ความผิดฐานพรากผู้เยาว์

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์


บทนำ

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เป็นความผิดที่กระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองเป็นสำคัญเพราะเป็นการพรากผู้เยาว์ไปจากผู้ปกครอง บิดามารดาหรือผู้ดูแล ฉะนั้นแม้ผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ ซึ่งศาลได้วธิบายไว้ในคำพิพากษาฎีกา 2245/2537 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารมุ่งหมายถึงการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอันไม่สมควรในทางเพศ แม้การกระทำของจำเลยจะไม่เป็นความผิดฐานอนาจาร เนื่องจากผู้เสียหายยินยอม แต่ก็เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารได้ และแม้บิดามารดาของผู้เสียหายจะออกไปนอกบ้านขณะที่ผู้เสียหายออกจากบ้าน และจำเลยได้พาไปที่ขนำก็ตาม ยังถือว่าผู้เสียหายอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปนอนค้างคืนที่ขนำในสวนโดยผู้เสียหายเต็มใจไปด้วย แล้วจำเลยได้กอดปล้ำหอมแก้มและจับหน้าอกผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันไม่สมควรทางเพศต่อผู้เสียหายจำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เสียหายไปจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก

ความผิดฐานพรากมทั้งหมด 4 ฐาน ดังนี้

1. พรากเด็ก

2. พรากผู้เยาว์ที่ไม่เต็มใจไปด้วย

3. พรากผู้เยาว์ที่เต็มใจไปด้วย

4. ซื้อหรือรับตัวผู้ที่ถูกพราก


1. ความผิดฐานพรากเด็ก

มาตรา 317 ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกิน สิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท

1) องค์ประกอบความผิดภายนอก

- พรากไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

- เด็กอายุยังไม่เกิน สิบห้าปีไป

2) องค์ประกอบความผิดภายใน

- เจตนาธรรมดา

การพราก คืออะไร

คำพิพากษาฎีกา 2673/2546 ความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก คำว่า "พราก" หมายความว่า พาไปหรือแยกออกจากความปกครองดูแล จะกระทำโดยวิธีใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ไม่ต้องใช้กำลังหรืออุบาย ดังนั้นไม่ว่าการพาไปเพื่อร่วมประเวณีจะอยู่ในเส้นทางหรือนอกเส้นทางรับส่งผู้เสียหายไปกลับจากโรงเรียนก็ย่อมเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารแล้ว

ถ้าเด็กยอมไปด้วยความสมัครใจจะมีความผิดฐานพรากหรือไม่

คำพิพากษาฎีกา 261/2534 การที่จำเลยที่ 1 กับพวกพาผู้เสียหายออกจากบ้านไปโดยไม่ ให้คนในบ้านรู้(สมัครใจ) แล้วพาไปชำเราในป่ายางข้างทาง ทั้งที่ผู้เสียหายอายุเพียง 14 ปี กับอีก 1เดือนเศษ ยังเป็นนักเรียน จำเลยที่ 1 เองก็ยังเรียนอยู่ชั้น มัธยมปีที่6 หลังจากตนเองได้ร่วมประเวณีแล้วยังมอบผู้เสียหายให้ไปกับจำเลยที่ 2 ปล่อยให้จำเลยที่ 2 ร่วมประเวณีผู้เสียหายอีกหลายคืน ถือได้ว่าเป็นการพรากผู้เสียหายไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร ตาม ป.อ.มาตรา 317

เด็กต้องอยู่ในความดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแลหรือไม่

คำพิพากษาฎีกา 1605/2523 การที่จำเลยและผู้เสียหายซึ่งมีอายุไม่เกิน 13 ปี พากันไปร่วมประเวณีที่กระท่อมด้วยความสมัครใจ แล้วแยกกันกลับบ้านนั้นแม้ทางกลับบ้านของผู้เสียหายกับกระท่อมจะห่างกันเพียง 90 เมตร และผู้เสียหายอยู่กับจำเลยเพียง5 ชั่วโมง ก็ถือว่าจำเลยรบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิของผู้ปกครองผู้เสียหายในการควบคุมดูแลผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้ว เป็นความผิดตาม ป.อ.ม. 277 กับผิดตาม ม.317 อีกกระทงหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกา 1087/2520 เด็กผู้เยาว์ออกจากบ้านไปรับจ้างอยู่กับผู้อื่น แล้วมีผู้ล่อลวงเด็กไปหากำไรและอนาจาร จำเลยรับเด็กไว้ ยังมีความผิดตาม ม.319 วรรค 2เป็นกรรมเดียวกับ ม.282วรรค 3

