คดีอาญาระงับ

1. ความหมายของสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ

เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น รัฐมีหน้าที่ในการที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ผ่านกระบวนการที่รัฐสร้างขึ้นมา แต่การดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดนั้นอาจจะต้องยุติลง ด้วยสาเหตุบางประการ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้องยุติการดำเนินคดีกับผู้กระทำกฎหมายได้บัญญัติไว้ในมาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้

(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด

(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

(3) เมื่อคดีเลิกกันตาม มาตรา 37

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น

(6) เมื่อคดีขาดอายุความ

(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

คดีอาญาระงับหมายถึง หากมีเหตุใดเหตุหนึ่งตั้งแต่ (1) - (7) เกิดขึ้น จะมีผลทำให้คดีอาญานั้นระงับไปโดยผลของมาตรานี้ทันที ไม่ว่าคดีอาญานั้นจะอยู่ในชั้นไหน เช่น ชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณา ชั้นอุทธรณ์ฎีกา แม้ไม่มีคู่ความใดหยิบยกขึ้นมา ศาลก็ยกขึ้นพิจารณาเองได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และคดีอาญาจะระงับไปด้วยเหตุตามมาตรา 39 นี้เท่านั้นหากเป็นกรณีอย่างอื่นเช่น ศาลสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง สิทธินำคดีอาญาไม่ระงับไป เพราะไม่ใช่กรณีตามมาตรา 39 ฟ้องใหม่ได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

หากมีข้อเท็จจริงตามมาตรานี้เกิดขึ้นแล้ว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ศาลก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเงื่อนไขการระงับของคดีอาญานั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(1) โดยความตายของผู้กระทำผิด

โดยปรกติแล้วกระบวนยุติธรรมทางอาญามีขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าบุคคลที่จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายถึงแก่ความตายไปเสียแล้ว ไม่ว่าคดีนั้นจะอยู่ในชั้นใดก็ตาม สิทธินำคดีอาญาก็เป็นอันระงับไป แต่ในกรณีที่มีผู้กระทำความผิดหลายคน การระงับไปของคดีอาญาคงหมายถึงเฉพาะกรณีผู้กระทำความผิดที่ตายเท่านั้น บุคคลอื่นที่เป็นผู้กระทำความผิดหาได้ระงับไปด้วยไม่

(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย

คดีความผิดต่อส่วนตัว คือ คดีที่ประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอาญาอื่นบัญญัติไว้ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งส่วนใหญ่คดีอาญาคามผิดต่อส่วนตัว จะเป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ของเอกชน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมมาก เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง เป็นต้น

หากคดีใดเป็นคดีมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความของผู้เสียหายหามีผลต่อการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการไม่ เพราะพนักงานอัยการไม่ได้ดำเนินคดีอาญานั้นเพื่อผู้เสียหาย แต่เป็นการกระทำเพื่อส่วนร่วม

การถอนคำร้องทุกข์ การถอนฟ้อง หรือยอมความกันจะต้องทำโดยถูกต้องตามกฎหมายด้วย หากทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวนั้นก็ไม่ระงับไป

การถอนคำร้องทุกข์โดยชอบที่ทำให้คดีอาญาระงับไปพิจารณาดังต่อไปนี้

1) ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัว

2) ถอนคำร้องทุกข์โดยผู้เสียหาย (หมายถึงทั้งผู้เสียหายที่แท้จริง หรือผู้มีอำนาจจัดการแทน) แต่ถ้าหากปรากฏว่าผู้เสียหายตาย ก่อนที่จะถอนคำร้องทุกข์ หากคดีนั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน สิทธิดังกล่าวตกทอดสู่ทายาทด้วย

3) ถอนคำร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวน อัยการ หรือศาลก็ได้ (แม้คดีนั้นอยู่ในชั้นศาลก็ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนที่เคยร้องทุกข์ไว้ก็ได้)

