หนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป

ตัวอย่างคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป.pdf

บทที่ 1

Summary

กฎหมายอาญา (Criminal Law) เป็นกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น เพื่อกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดและกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น ดังนั้น กฎหมายอาญาจึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่า การกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดเป็นความผิด


1. ความหมายของกฎหมายอาญา

กฎหมายอาญา (Criminal Law) เป็นกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น เพื่อกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดและกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น ดังนั้น กฎหมายอาญาจึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่า การกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดเป็นความผิด[1] ซึ่งความผิดอาญาส่วนใหญ่มีลักษณะที่มาจากศีลธรรม[2] กฎหมายอาญาไม่ได้มีอยู่แต่เฉพาะประมวลกฎหมายอาญา (Criminal Code) เท่านั้น กฎหมายอื่นที่มีโทษทางอาญาก็ถือว่าเป็นกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน เช่น พระราชบัญญัติอาวุธปืน พระราชบัญญัติจราจรทางบก พระราชบัญญัติการค้าประเวณี ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ดังนั้นจึงถือว่าเป็นกฎหมายอาญา

กฎหมายอาญานั้นเป็นกฎหมายมหาชนที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสงบเรียบร้อยของสังคมรวมถึงสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ในสังคมนั้นด้วย โดยใช้กลไกต่าง ๆ ของรัฐเพื่อลงโทษผู้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายอาญาของรัฐ ดังนั้นกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กระทบกระเทือนถึงเสรีภาพของบุคคล จึงต้องมีการตรากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นซึ่งมีความชัดเจนแน่นอนเพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าการกระทำเช่นไรเป็นความผิดและต้องถูกลงโทษหากมีการฝ่าฝืน

2. สาระสำคัญของกฎหมายอาญา

2.1 กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้น

กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่กำหนดให้บุคคลกระทำการใดหรือห้ามไม่ให้กระทำการใด ซึ่งเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของตนในสังคม แต่กฎหมายอาญาก็เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่จะใช้บังคับกับคน สังคมให้เกิดความสงบเรียบร้อย อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ดังนั้นแม้ว่ากฎหมายอาญาจะกระทบกระเทือนกับสิทธิเสรีภาพของตนในสังคมก็ตาม แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายอาญา รัฐเป็นผู้ออกกฎหมายโดยผ่านกระบวนการออกกฎหมายของแต่ละรัฐ

2.2 กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำหรือไม่กระทำอย่างใดเป็นความผิด

กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมในการปฏิบัติต่อกัน และเป็นธรรมดาที่ในสังคมซึ่งมีผู้คนจำนวนมากนั้น ผู้คนเหล่านั้นย่อมมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะกระทำการอันไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียหายได้ ได้รับความเดือดร้อน รำคาญ ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามหลักของศีลธรรม ไม่ชอบตามจารีตประเพณี เช่น การทำร้ายร่างกาย ฆ่าผู้อื่น หรือกระทำต่อทรัพย์สิน เช่น ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดและประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าการกระทำอันไม่ชอบนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และต้องได้รับโทษ เพื่อให้คนในสังคมได้ทราบโดยทั่วกันว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำอันผิดกฎหมายและต้องได้รับโทษหากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม

แต่บางครั้งกฎหมายอาญาก็ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากหลักศีลธรรม หรือจารีตประเพณี แต่รัฐเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของคนในสังคมโดยแท้ ซึ่งเรียกว่าเป็นกฎหมายเทคนิค (technical law) เช่น พระราชบัญญัติจราจรทางบก

2.3 กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่มีโทษกำหนดไว้

กฎหมายอาญามีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ทำให้มีความแตกต่างจากกฎหมายอื่นๆ คือ หากผู้ใดก็ตามที่ฝ่าฝืนหรือกระทำการอันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาแล้ว ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายอาญาบัญญัติไว้ การลงโทษผู้กระทำความผิด รัฐเท่านั้นจะเป็นผู้ลงโทษได้ ผู้เสียหายหรือผู้อื่นแม้จะรู้สึกโกรธแค้นหรือไม่พอใจต่อการกระทำความผิดนั้นอย่างไร ก็จะลงโทษผู้กระทำผิดไม่ได้

การกำหนดโทษในการกระทำความผิดอาญาก็เป็นไปตามความร้ายแรงของความผิด หากว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาเล็ก ๆ น้อย ๆ โทษที่กำหนดไว้ก็จะไม่หนักมาก เช่น โทษปรับหรือจำคุกระยะสั้น แต่ถ้าการกระทำความผิดอาญานั้นเป็นความผิดร้ายแรงหรืออุกฉกรรจ์ โทษที่จะกำหนดก็จะหนักขึ้นตามสัดส่วนของการกระทำความผิด เช่น โทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ในอดีตโทษที่รัฐนำมาใช้มีลักษณะที่เป็นการทรมานผู้กระทำความผิดหรือมีความโหดร้าย เพื่อให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดนั้นเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่คิดที่จะกระทำความผิดเช่นนั้นอีก แต่ปัจจุบันจากอิทธิผลของสิทธิมนุษยชนทำให้แนวคิดในการลงโทษด้วยวิธีดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องพัฒนาวิธีการลงโทษทางอาญาที่เหมาะสมและไม่ทารุณต่อผู้กระทำความผิด ซึ่งในปัจจุบันโทษทางอาญาของไทยมีอยู่ด้วยกัน 5 สถาน เรียงจากหนักไปหาเบา ดังนี้ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์สิน

การลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีและมีการพัฒนารูปแบบของการลงโทษมาตามยุคตามสมัย แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการลงโทษใด ก็จะมีวัตถุประสงค์ของการลงโทษตามแนวคิดของการลงโทษดังต่อไปนี้

1) การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน (Retribution) การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนนั้นเป็นวัตถุประสงค์ในการลงโทษที่มีมาแต่ในยุคสังคมดั่งเดิม ซึ่งแต่เดิมนั้นเมื่อมีการกระทำความผิดขึ้นมาแล้ว จะมีการแก้แค้นกันไปมาระหว่างคนในสังคม แม้การแก้แค้นนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่สมควรก็ตาม[3] ซึ่งการแก้แคนทดแทนความผิดที่ได้ก่อขึ้นนี้ก็พิจารณาจากความร้ายแรงของความผิดที่ได้ก่อขึ้นว่าร้ายแรงเพียงใด เช่น หากฆ่าคนตายก็ต้องถูกฆ่าให้ตายตกไปตามกัน แต่เมื่อมีการสถาปนารัฐขึ้นมาแล้ว เมื่อมีการกระทำความผิดจะปล่อยให้คนในสังคมแก้แค้นทดแทนกันเอง ก็จะนำมาซึ่งความแค้นเคืองต่อกันที่ไม่อาจจะหาที่สิ้นสุดได้ และเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่อ่อนแอไม่สามารถแก้แค้นได้ รัฐจึงเข้าไปจัดการกับการกระทำความผิดโดยการกำหนดให้การกระทำใดการกระทำหนึ่งเป็นความผิดและต้องถูกลงโทษ ซึ่งการลงโทษนั้นถือเป็นการแก้แค้นทดแทนผู้เสียหาย การลงโทษในยุคนี้จึงมักเป็นการลงโทษที่ร้ายแรงให้สาสมกับความผิดที่ได้ก่อขึ้นมาแล้วเท่านั้นโดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงผลที่จะได้รับจากการลงโทษในอนาคต[4] เช่น การประหารชีวิต ตัดมือ ตัดขา ซึ่งการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนนี้สอดคล้องกับความรู้สึกของผู้เสียหายและคนในสังคมมากที่สุดเพราะการที่รัฐลงโทษผู้กระทำผิดอย่างสาสมกับความผิดถือเป็นการชดเชยความรู้สึกเครียดแค้นของผู้เสียหายและสังคม

