ความผิดต่อเสรีภาพ

ความผิดต่อเสรีภาพและชื่อเสียง[1]

Crime against liberty and reputation


ความผิดในลักษณะ 11 นี้ มีหลายหมวดความผิดด้วยกัน ซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพและชื่อเสียงของบุคคล ที่กฎหมายจำเป็นจะต้องคุ้มครองไม่ให้ถูกใครละเมิด แยกพิจารณาออกเป็น 3 หมวดความผิด


1. ความผิดต่อเสรีภาพ (Offence against Liberty) มาตรา 309-321

2. ความผิดฐานเปิดเผยความลับ (Offence of Disclosure of Private Secrets) มาตรา 322-325

3. ความผิดฐานหมิ่นประมาท (Offence of Defamation) มาตรา 326-333


1. ความผิดต่อเสรีภาพ (Offence against Liberty) มาตรา 309-321

บทนำ

ความผิดต่อเสรีภาพตาม ม.309 เป็นความผิดต่อเสรีภาพกว้าง ๆ ที่บุคคลนั้นมีสิทธิจะกระทำได้โดยที่ไม่อาจถูกขัดขวาง แต่ความผิดต่อเสรีภาพใน ม.310 เป็นความผิดต่อเสรีภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย (Liberty to Movement) นอกจากความแตกต่างในลักษณะของเสรีภาพแล้ว ความผิดตาม ม. 309 ยังเป็นเป็นการกระทำที่กว้าง ๆ ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องกระทำแบบใด เพราะกฎหมายใช้คำว่า “ขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือ จำยอมต่อสิ่งใด” แต่ความผิดตาม ม.310 จำกัดไว้เฉพาะการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเท่านั้น ดังนั้นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังตาม ม.310 จึงถือเป็นบทเฉพาะ และความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นเป็นความผิดบททั่วไป

ความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่น (Compels the other person)

มาตรา 309 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบความผิด (Elements of an offence)

1. ผู้ใด Who ever

2. ข่มขืนใจ Compels

- ให้กระทำการใด (to do any act)

- ไม่กระทำการใด (not to do any act)

- จำยอมต่อสิ่งใด (suffer any thing)

3. โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น (by the way putting him in fear of injury to life, body, liberty, reputation or property of him or another person or Commits violence)

4. จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น (so that he does or does not do such act, or suffer such thing)

องค์ประกอบภายใน (Internal element)

เจตนา (Intent)


2. ข่มขืนใจ Compels

ข่มขืนใจผู้อื่น (Compels the other person) หมายถึงบังคับให้ผู้อื่นต้องกระทำหรือไม่กระทำ หรือต้องยอมในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ซึ่งเป็นการริดรอนเสรีภาพของผู้อื่น เช่น การขู่ว่าให้เขายกมือขึ้น หรือบอกว่าอย่าขยับ หรือการที่เอามีดมาจี้ที่หลังแล้วให้เดินไปในรถ จะเห็นได้ว่าผู้อื่นนั้นต้องกระทำในสิ่งที่เขาไม่อยากจะทำ ไม่ได้กระทำในสิ่งที่เขาอยากทำ หรือต้องยอมในสิ่งที่ไม่อยากจะยอม เป็นการข่มขืนใจ

การข่มขืนใจต้องเป็นการกระทำต่อผู้อื่น หากเป็นการขู่ว่าจะทำร้ายตนเอง ไม่มีคววมผิดตามมาตรานี้ เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ยอมตามที่ต้องการแล้วจะไม่กินข้าวหรืออดข้าวตาย หรือลูกขู่ว่าพ่อแม่ว่าหากไม่ให้เงินซื้อไอโฟนรุ่นใหม่ให้จะเอาโครศัพท์เครื่องเก่าไปโยนทิ้ง เหล่านี้เป็นการข่มขืนใจที่จะกระทำต่อตนเองไม่มีความผิด


3. โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น

การข่มขืนใจผู้อื่นนั้นผู้กระทำอาจจะกระทำโดยวิธีทำให้ผู้ถูกข่มขืนใจกลัว (Fear) หรือเป็นการข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้าย (compels the other person by commits violenceก็ได้

