การสอบสวนคดีอาญา

การสอบสวนคดีอาญาเป็นกระบวนการขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งและถือเป็นต้นทางของกระบวนยุติธรรมทางอาญา เพราะการสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การสอบสวนคือการตรวจสอบว่าคดีอาญาที่เกิดขึ้นผู้ต้องหาน่าจะกระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ดังนั้นในคดีอาญาการสอบสวนจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐที่จำเป็นต้องผ่านการสอบสวนก่อนจึงจะฟ้องคดีผู้ต้องหาต่อศาลได้ ดังนั้นหากไม่มีการสอบสวนหรือการสอบสวนไม่ชอบก็จะมีผลต่ออำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ

1. ความหมายของการสอบสวน

การสอบสวนมีบทนิยามในมาตรา 2 (11) "การสอบสวน" หมายความถึงการรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือการพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ซึ่งการสอบสวนแตกต่างจากการสืบสวนที่เป็นอำนาจโดยทั่วไปของตำรวจ แต่การสอบสวนเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเท่านั้น จากบทนิยามของการสอบสวน การสอบสวนมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้


1. การสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายเพื่อจะทราบข้อเท็จจริงหรือการพิสูจน์ความผิดและเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

2. ทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน

2. การสอบสวนกับอำนาจฟ้องคดี

คดีอาญานั้นกฎหมายห้ามมิให้อัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ซึ่งแตกต่างจากการฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาเอง ซึ่งไม่ต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นเสียก่อน ซึ่งเมื่อไม่มีการสอบสวนจึงไม่มีการกลั่นกรองคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ดังนั้นเพื่อเป็นการกลั่นกรองการฟ้องคดีไม่ให้มีการแกล้งฟ้องคดีอาญากัน กฎหมายกำหนดให้มีการไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์เสมอ ส่วนคดีอาญานั้นหากมีการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการย่อมฟ้องคดีต่อศาลได้โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า อัยการจะมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้ การสอบสวนนั้นต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใด โดยไม่มีการสอบสวนความผิดนั้นก่อน” ดังนั้นหากไม่มีการสอบสวนหรือการสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ซึ่งถือว่าไม่มีการสอบสวน พนักงานอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้องคดี ซึ่งการสอบสวนที่ไม่ชอบเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

การสอบสวนโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจสอบสวน

พนักงานสอบสวนที่สรุปสำนวนทำความเห็นควรสั่งฟ้องไม่ฟ้องไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีอาญาความผิดส่วนตัวโดยผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์

การสอบสวนโดยที่ไม่แจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ

การทำสำนวนสอบสวนนั้นเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนรวมถึงทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องไม่ฟ้อง ดังนั้นกฎหมายจึงให้อัยการเข้ามาตรวจสอบการสอบสวนนั้นอีกที โดยให้อำนาจอัยการที่จะสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้องหรือให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมได้ เพื่อตรวจสอบการสอบสวนของพนังงานสอบสวนอีกทีหนึ่ง

4.1 การสอบสวนโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจสอบสวน

การสอบสวนคดีอาญานั้นต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนเท่านั้น พนักงานสอบสวนหมายถึงบุคคลซึ่งกฎหมายกำหนด ให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนตาม ม.2(6) "พนักงานสอบสวน" หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อาญาอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงพนักงานสอบสวนตามกฎหมายอื่น ๆ ที่มีอำนาจสอบสวนด้วย เช่น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ DSI (พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547) พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจหน้าที่สอบสวนตาม ป.วิ.อาญา คือ บุคคลตาม ม.18 และม.20 ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้

1) ตาม ม.18 ได้แก่

นอกเขตกรุงเทพฯ (ต่างจังหวัด) ได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่/ปลัดอำเภอ/ตำรวจซึ่งมียศ ร.ต.ต.ขึ้นไป ส่วนในเขตกรุงเทพฯ ได้แก่ ตำรวจซึ่งมียศ ร.ต.ต.ขึ้นไป ในปัจจุบันพนักงานสอบสวนหลัก คือ ร้อยตำรวจตรี ส่วนพนักงานฝ่ายปกครอง หรือปลัดอำเภอแม้ตามกฎหมายจะมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาอยู่ แต่ในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนหลัก เช่น หากความผิดเกิดขึ้นในเขตอำเภอเมืองพะเยา พนักงานสอบสวนได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่/ปลัดอำเภอ/ตำรวจซึ่งมียศ ร.ต.ต.ขึ้นไป