4) ต้องถอนคำร้องทุกข์โดยมีเจตนาไม่ให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ (ฎีกา 1962/2506 การถอนคำร้องทุกข์ที่จะทำให้คดีระงับไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (2) นั้น เป็นเรื่องเจตนาถอนเพื่อยกเลิกไม่เอาความแก่จำเลยต่อไป แต่การถอนคำร้องทุกข์โดยเหตุที่ผู้เสียหายได้นำคดีมาฟ้องศาลเสียเอง หาทำให้คดีระงับไปไม่คงระงับไปแต่เฉพาะเรื่องการร้องทุกข์ซึ่งศาลย่อมดำเนินคดีเสมือนว่าผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาล โดยไม่มีการร้องทุกข์มาก่อนเท่านั้นเอง) และหากการถอนคำร้องทุกข์มีเงื่อนไข เช่น กำหนดให้จำเลยต้องชำระหนี้เป็นงวดๆเสียก่อน จึงจะถอนคำร้องทุกข์ ไม่ใช่การถอนคำร้องทุกข์หรือยอมความกันที่ทำให้คดีอาญาระงับ

5) ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เมื่อใดก็ได้ (ฎีกา 1374/2509คดีความผิดต่อส่วนตัว ก่อนคดีถึงที่สุด ผู้เสียหายย่อมถอนคำร้องทุกข์ได้และสิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) คำพิพากษาศาลล่างก็ย่อมระงับไปในตัวไม่มีผลบังคับต่อไป ไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะต้องพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างที่ลงโทษจำเลยไว้) จะเห็นว่าแม้คดีอยู่ในศาลสูงแล้วผู้เสียหายก็ยังถอนฟ้องคำร้องทุกข์ได้ และทำให้คดีอาญาระงับลง

(3) เมื่อคดีเลิกกันตาม มาตรา 37

คดีอาญาระงับเมื่อคดีเลิกกัน ตามมาตรา 37 หมายถึง กรณีมีการเปรียบเทียบปรับตามหลักเกณฑ์และวิธีการของมาตรา 37 (เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยองค์กรตำรวจ ในการลงโทษผู้กระทำผิดโดยการปรับ ซึ่งโดยหลักแล้วการจะลงโทษผู้กระทำผิดได้นั้นต้องเป็นองค์กรตุลาการเท่านั้น แต่การที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารลงโทษได้เพราะเห็นว่า เป็นโทษสถานเบาเพียงแค่ปรับ และการดำเนินคดีไปจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี (มีต้นทุนในการดำเนินคดี) และจะทำให้คดีอาญาต้องเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก

มาตรา 37 คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้

(1) ในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อผู้กระทำผิด ยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณา

(2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มี อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดี อื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่ง มีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบ เทียบแล้ว

(3) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มี อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือ คดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อผู้ต้องหา ชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ผู้ทำการในตำแหน่งนั้น ๆ ได้เปรียบเทียบแล้ว

(4) ในคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบ เทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2853/2550 การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับและชำระค่าปรับแล้ว มีผลเพียงทำให้คดีอาญาดังกล่าวเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2549 โจทก์ทั้งสองเมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน แต่โจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว ทำให้คดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาเป็นอันเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 354/2541 โจทก์แจ้งความกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายโจทก์ไม่ถึงกับเป็นเหตุอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวน ทำการเปรียบเทียบปรับ โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยินยอม คดีย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37(2) สิทธินำคดีอาญาในความผิดลหุโทษของโจทก์มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3) แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นในวันเดียวกันโจทก์เกิดอาการมึนศีรษะ และอาเจียนจึงกลับไปให้แพทย์ตรวจใหม่ พบว่าสมองได้รับการ กระทบกระเทือนและมีเลือดคั่งต้องรักษานานประมาณ 30 วัน โดยโจทก์อ้างว่าเป็นผลเกิดจากถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แท่งเหล็กกลวงตี หากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง คดีก็ไม่ อาจเลิกกันได้เพราะกรณีมิใช่ความผิดลหุโทษเสียแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด หมายความว่า ศาลได้ตัดสินแล้วว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ คดีเสร็จเด็ดขาดไม่ใช่กรณีคดีถึงที่สุด เพราะคู่ความยังอาจอุทธรณ์ หรือฎีกาต่อไปได้ เช่น ศาลชั้นต้นได้ตัดสินแล้ว แต่ยังอยู่ในระยะเวลาในการอุทธรณ์ ฎีกา

