ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์

ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์

ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์


โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท


ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นเป็นความผิดที่อยู่ในลักษณะ 6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ซึ่งกฎหมายเอาผิดกับคนที่วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ซึ่งการวางเพลิงนั้นอาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนได้


องค์ประกอบความผิด

วางเพลิงเผา

ทรัพย์ของผู้อื่น

โดยเจตนา


การกระทำความผิดฐานนี้ต้องมีการวางเพลิงเผา ซึ่งหมายถึง การจุดไฟเผาอาคารบ้านเรือนหรือทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ทรัพย์ที่เผาต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น หากเป็นทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยย่อมไม่มีความผิดฐานนี้


ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์เป็นความผิดที่ผู้กระทำต้องกระทำโดยเจตนาเท่านั้น หากเป็นการทำให้เกิดเพลิงไหม้ จะเป็นความผิดอีกฐานหนึ่ง แต่ไม่ใช่ฐานนี้ และไม่ต้องพิจารณาถึงเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุชักจูงใจว่าเผาเพื่ออะไร


ข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์


1. ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามาตรา 217 เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ธรรมดา หากทรัพย์ที่เผาเป็นโรงเรือนต้องพิจารณาตาม มาตรา 218 ซึ่งมีโทษหนักกว่า


2. ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์กฎหมายพิจารณาจากอันตรายของเพลิง หากลักษณะของเพลิงจะทำให้เกิดอันตรายกับประชาชนได้ ย่อมมีความผิดตาม มาตรา 217 แต่หากลักษณะของเพลิงไม่อาจก่ออันตรายต่อใครได้เลย จะมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น พิจารณาฎีกาดังต่อไปนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 6666/2542 การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ผ่าซีกที่ยึดติดเป็นแผงซึ่งเป็นรั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วนำไปเผาทำลายนั้น เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลายบท เพราะจำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงโดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การเผาแผงไม้ไผ่นั้น เป็นการทำลายทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ให้เสียหาย มิใช่วางเพลิงเผาทรัพย์รั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 เนื่องจากจำเลยมิได้วางเพลิงเผาแผงไม้ไผ่ ในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขต เป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์ร่วมที่ 1 อันจะต้องด้วยความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217


(ข้อสังเกตของผู้เขียน เห็นว่าโดยเจตนารมณ์ของความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์เป็นความผิดที่อยู่ในลักษณะ6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ดังนั้นลักษณะของการวางเพลิงต้องก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนได้ แต่คำพิพากษาฎีกานี้การเผาไม้ไผ่ หาทำให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนได้ไม่ ดังนั้นจึงไม่มีความผิดตาม มาตรา 217 )


3. ความผิดฐานพยายามวางเพลิงเผาทรัพย์กับความผิดสำเร็จ พิจารณาจากเพลิงว่าไฟติดหรือไม่ หากไฟยังไม่ติดก็เป็นเพียงพยายามกระทำความผิด แต่หากไฟลุกติดแล้วแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นความผิดสำเร็จ พิจารณาฎีกาต่อไปนี้ ฎีกา 11963/2553 การกระทำที่จะเป็นความผิดสำเร็จฐานวางเพลิงเผาทรัพย์นั้นไม่หมายความเพียงว่า เอาเพลิงไปวางเท่านั้น หากต้องเป็นการเผาทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์นั้นติดไฟขึ้นด้วย จากสภาพในที่เกิดเหตุ ทรัพย์สินที่ถูกเผาไหม้เสียหายมีเพียงเตียงนอนและเบาะนอน ส่วนฝาบ้านชั้นล่างมีเพียงรอยเกรียม ดำ ยังไม่ไหม้ไฟ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดสำเร็จ คงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย ตาม ป.อ. มาตรา 218 (1) ประกอบมาตรา 80, 83 เท่านั้น