2) ตาม ม.20 ได้แก่

พนักงานสอบสวนในความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายไทยมีอำนาจในการลงโทษได้ เพราะเป็นกรณีที่เป็นความผิด ความผิดตาม ม.7 ม.8 ม.9 ซึ่งแม้ผู้กระทำจะได้ความผิดนอกราชอาณาจักร แต่ก็สามารถลงโทษในราชอาณาจักรได้ ในมาตรา 20 "...ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้น ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใด เป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้"

การสอบสวนหากทำโดยเจ้าพนักงานที่ไม่มีอำนาจในการสอบสวนย่อมเป็นการสอบสวนที่มิชอบ เช่น ร้อยตำรวจตรีสมหมายได้ใช้ให้จ่าสิบตำรวจเอกสมศักดิ์ทำการสอบปากคำผู้ต้องหาแทนตน ถือว่าการสอบสวนนั้นสอบสวนโดยบุคคลที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวน ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ

4.2 ต้องเป็นการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ

การสอบสวนได้แบ่งเขตรับผิดชอบโดยยึดเอาเขตตามการปกครองเป็นเขตอำนาจสอบสวน เช่น ในต่างจังหวัดได้แบ่งเขตอำนาจสอบสวนตามเขตของอำเภอ ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้

2.2.1 กรณีความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร แยกพิจารณาเป็น 2 กรณีคือ กรณี ความผิดเกิดในท้องที่เดียว ซึ่งพิจารณาตาม มาตรา 18 และกรณีความผิดเกิดขึ้นหลายท้องที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกัน

1) ความผิดเกิดในท้องที่เดียว พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน คือพนักงานสอบสวนที่แห่งท้องที่ความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน และนอกจากนี้ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ผู้ต้องหามีที่อยู่ภายในเขตอำนาจตน และพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ผู้ต้องหาถูกจับภายในเขตอำนาจตนก็มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้นด้วย จะเห็นว่าในกรณีที่ความผิดเกิดขึ้นในท้องที่เดียว แต่พนักงานสอบสวนในท้องที่ความผิดไม่เกิดขึ้น แต่ก็มีอำนาจสอบสวน ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกในการสอบสวนหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นนั้นเอง

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในกรณีความผิดเกิดขึ้นในท้องที่เดียว ตามมาตรา 18 นั้นโดยหลัก คือพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ความผิดอาญาได้เกิดในเขตอำนาจตน (ทั้งความผิดได้เกิดขึ้น เชื่อว่าได้เกิด หรืออ้างว่าเกิดขึ้น) เช่น มีการลักทรัพย์ในท้องที่ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา แล้วผู้ต้องหาหนีไปและถูกจับได้ที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พนักงานสอบสวน สภ.อ.ดอกคำใต้ย่อมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ส่วนพนักงานสอบสวน สภ.อ.แม่สาย แม้จะมีอำนาจสอบสวน เพราะเป็นท้องที่จับผู้ต้องหาได้ แต่ก็ไม่ใช่ท้องที่ความผิดได้เกิดขึ้น จึงไม่อาจเป็นพนักงานสอบสวนได้ เว้นเสียแต่มีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวกจึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับ เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้

ข้อสังเกต

1) พนักงานสอบสวนอื่นนอกจากที่ได้กล่าวมาใน ม.18 ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน หากทำการสอบสวนย่อมไม่ชอบ เช่น นายแดงยิงนายดำที่ อ.แม่ใจ จ.พะเยา นายดำถูกนำมาส่งโรงพยาบาลพะเยา และตายที่โรงพยาบาลซึ่งเป็นท้องที่สอบสวนของ สภ.เมืองพะเยา ดังนี้หากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพะเยา ทำการสอบสวนคดีนี้ ถือเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ เนื่องจากไม่มีอำนาจสอบสวน เพราะไม่ใช่ท้องที่ที่ความผิดเกิด หรือจับผู้ต้องหาได้ หรือท้องที่ผู้ต้องหามีที่อยู่

2) ท้องที่ลงมือฆ่าคือท้องที่ความผิดเกิดส่วนท้องที่ที่ผู้ตาย ได้ตายนั้นเป็นเพียงท้องที่ผลเกิด ไม่ใช่ความผิดได้เกิด พนักงานสอบสวนในท้องที่ผู้ตายได้ตายลงไม่มีอำนาจสอบสวน (ดังตัวอย่างในข้อที่ 1)

3) การสอบสวนที่ไม่ชอบนั้นแม้ผู้ต้องหาไม่คัดค้าน การสอบสวนนั้นก็ไม่ชอบ เพราะเป็นการสอบสวนโดยไม่มีเขตอำนาจ

4) การสอบสวนคดีอาญาหากมีการการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่มีเขตอำนาจสอบสวนแม้แต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ก็ทำให้การสอบสวนไม่ชอบไปทั้งหมด

