กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำ(กสจ.)

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำ (กสจ.)

“ลูกจ้างประจำ” เป็นบุคลากรภาครัฐประเภทหนึ่ง ที่มีบทบาทหน้าที่หลักในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการนั้นๆ ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง ก.พ. ได้จัดตำแหน่งลูกจ้างประจำตามลักษณะงานออกเป็น 4 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานบริการพื้นฐาน (งานให้บริการเป็นหลัก) กลุ่มงานสนับสนุน(งานช่วยปฏิบัติหรือสนับสนุนผู้ปฏิบัติภารกิจหลัก) กลุ่มงานช่าง (การปฏิบัติงานช่าง) และกลุ่มงานเทคนิคพิเศษ (ใช้ความสามารถทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว)

“ลูกจ้างประจำ” ที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา หรือส่วนราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดิมเราจะคุ้นเคยกับคำว่า “นักการภารโรง” นั้น ปัจจุบันตำแหน่งนี้ไม่มีแล้ว เพราะตั้งแต่ปี 2553 ได้ปรับก็มีประเภทตำแหน่ง ตามที่ ก.พ. กำหนด แต่จะกำหนดให้มีตำแหน่งใดขึ้นอยู่กับลักษณะงานของส่วนราชการนั้นๆ หากเป็นสถานศึกษา หรือหน่วยงานจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ มีการกำหนดตำแหน่งลูกจ้างประจำใน 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานบริการพื้นฐาน ได้แก่ พนักงานรักษาความปลอดภัย(ยาม) แม่บ้าน พนักงานบริการ พนักงานโสตทัศนศึกษา เป็นต้น กลุ่มงานสนับสนุน ได้แก่ พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานห้องสมุด ครูช่วยสอน พนักงานขับรถยนต์ เป็นต้น กลุ่มงานช่าง ได้แก่ ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ ช่างปูน ช่างครุภัณฑ์ พนักงานขับเครื่องกลขนาดกลาง เป็นต้น

กฎหมายที่กำหนดการเกษียณอายุราชการของลูกจ้างประจำ

“เจ้าหน้าที่ภาครัฐ” ทุกประเภทตำแหน่ง มีกฎหมายกำหนดการเกษียณอายุราชการไว้เป็นการเฉพาะ “ลูกจ้างประจำ” ก็ทำนองเดียวกัน การเกษียณอายุราชการ กำหนดไว้ในข้อ 57(2) แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 โดยมีสาระสำคัญว่า “ลูกจ้างประจำออกจากราชการเมื่อพ้นจากราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบําเหน็จลูกจ้างฯ..” ซึ่ง ตามข้อ 6 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 กำหนดว่า “ลูกจ้างประจำซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้วเป็นอันพ้นจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้น” จึงสรุปได้ว่า ลูกจ้างประจำเกษียณอายุราชการในปีที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ และในวันที่ 1 ตุลาคม ของปีนั้น ๆ (ผู้เกษียณอายุราชการปีงบประมาณ 2559 คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2489- วันที่ 1 ตุลาคม 2499 หรือผู้เกษียณอายุราชการปีงบประมาณ 2560 คือ ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2499- วันที่ 1 ตุลาคม 2500)

เงินตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างประจำจะได้จากราชการเมื่อเกษียณอายุราชการ

การเกษียณอายุราชการด้วยความเรียบร้อย ถือว่าเป็นเรื่องดีที่คนในวงการราชการพึงปรารถนา เพราะเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ได้รับเงินตอบแทน และสิทธิประโยชน์ที่ทางราชการจะมอบให้ เพื่อเป็นการตอบแทนที่ทำคุณประโยชน์ให้กับราชการตลอดรับราชการมา สำหรับลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการ จะได้รับเงินตอบแทนและสิทธิประโยชน์จากทางราชการ ดังนี้