1) การข่มขืนใจให้กลัวนั้นไม่จำกัดวิธีจะทำโดยวิธีการใด เช่น วาจา จดหมาย หนังสือเตือน ข้อความ หรือแม้กระทั้งท่าทางที่ทำให้ผู้ถูกข่มขืนใจเกิดความกลัว และการข่มขู่ว่าจะทำอันตรายในปัจจุบันหรือจะเป็นการข่มขู่ว่าจะทำอันตรายในอนาคตก็ได้

ดังนั้นการข่มขู่ สาระสำคัญต้องทำให้ผู้ถูกกระทำกลัว หากเป็นการพูดหยอกล้อกัน ก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้ เช่น การใช้ปืนปลอมมขู่ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้ถูกข่มขืนใจกลัวแล้วเป็นความผิดตามมาตรานี้ หรือการขู่ว่าจะชวนพวกนักเลงมาทำร้ายให้ระวังตัวไว้เป็นการพูดข่มขู่ว่าจะทำอันตรายในอนาคต

การข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวนั้นอาจเป็นการขืนใจที่จะทำอันตรายต่อ ชีวิต เช่น การข่มขู่ว่าจะฆ่า อันตรายต่อร่างกาย เช่น การข่มขู่ว่าจะมาทำร้าย พาพวกมากระทืบ หรือจะปล่อยให้หมากัด อันตรายต่อเสรีภาพ เช่น การข่มขู่ว่าจะจับไปขัง หรือพาคนมาปิดล้อม อันตรายต่อชื่อเสียง เช่น การข่มขู่ว่าจะทำเอาความลับไปบอกคนอื่น อันตรายต่อทรัพย์สิน เช่น การข่มขู่ว่าจะพาพวกมาทำลายร้าน จะเผาบ้าน

การข่มขู่ให้กลัวนั้นอาจะเป็นการขู่ว่าจะทำต่อผู้ที่ถูกข่มขู่เองหรือของบุคคลใด ๆ ก็ได้ เช่น การข่มขืนใจสามีหากไม่ยอมกระทำตามจะทำร้ายภริยา เป็นต้น

การข่มขืนใจผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย (compels the other person by commits violence) เป็นการข่มขืนใจโดยใช้กำลังประทุษร้าย ไม่ได้ข่มขู่เพื่อให้กลัว แต่เป็นการใช้กำลังบังคับให้ทำ เช่น เอาปืนขู่ให้ขึ้นรถ หรือเอามีดจี้ให้ไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม

ประเด็นปัญหา Problem issue


การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตาม มาตรานี้หรือไม่ เช่น การข่มขู่ว่าจะฟ้องคดีหรือการข่มขู่ว่าจะยึดทรัพย์หากไม่ชำระหนี้ เช่น ตำรวจพูดข่มขู่ว่าจะจับหากฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นการพูดตามอำนาจหน้าที่ไม่มีความผิดตามมาตรานี้ แต่หากเป็นการขู่คนที่เขาไม่ได้ทำผิด เช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 2013/2536 ผู้เสียหายทั้งสี่เข้าไปเที่ยวในบาร์ซึ่งมีการแสดงให้ชมและได้ สั่งเครื่องดื่มรวม 4 แก้ว ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินของบาร์ได้นำใบเสร็จรับเงินมาเรียกเก็บเงิน 1,000 บาท โดยคิดเป็นค่าเครื่องดื่ม 200 บาท ค่าชมการแสดง 800 บาท ตามอัตราที่ถูกต้องของบาร์ผู้เสียหายทั้งสี่ขอชำระแต่ค่าเครื่องดื่ม ส่วนค่าชมการแสดงไม่ชำระเพราะได้รับคำบอกเล่า จากผู้ที่ชักชวนเข้าไปเที่ยวว่าไม่ต้องชำระจำเลยไม่ยอมและพูดว่าถ้าไม่ชำระ จะไม่ยอมให้ออกจากบาร์ และสั่งคนปิดประตูบาร์กับเรียกพนักงานชาย 5-6 คน มายืนคุมเชิงรอบโต๊ะข้างหลังผู้เสียหายทั้งสี่แล้วจำเลยพูดว่าจะชำระหรือไม่ ถ้าไม่ชำระมีเรื่องแน่ ผู้เสียหายทั้งสี่กลัวถูกทำร้ายจึงยอมชำระเงิน 1,000 บาท ให้จำเลยถือได้ว่าเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสี่ให้ยอมให้ เจ้าของบาร์ได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตราย ต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งถูกข่มขืนใจ ยอมให้เงินค่าชมการแสดง ดังนี้แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะสืบเนื่องมาจากการทวงค่าชมการแสดงที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับการบริการไปแล้วก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีอำนาจบังคับให้ผู้เสียหายทั้งสี่ชำระเงินโดยไม่ชอบด้วยการขู่เข็ญ ว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหายทั้งสี่เช่นนั้นจำเลยจึงมีความผิดฐานกรรโชก