คำพิพากษาฎีกา 2155/2514 การพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลนั้น หมายความว่า พาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกจากความดูแลของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์จะต้องอยู่ในความปกครองดูแลของบุคคลดังกล่าวแล้วในขณะที่พราก

ผู้เสียหายเป็นหญิงผู้เยาว์อายุ 17 ปีถูกมารดาตีและไล่ออกจากบ้าน จึงหนีออกจากบ้านมา จำเลยพบเข้าได้สอบถามถึงที่อยู่ ผู้เสียหายไม่ยอมบอกจำเลยจึงพาผู้เสียหายไปฝากไว้กับพี่สาวของจำเลย ดังนี้การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นการพรากผู้เยาว์

ถ้าผู้เสียหายสมัครใจออกจากบ้านเอง

คำพิพากษาฎีกา 1911/2522 ผู้เสียหายอายุ 15 ปี ได้เสียกับจำเลย แล้วมีจดหมายชวนจำเลยไปอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ วันเกิดเหตุผู้เสียหายมาหาจำเลยแล้วผู้เสียหายกับจำเลยพากันไปอยู่กรุงเทพฯดังนี้ เป็นเรื่องผู้เสียหายสมัครใจไปจากบิดามารดาเองจำเลยไม่ได้พรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดา ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319

ต้องพรากไปนานเท่าใดจึงจะมีความผิด???

คำพิพากษาฎีกา 2545/2522 จำเลยซึ่งมีภรรยาและบุตรแล้ว นัดพบกับผู้เยาว์ซึ่งเป็นนักเรียนหญิงชั้น ม.ศ.3 อายุ 16 ปี กำลังเรียนอยู่ และได้ร่วมประเวณีกันทุกครั้งที่พบกัน ทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่อยู่ในฐานะที่จะเลี้ยงดูผู้เยาว์ฉันสามีภรรยาได้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาฎีกา 1605/2523 การที่จำเลยและผู้เสียหายซึ่งมีอายุไม่เกิน 13 ปี พากันไปร่วมประเวณีที่กระท่อมด้วยความสมัครใจ แล้วแยกกันกลับบ้านนั้นแม้ทางกลับบ้านของผู้เสียหายกับกระท่อมจะห่างกันเพียง 90 เมตร และผู้เสียหายอยู่กับจำเลยเพียง5 ชั่วโมง ก็ถือว่าจำเลยรบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิของผู้ปกครองผู้เสียหายในการควบคุมดูแลผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควรแล้ว เป็นความผิดตาม ป.อ.ม. 277 กับผิดตาม ม.317 อีกกระทงหนึ่ง

ความผิดฐานพรากเด็ก จะมีความผิดฐานพยายามได้หรือไม่???

คำพิพากษาฎีกา 2171/2522 จำเลยเพียงแต่ยื้อแย่งพยายามจะดึงตัวเด็กไป แต่ผู้ดูแลดึงตัวเด็กไว้ได้ เป็นการพยายามพรากเด็กเท่านั้น

คำพิพากษาฎีกา 351/2526 จำเลยฉุดคร่าผู้เสียหายจากทางเดินพาเข้าไปในทุ่งข่มขืนกระทำชำเราแล้วก็ทิ้งผู้เสียหายไว้ ณ ที่เกิดเหตุ แสดงว่าจำเลยพาไปเพื่อกระทำชำเราเท่านั้น หาได้มีเจตนาพาหรือแยกเอาผู้เสียหายไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดาผู้เสียหายไม่ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามป.อ.ม.318 ด้วย

การพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนาเพื่อการอนาจาร หรือทำให้ผู้เยาว์ปราศจากเสรีภาพในร่างหาย ก็เป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเฉพาะเรื่องพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร โดยไม่บรรยายให้ปรากฏการกระทำตามป.อ.ม.284 และ ม.310 ที่ขอให้ลงโทษมาท้ายฟ้องด้วย จึงไม่ชอบด้วยป.ว.อ.ม.158 ศาลจะปรับบทลงโทษตามมาตราดังกล่าวไม่ได้

โดยปราศจากเหตุอันสมควร หมายถึง การพรากไปต้องปราศจากเหตุอันสมควรด้วย จึงจะมีความผิด (เป็นองค์ประกอบความผิดในทางปฏิเสธ กล่าวคือ หากผู้กระทำแสดงให้เห็นว่ามีเหตุอันสมควรก็ไม่มีความผิด)

คำพิพากษาฎีกา 398/2517 บิดาพรากบุตรนอกสมรสไปเสียจากการปกครองของมารดาเพื่อให้การอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษา การกระทำโดยมีเจตนาดีต่อบุตรเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317