1. สิทธิประโยชน์ขณะที่ลูกจ้างประจำมีชีวิตอยู่

1.1 เงินบำเหน็จลูกจ้าง ลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จปกติ หรือ เงินบำเหน็จรายเดือน (หากเป็นข้าราชการเรียกเงินบำนาญ) โดยให้สิทธิ์เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวคือ

1) บำเหน็จปกติ คือ เงินตอบแทนของลูกจ้างประจำที่ออกจากงานเนื่องจากทำงานมานาน โดยจ่ายก้อนเดียว ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างประจำ เงินเดือนสุดท้าย 18,000 บาท มีเวลาราชการ 38 ปี 7 เดือน

วิธีคำนวณ 18,000 X (38X 12) + 7 หาร 12 = 694,500 บาท (จ่ายเงินเป็นก้อนเดียว)

2) บำเหน็จรายเดือน คือ เงินตอบแทนของลูกจ้างประจำที่ออกจากงานเนื่องจากทำงานมานาน และต้องมีเวลาทำงานตั้งแต่ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป จ่ายเป็นรายเดือนไปจนกว่าผู้รับบำเหน็จรายเดือนจะถึงแก่กรรม (แก้ไขโดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2552 เดิมจะได้รับเฉพาะบำเหน็จปกติ)

การคำนวณบำเหน็จรายเดือน ให้คำนวณจากค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนเดือนที่ทำงาน หารด้วยสิบสอง แล้วหารด้วยห้าสิบอีกครั้ง ถ้ามีเศษของบาทให้ปัดทิ้ง (บำเหน็จรายเดือน คือ บำเหน็จปกติหารด้วย 50 นั่นเอง) ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างประจำเงินเดือนสุดท้าย 18,000 บาท เวลาราชการ 38 ปี 7 เดือน

วิธีคำนวณ 18,000 X (38X 12) + 7 หาร 12 = 694,500 = 694,500 หาร 50 = 13,890 (จ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละ 13,890 บาท)

การเป็นสมาชิก กสจ.

การรับสมัครสมาชิกใหม่

1. เมื่อลูกจ้างประจำยื่นแสดงความจำนง ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตรวจสอบความถูกต้องในใบสมัคร สมาชิก กสจ. แล้วเสนอหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในใบสมัครสมาชิก กสจ. นั้น “เมื่อหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในใบสมัครสมาชิก กสจ. ถือว่าใบสมัครนั้นสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าจะไม่มีการตอบรับจากบริษัทจัดการทะเบียนสมาชิก”

2. จัดทำทะเบียนรับและนำส่งใบสมัครสมาชิก กสจ. (แบบ กสจ. 001/1, กสจ. 001/2) เพื่อควบคุม การรับและนำส่งใบสมัครสมาชิก กสจ.

3. จัดทำสำเนาใบสมัครสมาชิก กสจ. แบบทะเบียนรับและนำส่งใบสมัครสมาชิก กสจ. (แบบ กสจ. 001/1, กสจ. 001/2) และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของลูกจ้างประจำ จำนวน 2 ฉบับ

3.1 จัดเก็บไว้ในสมุดหรือแฟ้มประวัติสมาชิก 1 ฉบับ

3.2 นำส่งฝ่ายการเงิน/กองคลัง 1 ฉบับ

4. สำเนาแจ้งฝ่ายการเงินทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการตั้งฎีกาเบิกเงินสมทบและหักเงินสะสมของสมาชิก หรือบันทึกข้อมูลเงินสะสม-เงินสมทบในระบบจ่ายตรง เพื่อนำส่งเงินเข้าบัญชี กสจ. ให้ตรงกับข้อมูลที่ระบุในแบบทะเบียนรับ และนำส่งใบสมัครสมาชิก กสจ. (แบบ กสจ. 001/1) “การนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบงวดแรกในเดือน.........”