คำพิพากษาฎีกานี้ศาลตัดสินว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อร่างกายและเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งพอจะเทียบเคียงได้กับความผิดตาม ม.309


4. จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

ความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ม.309 เป็นความผิดที่ต้องการผล หมายความว่าหากมีการกระทำอันเป็นการข่มขืนใจแล้ว แต่ผู้ถูกข่มขืนใจไม่กระทำตาม หรือไม่หยุดการกระทำ หรือไม่ยอมตามที่ข่มขู่ จะมีความผิดเพียงแค่พยายามกระทำความผิด เช่น ใช้ปืนขู่ให้หยุดรถแต่ผู้นั้นไม่ยอมหยุดรถ เช่นนี้เป็นความผิดเพียงแค่พยายามข่มขืนใจผู้อื่น แต่ถ้าผู้นั้นยอมกระทำตาม หรือยอมตามที่ถูกข่มขู่ก็เป็นความผิดสำเร็จ

แต่มีปัญหาว่าจนผู้ถูกข่มขืนใจนั้นต้องยอมทั้งหมด หรือถ้ายอมเพียงบางส่วนก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว

คำพิพากษาฎีกา 616/2520 ฟ้องขอให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์ ได้ความว่าจำเลยใช้ปืนขู่ให้ผู้เสียหายซึ่งขี่รถจักรยานยนต์หยุดรถ ผู้เสียหายลดความเร็วลงเตรียมจะจอด พอดีรถจำเลยเสียหลัก ผู้เสียหายเร่งรถหนีไปได้ ไม่พอฟังว่ามีเจตนาปล้น เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.309 ซึ่งบรรยายมาในฟ้อง เป็นส่วนหนึ่งของการปล้นที่ฟ้อง ศาลลงโทษตาม ม.309 ได้

คำพิพากษานี้ตัดสินวางหลักไว้ว่า การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ที่ถูกข่มขืนใจนั้นยอมกระทำตามที่ถูกข่มขู่ แม้จะเพียงบางส่วน (ลดความเร็วลงเตรียมจอด) ก็ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว ไม่ใช่เพียงขั้นพยายาม


คำพากษาฎีกา 1447/2513 จำเลยกับพวกมีอาวุธปืนติดตัวเข้าไปพูดจาให้ผู้เสียหายคิดบัญชีการเงินที่จำเลยกับผู้เสียหายเข้าหุ้นกันทำการก่อสร้างโดยขู่ว่า ถ้าไม่คิดจะเกิดเรื่อง แต่การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลเพราะผู้เสียหายไม่ยอมคิดบัญชีให้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่ผู้เสียหายไม่กลัวหรือเพราะมีตำรวจมาขัดขวางก็ตาม จำเลยก็มีความผิดฐานพยายามกระทำผิดต่อเสรีภาพแล้ว แต่ไม่เป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก

ตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้นั้น ที่ไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์เพราะว่า การที่จำเลยไปข่มขู่เพือให้ผู้เสียหายคิดบัญชีการเงินที่เข้าหุ้นการทำการก่อสร้าง การคิดบัญชีไม่ใช่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน จึงไม่ผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ แต่มีความผิดพยายามตาม ม.309 เพราะความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นนี้ ไม่ได้จำกัดว่าการข่มขืนใจนั้นจะเป็นเรื่องใดก็ได้ เป็นเสรีภาพทั่ว ๆ ไปของผู้ถูกข่มขืนใจ


องค์ประกอบภายใน (Internal element)

คือ เจตนา ผู้กระทำต้องมีเจตนากระทำความผิด คือ ต้องรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น และต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นด้วย หากประสงค์จะแกล้งหรือหยอกเล่น เช่น ใช้ปืนปลอมแกล้งเพื่อนให้กระทำตาม เช่นนี้ถือว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด

เหตุเพิ่มโทษ (aggravated cause) ตามมาตรา 309 วรรคสอง

ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใดผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ได้กระทำโดยมีอาวุธ (making use of arms) อาวุธ คืออะไร พิจารณาตามบทนิยาม ตาม ม.1 (5) "อาวุธ" หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ

โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป (by five persons upward participating) คำว่าร่วมกัน หมายถึง เป็นตัวการร่วมกัน ตาม ม.83

หรือกระทำความผิดเพราะมีเหตุจูงใจในการกระทำผิด คือ กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใด (it be committed in order that the compelled person shall execute, revoke, damage or destroy any document of right) ส่วนคำว่าเอกสารสิทธิ หมายความว่าอย่างไรพิจารณาตาม ม.1 (9)


เหตุเพิ่มโทษตาม ม.309 วรรคสาม

ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะ มีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีและปรับ ตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่ (the secret society) พิจารณาตาม ม.209 หรือซ่องโจร (criminal association) พิจารณาตาม ม.210 ทั้งนี้ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่จริงหรือไม่ ผู้ที่กระทำความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามวรรคแรกก็ต้องรับโทษหนักขึ้นตามวรรคสาม


ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกังขัง (Offence of Detains or confines)

มาตรา 310 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามมาตรานี้กฎหมายมุ่งให้ความคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลในการเคลื่อนไหวร่างกาย (Liberty movement) ไม่ใช่เสรีภาพทั่ว ๆ ไป เหมือนกับมาตรา 309 ดังนั้นการจำกัดเสรีภาพโดยการไม่ให้เขาไปในที่ซึ่งเขาอยากไปจึงเป็นการหน่วงเหนี่ยว และให้เขาอยู่ในที่ซึ่งเขาไม่อยากอยู่เป็นการกักขัง

การหน่วงเหนี่ยว (detains the other person) คือ การไม่ให้เข้าไปในที่ใดที่หนึ่งโดยอาจรั้งไว้หรือขวางไว้ เช่น การเอาคนไปปิดล้อมไม่ให้เขาเข้าไปเป็นหน่วงเหนี่ยว หรือใส่กุญแจปิดโรงงานไว้ทำให้เข้าไปทำงานไม่ได้ เอามีดไล่ฟันโดยเจตนาฆ่าจนเขาต้องวิ่งหนี เป็นการทำให้เสียเสรีภาพในการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ให้ไปในในที่ซึ่งอยากไป

การกักขัง คือ การตัดเสรีภาพ ไม่ให้ออกไปไหน[2] หรือให้เขาอยู่ในที่กำหนดโดยมีขอบเขตจำกัดโดยที่เขาไม่สมัครใจ เช่น เอาคนไปปิดล้อมตึกไว้ไม่ให้คนออก เอาเด็กใส่ลังแล้วตอกตะปูปิดฝาลัง ปิดประตูขังไว้ในห้องใส่กุญแจหรือให้คนเฝ้าไว้

ตัวอย่าง ลำยองแก้ผ้าเล่นน้ำอยู่ในคลอง สมศักดิ์ต้องการแกล้งลำยอง จึงแอบเอาเสื้อผ้าของลำยองไปซ่อนไว้ในป่า ทำให้ลำยองขึ้นจากน้ำไม่ได้ เพราะไม่มีเสื้อผ้าใส่ เป็นการทำให้เขาต้องอยู่ในที่ที่เขาไม่อยากอยู่เป็นการกักขัง

กระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย คือ การที่ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างตามใจชอบ เช่น การใส่กุญแจมือ การล่ามโซ่ไว้ แต่หากเป็นการจับโดยเจ้าพนักงานและจับโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีความผิดตามมาตรานี้

คำพิพากษาฎีกา 2010/2528 จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญและใช้กำลังฉุดผู้เสียหายจากในซอยให้ขึ้นรถยนต์แล้วพาไปถึงโรงแรม แต่ผู้เสียหายหนีออกมาได้ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียววาระเดียว โดยมีเจตนาเพียงอย่างเดียวคือ การพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารเท่านั้น แต่โดยลักษณะของการกระทำ คือ การบังคับพาเอาตัวผู้เสียหายจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งเช่นนี้ย่อมเป็นความผิดตาม ม.309 และ ม.310 อยู่ในตัว การกระทำผิดของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. ม.90 คือ ม.248

การแจ้งให้เจ้าพนักงานจับ ถ้าเจ้าพนักงานจับเองหรือมีเหตุจับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การกักขังโดยไม่ชอบก็ไม่มี ผู้แจ้งไม่มีความผิด

