๒.๑ การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

โรงเรียนบ้านลุงพลู และคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาและชุมชน จากการวิเคราะห์ SWOT เพื่อนำผลมาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โดยการบูรณาการให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นโรงเรียนบ้านลุงพลูและหลักสูตรแกนกลาง และวางแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเพื่อนำไปออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ผู้เรียน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ บันทึกหลังการจัดการเรียนรู้เพื่อนำสู่การวิจัยในชั้นเรียน มีแผนการนิเทศติดตามกำกับ การนำหลักสูตรสถานศึกษาไปใช้และดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้ข้อมูลนักเรียนรายบุคคลเป็นฐาน โดยได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรตามกระบวนการ ดังนี้

๑) การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนบ้านลุงพลู

๑.๑) สร้างความตระหนักให้แก่บุคลากร ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้ปกครอง ชุมชน นักเรียน ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความสำคัความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา

๑.๒) พัฒนาบุคลากรของโรงเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา

๑.๓) ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการโรงเรียนบ้านลุงพลูและคณะกรรมการอื่น ๆ ตามความจำเป็น

๑.๔) จัดทำระบบสารสนเทศของโรงเรียน

๑.๕) จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

๑.๖) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์หลักสูตรให้กับผู้ปกครองนักเรียน หน่วยงานหรือองค์กรในชุมชนทุกฝ่ายได้รับทราบและขอความร่วมมือ

๒) การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนบ้านลุงพลู

เมื่อมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตามกระบวนการข้างต้นแล้ว โรงเรียนบ้านลุงพลูได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาตามกระบวนการดังต่อไปนี้

๒.๑) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ความจำเป็นของสถานศึกษา

ร่วมมือกับชุมชนโดยมีการประชุมบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษาซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน และผู้แทนองค์กรท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา และปัญหาความจำเป็นของสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตร

๒.๒) นำผลที่ได้จากรายงานผลการปรับปรุงการใช้หลักสูตรสถานศึกษาและผลที่ได้จากการประชุมมาวิเคราะห์ SWOT

๒.๓) กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และคุณลักษณะอันพึงประสงค์

วิสัยทัศน์

โรงเรียนบ้านลุงพลู ร่วมมือกับชุมชนในการสร้างเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้ผุ้เรียนพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพควบคู่กับการเป็นคนดี เก่ง มีสุข ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก


พันธกิจ

เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมกาย ใจให้สมบูรณ์ พัฒนานวัตกรรม


เป้าหมาย

๑. ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่สมบูรณ์มีคุณธรรม จริยธรรม

๒. โรงเรียนมีการจัดกระบวนการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ตามหลักสูตร มีการวัดผล และประเมินผลที่หลากหลายอย่างมีคุณภาพ

๓. โรงเรียนส่งเสริมการใช้สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

๔. โรงเรียนพัฒนาแหล่งเรียนรู้และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ

๕. ชุมชน ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ


คุณลักษณะอันพึงประสงค์

๑. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ๒. ซื่อสัตย์สุจริต ๓. มีวินัย

๔. ใฝ่เรียนรู้ ๕. อยู่อย่างพอเพียง ๖. มุ่งมั่นในการทำงาน

๗. รักความเป็นไทย ๘. มีจิตสาธารณะ

๒.๔) กำหนดโครงสร้างหลักสูตรโดยแต่ละระดับชั้นมีการกำหนดสัดส่วนเวลาเรียนที่แตกต่างกัน โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษาประกอบด้ว

- สาระการเรียนรู้พื้นฐาน ๘ กลุ่มสาระ และสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมตามช่วงวัยของผู้เรียน เหมาะสมกับระดับชั้นและตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง โดยจัดเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกประกอบด้วยสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นสาระการเรียนรู้เพื่อสร้างพื้นฐานการคิด กลยุทธ์และวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองและส่วนรวม และกลุ่มที่สองประกอบด้วยสาระสุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพ และภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐานที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ การคิดการทำงานอย่างสร้างสรรค์ อยู่ร่วมกับบุคคลในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งจัดให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา “เก่ง ดี มีสุข ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก”

- กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดให้มีกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี กิจกรรมชุมนุม และกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ ส่งเสริมการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยจัดให้มีหลักสูตรท้องถิ่น กิจกรรมหนึ่งห้องเรียนหนึ่งภูมิปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของโรงเรียน

- เวลาเรียนของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้งรายวิชาพื้นฐานและเพิ่มเติม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นรายปี ให้เหมาะสมกับระดับชั้นของผู้เรียน