5. จัดทำหนังสือประทับตราแทนการลงชื่อ นำส่งใบสมัครสมาชิก กสจ. แบบทะเบียนรับและนำส่ง ใบสมัครสมาชิก กสจ. (แบบ กสจ. 001/1, กสจ. 001/2) ตัวจริง และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของลูกจ้างประจำที่สมัคร เป็นสมาชิกไปยังบริษัทจัดการทะเบียนสมาชิก โดยไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ในทันที เพื่อบันทึกข้อมูลสมาชิกใหม่ ลงในฐานทะเบียนสมาชิก กสจ. เมื่อเงินนำส่งงวดแรกของสมาชิกโอนเข้าบัญชี กสจ. แล้ว บริษัทจะดำเนินการจัดสรร หน่วยให้แก่สมาชิกทันที

วิธีการปฏิบัติเมื่อลูกจ้างเป็นสมาชิก กสจ.

1.กรณีลูกจ้างขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลสมาชิก ให้สมาชิกกรอกรายละเอียดลงในแบบคำขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกและผู้รับประโยชน์ (แบบ กสจ. 002) ให้ครบถ้วน แนบสำเนาเอกสารหลักฐานการขอเปลี่ยนแปลง แล้วจัดส่งเอกสารตัวจริงไปยังบริษัทจัดการทะเบียนสมาชิก พร้อมทั้งสำเนาเก็บไว้เป็นหลักฐาน 1 ชุด เพื่อจัดเก็บรวบรวมไว้ในสมุดหรือแฟ้มประวัติสมาชิก

2.กรณีสมาชิกโอนย้ายหน่วยงาน ให้หน่วยงานเดิมของสมาชิก มีหน้าที่แจ้งสถานภาพการเป็นสมาชิก กสจ. ให้แก่หน่วยใหม่ที่รับ โอนสมาชิกทราบ พร้อมนำส่งสำเนาใบสมัคร แบบแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับประโยชน์ และจัดทำรายละเอียดยอดเงิน นำส่งตั้งแต่เริ่มเป็นสมาชิกจนถึงเดือนสุดท้ายที่หน่วยงานมีการจ่ายค่าจ้างให้แก่สมาชิก ลงในรายงานสรุปยอดเงินสมาชิก รายบุคคล (แบบ กสจ. 008) เพื่อหน่วยงานผู้เบิกใหม่จะได้ดำเนินการต่อไป

3.กรณีสมาชิกยอดเงินนำส่งไม่ถูกต้อง หากพบว่ายอดเงินนำส่งที่บริษัทจัดการทะเบียนสมาชิกแจ้งในรายงานสรุปยอดเงินนำส่งทุกงวด 6 เดือนไม่ถูกต้องให้ส่วนราชการดำเนินการจัดทำรายละเอียดยืนยันยอดเงินนำส่งตั้งเดือนแรกที่เริ่มนำส่งเงินเข้ากองทุน กสจ. ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ลงในแบบรายงานสรุปยอดเงินนำส่ง (แบบ กสจ. 008) ให้แก่สมาชิกและ แนบเอกสารหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์สิทธิยอดเงินนำส่งของสมาชิก ดังนี้

1. หนังสือแจ้งขอปรับปรุงยอดเงินนำส่งของสมาชิกจากส่วนราชการ

2. สำเนาบัตรค่าจ้าง (กพ.7)

3. สำเนาใบสมัครสมาชิก

4. สำเนาทะเบียนรับและนำส่งใบสมัครสมาชิก (แบบ กสจ. 001/1)

5. เอกสารอื่นใดที่สามารถยืนยันการนำส่งเงินเข้ากองทุนของสมาชิกในช่วงปีดังกล่าวได้


การขอรับเงินกองทุน (กสจ.)