แต่การลงโทษผู้กระทำผิดเพื่อแก้แค้นทดแทนก็มีจุดอ่อนอยู่บางประการ เช่น การลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนนั้นไม่ได้พิจารณาถึงอนาคตว่าการที่ลงโทษไปแล้วจะมีผลต่อการป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในสังคมอีกหรือไม่[5] และการลงโทษเพื่อแก้ทดแทนความผิดยังไม่ได้มีการคำนึงถึงความจำเป็นของสังคมว่าจะได้รับประโยชน์อะไรจากการลงโทษหรือไม่ เพราะมุ่งคำนึงถึงแต่การลงโทษนั้นเหมาะสมกับความผิดที่ได้เกิดขึ้นและสาสมแล้วหรือไม่ รวมถึงการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนยังเป็นการยากที่จะวัดความเหมาะสมของการลงโทษว่าการลงโทษเพียงใดจึงเป็นการสาสมกับความผิด

2) การลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง (Deterrence) การลงโทษตามแนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดของสำนักอาชญาวิทยาดั่งเดิม (Classical School) ซึ่งเชื่อว่า การที่คนกระทำผิดเพราะไม่เกรงกลัวตัวกฎหมายหรือมีการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ[6] เพราะผู้ที่จะกระทำความผิดมีการเจตจำนงอิสระในการกระทำความผิด (Free Will) ที่จะเลือกกระทำผิดหรือไม่ก็ได้ การที่เขาเลือกกระทำผิดเพราะเห็นว่าเขาได้รับประโยชน์จากการกระทำผิดมากกว่าผลร้ายที่เขาจะได้รับ ดังนั้นการลงโทษตามแนวความคิดนี้จึงเห็นว่า ต้องลงโทษผู้กระทำผิดอย่างหนักให้เข็ดหลาบไม่กล้ากระทำผิดซ้ำ และเป็นเยี่ยงอย่างให้กับผู้ที่คิดจะกระทำผิดได้เห็นว่าการกระทำความผิดนั้นไม่คุ้มค่ากับกับการถูกลงโทษ[7] เพราะการถูกลงโทษก่อให้เกิดความเจ็บปวดและไม่ก่อผลดีหรือประโยชน์ต่อผู้กระทำผิดเลย และเมื่อผู้กระทำผิดเห็นว่าการกระทำความผิดของเขานั้นจะนำมาแต่ผลร้ายเขาจะหลีกหนีไม่กระทำผิด

การลงโทษตามแนวความคิดนี้จะได้ผลของการลงโทษเพื่อข่มขู่และยับยั้งอาชญากรรมได้ 2 ลักษณะ คือ การข่มขู่ยับยั้งทั่วไป (General Deterrence) การลงโทษผู้กระทำผิด เช่นการลงโทษจำคุกผู้ที่กระทำความผิดลักทรัพย์ ทำให้คนในสังคมทราบว่าหากลักทรัพย์ผู้อื่นก็จะถูกลงโทษเช่นเดียวกัน ทำให้คนในสังคมได้ตะหนักว่าการลักทรัพย์จะถูกลงโทษการกระทำผิดก็จะถูยับยั้งได้ และการลงโทษผู้กระทำผิดยังเป็นขามขู่ยับยั้งเฉพาะราย (Special Deterrence) การที่ผู้กระทำผิดถูกลงโทษทำให้ได้ตะหนักหากจะกระทำผิดต่อไปในอนาคตย่อมไม่คุ้มค่ากับการถูกลงโทษ และการลงโทษผู้กะทำผิดจะทำให้เขาเกิดความเข็ดหลาบไม่กล้ากระทำผิดอีก

3) การลงโทษเพื่อตัดโอกาสกระทำผิด (incapacity) การลงโทษตามแนวความคิดนี้เชื่อว่า การที่อาชญากรกระทำความผิดได้เพราะมีโอกาสในการกระทำความผิด ถ้าไม่ไม่โอกาสอาชญากรจะไม่กระทำผิด การลงโทษเป็นการตัดโอกาสของอาชญากรในการกระทำความผิดซ้ำในอนาคต โดยวิธีการลงโทษเพื่อตัดโอกาสในการกระทำความผิดนั้นมีหลายวิธี เช่น การลงโทษจำคุกเป็นเวลานาน ๆ เมื่ออาชญากรอยู่ในเรือนจำแล้ว ย่อมไม่มีโอกาสที่จะกระทำผิดซ้ำได้อีก หรือการลงโทษโดยวิธีตัดความสามารถของการประกอบอาชญากรรม เช่น การตัดมือ ตัดเท้า เพื่อไม่ให้อาชญากรเหล่านี้สามารถประกอบอาชญากรรมที่เคยทำได้อีก หรือแม้กระทั้งการตัดอาญากรที่มีความอันตรายที่ได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงออกจากสังคมไปอย่างถาวร โดยการเนรเทศ การจำคุกตลอดชีวิตหรือการประหารชีวิต

แต่อย่างไรเสียการลงโทษตามแนวความคิดนี้ก็ยังมีข้อเสียอยู่หลายประการ เช่น การตัดมือ ตัดเท้าของผู้กระทำผิด จะนำมาซึ่งคนพิการที่กลายเป็นภาระของคนในสังคมเพราะนอกจากไม่สามารถประกอบอาชญากรรมได้แล้ว ยังไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้อีกด้วย การลงโทษด้วยวิธีดังกล่าวจึงไม่เกิดผลดีต่อสังคมแต่อย่างใด ในกรณีจำคุกก็เป็นการตัดโอกาสของผู้กระทำผิดผิดออกจากสังคมเป็นระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อผู้กระทำความผิดเหล่านี้พ้นโทษก็จะกลับเข้ามาอยู่ร่วมกับคนในสังคม เมื่อกลับมาแล้วนักโทษเหล่านี้มักจะมีความเครียดแค้นสังคมมากยิ่งขึ้น[8] อีกทั้งการไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม ทำให้กลับไปกระทำความผิดซ้ำและต้องกลับไปใช้ชีวิตในเรือนจำอีก

4) การลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitation) แนวความคิดเกี่ยวกับการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเป็น แนวคิดของสำนักอาชญาวิทยาปฏิฐานนิยม (Positive School) ซึ่งเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับเจตจำนงกำหนด (Determinism) เพราะถูกกดดันจากปัจจัยต่าง ๆ การที่มนุษย์กระทำผิดไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตนจำนงอิสระ[9] ซึ่งปัจจัยที่มากดดันให้มนุษย์กระทำผิดอาจมาจากปัจจัยภายในตัวมนุษย์เอง เช่น ปัจจัยทางด้านร่างกาย ทางด้านจิตใจ หรือมาจากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพแวดล้อม สภาพครอบครัว เศรษฐกิจ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ต่างก็มีส่วนก่อให้เกิดอาชญากรรมขึ้น การลงโทษตามแนวความคิดนี้จึงไม่ได้เน้นลงโทษผู้กระทำผิดเพียงอย่างเดียว แต่เห็นว่าการลงโทษควรหาสาเหตุของการก่ออาชญากรรม เมื่อทราบถึงสาเหตุแล้วก็พยายามแก้ไขสาเหตุของอาชญากรรมนั้นเสีย เพื่อให้ผู้กระทำผิดไม่กลับไปกระทำผิดอีก[10] ซึ่งการที่จะแก้ไขผู้กระทำผิดได้นั้นจะต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับตัวผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคลหรือมีการจำแนกผู้กระทำผิด เพื่อที่จะได้หาวิธีการที่เหมาะสมมาใช้เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดแต่ละรายให้เหมาะสม

การลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูตามแนวความคิดนี้ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เรือนจำต่าง ๆ ทั่วโลกนำวิธีการแก้ไขฟื้นฟูไปใช้กับนักโทษที่ต้องถูกจำคุก เพื่อให้นักโทษเหล่านั้นเมื่อพ้นจากการลงโทษสามารถที่จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่มีพิษภัย แต่การแก้ไขฟื้นฟูก็ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าได้รับผลตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ในเมื่อยังปรากฏว่านักโทษที่พ้นจากการลงโทษและผ่านการแก้ไขฟื้นฟูแล้วยังกลับไปกระทำผิดซ้ำและต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำอยู่เสมอ

3. องค์ประกอบของกฎหมายอาญา

ด้วยเหตุนี้กฎหมายอาญาจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิด (crime) และส่วนที่ผลทางกฎหมายหรือมาตรการบังคับทางอาญาอื่น (criminal sanction)[11]

