรรค หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ไม่ชอบแบบฝึกหัด ไม่ชอบการบ้าน รักสบายจนเคยตัว เมื่อรักสบายก็ไม่ได้พัฒนาตนเอง ไม่เข้าเรียน หนังสือก็ไม่อ่าน งานก็ยังไม่ส่ง

จิตตะ ขาดความเอาใจใส่ เด็กนิติสนใจเรื่องอื่นมากกว่าการเรียน สนใจเรื่องความรัก เรื่องเพื่อนพ้องน้องพี่ เรื่องกินเรื่องเที่ยว มากกว่าที่สนใจเรื่องเรียนของตัวเอง ไม่เข้าเรียน เขามาเรียนก็ไม่สนใจฟัง ไม่รู้ว่าควรทำอะไร ใส่ใจอะไร เล่นแต่โทรศัพท์ มองแต่มือถือ เป็นห่วงอยู่แต่ว่าเนตในห้องที่เรียนสัญญานจะถึงหรือไม่

วิมังสา ขาดความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น เด็กนิติไม่รู้ตัวเองว่าบกพร่องเรื่องใด หรือรู้ว่าบกพร่องเรื่องใดแต่ก็ไม่ได้ใส่ใจแก้ไข ปล่อยให้สายจนแก้ไขอะไรไม่ได้ ปล่อยให้ความเกียจคร้านฉุดตัวเองให้ต่ำ รู้ว่าเขียนข้อสอบไม่ดี แต่ก็ไม่เคยฝึกเขียนให้ตนเองเขียนดีขึ้น อ่านหนังสือแต่จำไม่ได้ก็ไม่เคยหาวิธีช่วยจำ ปล่อยให้เป็นปัญหาติดตัวอยู่แบบนั้น

ที่กลล่าวมานั้น เป็นข้อสังเกตสำหรับนิสิตบางคน หากผู้ใดมีอิทธิบาท 4 อยู่แล้วคงจะประสบความสำเร็จในการเรียน เพราะเรียนอย่างมีจุดหมาย เอาใจใส่ในเส้นทางของตนเอง

แต่ถ้าผู้ใดขาดอิทธิบาท 4 จะไม่สำเร็จในการเรียน เพราะเรียนแบบไร้จุดหมาย ไม่มีพลังในการเรียน มีแต่ความท้อถอยในชีวิต เรียนไปก็คิดแต่จะดรอป จะลาออก จะย้ายสาขา

"ผลการเรียนของตัวนิสิตเป็นตัวสะท้อนว่านิสิตมีอิทธิบาท 4 แค่ไหน"

ข้อสอบกฎหมาย 2 ประเภทที่ต้องเจอ

ในการเตรียมตัวเพื่อสอบปลายภาควิชากฎหมายนั้น เราจะเจอข้อสอบเพียงแค่ 2 ประเภทเท่านั้น


ประเภทที่เราเคยอ่านเจอมาแล้ว เคยเห็น เคยทำมาก่อนซึ่งมาจากการเราอ่าน อาจารย์ให้ลองทำ เคยเห็นคำพิพากษาฎีกาในเรื่องนั้น ๆ ตัดสินไว้


ส่วนข้อสอบอีกประเภทหนึ่งคือข้อสอบที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ไม่เคยอ่าน ไม่เคยเห็นคำพิพากษาในเรื่องนั้นตัดสินไว้ ดังนั้นข้อสอบประเภทนี้จึงเป็นข้อสอบที่เราไม่รู้ธงคำตอบเหมือนกับข้อสอบที่เราเคยอ่านเจอ หรือรู้คำพิพากษาฎีกา


ปัญหาของนักเรียนกฎหมายส่วนใหญ่ คือ หากเป็นข้อสอบที่เคยอ่านเจอ เคยเห็น หรือรู้คำตัดสินของศาลในเรื่องนั้น ก็พอจะทำได้ เพราะรู้คำตอบ รู้ว่าจะต้องตอบอย่างไร แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น หากไปเจอข้อสอบหรือโจทก์ที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยอ่านเจอ หรือไม่รู้ว่าคำถามที่ถามนั้นศาลได้ตัดสินในประเด็นนี้ไว้ว่าอย่างไร จึงไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร


แล้วข้อสอบสวนใหญ่เป็นข้อสอบแบบไหนที่เราจะเจอตอนสอบ คำตอบคือ ข้อสอบประเภทที่เราไม่เคยเจอ ไม่เคยทำ ไม่เคยเห็น


เหตุผลทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะการออกข้อสอบต้องเป็นเรื่องใหม่ อาจจะเป็นเรื่องที่เคยออกสอบมาแล้ว แต่คำถามจะไม่เหมือนเดิม ดังนั้น ผู้เรียนต้องทำใจว่า แม้เราจะเตรียมตัวอ่านหนังสือ อ่านคำพิพากษาฎีกา และแนวข้อสอบเก่า ๆ มามากพอสมควร เมื่อไปเจอข้อสอบก็มักจะเป็นข้อสอบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่รู้ธงคำตอบ