5) การย้ายที่ทำการของพนักงานสอบสวนไม่ทำให้เขตอำนาจสอบสวนคดีเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำท่วมสถานีตำรวจต้องย้ายไปทำการที่อื่น แต่เขตอำนาจสอบสวนยังเหมือนเดิม

2) กรณีความผิดเกิดหลายท้องที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกัน คือ กรณีที่ความผิดที่เกิดขึ้นหลายท้องที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกันเป็นกรณีที่ไม่แน่ชัดว่าความผิดได้เกิดขึ้นในท้องที่ใดกันแน่ หรือได้กระทำในท้องที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานเดียวกันแต่ทำในหลายท้องที่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นเพื่อขจัดความยุ่งยากในการหาว่าท้องที่ใดจะมีอำนาจสอบสวนกฎหมายจึงกำหนดให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีอำนาจสอบสวนได้ ซึ่งความผิดหลายท้องที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกันพิจารณาว่าเป็นไปตาม ม.19

มาตรา 19 ในกรณีดั่งต่อไปนี้

(1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่

(2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่มีอีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง

(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ

เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป

(4) เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน

(5) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง

(6) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง

พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้

จะเห็นได้ว่าเพื่อขจัดข้อยุ่งยากในการกำหนดว่าในหลายท้องที่นั้น พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดมีอำนาจสอบสวนความผิดที่เกิดขึ้น จึงกำหนดให้พนักงานสอบสวนทุกท้องที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ดังนั้นเมื่อมีพนักงานสอบสวนหลายท้องที่มีอำนาจสอบสวน ต้องมีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียวทำหน้าที่สรุปและเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ ซึ่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบนั้นพิจารณาตาม มาตรา 19 (ก) และ (ข)

ข้อสังเกต

นอกจากมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีอำนาจในการสอบสวนความผิดอาญาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นได้อีกด้วย เช่น ลักทรัพย์ในท้องที่ แต่การรับของโจรได้ทำในท้องที่อื่น พนักงานสอบสวนในท้องที่มีการลักทรัพย์ก็สามารถสอบสวนทั้งสองคดีได้

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอในกรณีความผิดเกิดหลายท้องที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกัน

ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

(ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ

(ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ

ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้วคือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ แต่ต้องไม่ปรากฏว่าท้องที่อื่นพบการกระทำผิดก่อนแล้ว เช่นมีการร้องทุกข์ไว้ที่ ส.น.อื่นแล้ว แม้จะจับได้ก็ไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้คือพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ (ข้อสังเกต หากพนักงานสอบสวนท้องที่ใดที่เกี่ยวข้อง (ที่เกี่ยวข้องตาม (1)-(6) ด้วย) สามารถจับได้ก่อน ย่อมเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ)

2.2.2 กรณีความผิดเกิดนอกราชอาณาจักร

มาตรา 20 ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้น ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้

กรณีความผิดเกิดนอกราชอาณาจักรพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7 8 9 ดังนั้นเมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรจึงไม่อาจพิจารณาตาม ม.18 และ ม.19 ได้ ด้วยเหตุเพราะความผิดไม่ได้กระทำลงในท้องที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรนั่นเอง

2.3 ต้องสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ส่งให้พนักงานอัยการโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

2.3.1 พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในท้องที่เดียว/หรือหลายท้องที่เกี่ยวเนื่องกัน

2.3.2 หากมีพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหลายคน จะต้องมีการชี้ขาดอำนาจว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 21

ในท้องที่เดียวกันมีพนักงานสอบสวนหลายคนให้หัวหน้าหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

ในกรณีหลายท้องที่ในกรุงเทพฯ ให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนซึ่งมีตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นไปชี้ขาด

ในต่างจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการเป็นผู้ชี้ขาด ถ้ามีหลายจังหวัด ให้อัยการสูงสุดหรือผู้ทำการแทนตัดสิน

2.4 ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวนั้นจะต้องมีการร้องทุกข์ตามระเบียบเสียก่อน

2.4.1 มาตรา 121 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ดังนั้นหาไม่มีการร้องทุกข์ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว จะสอบสวนไม่ได้ และหากสอบสวนไปก็ไม่ชอบ

2.4.2 คำร้องทุกข์ตามระเบียบหมายถึงกรณีดังต่อไปนี้

1) คำร้องทุกข์

มาตรา 1 (7) "คำร้องทุกข์" หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อ เจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความ ผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหายและการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนา จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