คำพิพากษาฎีกา 2628/2529 แม้ในตอนแรก ส.ผู้เป็นมารดาเด็กหญิง ศ.อายุ 12 ปี จะยินยอมอนุญาตให้จำเลยพา ศ.ออกไปจากบ้าน ก็เพื่อให้จำเลยพา ศ.นำไปพบสามี ส. ซึ่งทำงานอยู่ที่แห่งหนึ่งเท่านั้นการที่ จำเลยพา ศ.เข้าไปในโรงแรมเป็นเรื่องทำไปเองตามลำพังจะถือว่า ส.รู้เห็นยินยอมไม่ได้ จำเลยเข้าไปในห้องและกวักมือเรียกศ.ให้ตามเข้าไปในห้องด้วย แสดงว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อร่วมประเวณีหรือกระทำมิดีมิร้ายอย่างอื่น แต่ ศ.ไม่ยอมเข้าห้องและมีพนักงานโรงแรมมาพบช่วยเหลือพาไปส่งบ้าน ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 13 ปีไปเพื่อทำการอนาจาร มีความผิดตาม ป.อ. ม.317

องค์ประกอบภายใน เจตนาธรรมดา หมายถึง รู้สำนึกในการกระทำและรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ซึ่งข้อเท็จจริงว่าเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีนั้นผู้กระทำจะต้องรู้

กรณีไม่รู้เทียบเคียงกับคำพิพากษาฎีกา 6405/2539 จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายอายุ 17ปีเท่ากับไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ.มาตรา 277 วรรคแรก จึงถือว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานนี้

กรณีที่ไม่รู้ แต่ควรจะรู้ได้ คำพิพากษาฎีกาที่1717/2543 กรณีจะเป็นเรื่องสำคัญผิดในข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก จะต้องมีพฤติการณ์หรือเหตุจูงใจให้สำคัญผิดโดยสุจริต มิใช่คาดคะเนเอาเองดังที่จำเลยเบิกความ พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยกขึ้นกล่าวอ้าง เพื่อเป็นข้อแก้ตัวว่าจำเลยสำคัญผิดโดยสุจริต จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำเลยจึงต้องมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 227 วรรคแรก และจำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ห้องของโรงแรมที่เกิดเหตุ เป็นการล่วงอำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหาย โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาตาม มาตรา 317 วรรคสาม

เหตุเพิ่มโทษตามวรรคท้าย

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้นั้นกระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

เพื่อหากำไร หาประโยชน์ในทางทรัพย์สิน

เพื่อการอนาจาร การกระทำอันไม่สมควรทางเพศ


ความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยไม่เต็มใจไปด้วย

มาตรา 318 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไป ด้วยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาท ถึงสองหมื่นบาท

ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น

ถ้าความผิดตาม มาตรานี้ ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท

องค์ประกอบความผิดภายนอก

- พรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสีย

- จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

- โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย

องค์ประกอบความผิดภายใน

- เจตนา

ข้อสังเกต

- ความผิดตามมาตรานี้เป็นการพราก ผู้เยาว์ ไม่ใช่การพรากเด็ก เพราะเป็นการกระทำต่อบุคคลที่มีอายุอายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน18 ปี

- หากพรากบุคคลที่อายุ 17 ปี แต่สมรสแล้วจะมีความผิดตามมาตรานี้หรือไม่

- ความผิดตาม ม.318 ผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย แต่ ม.319 ผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย

- การพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ตาม ม.318 วรรค 3เป็นเหตุเพิ่มโทษ แต่การพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ตาม ม.319 เป็นมูลเหตุชักจูงใจ (องค์ประกอบภายใน)


โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไป คำพิพากษาฎีกา 210/2541การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะพาผู้เสียหายไปทำงานในร้านอาหารแต่กลับพาไปขายให้แก่ บ. เพื่อให้ค้าประเวณีจะนับว่าผู้เสียหายเต็มใจไปด้วยไม่ได้เพราะผู้เสียหายไม่ได้เต็มใจไปค้าประเวณีมาแต่ต้น แต่ไปกับจำเลยเพราะจำเลยหลอกลวงว่าจะพาไปทำงานที่ร้านขายอาหารของน้องสาวจำเลยและการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายแล้วพาผู้เสียหายไปขายให้แก่บ. เพื่อให้ค้าประเวณี ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะล่อผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารและเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น โดยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 วรรคสอง และมาตรา 318 วรรคสาม


ความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยเต็มใจไปด้วย

มาตรา 319 ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และ ปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น