การห้ามไม่ให้มีการฟ้องจำเลยคนนั้นอีก หากนำคดีที่ได้เสร็จเด็ดขาด ไปแล้วมาฟ้องจำเลยคนเดิมในข้อหาเดิม ฟ้องใหม่เป็น "ฟ้องซ้ำ" ซึ่งในคดีอาญา ซึ่งหลักการฟ้องซ้ำนี้มาจากหลัก “Non bis in idem”(Not twice for the same) หรือ double jeopardy หรือ “หลักการบุคคลจะไม่ถูกพิจารณาคดีซ้ำสองในความผิดเดียว” เพื่อป้องกันการดำเนินคดีซ้ำซ้อน ดังนั้นเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วก็ไม่ควรดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอีก

หลักเกณฑ์ของฟ้องซ้ำในคดีอาญา

1) จำเลยในคดีแรกและคดีที่ฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน

2) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน

3) ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วในความผิดที่ได้ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2553 ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน จำเลยเสนอ จำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าเสื้อยี่ห้อลาคอสท์ที่เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำในเรื่องเดียวกัน เกิดขึ้นในเวลา สถานที่ และกระทำต่อผู้เสียหายรายเดียวกัน จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 ก่อนคดีนี้แล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2553 พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยขับรถในขณะเมาสุรา จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม (เดิม) กับการที่จำเลยซึ่งมีอาการมึนเมาสุราขับรถในลักษณะส่ายไปมาบนท้องถนนและขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่แล่นสวนมาเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่มีผู้เสียหายที่ 1 ขับ และมีผู้เสียหายที่ 2 นั่งไปด้วยได้รับความเสียหาย และผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่หลายกรรมต่างกันไม่ เมื่อคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราแล้วสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยในการกระทำเดียวกันนั้นเป็นคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2552 ในคดีแรกศาลฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยว่าเหตุกระทำผิดฐานรับของโจรเกิดระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 เวลากลางวัน แต่คดีนี้คำฟ้องในข้อหารับของโจรระบุว่าเหตุเกิดวันที่ 9 ตุลาคม 2544 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากับการที่จำเลยรับของโจรในคดีแรก แม้ ธ. จับจำเลยและยึดของกลางทั้งสองสำนวนไว้ในคราวเดียวกัน และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยรับทรัพย์ของกลางทั้งสองคดีนั้นไว้มาคราวเดียวกันหรือรับมาเมื่อใด แต่ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยรับของโจรคดีนี้ไว้ในวันเดียวกันและในคราวเดียวกันกับการรับของโจรในคดีแรก การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการกระทำความผิดของจำเลยในคดีแรก ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2552 โจทก์คดีนี้กับโจทก์คดีก่อนของศาลชั้นต้น ต่างเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ม. และต่างฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดอันเดียวกัน ซึ่งคดีก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) แม้ว่าโจทก์คดีนี้จะเป็นคนละคนกับโจทก์คดีก่อนและฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนก็ตาม มิฉะนั้น ก็จะกลายเป็นว่าจำเลยทั้งสองถูกดำเนินคดีในการกระทำความผิดอันเดียวกันซ้ำสองอีก