๒.๕) การจัดทำสาระของหลักสูตร

๒.๕.๑) กำหนดผลการเรียนรู้ โดยวิเคราะห์จากมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐ ในแต่ละกลุ่มสาระ โดยที่โรงเรียนกำหนดผลการเรียนรู้เพิ่มเติมตามผลการวิเคราะห์ SWOT ให้สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด ความสนใจของผู้เรียน และสภาพปัญหาความต้องการของชุมชน

๒.๕.๒) กำหนดเวลาเรียนและน้ำหนักของแต่ละวิชา โดยในระดับชั้น ป.๑ - ป.๓ จะจัดเวลาเรียนเน้นในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและคณิตศาสตร์ และจัดให้มีรายวิชาเพิ่มเติมภาษาอังกฤษ เพื่อการพัฒนาให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาต่อระดับต่อไป และในระดับชั้น ป.๔ - ป.๖ จะเน้นการจัดเวลาเรียนในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและจัดให้มีรายวิชาเพิ่มเติมคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาให้นักเรียนอ่านคล่อง เขียนคล่อง คิดเลขคล่อง และสามารถใช้เทคโนโลยีให้พร้อมก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

๒.๕.๓) กำหนดสาระการเรียนรู้โดยวิเคราะห์จากผลการเรียนรู้ ตัวชี้วัด ที่กำหนดไว้ในข้อ ๒.๕.๑)

๒.๕.๔) จัดทำคำอธิบายรายวิชา โดยนำเอาผลการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ เวลาเรียนและน้ำหนักของแต่ละวิชามาเขียนเป็นคำอธิบายรายวิชา โดยประกอบด้วยชื่อรายวิชา จำนวนเวลาเรียน ตัวชี้วัด/มาตรฐานการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้

๒.๕.๕) จัดทำหน่วยการเรียนรู้ โดยนำเอาสาระการเรียนรู้มาจัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้ย่อย ๆ และจัดทำกำหนดการสอนเพื่อความสะดวกในการจัดการเรียนรู้

๒.๖) การออกแบบการจัดการเรียนรู้

ครูทุกคนมีการออกแบบการจัดการเรียนรู้ในแต่ละชั่วโมง โดยจะนำข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และสาระการเรียนรู้ที่จะสอนในชั่วโมงนั้น ๆ มากำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสม กำหนดกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องปฏิบัติ สื่อการเรียนรู้ที่ใช้ รวมไปถึงวิธีการวัดผลประเมินผล และเกณฑ์การวัดผลประเมินผล เพื่อนำการออกแบบการจัดการเรียนรู้ไปจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ และหลังจากจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรียบร้อย จะมีการบันทึกหลังการสอนเพื่อนำผลที่ได้ไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนต่อไป

๒.๗) การออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

โรงเรียนบ้านลุงพลูได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ โดยพัฒนาเพิ่มเติมจากกิจกรรมการเรียนรู้ใน 8 กลุ่มสาระ โดยมีรายละเอียดดังนี้

๒.๗.๑) กิจกรรมแนะแนว

จัดกิจกรรมแนะแนวโดยครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลัก โดยใช้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 ขั้นตอน ซึ่งจะจัดให้มีกิจกรรมแนะแนวทั้งสามด้าน คือ การแนะแนวอาชีพ การแนะแนวบุคลิกภาพ และการแนะแนวการศึกษาในทุกระดับชั้น และจัดให้มีกิจกรรมแนะแนวระดับชั้นละ ๔๐ ชั่วโมง/ปี

๒.๗.๒) กิจกรรมนักเรียน

จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้มีระเบียบวินัย มีความเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี มีความรับผิดชอบ การทำงานร่วมกัน การรู้จักแก้ไขปัญหา การตัดสินใจที่เหมาะสม โดยสอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของผู้เรียน ให้ผุ้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองในทุกขั้นตอน ซึ่งกิจกรรมนักเรียนจะประกอบด้วย

- กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ๔๐ ชั่วโมง/ปี

- กิจกรรมชุมนุม ๓๐ ชั่วโมง/ปี

- กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณะประโยชน์ ๑๐ ชั่วโมง/ปี

๒.๘) กำหนดรูปแบบ วิธีการ เกณฑ์การตัดสิน เอกสารหลักฐานการศึกษา

กำหนดรูปแบบการตัดสิน และเกณฑ์การจบการศึกษา จัดทำเอกสารหลักฐานการศึกษา โรงเรียนจัดทำเอกสารการประเมินการเรียน เพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามที่เห็นสมควร เช่น เอกสารแสดงผลการเรียนรู้ของผู้เรียน แบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในรายวิชาต่างๆ แบบรายงานการพัฒนาคุณภาพเป็นรายบุคคล ระเบียนสะสมแสดงพัฒนาการด้านต่างๆ และแบบแสดงผลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นต้น