องค์ประกอบความผิดภายนอก

- พรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไป

- จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

- โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

องค์ประกอบความผิดภายใน

- โดยเจตนา

- โดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร (ภายใน)

ข้อพิจารณา

คำพิพากษาฎีกา 1038/2534 จำเลยและผู้เสียหายรักใคร่ชอบพอกันฉันชู้สาว ผู้เสียหายเต็มใจให้จำเลยร่วมประเวณีโดยสมัครใจ หลังจากนั้นประมาณ 20 วันจำเลยสึกจากพระภิกษุ โดยจำเลยและผู้เสียหายอยู่กินฉันสามีภรรยาตลอดมาจนมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง โดยจำเลยแต่ผู้เดียวเป็นผู้ทำงานหาเลี้ยงผู้เสียหายพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยมีเจตนาพาผู้เสียหายไปและร่วมประเวณีกับผู้เสียหายด้วยประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยา แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยอยู่ในสมณเพศ แต่ต่อมาภายหลังจำเลยก็สึกจากสมณเพศโดยสมัครใจและอยู่กินเลี้ยงดูผู้เสียหายตลอดมาจนเกิดบุตรด้วยกัน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร


ข้อพิจารณา

คำพิพากษาฎีกา 4587/2532 ผู้เสียหายเต็มใจไปกับจำเลย หลังจากที่จำเลยพาผู้เสียหายไปแล้ว ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงจัดงานพิธีให้ผู้เสียหายและจำเลยแต่งงานกัน และมีการมอบค่าสินสอดของหมั้นให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายผู้เสียหายรับไปแล้วบางส่วนเมื่อจำเลยพาผู้เสียหายกลับมาถึงบ้าน ฝ่ายญาติผู้ใหญ่ของผู้เสียหายได้จัดพิธีบอกผีเรือนตามประเพณีก่อนให้ผู้เสียหายเข้าบ้าน พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า ที่จำเลยพาผู้เสียหายไปนั้นมีเจตนาที่จะพาไปเป็นภรรยาตั้งแต่แรก เพราะไม่ได้ความว่าจำเลยมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว ดังนี้ การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อเป็นภรรยา แม้ผู้เสียหายจะยังเป็นผู้เยาว์อยู่ก็ไม่เป็นการละเมิดต่ออำนาจปกครองของมารดา และแม้จำเลยจะร่วมประเวณีกับผู้เสียหายระหว่างที่พักอยู่ด้วยกันก็ถือได้ว่าเป็นการพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษา 2091/2527 ผู้เสียหายอายุ 17 ปี ขออนุญาตบิดาไปลอยกระทง แล้วไปพบจำเลยตามที่จำเลยนัด จำเลยพาไปร่วมประเวณีโดยผู้เสียหายเต็มใจไปด้วย ดังนี้เป็นการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปในขณะที่อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา เมื่อจำเลยมีภริยาอยู่แล้ว กลับพาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีรุ่งขึ้นก็พากลับไปส่งที่บ้าน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร จึงเป็นการพรากผู้เยาว์อายุ 17 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.319 วรรคแรกแม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ม.318 ศาลก็ลงโทษจำเลยตาม ม.319 วรรคแรก ซึ่งมีโทษเบากว่าได้

เกิดเหตุแล้วผู้เสียหายไปอยู่กินกับจำเลยไม่ยอมกลับไปอยู่กับบิดามารดาและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลรอการลงโทษได้


ความผิดฐานพาคนไปนอกราชอาณาจักร

มาตรา 320 ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด พาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปี ถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบความผิดภายนอก

- ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด

- พาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร

องค์ประกอบความผิดภายใน

- เจตนา

ข้อพิจารณา

คำพิพากษาฎีกา 5235/2530 การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 320 วรรคแรกนั้น ผู้กระทำความเพียงใช้อุบายหลอกลวงหรือขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมหรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด อย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวมา พาหรือส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักรก็ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 320 วรรคแรกแล้ว หาจำต้องกระทำการทุกอย่างพร้อมกันในคราวเดียวกันไม่

การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่า มีงานให้ทำที่ประเทศสิงคโปร์และส่งผู้เสียหายออกไปนอกราชอาณาจักรการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 320วรรคแรกแล้ว

เหตุเพิ่มโทษ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกพาหรือ ส่งไปนั้นตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือเพื่อละทิ้งให้เป็นคนอนาถา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท


มูลเหตุชักจูงใจ

- เพื่อให้ผู้ถูกพาหรือส่งไปนั้นตกอยู่ในอำนาจของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

- เพื่อละทิ้งให้เป็นคนอนาถา