การขอรับเงินกองทุน

1.กรณีสมาชิกขอรับเงินคืนจากกองทุนกสจ.เพราะเหตุเกษียณอายุราชการลาออกจากราชการถูกสั่งให้ออกจากราชการถูกสั่งลงโทษปลดออกไล่ออกจากราชการ

(1) ให้สมาชิกกรอกแบบคำขอรับเงินกองทุน กสจ. (แบบ กสจ. 004/1)

(2) ติดต่อยื่นเรื่องที่ กองการเจ้าหน้าที่ หรือ หน่วยงานบริหารงานบุคคลส่วนราชการ ที่สมาชิก สังกัด พร้อมแนบเอกสารประกอบ ดังนี้

- สำเนาคำสั่ง/ประกาศเกษียณอายุราชการ สำเนาคำสั่งให้ออกจากราชการ ปลดออก หรือ ไล่ออก แล้วแต่กรณี

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/สำเนาบัตรประจำตัวลูกจ้างประจำ

- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหน้าแรกที่แสดงชื่อและเลขที่บัญชีของสมาชิก

(3) เจ้าหน้าที่นำส่งแบบคำขอรับเงินกองทุน กสจ. (แบบ กสจ. 004/1) และเอกสารหลักฐาน ตามข้อ (2) ไปยังบริษัทจัดการทะเบียนสมาชิก

2.กรณีสมาชิก กสจ. พ้นสมาชิกภาพแล้ว แต่ถึงแก่ความตายก่อนยื่นเรื่องขอรับเงินกองทุน กรณีสมาชิกพ้นสมาชิกภาพไปแล้ว แต่ถึงแก่ความตายก่อนยื่นคำขอรับเงินกสจ. ให้ผู้จัดการมรดก หรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ตามคำสั่งศาล) เป็นผู้ทำหน้าที่ยื่นแบบคำขอรับ เงินกองทุนเพื่อแบ่งมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(1) ให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ตามคำสั่งศาล) กรอกแบบคำขอรับเงินกองทุน กสจ. (แบบ กสจ. 004/1) เพื่อแบ่งมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์

(2) ติดต่อยื่นเรื่องที่ กองการเจ้าหน้าที่ หรือ หน่วยงานบริหารงานบุคคลส่วนราชการ ที่สมาชิกสังกัดพร้อมแนบเอกสารประกอบดังนี้

- สำเนาคำสั่ง/ประกาศเกษียณอายุราชการ สำเนาคำสั่งให้ออกจากราชการ ปลดออก หรือ ไล่ออก แล้วแต่กรณี

- สำเนาใบมรณบัตร

- สำเนาคำสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก หรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้จัดการมรดก หรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหน้าแรกที่แสดงชื่อและเลขที่บัญชีของผู้รับประโยชน์

(3) เจ้าหน้าที่นำส่งแบบคำขอรับเงินกองทุน กสจ. (แบบ กสจ. 004/1) และเอกสารหลักฐานตาม ข้อ (2) ไปยังบริษัทจัดการทะเบียนสมาชิก

3.กรณีสมาชิกถึงแก่ความตาย

(1) ให้ผู้รับประโยชน์ตามที่สมาชิกแสดงเจตนาไว้ หรือทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรอกแบบคำขอรับเงินกองทุน กสจ. (กรณีสมาชิกถึงแก่ความตาย) (แบบ กสจ. 004/2)

(2) ติดต่อยื่นเรื่องที่ กองการเจ้าหน้าที่ หรือ หน่วยงานบริหารงานบุคคลส่วนราชการ ที่สมาชิก สังกัด พร้อมแนบเอกสารประกอบ ดังนี้

- สำเนาใบมรณบัตร

- สำเนาแบบแสดงเจตนาระบุตัวผู้รับประโยชน์ (ถ้ามี)

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสูติบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับประโยชน์

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนผู้รับประโยชน์ ตามมาตรา 23 วรรค 2 หรือ วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหน้าแรกที่แสดงชื่อและเลขที่บัญชีของผู้รับประโยชน์

(3) เจ้าหน้าที่นำส่งแบบ กสจ. 004/2 และเอกสารหลักฐานตามข้อ (2) ไปยังบริษัทจัดการ ทะเบียนสมาชิก


ขั้นตอนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่