๒.๙) พัฒนาระบบการส่งเสริมสนับสนุน

การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามจุดหมายของหลักสูตรนั้น โรงเรียนได้พัฒนาระบบการส่งเสริมสนับสนุนต่างๆ ที่เอื้อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพในเรื่องการพัฒนากระบวนการแนะแนว การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้และห้องสมุด การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ เครือข่ายวิชาการ

๒.๑๐) การเรียบเรียงเป็นหลักสูตรโรงเรียน

โรงเรียนจะมีรายละเอียดที่ครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้าน แล้ววิเคราะห์และเรียบเรียง เพื่อให้เป็นหลักสูตรโรงเรียนที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยส่วนสำคัญดังต่อไปนี้

(๑) วิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย

(๒) คุณลักษณะอันพึงประสงค์

(๓) โครงสร้างหลักสูตร

(๔) รายวิชาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้

(๕) กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

(๖) เกณฑ์การจบการศึกษา

(๗) การจัดการเรียนรู้และส่งเสริมการเรียนรู้

(๘) การวัดและประเมินผล

(๙) การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา

(๑๐) อื่นๆ

๓) การวางแผนดำเนินการใช้หลักสูตร

๓.๑) จัดกระบวนการเรียนรู้

ในการบริหารจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้บริหารทำความเข้าใจกับครูให้พัฒนาตนเองและวางแผนดำเนินการร่วมกันในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในเรื่องต่อไปนี้ คือ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด การใช้แหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย การใช้สื่อการเรียนรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ การสอนซ่อมเสริม และการวิจัยเพื่อพัฒนา


๓.๒) จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

ร่วมกันวางแผนให้ครูทุกคนดำเนินการแนะแนวผู้เรียน ทั้งในด้านการศึกษาต่อ อาชีพ และด้านบุคลิกภาพ ให้กับผู้เรียนและจัดตั้งศูนย์แนะแนวของโรงเรียนร่วมกันวางแผนการจัดกิจกรรมที่ตอบสนองจุดเน้นของโรงเรียน กิจกรรมส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ กิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ และกิจกรรมสนองความสนใจ และความสามารถของผู้เรียน โดยโรงเรียนส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จัดให้มีเครือข่ายการเรียนรู้ส่งเสริมการทำวิจัยเพื่อพัฒนาและนิเทศภายในอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

๔) การดำเนินการบริหารหลักสูตร

(ใช้หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนบ้านลุงพลู พุทธศักราช ๒๕๕๑ ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช ๒๕๖๓) ดำเนินการใช้หลักสูตรให้เป็นไปตามที่โรงเรียนได้กำหนดไว้ในหลักสูตรสถานศึกษา

๕) การนิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผล


๕.๑) การนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการใช้หลักสูตร และงานวิชาการจากภายในโรงเรียน ครูทุกคนจัดทำแผนนิเทศของตนเองโดยใช้ปฏิทิน Google และมีการจัดทำ Website สำหรับผู้บริหารเพื่อนิเทศติดตามการดำเนินงานของครูผู้สอนแต่ละคน และมีชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ (PLC) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอนแต่ละกลุ่มสาระเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้และปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรครั้งต่อไป


๕.๒) การนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการใช้หลักสูตรและงานวิชาการจากภายนอกโรงเรียน

๖) การสรุปผลการดำเนินงานของสถานศึกษา

โรงเรียนสรุปผลการดำเนินงานโดยจัดทำเป็นรายงานการจัดการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระ รายงานโครงการและกิจกรรม และรายงานผลการประเมินหลักสูตรสถานศึกษา เมื่อสิ้นปีการศึกษา

๗) การปรับปรุงพัฒนากระบวนการบริหารจัดการหลักสูตร


๗.๑) โรงเรียนนำผลการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหา/ข้อเสนอแนะต่างๆ มาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนปรับปรุงและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการหลักสูตร และจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษาและแผนปฏิบัติการประจำปีในปีการศึกษาต่อไป


๗.๒) โรงเรียนดำเนินการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการหลักสูตรและปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2.1.pdf