เช่น มาตรา 295 “ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

1) ส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิด คือ ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

2) ส่วนที่ผลทางกฎหมายหรือมาตรการบังคับ คือ ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

1) ส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิด คือ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท

2) ส่วนที่ผลทางกฎหมายหรือมาตรการบังคับ คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ภารกิจของกฎหมายอาญา

การที่รัฐบัญญัติกฎหมายอาญาขึ้นมาเพื่อใช้บังคับกับคนในสังคม ไม่ว่าการบัญญัติกฎหมายอาญานั้นรัฐจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่กฎหมายอาญาที่รัฐบัญญัติขึ้นมานั้นย่อมมีภารกิจดังต่อไปนี้เสมอ คือ ภารกิจในการคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยจากการกระทำที่เป็นอันตราย และปราบปรามการกระทำผิดที่เกิดขึ้น รวมถึงป้องกันการกระทำความผิดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้กฎหมายอาญายังมีภารกิจในการคุ้มครองคุณธรรมทางกฎหมาย เช่น อำนาจปกครองของบิดามารดา กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของเจ้าของ และในการคุ้มครองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย [12]

4. ความแตกต่างระหว่างกฎหมายอาญากับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ความหมายของกฎหมายอาญา (Criminal Law) เป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน[13] โดยกำหนดลักษณะของการกระทำที่คิดว่าเป็นความผิด และกำหนดบทลงโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น เป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดเป็นความผิด

ความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (Civil and commercial Law)

กฎหมายแพ่ง คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล เช่น เรื่องสภาพบุคคล ทรัพย์ หนี้ นิติกรรรม ครอบครัว และมรดก เป็นต้น การกระทำผิดทางแพ่งถือเป็นการละเมิดต่อบุคคลที่เสียหายโดยเฉพาะไม่ทำให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อนอย่างการกระทำผิดอาญา

กฎหมายพาณิชย์ คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยวางระเบียบเกี่ยวกับการทำทางการค้าหรือธุรกิจระหว่างบุคคล เช่น การตั้งหุ้นส่วนบริษัท การประกอบการรับชน และเรื่องเกี่ยวกับตั๋วเงิน เช่น เช็ค กฎหมายว่าด้วยการซื้อขาย การเช่าทรัพย์ การจำนอง การจำนำ เป็นต้น

จากความหมายของกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีความแตกต่างดังต่อไปนี้

1) กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายมหาชน (Public Law) เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน โดยที่รัฐมีฐานะเหนือกว่าเอกชน โดยรัฐจะกำหนดว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดและกำหนดโทษสำหรับการกระทำนั้น โดยรัฐอยู่ในฐานะเหนือกว่า แต่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายเอกชน (Private Law) ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง โดยต่างมีฐานะเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร โดยยึดหลักเสรีภาพ

2) กฎหมายอาญานั้นเมื่อความผิดอาญาได้เกิดขึ้นรัฐสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้ทันที ไม่ต้องไปฟ้องคดีให้ศาลตัดสินก่อนว่าใครผิดใครถูก เช่น นายแตงกำลังทำร้ายนายคำอยู่ ตำรวจสามารถจับและควบคุมตัวนายแตงได้ทันทีไม่ต้องไปฟ้องศาลให้ศาลบังคับให้ก่อน แต่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น หากมีการกระทำผิดทางแพ่ง เช่น ผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถที่จะใช้อำนาจฟ้อง จะต้องไปฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาปฏิบัติตามสัญญา

3) โทษของกฎหมายอาญาเป็นโทษที่บังคับกับเนื้อตัวร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด ซึ่งหากมีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น ย่อมนำโทษที่กำหนดไว้มาลงได้ เช่น โทษประหารชีวิต โทษจำคุก โทษปรับ หรือริบทรัพย์สิน เป็นโทษที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล แต่โทษทางแพ่งไม่ได้บังคับเอากับเนื้อตัวร่างกายเพียงแต่ฝ่ายที่ผิดหน้าที่หรือหนี้ทางแพ่งอาจถูกอีกฝ่ายฟ้องศาลให้บังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา หรือหากไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นต้น

4) การใช้กฎหมายอาญาจะต้องใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หมายความว่ากฎหมายอาญาจะต้องใช้ตามบทบัญญัติที่ตราไว้อย่างเคร่งครัด หากเรื่องใดไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้จะนำจารีตประเพณี หลักกฎหมายทั่วไป หรือจะใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งไม่ได้ มาใช้ในทางที่เป็นโทษกับจำเลยไม่ได้ ซึ่งแตกต่างจากหลักของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่สามารถนำมาใช้ได้แม้ไม่มีบทบัญญัติใดได้บัญญัติไว้ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4

5) การกระทำความผิดอาญานั้นมุ่งลงโทษการกระทำความผิดแม้ไม่เกิดผลเสียหายเกิดขึ้นก็ตาม เช่น การพยายามกระทำความผิด แต่ผู้กระทำก็มีความรับผิดทางอาญาแล้ว แต่ในทางแพ่งเมื่อความเสียหายไม่เกิดขึ้นความรับผิดทางแพ่งก็ไม่อาจมีได้[14] เช่น การทำละเมิดนั้นจะต้องปรากฏว่าได้ทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เป็นต้น

5. เอกลักษณ์ของกฎหมายอาญา[15]

5.1 ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดในทางอาญา หากการกระทำนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ในขณะกระทำว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ หลักการนี้มาจากสุภาษิตละตินโบราณว่า “Nullum crimen nulla poena sine lege” หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “No crime no punishment a previous penal law” หรือเรียกว่าหลักการ “ไม่มีความผิด เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้” ซึ่งหลัก “Nullum crimen nulla poena sine lege” ก็ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาของไทยด้วยเช่นกัน ดังที่ปรากฏในมาตรา 2

มาตรา 2 บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติไว้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงโทษแกผู้กระทำผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

5.2 กฎหมายอาญาจะย้อนหลังเป็นผลร้ายมิได้ เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ดังนั้นจึงควรมีที่จะหลักประกันให้กับคนในสังคมได้ทราบก่อนว่ากฎหมายอาญามีว่าอย่างไร การกระทำใดบ้างที่กฎหมายห้ามหากฝ่าฝืนจะต้องรับโทษ เพื่อที่จะให้คนในสังคมได้ตระหนักว่าหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้ว ย่อมต้องได้รับโทษ ดังนั้นหากตอนที่กระทำไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด เขาย่อมไม่ต้องรับผิดแม้ต่อมาจะมีกฎหมายประกาศในภายหลังให้การกระทำนั้นเป็นความผิด ซึ่งหลักการนี้อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรค 2 “ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำ เช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และถ้าหากมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง”

ข้อยกเว้นของหลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งโดยหลักแล้วกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังแต่หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้ถือว่ากฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลังนั้นสามารถย้อนหลังได้ ดังนี้

(1) กฎหมายย้อนหลังนั้นไม่ใช่โทษทางอาญา เช่น การเพิกถอนสัญชาติ การตัดสิทธิทางการเมือง

(2) กฎหมายอาญาย้อนหลังได้เป็นคุณได้ ตามความในประมวลกฎหมาอาญามาตรา 2 วรรค 2

5.3 ถ้อยคำในกฎหมายอาญาจะต้องบัญญัติให้ชัดเจนแน่นอนปราศจากความคลุมเครือ ในบทบัญญัติกฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจนหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่จะทำให้การตัดสินคดีขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยและตามอำเภอใจของผู้พิจารณาคดี เช่น จะบัญญัติกฎหมายว่า “แล้วแต่ศาลจะเห็นตามสมควร” อย่างนี้เป็นการบัญญัติกฎหมายอาญาที่ให้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเป็นถ้อยคำที่คลุมเครือและปราศจากความแน่นอน เพราะอัตวิสัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้การใช้ถ้อยคำในการบัญญัติกฎหมายในบางกรณีก็ต้องอาศัยการตีความ เนื่องจากผู้ที่บัญญัติกฎหมายไม่สามรถจะบัญญัติกฎหมายที่มีถ้อยคำที่ชัดเจนแน่นอนได้ทุกกรณี จึงต้ออาศัยการตีความของผู้ใช้กฎหมายเพื่อหาความหมายของถ้อยคำดังกล่าว