เรื่องฟ้องซ้ำในคดีอาญานั้น หากผู้เสียหายฉ้อฉล โดยการฟ้องคดีแล้วแกล้งทำให้แพ้คดี เพื่อช่วยเหลือจำเลย ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ต่อมาอัยการฟ้องจำเลยต่อศาล ก่อนนั้นศาลเคยตัดสินว่า เป็นฟ้องซ้ำ แต่ศาลได้กลับหลักโดยเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการที่ผู้เสียหายแกล้งฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือจำเลย ไม่มีเจตนาให้จำเลยถูกลงโทษจริง ๆ เมื่ออัยการฟ้องใหม่ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

(5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น

กฎหมายอาญามีหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่ว่า เมื่อมีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเลิกความผิดนั้น ให้ผู้กระทำความผิดผิดนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และหากรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายที่ออกใช้ภายหลักมีการยกเลิกความผิดคดีอาญาก็ระงับไปด้วย การกระทำของบุคคลในช่วงเวลาหนึ่งสังคมเห็นว่าเป็นความผิด ไม่อาจทำได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสังคมเห็นว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดทางอาญา ก็มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย โดยยกเลิกความผิดเดิมได้

(6) เมื่อคดีขาดอายุความ

กฎหมายอาญาก็เช่นเดียวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีกำหนดอายุความในการดำเนินคดี เพื่อให้ข้อคู่ความหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้นได้ตระหนักและรีบดำเนินคดีเพื่อให้คดีที่เป็นความพิพาทกันอยู่นั้นได้รับการสะสางและเสร็จสิ้นกันไป หากปล่อยให้ผ่านไปเวลานานจะเป็นการยากต่อการพิจารณาคดีของศาลเอง เช่น พยานบางคนอาจถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะเบิกความในศาล หรืออาจจะจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ได้เนื่องจากผ่านเวลามานาน ดังนั้นไม่ว่าจะคดีแพ่งและคดีอาญาจึงมีการกำหนดอายุความอาญาไว้เช่นเดียวกัน

อายุความคดีอาญา เป็นระยะเวลาที่ทำให้รัฐต้องดำเนินคดีภายในกำหนดอายุความ หากไม่มีการดำเนินคดีภายในระยะเวลาดังกล่าว คดีย่อมขาดอายุความ ผลของการขาดอายุความในคดีอาญานั้นแตกต่างจากการขาดอายุความในคดีแพ่ง เพราะคดีแพ่งการขาดอายุความเป็นเพียงข้อต่อสู้ที่อาจทำให้ศาลยกฟ้องได้เท่านั้น แต่ในคดีอาญาการขาดอายุความทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ซึ่งปัญหาการขาดอายุความในคดีอาญายังความในคดีอาญายังเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลสามารถหยิบยกวินิจฉัยเองได้

อายุความของคดีอาญานั้นพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

(1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี

(2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี

(3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

(4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี

(5) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมาหรือต้องระวางโทษอย่างอื่น

ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าอายุความของคดีอาญานั้นจะเริ่มนับก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำความผิด เช่นเดียวกับการฟ้องคดีแพ่งที่อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ทำละเมิด วันที่ผิดสัญญา ในคดีอาญาอายุความตามกฎหมายเริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้กระทำความผิด ซึ่งจะนับไปจนครบตามกำหนดระยะเวลาของกฎหมาย หากมิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดก็เป็นอันขาดอายุความ มีข้อสังเกตว่าในคดีอาญานั้นไม่ว่าคดีที่เกิดขึ้นจะมีความร้ายแรงเพียงใด เช่น คดีฆ่าคนตายโดยเจตนาซึ่งมีโทษถึงขั้นประหารชีวิตก็มีอายุความเพียงยี่สิบปีเท่านั้น หากผู้กระทำความผิดได้หนีไปพ้นระยะเวลา 20 ปีแล้วก็ถือว่าคดีขาดอายุความ

