ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

ตัวอย่างความผิดเกี่ยวกับทรัพย์.pdf


ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นการกระทำที่มุ่งต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง คือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น และการครอบครอง[1] ซึ่งหากทรัพย์นั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ หรือไม่ได้อยู่ในความครอบครองของผู้ใด แม้จะมีการเอาไปก็ไม่อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ ซึ่งความที่มีพื้นฐานมาจากควาผิดฐานลักทรัพย์นั้นเป็นความผิดที่ต้องเข้าองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์มาเสียก่อนจึงจะเป็นความผิดฐานนั้นได้ ซึ่งความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ เป็นความผิดที่มีพื้นฐานมาจากความผิดฐานลักทรัพย์[2] โดยเพิ่มองค์ประกอบความผิดขึ้น และมีผลทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นตามความผิดนั้น ๆ พิจารณาความแตกต่างของความผิดที่มีพื้นฐานมาจากความผิดฐานลักทรัพย์ได้ดังต่อไปนี้


1) เอาไป หมายความว่า มีการเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองของผู้อื่น เมื่อมีการเอาไปแล้วจะระยะทางเพียงเท่าใดก็ถือว่าการเอาไปสำเร็จแล้ว โดยศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่า “จำเลยเข้าไปในห้องรับแขกเพื่อลักทรัพย์ตัดสายโทรทัศน์ออกแล้วยกเอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเคลื่อนจากที่ตั้งเดิมมาที่กลางห้อง เผอิญผู้เสียหายมาพบเข้าจำเลยจึงวางไว้ที่พื้นห้องก็ถือได้ว่าเอาทรัพย์ไปแล้ว เป็นความผิดลักทรัพย์สำเร็จไม่ใช่พยายามลักทรัพย์”[3] จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ไม่ว่าระยะทางจะไกลเท่าไหร่ ก็ถือว่าเป็นการเอาไปแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ

การเอาไปนั้นจะต้องเป็นเป็นการทำร้ายกรรมสิทธิ์และการครอบครอง หมายความว่า การเอาไปนั้นจะต้องเป็นการเอาที่มีลักษณะตัดกรรมสิทธิ์และการครอบครองของผู้อื่น หรือเข้าครอบครองทรัพย์นั้นโดยการแย่งครอบครอง โดยผู้ครอบครองเดิมไม่อนุญาต[4] แต่หากเป็นการเอาไปเพียงชั่วคราว เอาไปใช้ หรือถือวิสาสะ ย่อมไม่ใช่เป็นการเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยแอบเอารถของผู้เสียหายออกมาเพื่อจะขับไปกินข้าวต้มแล้วจะเอากลับมาคืน แสดงว่าไม่มีเจตนาจะเอารถนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นการกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์”[5]

ความผิดฐานลักทรัพย์ ทรัพย์นั้นจะต้องอยู่ในการครอบครองของผู้อื่นในขณะที่มีการเอาไป ซึ่งหมายความว่าผู้อื่นนั้นได้ครอบครองทรัพย์ตามความเป็นจริงและมีเจตจำนงในการครอบครองทรัพย์นั้นด้วย ซึ่งผู้นั้นใช้อำนาจปกครองทรัพย์อยู่ตามความเป็นจริงหมายความว่า ทรัพย์นั้นอยู่ในอำนาจของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่จะจัดการทรัพย์นั้นได้ การครอบครองไม่จำเป็นจะต้องมีการจับต้องตัวทรัพย์ไว้เสมอไป เพียงแต่หวงกันตามควรแก่พฤติการณ์และสภาพของทรัพย์ซึ่งคนทั่วไปยอมรับรู้ได้ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลเท่าไหร่ เช่น ของที่อยู่ในบริเวณบ้าน แม้เจ้าของไม่อยู่บ้าน ก็ยังถือว่าเจ้าของนั้นมีการปกครองอยู่ตามเป็นจริง สัตว์ที่เจ้าของปล่อยให้หากินในบริเวณทุ่ง โดยเจ้าของยืนดูอยู่ห่างๆ ก็ยังถือว่าเจ้าของนั้นใช้อำนาจปกครองอยู่ตามความเป็นจริง

2) ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายอาญาใช้คำว่า ทรัพย์ ซึ่งก็ไม่ได้มีการนิยามไว้ในประมวลกฎหมายอาญาว่า ทรัพย์ มีความหมายว่าอย่างไร ดังนั้นการตีความคำว่าทรัพย์จึงต้องอาศัยการตีความตามความหมายของประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์ ซึ่งมีบัญญัติไว้ใน มาตรา 137 “ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง” ดังนั้นทรัพย์ที่จะลักได้ต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถเอาไปได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ จะต้องเปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์ที่สามารถเอาไปได้ก่อน เช่น ปกติบ้านไม่สามารถเป็นทรัพย์ที่ถูกเอาไปได้ แต่หากมีการเปลี่ยนสภาพแล้ว เช่น ถอดเอาประตู หน้าต่างออกมา ย่อมเป็นทรัพย์ที่เอาไปได้

ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย หมายความว่า ทรัพย์นั้นจะต้องไม่ใช่ของผู้ลักทรัพย์เองทั้งหมด แม้เขาจะเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น แต่ความจริงทรัพย์นั้นเป็นของเขาเอง ก็ไม่อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ เพราะไม่มีทรัพย์ของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานลักทรัพย์ และหากทรัพย์ไม่มีเจ้าของหรือมีเจ้าของแต่เจ้าของสละกรรมสิทธิ์แล้ว ย่อมไม่อาจเป็นทรัพย์ของผู้อื่นที่ลักกันได้ ส่วนคำว่าทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยนั้น มีความหมายว่า ทรัพย์นั้นมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมากกว่าคนเดียว และหนึ่งในนั้นคือผู้กระทำผิด แต่ปัญหาที่จะเกิดทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยว่า หากขณะที่มีการเอาทรัพย์นั้นไปนั้น ใครเป็นผู้ครอบครอง

เจตนาธรรมดา เจตนาในความผิดฐานลักทรัพย์ในส่วนของเจตนาธรรมดาก็แยกพิจารณาออกเป็น เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่ตนเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย หากผู้กระทำไม่รู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นแต่เข้าใจว่าเป็นของตัวเอง กรณีเช่นนี้ก็จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปไม่ได้ เจตนาเอาไปนั้นผู้กระทำต้องมีอยู่ในขณะกระทำความผิดหากมีเจตนาเอาไปภายหลังจากได้เข้าครอบครองทรัพย์นั้นแล้วไม่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เช่น ไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคาร โดยถอดเสื้อนอกแขวนไว้ กลับมาถึงบ้าน พบว่ามีซองบุหรี่ของผู้อื่นอยู่ในเสื้อของตนเอง โดยที่ไม่ทราบมาก่อน แต่เกิดเจตนาทุจริตขึ้นในภายหลังก็ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

1) เพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คำว่า โดยทุจริต เป็นการแสวงหาประโยชน์ การแสวงหา คือการกระทำใด ๆ เพื่อให้ได้มาสำหรับตนหรือผู้อื่น และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มีลักษณะในทางบวก หากเป็นในทางลบเช่น การทำลายทรัพย์หรือการทำให้ทรัพย์หลุดมือจากผู้อื่นจึงไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์ คำว่าประโยชน์อาจจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ใช่ประโยชน์ในทางทรัพย์สินก็ได้[7] เพราะมาตรา 1(1) ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าประโยชน์ที่ไม่ควรได้นั้นหมายถึงเฉพาะประโยชน์ในทางทรัพย์สิน บทบัญญัติมาตราใดไม่ได้บัญญัติเฉพาะประโยชน์ในทางทรัพย์สิน ย่อมหมายความถึงประโยชน์โดยทั่วไป ทั้งที่เป็นทรัพย์สินและไม่เป็นทรัพย์สินหากการแสวงหาประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ใช่ประโยชน์ในทางทรัพย์สินก็ตาม ผู้นั้นแสวงหามาโดยชอบย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