5.4 กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่า กฎหมายอาญานั้นจะตีความโดยนำจารีตประเพณีมาใช้บังคับเป็นผลร้ายกับผู้กระทำความผิดไม่ได้ หรือจะนำกฎหมายใกล้เคียง (Analogy) มาใช้ให้เป็นผลร้ายมิได้ รวมถึงจะนำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับเป็นกฎหมายมิได้

การตีความกฎหมายอาญานั้นยังแตกต่างกันตามระบบกฎหมายของแต่ละประเทศว่าใช้ระบบกฎหมายใด เช่น ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Common law การตีความ ระหว่างความผิดที่เรียกว่า Common law crime ก็แตกต่างจากการตีความ ความผิดที่เป็น Statutory crime

ส่วนการตีความระบบกฎหมาย Civil Law ซึ่งกฎหมายของไทยก็ใช้กฎหมายแบบระบบลายลักษณ์อักษรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ ประมวลกฎหมายอาญา (Criminal Code) ซึ่งหลักการตีความกฎหมายอาญาในระบบ Civil Law นั้นจะต้องตีความตามตัวอักษรและตามเจตนารมณ์เพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริง โดยต้องไม่ตีความขยายความหมายเกินไปจนไปกระทบ


บทที่ 2

ประเภทความผิดทางอาญาและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา


Summary

การแบ่งประเภทความผิดทางอาญา สามารถแบ่งได้โดยอาศัยหลักเกณฑ์แตกต่างกัน โดยแต่ละหลักเกณฑ์มีวัตถุประสงค์ของการแบ่ง เช่น การแบ่งประเภทความผิดโดยคำนึงถึงตัวผู้เสียหายเป็นสำคัญ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ความผิดต่อส่วนตัวและความผิดอาญาแผ่นดิน การแบ่งโดยคำนึงถึงลักษณะของความผิดก็สามารถแบ่งประเภทความผิดออกได้เป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ ความผิดในตัวเอง (mala in se) และความผิดเพราะกฎหมายห้าม (mala prohibita)


1. ประเภทของความผิดทางอาญา

การกระทำความผิดทางอาญานั้นความผิดแต่ละฐานก่อให้เกิดความเสียหายแตกต่างกัน ความผิดบางฐานไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลในสังคมมากมายนัก เช่น ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ถูกข่มขืนแต่เพียงคนเดียว แต่ในบางความผิดมีผลกระทบต่อบุคคลในสังคมอย่างมาก ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจ หรือผลกระทบของการกระทำความผิดนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลในสังคมเป็นจำนวนมาก เช่น การกระทำอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือความผิดฐานปลอมแปลงเงินตราซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

1.1 การแบ่งโดยเกณฑ์คำนึงถึงตัวผู้เสียหาย

1) ความผิดอันยอมความได้ (Compoundable offences) หรือความผิดต่อส่วนตัว หมายถึง กรกระทำความผิดอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความผิดใดจะเป็นความผิด อาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดฐานยักยอก ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น ความผิดอันยอมความได้นี้ในประมวลกฎหมายอาญาจะบัญญัติให้ความผิดฐานนั้นเป็นความอันยอมความได้ เช่น มาตรา 281 "การกระทำความผิดตาม มาตรา 276 วรรคแรก และ มาตรา 278 นั้น ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการ กระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ใน มาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้"

2) ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ (Non-compoundable offences) หรือความผิดอาญาแผ่นดิน หมายถึง คดีอาญาประเภทที่นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงแล้วยังก่อให้เกิดความเสียหายแกรัฐและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้นี่ส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่มีความร้ายแรง เช่น คดีฆาตกรรม คดีเกี่ยวกับรัฐ หรือเกี่ยวกับเจ้าพนักงาน เป็นต้น ความผิดในประมวลกฎหมายอาญาส่วนใหญ่จะเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ หากความผิดใดไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ทั้งหมด

การแบ่งประเภทของความโดยคำนึงถึงผู้เสียหายมีประโยชน์ในการดำเนินคดีอาญา เนื่องจากคดีความผิดอันยอมความได้นั้นเงื่อนไขในการดำเนินคดีผู้เสียหายจะต้องชั่งน้ำหนักว่าประสงค์จะดำเนินคดีหรือไม่ หากประสงค์จะดำเนินคดีก็ต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในกำหนดสามเดือนนับแต่รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หากไม่ร้องทุกข์ภายในกำหนดดังกล่าวก็ถือว่าคดีนั้นขาดอายุความ หากมีการร้องทุกข์ของผู้เสียหายรัฐก็ไม่สามารถดำเนินคดีแทนให้ได้ ซึ่งแตกต่างจากความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ ซึ่งไม่จำต้องรอให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ก่อนจึงจะดำเนินคดีอาญาได้ เนื่องจากเป็นความผิดที่กระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยของสังคมโดยรวม และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินคดีโดยไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายเห็นชอบ[1]

1.2 การแบ่งโดยเกณฑ์คำนึงถึงลักษณะของความผิด

1) ความผิดในตัวเอง (mala in se) เป็นความผิดที่คนทั่วไปในสังคมรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แม้ประชาชนนั้นไม่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าอย่างไร เพราะความผิดในตัวเองเป็นความผิดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่คนในสังคมต่างก็รู้สึกได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ผิด เป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ซึ่งต่อมาก็พัฒนามาเป็นกฎหมายเพื่อให้มีสภาพบังคับต่อคนที่ละเมิดให้ต้องรับโทษ

ซึ่งความผิดในตัวเอง (mala in se) นั้นประชาชนทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าการกระทำเช่นไรเป็นความผิด ไม่จำเป็นจะต้องเรียนหรือรู้กฎหมาย เพราะเป็นเรื่องเดียวกับหลักศีลธรรม[2] เช่น การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปนั้นประชาชนโดยทั่วไปย่อมรู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แม้ไม่รู้ว่ามีโทษเท่าไหร่ แต่ก็ทราบว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิด ดังนั้นความผิดในตัวเองนี้ ผู้ที่กระทำความผิดจะอ้างไม่ได้เลยว่าไม่รู้กฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนโดยทั่วไปย่อทราบได้อย่างดีอยู่แล้ว

2) ความผิดเพราะกฎหมายห้าม (mala prohibita) เป็นความผิดที่เกิดจากการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด โดยอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับศีลธรรมเลย คนทั่วๆ ไปในสังคมจะไม่รู้สึกว่าคนที่กระทำความผิดฐานนี้เป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนชั่ว เพราะไม่อาจตัดสินได้จากความรู้สึก เช่น ความผิดฐานขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดตามกฎหมายจราจร เป็นการกระทำความผิดเพราะกฎหมายห้ามไม่ให้ขับรถเร็ว การขับรถเร็วหรือช้าไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรม ไม่ได้เป็นความผิดในตัวมันเอง แต่เพราะกฎหมายไปกำหนดให้การขับรถเร็วเกินกว่าอัตราความเร็วเท่าใดเป็นความผิด

1.3 การแบ่งโดยการเคลื่อนไหวร่างกาย[3]

การแบ่งความผิดอาญาโดยอาศัยการกระทำของผู้กระทำความผิดว่ามีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่งนั้น เป็นการแบ่งเพื่อประโยชน์ในการศึกษากฎหมายอาญามากกว่าประโยนช์ในด้านอื่น เพราะการกระทำความผิดไม่ว่าจะเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่ ก็มีความผิดและรับโทษเช่นเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างกัน

1) ความผิดที่กระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกาย

การกระทำในทางอาญา หมายถึง การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกในการกระทำ หรือภายใต้การบังคับของจิตใจ (willed movment) หมายถึงการควบคุมตัวเองได้นั่นเอง[4] หากการเคลื่อนไหวร่างกายใดจิตใจไม่ได้บังคับให้กระทำ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำทางอาญา เช่น การละเมอ การชักกระตุกด้วยโรค

การเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้บังคับของจิตใจ หรือกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำนั้นจะต้องพิจารณาว่า การเคลื่อนไหวร่างกายนั้นผู้กระทำได้ คิด ตัดสินใจ และกระทำตามที่ได้ตัดสินใจไว้หรือไม่ หากผ่าน 3 ขั้นตอนที่ว่ามานี้ถือว่ามีการกระทำทางอาญา ซึ่งเป็นการกระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การใช้ปืนยิงผู้อื่น ผู้กระทำย่อมคิด ตัดสินใจ และได้เคลื่อนไหวร่างกายตามที่ได้ตัดสินใจไว้แต่ต้น ดังนั้นจึงเป็นการกระทำความผิดโดยการเคลื่อนไหวร่างกาย

2) ความผิดที่กระทำโดยการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย

ส่วนการกระทำความผิดโดยการไม่เคลื่อนไหวร่างกายก็เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย คือต้องผ่าน 3 ขั้นตอนเช่นเดียวกัน คือต้องมีการคิด ตัดสินใจ แต่ขั้นตอนสุดท้าย คือไม่เคลื่อนไหวร่างกายตามที่ได้ตัดสินใจเอาไว้ เช่น เห็นลูกซึ่งยังเล็กอยู่กำลังคลานไปยังบันได แต่ก็ไม่เข้าไปช่วยเหลือ ปล่อยให้ตกบันไดถึงแก่ความตาย จะเห็นได้ว่าผู้กระทำนั้นคิดว่าจะไม่เข้าไปช่วย และได้ตัดสินใจว่าจะไม่เข้าไปช่วย และสุดท้ายก็ไม่เข้าไปช่วย เลือกที่จะไม่เคลื่อนไหวร่างกายปล่อยให้ลูกคลานตกบันได เช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกาย

การไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้นหาใช่จะเป็นความผิดอาญาเสมอ ต้องปรากฎว่าผู้นั้นมีหน้าที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย แต่งดเว้นเสียไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งหน้าที่ต้องกระทำนั้นต้องเป็นหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้ผลเกิดด้วย เช่น บิดามารดาย่อมมีหน้าที่ในการป้องกันความตายของบุตร ดังนั้นเมื่อเห็นบุตรตกอยู่ในภยันตรายจะปล่อยให้บุตรตายไม่ได้ อย่างเช่นตัวอย่างที่ได้ยกไว้ข้างต้น แม่มีหน้าที่แต่งดเว้นเสียไม่ยอมกระทำ ถือว่ามีการกระทำความผิดโดยการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย

2.2. ประมวลกฎหมายอาญา (Criminal Code)

2.2.1 ประวัติความเป็นมาของประมวลกฎหมายอาญา

ประมวลกฎหมายอาญา (Criminal Code) เป็นการนำกฎหมายอาญามาจัดเรียงกันอย่างเป็นหมวดหมู่ ซึ่งประเทศไทยนั้นหลังจากมีการปฏิรูปกฎหมายจากระบบจารีตนครบาลมาใช้ระบบกฎหมายแบบตะวันตก ซึ่งประเทศไทยก็ได้เลือกระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษรมาใช้และได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกจนสำเร็จ คือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับ พ.ศ. 2499 ซึ่งประมวลกฎหมายฉบับนี้ก็ยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

2.2.2 โครงสร้างของประมวลกฎหมายอาญา

ในประมวลกฎหมายอาญานั้นแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ

ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป เป็นเรื่องเกี่ยวกับ บทนิยาม การใช้ กฎหมายอาญา โทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย ความรับผิดในทางอาญา การพยายามกระทำความผิด ตัวการ และผู้สนับสนุน การกระทำความผิดหลายบทหรือหลายกระทง การกระทำความผิดอีก อายุความ

ภาค 2 ความผิด เป็นเรื่องเกี่ยวกับความผิดฐานต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นความผิดลักษณะดังนี้ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายความผิดเกี่ยวกับการปกครอง ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ความผิดเกี่ยวกับศาสนา ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิด ภยันตรายต่อประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ความผิดเกี่ยวกับการค้า ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

ภาค 3 ลหุโทษ เป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรงและมีโทษที่ค่อนข้างเบา[5] คือความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[6]

ในการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่จะแบ่งเนื้อหากฎหมายอาญาออกเป็น 2 ภาค คือกฎหมายอาญาภาคทั่วไป และกฎหมายอาญาภาคความผิด ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาภาคละ 1 เทอมการศึกษา ซึ่งการศึกษากฎหมายอาญาภาคทั่วไปนั้นถือเป็นความรู้พื้นฐานที่ผู้ศึกษากฎหมายอาญานำไปใช้ในการเรียนกฎหมายอาญาภาคความผิด หรือกฎหมายอาญาอื่นที่ไม่ได้อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา



รัฐทุกรัฐย่อมมีอำนาจในการบัญญัติกฎหมายให้การกระทำใดหรือไม่กระทำการใดเป็นความผิดอาญา แต่กฎหมายอาญาของรัฐจะสามารถใช้บังคับได้ในรัฐเท่านั้น ไม่อาจจะนำกฎหมายอาญาที่รัฐบัญญัติขึ้นไปบังคับใช้เหนือรัฐอื่นได้ แต่หากความผิดอาญาฐานนั้นมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย ประเทศไทยก็ย่อมมีอำนาจที่จะใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับเหนือคดีนั้นได้


4.1 แนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา

มีปัญหาให้พิจารณาว่าหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น กฎหมายอาญาของไทยจะมีอำนาจเหนือคดีนั้นแค่ไหน รัฐมีอำนาจบัญญัติให้การกระทำใดหรือไม่กระทำการใดเป็นความผิด แต่กฎหมายของรัฐจะสามารถใช้บังคับได้เพียงใดและทุกกรณีหรือไม่ ซึ่งกฎหมายอาญาที่รัฐบัญญัติขึ้นมาโดยหลักแล้วย่อมใช้บังคับได้ในรัฐเท่านั้น ไม่อาจจะนำไปบังคับใช้เหนือรัฐอื่นได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักอธิปไตยของแต่ละรัฐ ความผิดอาญานั้นหากได้กระทำในประเทศไทยก็ย่อมสามารถใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับได้ แต่ในบางกรณีความผิดอาญานั้นได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็มีปัญหาว่าจะใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับได้หรือไม่ ซึ่งกฎหมายที่กำหนดว่าประเทศไทยจะมีอำนาจเหนือคดีอาญานั้นหรือไม่ คือ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา[1]

กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นกฎหมายภายใน เพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยการใช้กฎหมายอาญาของรัฐ การจะบัญญัติกฎหมายอาญาเพื่อละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น ไม่สามารถทำได้ ซึ่งการบัญญัติกฎหมายอาญาของรัฐต้องคำนึงถึงจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งจุดเกาะเกี่ยวอันจะทำให้รัฐมีอำนาจเหนือคดีอาญานั้นได้มีดังต่อไปนี้

4.2 จุดเกาะเกี่ยวที่ทำให้ประเทศไทยมีอำนาจเหนือคดีอาญา

1) หลักดินแดน (Territorial principle)

หลักดินแดนนี้มีมาจากรัฐแต่ละรัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยและใช้กฎหมายเหนือดินแดนของรัฐนั้น[2] ซึ่งพิจารณาจากสถานที่ความผิดได้เกิดขึ้น โดยถือเอาเอาอาณาเขตของรัฐเป็นจุดเกาะเกี่ยว[3] หากเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยแล้วย่อมลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาไทยได้ ซึ่งราชอาณาจักรไทย หมายถึง พื้นดิน พื้นน้ำ รวมถึงอากาศเหนือพื้นดินพื้นน้ำนั้นด้วย หลักดินแดนนี้ยังขยายอำนาจของศาลไทยออกไปอีก ความผิดทั้งหมดไม่ต้องเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักรไทย หรือสถานที่ผลของการกระทำความผิดได้เกิดขึ้น กฎหมายอาญาไทยก็มีอำนาจเหนือคดีนั้น ตาม "ทฤษฎีรวมสถานที่เกิดเหตุ"