ดังนั้นหากเจอข้อสอบที่ไม่เคยเห็น ไม่รู้คำพิพากษาฎีกามาก่อน จะทำข้อสอบข้อนั้นได้อย่างไร


คำตอบอยู่ที่การเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมสำหรับการสอบมากที่สุด ต้องคิดเสมอว่าเราจะเจอข้อสอบลักษณะนี้ คือ ข้อสอบที่เราไม่คาดคิด


การเตรียมตัวให้พร้อม หมายความว่าต้องพยามคิดว่าคำถามจะถามแบบใด และหาคำตอบไว้เสมอหากข้อสอบถามมาแบบนั้นเราจะตอบอย่างไรดี ซึ่งการคิดคาดการณ์ข้อสอบไม่ยาก เนื่องจากการสอบแต่ละครั้งก็ต้องเป็นเรื่องสำคัญและอาจารย์ได้เน้นย้ำให้ศึกษาอยู่เสมอ


แต่สำหรับผู้เรียนบางคน ไม่ว่าจะเจอข้อสอบแบบไหนก็ไม่เคยเจอมาก่อน เพราะไม่ค่อยอ่านหนังสือ ไม่เข้าเรียน ไม่ฝึกทำข้อสอบเก่า ๆ


เจอข้อสอบอะไรก็ยากหมด


อ้างอิงจาก...อีโต มะโกะโตะ, จงถ่ายเอกสารหน้าสารบัญแล้วคุณจะเรียนเก่งขึ้น

ทำข้อสอบเก่ามากๆ ไม่ช่วยให้ทำข้อสอบผ่าน

ผมเองในสมัยเรียน ป. ตรี เคยคิดว่าหากเราหาข้อสอบเก่าในรายวิชานั้นๆมาทำให้มาก อ่านธงคำตอบมากๆ ดูเฉลยมากๆ ทั้งข้อสอบเก่าในระดับ ป.ตรี ข้อสอบเก่าเนติบัณฑิต แม้กระทั้งข้อสอบเก่าผู้ช่วยทั้งอัยการและผู้พิพากษาก็หามาอ่าน โดยคิดและเข้าใจว่าจะเจอข้อสอบปลายภาคในนั้นสักข้อ

แต่เมื่อเรียน ปี 2 ปี 3 จนถึงปี 4 ทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น ไม่มีทางที่ข้อสอบมันจะออกเหมือนเดิม การอ่านข้อสอบโดยหวังว่ามันจะออกแบบเดิม เป็นความเข้าใจผิด อาจจะมีบางวิชาที่เอาข้อสอบเก่ามาออก แต่ส่วนใหญ่ข้อสอบจะออกใหม่ทั้งหมด ไม่เคยออกที่ไหน ข้อสอบที่เคยออกไปแล้วจะไม่ออกอีก อาจจะเป็นเรื่องเดิมแต่ข้อเท็จจริงจะไม่เหมือนเดิม

ดังนั้น การอ่านข้อสอบเก่าจึงไม่เกิดประโยชน์ในแง่ของการทำให้เกิดความรู้ที่จะนำไปสอบมากนัก ให้เราอ่านหนังสือไปมากขนาดไหน ข้อสอบกฎหมายส่วนใหญ่จะไม่ได้วัดว่าคุณจำมาหรืออ่านมาได้มากแค่ไหน แต่จะวัดว่าคุณปรับใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งข้อสอบลักษณะนี้เป็นข้อสอบวัดคุณภาพของการเรียน การอ่าน ว่าที่เรียนที่อ่านมามีคุณภาพแค่ไหน

คนที่อ่านจำมา พอเจอข้อสอบซึ่งจ้อเท็จจริงเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยอ่านฎีกาหรือข้อสอบเก่าเจอ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบยังไง เพราะไม่มีแนวทาง ไม่มีตัวอย่าง ดังนั้น ข้อสอบเก่าทำได้ ดู้ได้ เพื่อวัดความเข้าใจ ฝึกฝีมือการเขียน แต่อย่าไปคิดว่า ถ้าทำข้อสอบเก่าเยอะๆแล้วจะสอบผ่าน

นอกจากนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่า ข้อสอบที่เราจะเจอมันมักจะเป็นเรื่องที่เราอ่านไม่เจอ ไม่เคยเจอที่ไหน เราจะไม่มีทางแน่ใจว่าจะตอบผิดตอบถูกแบบร้อยเปอร์เซ็น แต่เราจะสามารถทำมันได้โดยอาศัยการคิดและวิเคราะห์ตามความรู้ที่ได้ศึกษามา