1. ความผิดฐานลักทรัพย์การครอบครองทรัพย์อยู่ที่ผู้อื่น ผู้กระทำความผิดไปแย่งการครอบครองจากเขามา เช่น นายหนึ่งได้ลักเอารถมอเตอร์ไซด์ของนายสองที่จอดไว้หน้าบ้านไป จะเห็นว่าการครอบครองทรัพย์อยู่ที่ผู้อื่น แล้วผู้กระทำความผิดไปแย่งการครอบครองมาเป็นความผิดฐานลักทรัพย์[8] แต่หากการครอบครองทรัพย์อยู่ที่ผู้กระทำความผิดเอง แล้วต่อมาผู้กระทำความผิดเบียดบังเอาเป็นของตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เช่น นายหนึ่งได้เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซด์มาจากบริษัทแห่งหนึ่ง นายหนึ่งได้ครอบครองและใช้รถต่อมาแต่ไม่ยอมจ่ายค่างวดรถเบียดบังเป็นของตนเอง หรือนำไปขายต่อบุคคลอื่น เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2402/2529 ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายทำธนบัตรของกลางตกที่หน้าแผงลอยของนางสาวพ.ขณะที่ล้วงกระเป๋าหยิบเงินมาชำระค่าปลาหมึกให้แก่นางสาวพ.จำเลยที่1มาพบก้มลงหยิบธนบัตรดังกล่าวไปหลังจากที่จำเลยที่1เดินจากไปแล้วผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าธนบัตรของกลางหายไปสอบถามนางสาวพ.ได้ความว่าจำเลยที่1เก็บเอาไปดังนี้การที่จำเลยที่1เอาธนบัตรของกลางไปในขณะที่ผู้เสียหายยังยืนอยู่ในบริเวณที่ทำธนบัตรตกและในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองผู้เสียหายก็รู้ทันทีว่าธนบัตรของตนหายไปถือได้ว่านับแต่เวลาที่ธนบัตรของกลางหล่นลงไปที่พื้นจนถึงเวลาที่จำเลยที่1หยิบเอาไปผู้เสียหายยังคงยึดถือธนบัตรนั้นอยู่การครอบครองธนบัตรยังอยู่กับผู้เสียหายเมื่อจำเลยที่1เอาธนบัตรของกลางไปจากความครอบครองของผู้เสียหายเพื่อจะเอาไปเป็นของตนเองจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2549 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของผู้เสียหายเข้ามาจอดที่บริเวณบ้านของจำเลยที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะดูดออกจากถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาถังน้ำมันเพื่อเปิดฝาถังน้ำมันออก โดยจำเลยที่ 2 ถือถังน้ำมันเตรียมไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักมาขายให้ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุม การที่จำเลยที่ 2 เตรียมถังน้ำมันไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักจากรถยนต์บรรทุกน้ำมัน จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาจะรับซื้อน้ำมันจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้ามาจอดในบริเวณบ้านของตนเป็นการกระทำโดยเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2534 จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อจะลักทรัพย์แต่ผู้เสียหายตื่นขึ้นมาพบจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงทำการลักทรัพย์ไปไม่ตลอดการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ในเคหสถานเวลากลางคืน โดยเข้าทางช่องทางที่ได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า และเป็นการเข้าไปในเคหสถานในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวคือ ความผิดฐานลักทรัพย์และบุกรุก ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานบุกรุกตามที่พิจารณาได้ความ (ในคดีนี้จำเลย จำเลยปีนเข้าทางหน้าต่างบ้านซึ่งเป็นช่องทางที่ได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209/2559 พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ หากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 คดีคงฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2557 โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย แล้วลักเงิน 20,000 บาท ซึ่งอยู่ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วรื้อค้นลิ้นชักพลาสติกที่เชิงบันได โดยเมื่อค้นในลิ้นชักอันบนสุดพบกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก จำเลยก็ดึงออกมาจากลิ้นชักแล้วค้นหาสิ่งของในกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ดังกล่าว จากนั้นจำเลยเดินขึ้นบันไดไปบนระเบียงชั้นบนของบ้านและค้นหาสิ่งของที่กองเครื่องมือของใช้ที่วางอยู่บนระเบียงเป็นเวลานาน แล้วกลับลงไปรื้อค้นหาสิ่งของที่ลิ้นชักพลาสติกชั้นอื่นทุกลิ้นชัก เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาค้นหาเงินและของมีค่าอื่นในจุดที่จำเลยคาดว่าผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวผู้เสียหายน่าจะเก็บหรือซุกซ่อนไว้ ฟังได้ว่ามีเจตนาค้นหาและประสงค์จะลักเงินของผู้เสียหายไปนั่นเอง ถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดและกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะไม่มีเงินที่จะลักอยู่ในกระเป๋าสะพายและจุดรื้อค้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามลักเงินของผู้เสียหาย แต่การกระทำไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นการพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก ประกอบมาตรา 81

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2557 จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7562/2556 จำเลยทั้งสองกับพวก 5 คน ร่วมกันปรึกษาวางแผนลักทรัพย์ของชาวต่างชาติบนรถโดยสารสองแถว โดยขึ้นรถโดยสารสองแถวมาพร้อมกันซึ่งจะทำให้มีผู้โดยสารมากพอที่จะทำให้พวกของจำเลยที่ 1 สามารถเข้าไปนั่งชิดกับผู้เสียหายทางด้านขวาที่มีกระเป๋าสตางค์อยู่ในประเป๋ากางเกง พวกของจำเลยทั้งสองจึงมีโอกาสล้วงกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย และมีการแบ่งหน้าที่กันทำตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 5 คน สมคบกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะและเป็นซ่องโจร ซึ่งความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับฐานร่วมกันลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะเกี่ยวเนื่องกันจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9871/2551 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดเก็บเงินและวางบิล มีหน้าที่นำส่งใบแจ้งหนี้แก่ลูกค้า รับเงินหรือเช็คที่ลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้า เมื่อจำเลยรับเช็คจากลูกค้าแล้วจะต้องถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้า แล้วมอบเช็คแก่แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีโจทก์ร่วม แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยรับเช็คจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม จำเลยได้ถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้าแล้วแต่ไม่ได้นำเช็คจำนวน 10 ฉบับ นั้น ไปส่งแผนกบัญชีของโจทก์ร่วม กลับนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินตามเช็คโดยเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ดังนี้ เห็นว่า การที่จำเลยรับเช็คของลูกค้าของโจทก์ร่วมที่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมนั้นเป็นการรับในฐานะที่จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คดังกล่าวไปให้แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น การที่เช็คจำนวน 10 ฉบับ มาอยู่ที่จำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยยึดถือเช็คดังกล่าวเพื่อโจทก์ร่วมเท่านั้นเพราะสิทธิครอบครองในเช็คดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ร่วมแล้ว เมื่อจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเช็คของโจทก์ร่วมโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์