ความผิดที่กระทำในราชอาณาจักร มาตรา 4 “ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย”

ราชอาณาจักร หมายถึงดินแดนของประเทศไทย ซึ่งดินแดนของประเทศไทยพิจารณาตามหลักดินแดนดังนี้

1. พื้นดิน พื้นน้ำ ลำคลอง ที่อยู่ภายในเส้นเขตแดนของไทย รวมถึงเกาะด้วย

2. ทะเลอาณาเขต หมายถึง ท้องทะเลที่ติดกับเส้นเขตแดนของรัฐ วัดห่างออกไปจากฝั่ง 12 ไมล์ทะเล

3. พื้นอากาศ (Air Space) ที่อยู่เหนือข้อที่ 1 และ 2 ก็ถือว่าเป็นดินแดนของประเทศไทยด้วย

ซึ่งความผิดที่กระทำในราชอาณาจักรตามมาตรา 4 วรรคแรก หมายถึงการกระทำความผิดทั้งหมดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร[4] แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผลของการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร เช่น แดงยิงดำในประเทศไทย แต่ไม่ตาย ไปรักษาตัวอยู่ที่ประเทศมาเลเซียแล้วตายที่มาเลเซีย กรณีเช่นนี้ย่อมใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับได้ เพราะเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรทั้งหมด เพียงแต่ผลไปเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรเท่านั้น หรือกรณีที่แดงยืนอยู่ฝั่งไทย ยกปืนเล็งจะยิงดำซึ่งยื่นอยู่ฝั่งพม่า แต่ถูกตำรวจจับเสียก่อนไม่ทันได้ยิง ดังนี้แดงก็มีควาผิดฐานพยายามฆ่าและต้องรับโทษในราชอาณาจักรแล้ว เพราะการกระทำความผิดทั้งหมดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร[5]

แต่หากปรากฏว่านายหม่องคนพม่าวางยาพิษนายแมะคนพม่าเช่นเดียวกัน ที่สถานีขนส่งในประเทศพม่า นายแมะเมื่อกินยาพิษเข้าไปและเข้ามาเสียชีวิตในประเทศไทย กรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีความผิดได้กระทำวามผิดในราชอาณาจักร เพราะมีแต่ผลเท่านั้นที่เกิดขึ้นใยประเทศไทย

การกระทำความผิดในราชอาณาจักรตาม ม.4 วรรค 1 ไม่คำนึงถึงสัญชาติของผู้เสียหาย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็ตาม แม้การกระทำความผิดบนเรือหรืออากาศยานของต่างประเทศ หากเข้าแล่นผ่านน่านน้ำไทยหรือบินผ่าน หรือจอดในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร ตามมตรา 4 วรรคแรก เช่น นายหม่องคนพม่าลักทรัพย์นางซิงค์คนอินเดีย บนสายการบินบริทิตแอร์ไลน์ขณะจอดเติมน้ำมันที่สุวรรณภูมิ

สถานทูตไทย ที่อยู่ในต่างประเทศเป็นไม่ถือว่าเป็นดินแดนอันเป็นราชอาณาจักรไทย เพียงแต่ได้รับความคุ้มกันทางกาทูตจากเจ้าของประเทศเท่านั้น เช่น นายจอห์นคนอังกฤษลักทรัพย์นายเจมส์คนอังกฤษเช่นกันในสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ดังนี้ไม่ใช่กรณีของการกระทำความผิดในราชอาณาจักร

สถานทูตของต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ถือว่าเป็นราชอาณาจักรของประเทศนั้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่กระทำความผิดในสถานทูตต่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ต้องใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับ เช่น นายจอห์น คนอังกฤษลักทรัพย์นายเจมส์คนอังกฤษเช่นกันในสถานทูตอังกฤษที่ประจำประเทศไทย

ถ้าการกระทำความผิดได้กระทำในรัฐหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดขึ่นในอีกรัฐหนึ่ง ต้องใช้กฎหมายอาญาของรัฐใดบังคับ

พิจารณาตัวอย่าง แดงยืนอยู่ฝั่งไทย ยกปืนเล็งยิงดำซึ่งยื่นอยู่ฝั่งพม่า ดำถูกยิงตายในฝั่งพม่า ดังนี้จะใช้กฎหมายอาญาของรัฐใดบังคับกับคดีที่เกิดขึ้น ระหว่างรัฐที่เป็นสถานที่กระทำความผิด หรือรัฐที่เป็นสถานที่ผลของการกระทำผิดเกิด หรือทั้งรัฐที่สถานที่กระทำความผิดและรัฐที่เป็นสถานที่ผลของการกระทำผิดเกิด

จากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นที่มาของ “ทฤษฎีรวมสถานที่เกิดเหตุ” ซึ่งมาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้ กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร โดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร” จะเห็นได้ว่าตามมาตรา 6 นั้นได้ขยายหลักดินแดนของไทยออกไปให้มีอำนาจเหนือคดีอาญาที่เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำความผิดทั้งหมดในราชอาณาจักรไทย เพียงแต่มีส่วนหนึ่งส่วนใดหรือผลของการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยก็สามารถใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับเหนือคีดที่เกิดขึ้นได้[6] กรณีตามมาตรา 6 นั้นการกระทำความผิดคาบเกี่ยวกับราชอาณาจักรไทย โดยแยกพิจาณาดังต่อไปนี้

1) การกระทำความผิดบางส่วนนอกราชอาณาจักรและบางส่วนในราชอาณาจักร ม.5 วรรคแรก เช่น แดงคนลาวยืนอยู่ฝั่งลาวใช้ปืนยิงมาที่ดำคนฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ฝั่งไทย กระสุนถูกดำตาย กรณีเช่นนี้กระทำในฝั่งลาวและเมื่อกระสุนปืนถูกดำตายในฝั่งไทย ถือว่าการกระทำคือการยิงอยู่นอกราชอาณาจักรและบางส่วนได้กระทำในราชอาณาจักร เป็นกรณีตามมาตรา 5

2) ผลแห่งการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักร

มาตรา 5 วรรคแรก ความผิดใดที่...ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร โดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร

ผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักร

หม่องคนพม่าต้องการฆ่าเหงียนคนเวียดนาม โดยประสงค์ให้เหงียนมาตายในประเทศไทย ขณะที่พบเหงียนไปซื้อของที่ท่าขี้เหล็กฝั่งพม่าและจะเข้ามาในไทย นายหม่องจังเอายาพิษให้นายเหงียนกิน ซึ่งหม่องรู้ดีว่ายาจะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชม. เมื่อนายเหงียนคนพม่าเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วก็ตาย

หากเหงียนเข้ามาในไทย แต่ยาพิษไม่ออกฤทธิ์

หม่องคนพม่าต้องการฆ่าเหงียนคนเวียดนาม โดยประสงค์ให้เหงียนมาตายบนเครื่องบินไทย ขณะที่พบเหงียนที่ย่างกุ้ง นายหม่องเอายาพิษให้นายเหงียนกิน ซึ่งหม่องรู้ดีว่ายาจะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชม. เมื่อนายเหงียนคนพม่าอยู่บนเครื่องบินเพื่อไปกรุงเทพ นายเหงียนตายขณะเครื่องบินจอดอยู่บนเครื่องบินไทย ขณะบินอยู่ในน่านฟ้าของพม่า

3) ผลของการกระทำจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่การตระเตรียม หรือพยายามกระทำการนั้นเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ม.5 วรรคสอง

มาตรา 5 วรรคสอง “ในกรณีการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำการใด ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร”

ในกรณีการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำการใด...ได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร[7] (ผลยังไม่เกิด) เช่น อารีย์คนมาเลเซียต้องการเผาบ้านของนายดำคนไทยและบ้านนั้นอยู่ในประเทศไทย ขณะที่อารีย์อยู่มาเลเซีย ได้ตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ของนายดำ การกระทำของนายอารีย์เป็นความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 219 “ฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น”

หม่องคนพม่าต้องการฆ่านายแดงที่ยืนอยู่ฝั่งไทย จึงเอาปืนเล็งกำลังจะยิงนายแดง แต่ถูกตำรวจพม่าจับเสียก่อน ดังนี้ลงโทษนายหม่องได้ ตาม ม.5 วรรคสอง