ผู้ร้องทุกข์ต้องมีอำนาจร้องทุกข์ หมาย ถึงผู้ร้องทุกข์ต้องเป็นผู้เสียหาย ซึ่งพิจารณาตาม มาตรา 2 (4) และผู้เสียหายมอบอำนาจให้มีการร้องทุกข์แทนได้ แต่ในหนังสือมอบอำนาจต้องชัดเจนว่ามอบอำนาจไปทำอะไรและลงนามผู้มีอำนาจ และนอกจากนี้ผู้เสียหายที่เป็นผู้เยาว์ร้องทุกข์เองได้ (แต่ฟ้องคดีอาญาเองไม่ได้) แต่ต้องปรากฏว่ารู้สึกผิดชอบพอสมควร

2) ต้องร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์

ม.2(7)...การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อ เจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หมายถึง เจ้าหน้าตามบทบัญญัติของ ป.วิ.อาญา ให้มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ได้

การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ต้องเป็นพนักงานสอบสวนตาม ม.2(6) พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์จะเป็นท้องที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีเขตอำนาจเหมือนอำนาจสอบสวน การร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตาม ม.124 ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวนและเป็นผู้ ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้ เช่น พัศดี/จนท.สรรพสามิต/จนท.กรมศุลกากร/จนท.กรมเจ้าท่า/ต.ม. เป็นต้น

ข้อสังเกต

การร้องทุกข์ต่อบุคคลที่ไม่มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ย่อมทำให้การร้องทุกข์ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบแห่งการร้องทุกข์ ถือว่าไม่มีการร้องทุกข์หากมีการสอบคดีอาญาเรื่องนั้นก็เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ

3) ต้องร้องทุกข์โดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ

ม.2(7) ...และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนา จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ เช่น ผู้เสียหายมาแจ้งความว่าถูกข่มขืน แต่ขอดูไปก่อน ถ้าหากผู้ระทำผิดย้อนกลับมาอีกทีจะเอาเรื่อง การแจ้งความดังนั้นไม่มีเจตนาแจ้งให้รับโทษ จึงไม่ใช่การร้องทุกข์ หรือการแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน การร้องทุกข์เพื่อกันคดีขาดอายุความก็ไม่ใช่การร้องทุกข์ ตาม มาตรา 2(7) เช่นกัน

4) ต้องร้องทุกข์ตามแบบวิธีการร้องทุกข์

มาตรา 123 ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อ และที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ลักษณะแห่งความผิดพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้

คำร้องทุกข์นี้จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็น หนังสือต้องมีวัน เดือน ปี และลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปากให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น

มาตรา 124 ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวนและเป็นผู้ ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้

เมื่อมีหนังสือร้องทุกข์ยื่นต่อเจ้าพนักงานเช่นกล่าวแล้ว ให้รีบ จัดการส่งไปยังพนักงานสอบสวน และจะจดหมายเหตุอะไรไปบ้าง เพื่อประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้

เมื่อมีคำร้องทุกข์ด้วยปาก ให้รีบจัดการให้ผู้เสียหายไปพบกับ พนักงานสอบสวนเพื่อจดบันทึกคำร้องทุกข์นั้นดั่งบัญญัติในมาตราก่อน ในกรณีเร่งร้อนเจ้าพนักงานนั้นจะจดบันทึกเสียเองก็ได้ แต่แล้วให้รีบส่งไปยังพนักงานสอบสวน และจะจดหมายเหตุอะไรไปบ้างเพื่อ ประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้

5) ต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความร้องทุกข์

มาตรา 96 ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความ ผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ มาตรา 97 ในการฟ้องขอให้กักกัน ถ้าจะฟ้องภายหลังการฟ้อง คดีอันเป็นมูลให้เกิดอำนาจฟ้องขอให้กักกัน ต้องฟ้องภายในกำหนด หกเดือนนับแต่วันที่ฟ้องคดีนั้น มิฉะนั้น เป็นอันขาดอายุความ

การไม่ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด รวมถึงการร้องทุกข์แต่เป็นการร้องทุกข์โดยมิชอบด้วย

ถ้าคดีอาญาเรื่องนั้นผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองภายในกำหนดร้องทุกข์นั้น ถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว ไม่ต้องร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานอีก

2.5 ต้องมีการแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ

มาตรา 134 เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ

การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่งจะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น

ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม

พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริง อันเป็นประโยชน์แก่ตนได้

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องทราบ เพื่อให้ผู้ต้องหาให้การได้ถูกต้อง ไม่หลงเข้าใจผิด การไม่แจ้งข้อหาให้ทราบนั้นทำให้การสอบสวนไม่ชอบไปเลย คนละกรณีกับการไม่แจ้งสิทธิต่างๆแก่ผู้ต้องหาที่ทำให้ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหักฐานเท่านั้น แต่ไม่จำต้องระบุตัวบทกฎหมายหรือแจ้งครบทุกบทความผิด