อายุความของความผิดอันยอมความได้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 "ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ" โดยหลักจากมาตรานี้ คือ ความผิดอันยอมความได้นั้น ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเสียก่อน ภายในกำหนดเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หากเลยกำหนดนี้แล้ว มีผลทำให้คดีความผิดอันยอมความได้นั้นขาดอายุความโดยผลของ ป.อ. มาตรา 96

ความผิดอาญาต่อส่วนตัวนั้น เป็นความผิดที่กระทบกระเทือนต่อผู้เสียหายเพียงคนเดียว บุคคลอื่นและสังคมหาได้รับความเสียหายไม่ ดังนั้นการดำเนินคดีต่อส่วนตัวต้องอาศัยเจตนาของผู้เสียหายในการดำเนินคดี หากผู้เสียหายประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ผู้เสียหายต้องรีบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 3 เดือน หากเลยกำหนดเวลา 3 เดือนไปแล้ว ถือว่าผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับผู้กระทำความผิดอีก

ข้อสังเกตเกี่ยวกับอายุความ

1. ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์แต่ได้ฟ้องคดีเองภายในกำหนด 3 เดือนเช่นว่ามานี้ คดีอาญาจะขาดอายุความหรือไม่

หากว่าคดีอาญาความผิดอันยอมความได้นั้น ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์แต่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลเอง ก็ต้องฟ้องคดีอาญาภายในกำหนดเวลา 3 เดือนเช่นเดียวกัน เหตุผลที่กฎหมายกำหนดเวลาให้ผู้เสียหายร้องทุกข์หรือฟ้องคดีความผิดอันยอมความได้ภายในกำหนดเวลา 3 เดือนนั้น คงเป็นเพราะ คดีประเภทนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายโดยตรง ไม่ได้ส่งผลต่อสังคมโดยส่วนรวม เมื่อผู้เสียหายได้รู้ถึงความผิดที่เกิดขึ้นและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ผู้เสียหายก็ควรจะดำเนินคดี มิใช่ปล่อยคดีให้เนินนาน ซึ่งจะทำให้การดำเนินคดียากขึ้นไป เพราะพยานหลักฐานต่างๆที่จะนำมาใช้ในการสอบสวนและสืบพยานหาได้ยาก และหากเป็นพยานบุคคลก็อาจจะหลงลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปได้ อีกทั้งเมื่อล่วงเลยเวลามาถึง 3 เดือนแล้ว ทั้งๆที่ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์หรือฟ้องคดีได้เอง แต่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์หรือฟ้องคดี แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายอาจไม่ติดใจเอาความผู้กระทำความผิดอีกต่อไป ดังนั้นด้วยเหตุผลอันนี้ กฎหมายจึงกำหนดให้คดีความอันยอมความได้เมื่อไม่ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา 3 เดือนจึงขาดอายุความ

2. ถ้าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา 3 เดือนแล้ว ต่อมาได้ฟ้องคดีเมื่อเกิน 3 เดือนนับแต่รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีจะขาดอายุความหรือไม่

เมื่อผู้เสียหายในความผิดอันยอมความได้ ร้องทุกข์ภายในกำหนดของมาตรา 96 แล้ว แม้จะฟ้องเกินกำหนด 3 เดือนก็ไม่ขาดอายุความ โดยอายุความของความผิดอันยอมความได้ก็จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (โดยมาตรา 96 บัญญัติไว้ว่า"ภายใต้ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ...)

(7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ

กฎหมายยกเว้นโทษ คือ กรณีที่กฎหมายเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดอยู่ แต่กฎหมายไม่ลงโทษเพราะมีเหตุยกเว้นโทษ ซึ่งเหตุยกเว้นโทษมีอยู่ตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น เช่น การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น การกระทำความผิดของคนวิกลจริต เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ แม้เหตุที่จะยกเว้นโทษให้ตามกฎหมายก็ตาม ในการดำเนินคดีอาญาส่วนใหญ่ก็จะฟ้องผูกระทำความผิดต่อศาล และผู้กระทำผิดก็จะต่อสู้ว่ามีเหตุยกเว้นโทษให้