แต่ถ้าผู้แจ้งทำให้เจ้าพนักงานจับโดยสำคัญผิด คำพิพากษาฎีกา 2060/2521 ผู้ที่จะต้องถูกจับตามหมายจับมอบตัวต่อศาลมีประกันไป เหตุที่จะจับหมดไปแล้ว จำเลยเอาสำเนาหมายจับนั้นมาให้ตำรวจจับผู้นั้นอีก เป็นความผิดตาม ป.อ. ม.310, 84


องค์ประกอบภายใน

มีเจตนาที่จะหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น แม้ว่าผู้ที่ถูกหน่วงเหนี่ยวกังขังจะไม่รู้ตัว เช่น นอนหลับ เมา ป่วยหมดสติ บอกว่าห้ามออกไปไหนจะใส่กุญแจหรือให้คนเฝ้าไว้ แต่ความจริงไม่ได้ทำ ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่หากเป็นการล้อเล่น ไม่มีเจตนา

ความผิดฐานนี้เป็นความผิดต่อเนื่อง จนกว่าการหน่วงเหนี่ยวหรือกังขังจะสิ้นสุดลง และความผิดตาม ม.310 วรรคแรก นี้เป็นความผิดยอมความได้

เหตุเพิ่มโทษ aggravated cause

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกัก ขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตายหรือรับอันตราย สาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 290 มาตรา 297 หรือ มาตรา 298 นั้น

เช่นเดียวกับความผิดฐานทอดทิ้ง ที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามผลของการกระทำที่เกิดขึ้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2548 ป.อ. มาตรา 63, 310 วรรคสอง

ผู้ตายและผู้เสียหายทั้งสามถูกกักขังและถูกทำร้ายร่างกายในลักษณะการทรมานอยู่ในห้องพักที่เกิดเหตุเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยไม่มีหนทางหลบเลี่ยงให้พ้นจากการถูกทรมานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใดได้เห็นได้ว่าผู้เสียหายทั้งสามและผู้ตายต้องตกอยู่ในสภาพถูกบีบคั้นทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน การที่ผู้ตายตัดสินใจกระโดดจากห้องพักเพื่อฆ่าตัวตายนั้นอาจเป็นเพราะผู้ตายมีสภาพจิตใจที่เปราะบางกว่าผู้เสียหายอื่น และไม่อาจทนทุกข์ทรมานได้เท่ากับผู้เสียหายอื่นจึงได้ตัดสินใจกระทำเช่นนั้นเพื่อให้พ้นจากการต้องทนทุกข์ทรมาน พฤติการณ์ฟังได้ว่าการตายของผู้ตายมีสาเหตุโดยตรงมาจากการถูกทรมานโดยทารุณโหดร้าย

มีปัญหาว่าผู้กระทำต้องรับผิดในผลแห่งความตายของผู้ตายหรือไม่ เพราะผู้ตายกระโดดจากห้องพักฆ่าตัวตายเอง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาตามหลักของความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (Causation) หากความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย และผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลธรรมดาตาม ม.63

ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวให้ทำการใดให้

มาตรา 310ทวิ ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ความผิดฐานนี้คือการที่ผู้กระทำความผิดหน่วงเหนี่ยวหรือกังขังผู้อื่น เพื่อบีบบังคับให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใกแก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น


ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยประมาท

มาตรา 311 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือ รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 291 หรือ มาตรา 300

ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยประมาท แตกต่างจากความผิดมาตรา 310 ในเรื่องขององค์ประกอบภายในที่ผู้กระทำไม่ได้กระทำโดยมีเจตนาจะหน่วงเหนี่ยวหรือกังขัง แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง อันเป็นการกระทำโดยประมาท เช่น พนักงานสอบสวนขังผู้ต้องหาเกินกำหนดเพราะลืมส่งสำนวนขอฝากขังต่อ หรือภารโรงปิดประตูห้องเรียนโดยไม่สำรวจว่ามีเด็กหลงเหลืออยู่ในห้อง ปิดตึกโดยไม่ดูให้ดีว่ามีใครเหลืออยู่บ้าง

ความผิดอันยอมความได้

มาตรา 321 ความผิดตาม มาตรา 309 วรรคแรก มาตรา 310 วรรคแรก และ มาตรา 311 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้


[1] เฉลิมวุฒิ สาะกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

[2] ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคความผิดและลหุโทษ, พิมพ์ครั้งที่ 10สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2556, น.268.