กรณีตาม ม.5 วรรคแรกและวรรคสอง สรุปได้ดังนี้

หากมีการกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งในราชอาณาจักรแล้ว กรณีปรับได้กับมาตรา 5 วรรคแรกส่วนแรก โดยไม่ต้องคำนึงเลยว่าผลแห่งการกระทำจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือไม่

หากไม่มีการกระทำส่วนหนี่งส่วนใดเลย เพียงแต่ผลเท่านั้นที่เกิดในราชอาณาจักร หากเป็นผลที่ผู้กระทำประสงค์ให้เกิด หรือควรเกิด หรือเล็งเห็นได้ว่าจะเกิด ก็ให้ใช้มาตรา 5 วรรคแรกส่วนที่สอง

หากไม่มีการกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งในราชอาณาจักรเลย และผลไม่ได้เกิดในราชอาณาจักร แต่ผลจะเกิดในราชอาณาจักร หากการกระทำนั้นได้กระทำไปตลอดจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ เช่นนี้เป็นกรณีของ ม.5 วรรคสอง

ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร แต่ความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร หรือกระทำนอกราชอาณาจักรแต่ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร ตามม.6

กรณีตาม มาตรา 6 ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร หรือที่ประมวล กฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็น ตัวการด้วยกันของผู้สนับสนุนหรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะ ได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุนหรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร

ตัวการด้วยกัน ผู้สนับสนุนหรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุนหรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร เช่น ซาโตะคนญี่ปุ่นอยู่ในประเทศมาเลเซีย จ้างนายลีคนเกาหลีให้มาฆ่านายซิงค์คนอินเดียที่อยู่ในประเทศไทยจนนายซิงค์ตาย

ซาโตะคนญี่ปุ่นอยู่ในประเทศมาเลเซีย จ้างนายลีคนเกาหลีให้มาฆ่านายซิงค์คนอินเดียที่อยู่ในประเทศไทย แต่นายลีเมื่อเห็นนายซิงค์แล้วเกิดสงสารจึงไม่ฆ่านายซิงค์ จะลงโทษนายซาโตะได้หรือไม่

2) หลักธงชาติ (Flag Principle)

หลักการนี้ก็เป็นหลักที่ขยายหลักดินแดนที่แต่เดิมนั้นพิจารณาว่าการกระทำความผิดได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ซึ่งหลักธงชาตินั้นพิจารณาจากธงที่เรือชักหรือสัญชาติของอากาศยานที่จดทะเบียน[8] ซึ่งมาจากหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) ที่แต่ละรัฐต้องการคุ้มครองเรือหรืออากาศยานที่มีสัญชาติของตนเอง ไม่ว่าเรือหรืออากาศยานนั้นจะไปจอดอยู่ที่ใดก็ตาม ก็ถือว่าความผิดที่เกิดขึ้นในเรือหรืออากาศยานนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา 4 วรรคสอง “การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร”

การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ตาม ม.4 วรรคสองนั้นจะนำมาพิจารณาก็ต่อเมื่อไม่ใช่ความผิดที่กระทำในราชอาณาจักรตามมาตรา 4 วรรคแรก เช่น นายซาโตะคนญี่ปุ่นลักทรัพย์นายลีคนเกาหลี บนเครื่องบินสายการบินไทย ขณะบินอยู่เหนือจังหวัดเชียงใหม่ กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจ้กร มาตรา 4 วรรคแรก แต่หากนายซาโตะคนญี่ปุ่นลักทรัพย์นายลีคนเกาหลี บนเครื่องบินสายการบินไทย ขณะบินอยู่เหนือประเทศลาว กรณีเช่นนี้ไม่ใช่การกระทำความผิดในราชอาณาจักร เพราะไม่ได้ทำบนดินแดนของไทย แต่เมื่อได้กระทำควาผิดในอากาศยานไทยก็ลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาของไทยได้ ตามมาตรา 4 วรรค 2

การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ตาม ม.4 วรรคสอง นั้นต้องปรากฏว่าการกระทำความผิดทั้งหมดได้กระทำในเรือไทยหรืออากาศยาน เช่น นายซาโตะคนญี่ปุ่นต้องการฆ่านายลีคนเกาหลี ขณะกำลังรอจะขึ้นเครื่องบินอยู่สนามบินกรุงโตเกียว นายซาโตะจึงเอายาพิษใส่ในขนมให้นายลีกิน โดยทราบดีว่ายาพิษจะออกฤทธ์เมื่อนายลีขึ้นไปบนเครื่องบินไทย เมื่อเครื่องบินออกจากสนามบินโตเกียวได้ไม่นาน นายลีก็ถึงแก่ความตาย กรณีเช่นเมื่อความผิดไม่ได้กระทำในอากาศยานไทย ก็ไม่สามารถใช้กฎหมายอาญาของไทยมาบังคับได้

3) หลักบุคคล (Nationality Principle)

พิจารณาจากสัญชาติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับความผิด ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติของผู้กระทำความผิด หรือของผู้เสียหายว่ามีสัญชาติไทยหรือไม่ โดยถือเอาสัญชาติเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่ทำให้กฎหมายอาญาไทยมีอำนาจเหนือคดีที่ได้เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรนั้นได้[9] แต่ทั้งนี้หลักบุคคลนี้จำเป็นต้องมีการร้องขอให้มีการลงโทษการกระทำความผิดนั้น และยังจำกัดประเภทของคดีที่สามารถร้องขอให้ลงโทษอีกด้วย

มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรและ

(ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิด ได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ

(ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ

(1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตามที่ บัญญัติไว้ใน มาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 221 ถึง มาตรา 223 ทั้งนี้เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับ มาตรา 220 วรรคแรก และ มาตรา 224 มาตรา 226 มาตรา 228 ถึง มาตรา 232 มาตรา 237 และ มาตรา 233 ถึง มาตรา 236 ทั้งนี้เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตาม มาตรา 238

(2) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 (1) และ (2) มาตรา 268 ทั้งนี้เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับ มาตรา 267 และ มาตรา 269

(2/1) ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 269/1 ถึง มาตรา 269/7

(2/2) ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 269/8 ถึง มาตรา 269/15

(3) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 276 มาตรา 280 และ มาตรา 285 ทั้งนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับ มาตรา 276

(4) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 288 ถึง มาตรา 290

(5) ความผิดต่อร่างกายตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 295 ถึง มาตรา 298

(6) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 306 ถึง มาตรา 308

(7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 309 มาตรา 310 มาตรา 312 ถึง มาตรา 315 และ มาตรา 317 ถึง มาตรา 320

(8) ความผิดฐานลักทรัพย์ และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ถึง มาตรา 336

(9) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 337 ถึง มาตรา 340

(10) ความผิดฐานฉ้อโกง ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 341 ถึง มาตรา 344 มาตรา 346 และ มาตรา 347

(11) ความผิดฐานยักยอก ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 352 ถึง มาตรา 354

(12) ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 357

(13) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 358 ถึง มาตรา 360

กรณีตาม (ก) ผู้กระทำผิดเป็นคนไทย ส่วนผู้เสียหายอาจเป็นคนไทยด้วยกันหรือเป็นรัฐบาลไทย หรือเป็นคนต่างด้าวก็ได้

กรณีตาม (ข) เนื่องจากผู้กระทำผิดเป็นคนต่างด้าว ผู้เสียหายต้องเป็นคนไทยหรือรัฐบาลไทยเท่านั้น หากผู้เสียหายเป็นต่างด้าวด้วยกันก็ไม่อาจลงโทษในราชอาณาจักรได้

หลักสัญชาติตามมาตรา 8 นี้ ต้องมีการร้องขอให้ลงโทษเสมอแม้ความผิดนั้นเป็นความผิดอาญาแผ่นดินก็ตาม เช่น นายอารีย์คนมาเลเซียทำร้ายร่างกายนายแดงคนไทยในประเทศมาเลเซีย หากนายอารีย์และนายแดงเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะลงโทษนายอารีย์โดยกฎหมายอาญาได้หรือไม่

นายอารีย์หมิ่นประมาทนายแดงคนไทยในประเทศมาเลเซีย หากนายอารีย์และนายแดงเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะลงโทษนายอารีย์โดยกฎหมายอาญาได้หรือไม่

กรณีตาม มาตรา 9 เจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทำความผิดตามที่บัญญัติ ไว้ใน มาตรา 147 ถึง มาตรา 166 และ มาตรา 200 ถึง มาตรา 205 นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร

เจ้าพนักงานของรัฐบาลไทย ต้องเป็นผู้ที่ได้แต่งตั้งจากทางราชการไทยให้มีหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติไทยก็ได้ แต่ความผิดที่กระทำต้องเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตาม มาตรา 147 ถึง มาตรา 166 และ มาตรา 200 ถึง มาตรา 205 ด้วย

4) หลักคุ้มครองตน (Protective principle)

พิจารณาจากลักษณะของความผิด ความผิดบางประเภทเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศหรือต่อรัฐ เช่น การกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และความผิดความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลงเงินตรา ซึ่งเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การกระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญ[10] ซึ่งความผิดเหล่านี้สมควรที่แต่ละประเทศจะมีอำนาจเหนือคดีนั้นแม้ความผิดดังกล่าวจะได้กระทำนอกราชอาณาจักรก็ตาม

หลักคุ้มครองรัฐ มาตรา 7 ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ

(1) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่ บัญญัติไว้ใน มาตรา 107 ถึง มาตรา 129

5) หลักอำนาจลงโทษสากล (Universality principle)

พิจารณาจากลักษณะความผิดที่เป็นภัยต่อนานาประเทศ สมควรจะต้องช่วยกันปราบปราม เพราะเกี่ยวข้องถึงผลประโยชน์ร่วมกันของรัฐได้ทุกรัฐ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ความผิดดังกล่าวเกิดขึ้น[11] แม้ความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรก็ตามหรือเกิดในสถานที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เช่น ทะเลหลวง เช่น ความผิดฐานก่อการร้าย ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 339 และ ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 340 ซึ่งได้กระทำ ในทะเลหลวง (โจรสลัด)

หลักอำนาจลงโทษสากล (Universality principle) มาตรา 7 ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ

(1/1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย มาตรา 135/1 มาตรา 135/2 มาตรา 135/3 และ มาตรา 135/4

(2) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 240 ถึง มาตรา 249 มาตรา 254 มาตรา 256 มาตรา 257 และ มาตรา 266 (3) และ (4)

(2ทวิ) ความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 282 และ มาตรา 283

(3) ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 339 และ ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 340 ซึ่งได้กระทำ ในทะเลหลวง

ต้องเป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และไม่เกิดในเรือหรืออากาศยานไทยและจะต้องไม่ใช่กรณีตาม ม.5 และม.6 โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของผู้กระทำผิด

4.3 การคำนึงถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

หลักการคำนึงถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ หรือหลักกระบวนยุติธรรมแทน[12] เป็นหลักการที่พัฒนามาจากหลักต่างตอบแทนในกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ประเทศที่มีความสัมพันธ์กันอาจมีการร้องขอให้อีกประเทศลงโทษการกระทำความผิดแทนตนได้ หรือในกรณีที่ศาลต่างประเทศได้ลงโทษแทนไปแล้วจะลงโทษผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษมาแล้วไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งจุดเกาะเกี่ยวที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นจุดเกาะเกี่ยวที่ทำให้กฎหมายอาญาและศาลไทยมีอำนาจเหนือคดีนั้น หากความผิดใดไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย กฎหมายอาญาไทยและศาลไทยย่อมไม่อาจมีอำนาจเหนือคดีดังกล่าวได้

มาตรา 10 ผู้ใดกระทำการนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา ต่าง ๆ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 7 (2) และ (3) มาตรา 8 และ มาตรา 9 ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักร เพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า

(1) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้นหรือ

(2) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้น ตามคำพิพากษา ของศาลในต่างประเทศมาแล้ว แต่ยังไม่พ้นโทษ ศาลจะลงโทษน้อยกว่า ที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ลงโทษ เลยก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว

หลักกระบวนยุติธรรมแทน หรือหลักการคำนึงคำพิพากาษาของศาลต่างประเทศ ม.10 มีขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีการลงโทษซ้ำซ้อน *ตามหลัก Double jeopardy กรณีตาม ม.10 ไม่ได้รวม ม.7 (1) (1/1) และ (2ทวิ) เป็นความผิดนอกราชอาณาจักรไม่ใช่กรณี ตาม ม.4 5 6

นายอารีย์คนมาเลเซียทำร้ายร่างกายนายแดงคนไทย ในประเทศมาเลเซีย และถูกศาลประเทศมาเลเซียลงโทษฐานทำร้ายร่างกายและได้รับโทษจนครบถ้วนแล้ว เมื่อนายอารีย์เดินทางเข้ามาในประเทศ หากนายแดงคนไทยร้องขอให้ศาลไทยจะลงโทษ จะลงโทษนายอารีย์ได้อีกหรือไม่ต้องพิจารณาตาม ม.10

กรณีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ม.10 แยกพิจารณาได้ 3 กรณี คือ กรณีที่ศาลไทยจะลงโทษอีกไม่ได้ กรณีที่ศาลไทยมีดุลพินิจในการลงโทษ และกรณีที่ศาลไทยต้องลงโทษโดยไม่มีดุลพินิจ

1) กรณีที่ศาลไทยจะลงโทษอีกไม่ได้ ความผิดที่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร เป็นความผิดตาม มาตรา 7 (2) และ (3) มาตรา 8 และ มาตรา 9 และศาลในต่างประเทศมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว เป็นไปตามหลัก “บุคคลจะไม่ถูกพิจารณาคดีซ้ำสองในความผิดเดียว” หรือ Non bis in idem (Not twice for the same)

2) กรณีที่ศาลไทยมี*ดุลพินิจในการลงโทษ ความผิดที่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร เป็นความผิดตาม มาตรา 7 (2) และ (3) มาตรา 8 และ มาตรา 9 และศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ ผู้นั้นได้รับโทษมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่พ้นโทษ

3) กรณีที่ศาลไทยต้องลงโทษโดยไม่มีดุลพินิจ ความผิดที่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร เป็นความผิดตาม ม.7 (1) (1/1) และ (2ทวิ) ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะได้รับโทษมาแล้วจนครบถ้วนตามคำพิพากษาต่างประเทศหรือไม่ *เป็นข้อยกเว้นหลัก Non bis in idem ความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักรเป็นความผิดตาม มาตรา 7 (2) และ (3) มาตรา 8 และ มาตรา 9 และศาลในต่างประเทศมีคำพิพากษาซึ่งยังไม่ถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น หรือความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักรเป็นความผิดตาม มาตรา 7 (2) และ (3) มาตรา 8 และ มาตรา 9 และศาลในต่างประเทศมีคำพิพากษาให้ลงโทษ แต่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษ

มาตรา 11 ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร หรือกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ถ้าผู้นั้นได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้วทั้งหมด หรือแต่บางส่วน ศาลจะลงโทษน้อยกว่า ที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร หรือกระทำความผิด ที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ได้ถูกฟ้องต่อศาลในต่างประเทศโดยรัฐบาลไทยร้องขอ ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นใน ราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า

(1) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อย ตัวผู้นั้นหรือ

(2) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว

ตาม ม.11 แยกพิจารณาเป็น 3 กรณีเช่นเดียวกัน คือ 1. กรณีที่ศาลไทยจะลงโทษอีกไม่ได้ 2. กรณีที่ศาลไทยมีดุลพินิจในการลงโทษ และ 3. กรณีที่ศาลไทยต้องโทษโดยไม่มีดุลพินิจ

1) กรณีที่ศาลไทยจะลงโทษอีกไม่ได้ ผู้กระทำผิดถูกฟ้องต่อศาลในต่างประเทศโดยรัฐบาลไทยร้องขอ และศาลในต่างประเทศพิพากษาถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้กระทำผิด หรือศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษและผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว