Chapter2

ต้องเริ่มต้นถึงจะเริ่มศึกษา

ช่วงธันวาคมปี 2546 ผมได้เริ่มต้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในตอนนั้นหุ้นได้มีราคาพุ่งขึ้นสูงจากต้นปีมาก(ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 117 %) และก็ถือได้ว่าเป็นช่วงการฟื้นตัวอย่างจริงจังของธุรกิจต่างๆ แต่ด้วยความไม่พร้อมในด้านความรู้ของผมทำให้การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ผมได้ใช้เงินเก็บจำนวนไม่กี่หมื่นบาทซึ่งถือว่ายังไม่มากนักมาใช้ในการลงทุน หุ้นตัวแรกที่ผมได้ซื้อด้วยตัวผมเองคือ INET ผมไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันทำธุรกิจอะไร มีรายได้ยังไง ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นใคร คือไม่รู้อะไรเลยยกเว้นแต่ราคาหุ้นที่ผมซื้อมาซึ่งอยู่ประมาณ 10 บาท และยังได้ Warrant1 แถมมาให้อีกนิดหน่อย หลักคิดของผมในการซื้อหุ้นในช่วงเริ่มต้นนั้นง่ายๆและก็เหมือนกับหลายๆคน คือถ้าหุ้นตัวใดมีราคาลดลงมา 2-3 วันแล้วมันก็น่าจะฟื้นตัวบ้าง โชคดีที่ผมขายไปได้กำไรเล็กน้อย แต่ถ้าดูราคาตอนนี้ (ธค 2551) มันมีราคาอยู่ที่ 0.63 บาท ถ้าผมยังถือมันมาถึงวันนี้นั้นหมายความว่าผมคงได้เลิกเล่นหุ้นไปแล้ว สรุปแล้วในปี 2546 ผมก็ได้กำไรมาเล็กน้อย

ในปี 2547 ผมยังได้ค้นหาวิธีต่างๆนาๆเพื่อที่จะคิดหาวิธีทางคณิตศาสตร์ไว้สำหรับการเล่นหุ้นเพื่อให้ได้กำไร แต่มันไม่สามารถทำได้เลย ถึงแม้ผมจะมีความรู้ทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ดีเพียงใด ผมยังได้เปลี่ยนวิธีการอื่นๆอีกมาก เช่น นำบทวิเคราะห์ของโบรเกอร์ทุกสำนักมาดูว่าเขาแนะนำให้ซื้อหุ้นตัวใหน และดูว่าตัวใหนจะให้ผลตอบแทนสูงที่สุด แต่มันก็ยังทำให้ผมขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆกับการเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปอีกเรื่อยๆ โดยเงินลงทุนผมได้เพิ่มเป็นหลักแสน ด้วยความไม่อยู่นิ่งของผมทำให้สิ่งที่ผมทำมาไม่สูญเปล่า ที่ผ่านมาผมอ่านบทวิเคราะห์ทุกวัน ทุกสำนัก(ที่ได้ตีพิมพ์ใน www.settrade.com) มันทำให้ผมรู้ว่าทุกๆคนก็มีข้อมูลเหมือนๆกันนั้นแหละ(ปัจจุบันผมก็ยังคงการอ่านบทวิเคราะห์ถึงแม้จะน้อยลงกว่าอดีตก็ตาม) ผมเริ่มให้ความสนใจในเงินปันผล และค่า PE แต่สิ่งที่ทำให้ผมงงเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้นคือ หุ้นอย่าง BCP(บริษัทบางจากปิโตรเลียม ) มี PE ต่ำติดดินและปีหน้าก็มีโครงการจะเพิ่มกำลังการผลิตอีกเท่าตัว แต่ราคากลับไม่ไปใหนและมันยังทำให้ผมขาดทุนเพิ่มอีกด้วยซ้ำไป ( แล้วผมจะบอกภายหลังว่าทำไมผมถึงขาดทุน )ในปีนี้ผมยังไม่เคยรู้เลยว่างบการเงินบอกอะไร มันจะออกวันไหนกันแน่ แต่ในปลายปีผมก็เริ่มอ่านมันและศึกษามันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

และแล้วจุดเริ่มต้นที่สำคัญของผมก็มา เมื่อผมได้รับไฟล์ผลประกอบการ 12 ปีย้อนหลังของคุณ ครรชิต ไพศาล มันเป็นจุดเริ่มต้นที่มหัศจรรย์ของผม ด้วยความที่ผมมีความรู้ด้าน MS Excel ในระดับที่ดี ผมจึงได้เพิ่มความสามารถของข้อมูลโดยใส่กราฟต่างเข้าไปและปุ่มในการเลื่อนหุ้น แล้วผมก็นั่งดูมันไม่ต่ำกว่า 100 รอบ (1 รอบประกอบไปด้วยหุ้นประมาณ 500 ตัว) แต่ถ้านับถึงวันนี้อาจจะมากกว่า 500 รอบก็ได้

                ในปี 2547 ผมได้ผลตอบแทนชนะตลาด แต่ก็ยังขาดทุนอยู่ดี (คำว่าผลตอบแทนของตลาดคือผลตอบแทนของดัชนี โดยในปี 2547 ดัชนีหลักทรัพย์เปิดที่ 774.19 จุด ปิดปลายปีที่ 668.10 เท่ากับ -106 จุดหรือประมาณ -13.7 %)

                เริ่มปี 2548 ผมก็ได้เริ่มลงทุนในหุ้นที่ผมได้ทำการบ้านมาอย่างดี กับหุ้นที่ไม่ได้ทำการบ้านมาเช่นเคย(แต่ในปริมาณที่น้อยกว่า) หุ้นที่ผมได้ลงทุนเป็นจำนวนมากคือ SE-ED ในขณะนั้น se-ed มีราคาลดลงอย่างมากพร้อมกับกำไรที่ลดลงเช่นกัน(แต่ผมมองว่าเป็นปัญหาในระยะสั้นและมั่นใจว่าระดับการทำกำไรของบริษัทจะกลับมาปกติ) แต่รายได้ของบริษัทยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ผมได้เข้าซื้อเฉลี่ยมาเรื่อยๆ(ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่บางท่านได้ขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก หลายล้านหุ้น) ผมมีต้นทุน SE-ED อยู่ประมาณ 5 บาท และยังได้ลงทุนในหุ้น IT และหุ้นอื่นๆอีกหลายตัว รวมทั้งหุ้น MINT(ชื่อเดิม RGR) ในราคาแค่ 2.70 แล้วผมจะเล่าให้ฟังอีกทีว่าผมไม่มีกำไรจากการลงทุนใน MINT ได้อย่างไรทั้งๆที่มันมีราคาสูงขึ้นไปถึง 20 บาท ผมเริ่มมีความเข้าใจในธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะยังน้อยอยู่ก็ตาม ในประมาณเดือน มีนาคม เงินที่ขาดทุนจากการเล่นหุ้นก็ได้คืนทั้งหมดมาจากการลงทุนกึ่งเล่นหุ้น และการเล่นหุ้น(เก็งกำไร)ของผมก็ได้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆในเวลาต่อมา และเปลี่ยนมาเป็นการลงทุนในหุ้นแทน           ในปีนี้มันเป็นปีที่ผมมีผลตอบแทนสูงในหลายหุ้นบางตัวสูงกว่า 20 % และบางตัวสูงกว่า 30 % แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจเรื่องของงบการเงินดีพอ ผมได้เริ่มศึกษาเรื่องของงบดุล ในด้านของทรัพย์สินและหนี้สิน ผมไม่ชอบหุ้นที่มีหนี้เยอะเพราะโดยนิสัยผมเป็นคนไม่มีหนี้ และต่อมาผมก็ศึกษาเรื่องของ งบกระแสเงินสด ซึ่งมันดูยุ่งยากกับเครื่องหมายบวกลบพอสมควรสำหรับมือใหม่อย่างผม เนื่องจากผมเป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตัวเอง มันเลยทำให้ผมใช้เวลานานในการศึกษาเรื่องนี้พอสมควร

                ในปี 2549 ผมก็ได้ทำการขายหุ้น se-ed ออกไป ที่ราคา 8.60 และรวมปันผลอีกประมาณ 0.5 บาท ทำให้เป็นหุ้นตัวแรกที่ถือได้นานถึง 1 ปีและได้กำไรสูงกว่าตัวใหนๆ และมาปัจจุบัน se-ed ก็ยังปันผลทุกๆไตรมาส และได้ทำราคาสูงสุดไว้ที่ 9.60 บาทในต้นปี 2551 มันทำให้เราได้เห็นว่าหุ้นนั้นสร้างผลตอบแทนได้จริงๆ มันไม่ใช่สิ่งที่ใครๆทั้งหลายเข้าใจผิด และยิ่งระยะเวลานานขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลได้ แต่อาจจะด้วยที่ se-ed นั้นทำธุรกิจมานาน และได้พิสูจน์แล้วว่ารูปแบบของธุรกิจนั้นได้ผล ทำให้ se-ed เป็นผู้นำในธุรกิจนี้ (เราสามารถนำไปเปรียบเทียบกับร้านหนังสืออย่าง ดอกหญ้า นายอิน หรือ B2S เป็นต้น) แต่ก็นั้นแหละ ราคาหุ้นในปลายปี 2551 ก็ทำให้ se-ed มีราคาปิดที่ 5.85 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ซื้อขายกันในปี 2548 เลยทีเดียว แต่ยังดีกว่าหุ้นอื่นๆอีกมาก และมันก็ชนะดัชนี(หรือตลาด)ด้วย

                กลับไปที่การเริ่มต้นในปี 2549 อีกที ผมได้ทำการศึกษาและทุ่มเทการอ่านรายงานประจำปี, F56-1, ผลประกอบการรายไตรมาส และยังได้ทำกราฟและข้อมูลผลประกอบการรายไตรมาสขึ้นมาไว้พิจารณาอีก ทำให้สามารถหาหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดีแต่เนื่องติดต่อกันหลายๆไตรมาสชัดเจนยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ยังไม่ได้หายไปจากตัวผมก็คือความเครียด ไม่ว่าผมจะได้ผลตอบแทนดีแค่ไหน ผมก็ยังเครียด นั้นคงเป็นเพราะผมยังไปยึดติดกับราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นลงทุกๆวัน จนทำให้มีความโลภและความกลัวเข้ามาในจิตใจมากเกินไป ซึ่งจะนำไปสู่การซื้อขายที่บ่อยครั้ง ดังนั้นเพื่อนๆควรที่จะมองไปที่ธุรกิจมากกว่าเรื่องของราคาในระยะสั้น

ต้องรู้อะไรในบริษัทที่เราจะลงทุน

1.     ต้องอ่านงบการเงินให้เป็น โดยให้นำรายงานประจำปี หรือ ซึ่งจะมีให้ดาว์นโหลดในเว็ปไซต์ www.set.or.th หรือขอจากเพื่อนๆก็ได้ ถ้าเริ่มต้นศึกษาให้หยิบเอาบริษัทที่ทำธุรกิจไม่ซับซ้อนอ่านง่าย เช่น PL ทำธุรกิจให้เช่ารถยนต์อย่างเดียว, DM ปล่อยเงินกู้, IT ร้าน IT CITY เป็นต้น โดยต้องอ่านให้ครบ 1 จบ เพื่อจะได้รู้ว่ามีอะไรในรายงานประจำปี

2.     นำหนังสือ การวิเคราะห์งบการเงินมาอ่านประกอบเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจส่วนประกอบต่างๆของงบการเงินได้ถูกต้อง, เพื่อดูฐานะทางการเงินของบริษัทและผลการดำเนินงานของบริษัท

3.     ทำความเข้าใจตัวบริษัทอีกครั้งด้วยการอ่าน F56-1 โดยดาว์นโหลจาก www.set.or.th เช่นเดียวกัน ข้อมูลตรงนี้จะทำการ update ทุกๆปี เหมือนกับรายงานประจำปี แต่ข้อมูลจะมีเรื่องของทรัพย์สินของบริษัทซึ่งจะมีความละเอียดกว่ารายงานประจำปี, ความเสี่ยงของธุรกิจ, แผนงานในอนาคตของบริษัท, คดีความที่มีผลต่อธุรกิจ เป็นต้น

4.        ต้องทำความเข้าใจ PE, ROA, ROE, BV, NPM ให้ถูกต้อง เพื่อที่จะเข้าใจข้อมูลที่แจกให้ในรูปแบบ Ms Excel

5.     วิเคราะห์บริษัทด้วย SWOT (เป็นงานเขียนของ Michael E. Porter)ได้แก่ S (Strength) จุดแข็ง บริษัทที่เราวิเคราะห์มีจุดแข็งอะไรในการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างไร W (Weakness) จุดอ่อน บริษัทมีจุดด้อยอย่างไรที่จะมีผลอย่างไรกับการดำเนินงานในอนาคต O (Opportunity) โอกาส บริษัทมีโอกาสขยายการลุงทุนแล้วได้เปรียบคู่แข่งในอนาคตหรือไม่ เช่น บริษัทอาจจะมีที่ดินเปล่าอยู่ในทำเลที่ดีทำให้มีโอกาสจะสร้างธุรกิจได้ง่าย หรือยังมีช่องว่างทางธุกิจอีกมาก เช่น การขยายสาขาไปยังพื้นที่อื่นๆหรือการเพิ่มขึ้นของลูกค้า T(Threat) อุปสรรค แล้วอะไรคืออุปสรรคของธุรกิจในการแข่งขันกับคู่แข่ง/เทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนไป/การเพิ่งพาลูกค้าไม่กี่ราย/คู่แข่งมีความสามารถสูงกว่า เป็นต้น ไม่มีบริษัทใหนที่ดีเลิศไปซะทุกอย่าง แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วเห็นว่าในอนาคตสามารถเติบโตได้ ก็ถือว่าดีแล้ว

6.        การวิเคราะห์ด้วย Five Forces Model (งานเขียนของ Michael E. Porter) ประกอบด้วย

6.1   การคุกคามของผู้เข้ามาใหม่ ผู้เข้ามาใหม่ในอุตสาหกรรมทำให้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น และมีความต้องการส่วนแบ่งตลาดและทรัพยากรในการผลิต ทำให้คุกคามต่อสถานะและความมั่นคงของผู้อยู่ในอุตสาหกรรมเดิม ดังนั้นบริษัทจะต้องสร้างความเข้มแข็ง ได้แก่

                                          i.    การประหยัดโดยขนาด(Economics of scale) การเพิ่มกำลังการผลิตทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ส่งผลให้ราคาสินค้าถูกลง สามารถแข่งขันเรื่องราคาได้

                                                              ii.      ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ด้านคุณภาพ, ด้านเทคโนโลยี, ด้านภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จ, ด้านบริการ

                                        iii.    ต้นทุนการเปลี่ยนผู้ขาย ต้นทุนของผู้ชื้อที่เกิดจากการเปลี่ยนสินค้าจากอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่าง การที่ผู้เข้ามาใหม่เสนอคุณสมบัติหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นจะทำให้ผู้ซื้ออาจจะต้องตัดสินใจในการซื้อมากกว่าเรื่องของราคา เช่น ถ้าผู้ซื้อคิดจะเปลี่ยน OS จาก Windows ไปเป็น Linux ซึ่งมีราคาต่ำกว่ามาก แต่ผู้ซื้อจะต้องมีการอบรมการใช้งานใหม่, ปรับเปลี่ยนโปรแกรมเพื่อให้เข้ากันได้กับ Linux และอาจจะไม่สามารถใช้งานร่วมกับผู้อื่นได้ เมื่อผู้ซื้อได้วิเคราะห์แล้วว่าไม่คุ้มค่าเพราะเรื่องต้นทุนอื่นๆที่ตามมา

                                        iv.    อุปสรรคต่อการเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่าย เนื่องจากมีผู้อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมครอบครองช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นอยู่ ทำให้ผู้เข้ามาใหม่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่าย หรือต้องพยายามมองหาช่องทางการจัดจำหน่ายอื่นๆ

                                         v.    ข้อเสียเปรียบทางต้นทุนที่ไม่ขึ้นอยู่กับขนาด เช่น การเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตร, การมีแหล่งวัตถุดิบ, การมีทำเลที่ตั้งที่ดีกว่า หรือ การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นต้น

6.2   การแข่งขันระหว่างธุรกิจที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม ได้แก่ จำนวนคู่แข่งถ้ามีปริมาณมากจนเกินไปทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง, อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม ถ้ายังมีช่องว่างและมีอนาคตย่อยดึงดูดผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามามากยิ่งขึ้น, การบริการ, กำลังการผลิต เป็นต้น

6.3   อำนาจการต่อรองของผู้ซื้อ ถ้าผู้ซื้อเป็นลูกค้ารายใหญ่สั่งสินค้าเป็นจำนวนมากๆ ทำให้ลูกค้ามีอำนาจการต่อรองในเรื่องราคาได้ และบางสินค้า ในอนาคตลูกค้าอาจจะตั้งบริษัทมาแข่งขันได้, การมีผู้ขายเป็นจำนวนมาก, สินค้าทดแทน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนจากการใช้กาซมาเป็นถ่านหิน, ต้นทุนการเปลี่ยนผู้ขายต่ำ

6.4   สินค้าทดแทน นอกจากจะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว ในบางครั้งอาค์กรอาจประสบปัญหาการคุกคามของสินค้าทดแทนจากอุตสาหกรรมอื่น อาจจะเป็นภาวะชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ เช่น เมื่อสินค้าแพงขึ้นลูกค้าบางกลุ่มหันไปใช้สินค้าที่คล้ายคลึงกัน หรือการทดแทนที่สมบูรณ์ เช่นการพัฒนาแผ่น DVD มาแทนวีดีโอเทป เป็นต้น

6.5   ผู้ขายวัตถุดิบ ถ้าผู้ซื้อซื้อสินค้าในปริมาณน้อย จะทำให้ไม่มีอำนาจการต่อรอง, ผู้ขายมีศักยภาพในการผลิตสินค้ามาแข่งกับผู้ซื้อ, ผู้ขายมีจำนวนน้อย

7.     นำข้อมูลผลประกอบการหลายปีที่ผ่านมา มาต่อเรียงกันเพื่อดูค่าต่างๆย้อนหลัง ได้แก่ ROE, ROA, PE, NPM, การจ่ายเงินปันผล และยอดขายต่างๆ ในอดีตมาดูสถานการณ์และความไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมาและในอนาคต

 

P/E บอกอะไรได้

P/E หมายถึง Market Cap./Earning หรือ มูลค่าตลาดหารกำไร นักลงทุนมือใหม่มักใช้เพื่อดูว่าหุ้นถูกหรือแพงแค่ใหน [ มูลค่าตลาด = จำนวนหุ้นxราคาหุ้น ] และ กำไร เป็นกำไรทั้งปี หรือ

                                                                P/E = ราคาหุ้น/กำไรต่อหุ้น

E = EPS = Earning per share กำไรต่อหุ้น

ตัวอย่างที่ 1 ราคาหุ้น 5 บาท บริษัทมีกำไรต่อหุ้น 0.5 บาทต่อหุ้น ดังนั้น P/E = 5/0.5 = 10 เท่า

ตัวอย่างที่ 2 ถ้ามีบ้านให้เช่า 4 หลัง ซื้อมาหลังละ 1 แสนบาท ได้รับค่าเช่า หลังละ 10,000 บาทต่อปี (มีค่าใช้จ่ายหลังละ 2,000 บาทต่อปี) ดังนั้นค่าเช่าสุทธิที่จะได้รับ 4 หลังคือ 4*(10,000-2,000) = 32,000 บาทต่อปี

ดังนั้น P/E เท่ากับ 400,000/32,000 = 12.50 แต่เรามักจะคุ้นกับผลตอบแทน เราก็สามารถหาได้โดยใช้ E/P คือ 32,000/400,000*100 เท่ากับ 8.00% ต่อปี

โดยทั่วไปสำหรับทั้งตลาดของไทย P/E น้อยกว่า 8 ถือว่าถูก และมากกว่า 15 ถือว่าแพง แต่จะมาวัดสำหรับหุ้นแต่ละตัวก็คงบอกยากว่า PE เท่าไหร่ถูกหรือแพง

ผลประกอบการของบริษัทจะประกาศทุกไตรมาส คือ 3 เดือน ไตรมาสแรก ม.ค ถึง มีนาคม และจะประกาศผลในอีก 45 วันถัดไป คือในวันที่ 15 พฤษภาคม ยกเว้นงบประจำปี จะประกาศอีก 60 วันถัดไป แต่สำหรับบางบริษัทไตรมาสแรกอาจจะไปอยู่เดือน กันยายน ถึง ธันวาคม ก็มี

 ถ้าธุรกิจมีพีอี 5 เท่า หมายความว่า ถ้าหุ้นราคา 10 บาท กำไรต่อหุ้นจะเป็น 2 บาท (P/E=10/2=5) ดังนั้นบริษัทก็สามารถปันผลได้ถึง 2 บาทต่อหุ้น แต่โดยทั่วไปมักจะไม่ถึง เพราะต้องเหลือเงินไว้ลงทุนต่อ เพื่อหวังว่าจะได้มีกำไรเพิ่มขึ้นในปีถัดไป  แต่บางทีมีกำไร 100 ล้านแต่อาจจะไม่มีเงินสดถึง 100 ล้านก็ได้ เช่น ขายของได้แต่ยังเก็บเงินไม่ได้ หรือ มีกำไรจะการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น กรณีที่ธนาคารยกหนี้บางส่วนให้ หรือในบางบริษัทก็ได้เงินสดมากกว่ากำไร (ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น) เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ต้องตัดค่าเสื่อมราคาสำหรับสินทรัพย์มีตัวตน หรือ มีการตัดจำหน่าย สำหรับสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ตัวอย่างเช่น ได้รับค่าเช่า 10 ล้าน มีค่าใช้จ่าย 2 ล้าน ค่าเสื่อมอาคาร 1 ล้าน ทำให้กำไรก่อนภาษีและดอกเบี้ย เท่ากับ 10-2-1 = 7 ล้าน แต่จะมีเงินสด 8 ล้าน เพราะค่าเสื่อมเป็นการคาดการณ์ว่าอาคารให้เช่าเสื่อมลง 1 ล้านบาท แต่ไม่มีการจ่ายเงินออกไปจริงๆ เว้นแต่จะทำการซ่อมแซมอาคารจริงๆ ซึ่งการซ่อมแซมต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แต่เท่าไหร่นั้นตอบได้ยาก

                ดังนั้นทำให้ P/E ไม่สามารถบอกถึงความถูกแพง หรือเหมาะสมที่จะลงทุนได้ แต่เราก็สามารถพิจารณาได้ด้วยการตัดรายการพิเศษเหล่านี้ออกไป ทำให้ได้ P/Eadjust ที่เราสามารถนำมาพิจารณาได้ ตัวอย่างรายการพิเศษ ได้แก่ กำไรปรับโครงสร้างหนี้, กำไรจากการขายทรัพย์สินของบริษัทออกไปทำให้ได้กำไรเพียงครั้งเดียว (ให้ตีเป็นมูลค่าต่อหุ้นแทน), กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เป็นต้น

                ถ้าหุ้นไม่มีการเติบโต P/E ควรไม่เกิน 7 เท่าและต้องปันผลออกมีในอัตราที่สูง แต่โดยทั่วไปแล้วหุ้นลักษณะนี้อาจจะไม่มีและเป็นหุ้นไม่น่าลงทุนเป็นอย่างยิ่งเว้นแต่บริษัทจะมีสินทรัพย์ซ่อนเร้นอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าหุ้นเติบโตระดับกลาง เช่น หุ้นผลิตไฟฟ้า 5%-10% โดยเฉลี่ย P/E ควรไม่เกิน 10 เท่า, หรือ ถ้าเติบโตสูง 15%-20% P/E ควรอยู่ระหว่าง 12-17 เท่า โดยประมาณ ทั้งนี้การที่จะบอกว่าหุ้นควรมี P/E เป็นเท่าไร ก็ขึ้นอยู่ผู้ลงทุนว่าต้องการความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นเท่าไหร่ ถ้าคาดหวังผลตอบแทนสูงควรเข้าซื้อที่ P/E (ผลการดำเนินงานปกติ) อยู่ในระดับต่ำลงมาอีก แต่อาจจะต้องรอนาน 6 เดือนหรืออาจจะถึงเป็นปีๆ ก็เป็นไปได้

                ไม่เพียงเท่านี้ P/E สูงๆสำหรับบริษัท Holding ก็อาจจะเป็นราคาที่เหมาะสมได้ โดยนักลงทุนจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องการลงบันทึกกำไรประกอบการพิจารณา

                บทสรุปของค่า PE มันเป็นสิ่งที่บอกได้หยาบๆว่า ณ วันที่เราลงทุนที่ราคานั้น มันแพงหรือถูก และ PE มันก็คำนวณจากอดีตที่บริษัทได้ทำกำไรไว้ ในขณะที่ความคาดหวังของตลาดอยู่ที่กำไรในอนาคตที่ยาวนาน

หุ้น CP7-11 (เปลี่ยนชื่อเป็น CPALL) ในปลายปี 2549 มีราคาประมาณ 6.50 บาท มีพีอีเรโชอยู่ประมาณ 20 และในต้นปี 2550 พีอีก็ขยับเพิ่มขึ้นไปอีก แต่เป็นหุ้นที่ถูก เพราะอะไร? CP7-11 มีธุรกิจ 2 กลุ่มหลักๆ คือ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในประเทศไทย และ ธุรกิจค้าปลีก Mega discount store ในนาม Tesco-Lotus ในประเทศจีน โดยทั่วไปแล้วธุรกิจค้าปลีก (Modern trade) มีการซื้อขายกันที่ PE ประมาณ 15 เท่า (ช่วงปี 2548 –ต้นปี 2551) ถือว่าเป็นราคายุติธรรม แต่ CP7-11 มี PE มากกว่า 20 ณ ราคา 6.50 บาท

                ถ้าเราเจาะลึกลงไปในธุรกิจ 2 กลุ่มของ 7-11 แล้วจะเห็นว่า เฉพาะกำไรในประเทศไทยจะทำให้ CP7-11 มี P/E ต่ำกว่า 10 เท่า แต่เมื่อรวมธุรกิจในประเทศจีนที่มีผลขาดทุนอย่างหนัก ทำให้ ผลประกอบการของ CP7-11 ออกมาไม่ดีนัก

                นักลงทุนรอคอยผลประกอบการในประเทศจีนให้กลับมาเป็นกำไรไม่ไหว ก็ได้เทขายหุ้นออกมาจนทำให้หุ้นลงไปต่ำสุดที่ 5.60 บาท ซึ่งถ้านักลงทุนพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า ผลประกอบการในจีนก็เป็นบริษัทแยกไปต่างหาก ถ้าขาดทุนหรือต้องปิดกิจการ ก็ไม่มีผลต่อ CP7-11 เพราะธุรกิจในจีนเป็นบริษัทจำกัด ถ้าต้องปิดตัวไป CP7-11 ก็ไม่ต้องรับผิดชอบกันหนี้สินใดๆ เว้นแต่ CP7-11 จะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ (ความเป็นจริง CP7-11 ก็เข้าไปค้ำประกันเงินกู้จริงๆ) แต่ธุรกิจในจีนขาดทุนก็ไม่ถึงกลับเจ็ง เพียงแต่ต้องรอนานหน่อยถึงจะถึงจุดคุ้มทุน

                ดังนั้นการพิจารณาเฉพาะกำไรในประเทศก็ทำให้ CP7-11 น่าลงทุนแล้ว และถ้าโลตัสในจีนกลับมามีกำไร หรือ เท่าทุน ก็จะทำให้ CP7-11 มีราคาที่สูงขึ้นแน่นนอน

และแล้วต้นปี 2550 ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มีการเคลื่อนไหว ทำการประกาศว่าจะมีการขายหุ้นในโลตัสในจีนออกไปอย่างมีเงื่อนไขเฉพาะ(ให้กับกลุ่ม CP ในจีน) ทำให้ราคาหุ้นวิ่งไปถึง 13 บาท ภายในไม่ถึง 6 เดือน เพราะคาดหวังว่า CP7-11 จะไม่ต้องบันทึกผลขาดทุนในโลตัสจีนอีกต่อไป ทำให้ P/E ลดลงเหลือไม่ถึง 10 เท่า ซึ่งถือว่ามีราคาที่ถูก และรางวัลก็เป็นของนักลงทุนที่มีความมั่นใจในธุรกิจ (ซึ่งมันจะมาจากการวิเคราะห์ธุรกิจอย่างรอบครอบและมีเหตุผล)

หุ้น DM (ธนมิตรแฟกตอริ่ง) เป็นหุ้นเกี่ยวกับให้สินเชื่อแฟกตอริ่งกับธุรกิจขนาดย่อย DM มีกำไรประมาณ 1.1-1.2 บาทต่อหุ้นในปี 2547 ราคาหุ้นอยู่ประมาณ 12-15 บาท ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ในปี 2548 กำไร 2 ไตรมาสแรกอยู่ที่ 0.74 บาทต่อหุ้น ถ้าครึ่งปีหลังทำได้ อีก 0.7 บาท ก็จะได้ 1.44 บาทต่อหุ้น ถ้าราคาเหมาะสมซื้อขายกันที่ P/E 10 เท่า ราคาก็ควรอยู่ที่ 14.4 บาท ในปี 2547 มีปันผล 1.1 บาทต่อหุ้น ทำให้มีปันผล 7.64% และถ้ารวมเครดิตภาษี จะได้ 10.18% ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สมเหตุผล น่าลงทุน เพราะธุรกิจมีการเติบโตต่อเนื่องตลอด 4 ปี จากกำไร 5.18 ล้านบาทในปี 2544 เป็น 19.30 ล้านในปี 2547

และแล้วหนี้เสียก็เป็นเหตุ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2548 บริษัทรายงานผลประกอบการขาดทุนไตรมาสเดียวถึง -44.16 ล้านบาท หรือคิดเป็น -2.21 บาทต่อหุ้น ทำให้หุ้นร่วงลงมาเหลือ 4.3-6.0 บาท เพราะทำให้ P/E ที่คาดไว้จากประมาณ 10 เท่า กลับกลายเป็นติดลบ เพราะ 3 ไตรมาสแรกของปีก็ขาดทุนไปถึง -29 ล้านบาท

วิกฤติเป็นโอกาส ถ้าเราคิดว่านี่คือผลประกอบการที่ไม่ปกติ ถือว่าราคาหุ้น 6.0 บาทนั้นถูกมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่บริษัทมีอยู่ บริษัทมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 20 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 6.0 บาท ทั้งบริษัทมีมูลค่า 120 ล้านบาท แต่บริษัทมีส่วนผู้ถือหุ้น ( ทรัพย์สินรวม-หนี้สินรวม ) ประมาณ 127 ล้านบาท โดยมากกว่า 95 % เป็นเงินสด ทำให้เราซื้อหุ้นได้ในราคามีส่วนลดอยู่มาก เพราะถ้าปีถัดไปไม่มีหนี้เสียที่เป็นกรณีไม่ปกติ (รายละเอียดอ่านในรายงานประชุม และ รายงานประจำปี หรือ แบบ 56-1 ดาว์นโหลดได้จาก www.sec.or.th) จะทำให้กำไรมีโอกาสกลับมาประมาณ 1.00 บาทต่อหุ้น

โดยปกติแล้ว DM จะทำธุรกิจกับกลุ่มการค้า Modern trade ที่ค้าขายกับ Central, BigC และ Lotus เป็นต้น ทำให้ความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียน้อย แต่เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

ในปี 2549 บริษัทก็กลับมามีกำไรเป็นปกติ 1.12 บาทต่อหุ้น ซึ่งบริษัทก็ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ในขณะที่ราคาหุ้นวิ่งมาอยู่ที่ 8.0-9.0 บาท และมีปันผลอีก 0.50 บาทต่อหุ้น

ในปี 2550 กำไร 2 ไตรมาสแรกอยู่ที่ 0.94 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทให้เหตุผลว่าได้รุกขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น(แต่ความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียอาจจะมีมากขึ้นได้ในอนาคต) ทำให้หุ้นวิ่งมาอยู่ที่ 11.00 บาท ผู้ลงทุนในช่วงวิกฤติของบริษัท ได้รับผลตอบแทนเกือบ 100 % มีคำถามว่าหุ้นแพงหรือยัง คำตอบคือ ยัง และยังคาดการว่าจะมีปันผลไม่น้อยกว่า 1.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นผลตอบแทน เกือบ 10 % และถ้านำไปเครดิตภาษี จะได้ เป็น 1.00/0.80 = 1.25 บาทต่อหุ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม มีนาคม 2551: ในปี 2550 DM ได้ประกาศผลประกอบการที่ 34.60 ล้านบาท หรือ กำไรต่อหุ้นที่ 1.73 โดยมีราคาซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 14.0 บาทและปันผล 1.00 บาท และในวันที่ 30 เมษายน 2551  บริษัทก็ประกาศผลประกอบการ Q1/2551 ที่ 0.60 บาทต่อหุ้น หรือกำไรสุทธิ 12.088 ล้านบาท

เครดิตภาษี ยังไง

โดยปกติกำไรจากบริษัทต่างๆจะอยู่ประมาณ 30 % ยกเว้นแต่จะมีขาดทุนสะสม หรือได้สิทธิทางภาษีจาก BOI จะทำให้ไม่ต้องเสียภาษี ถ้าบริษัทที่จ่ายภาษี 30 % หมายความว่าเงินที่จ่ายปันผลออกมาให้เรา 1 บาท ได้ทำการหักภาษีออกไปแล้ว 30 % เพราะฉะนั้นเงินที่เราจะได้ก่อนภาษีควรเป็น 1/0.70 บาท และถ้าบริษัทจ่ายภาษี 25 % (เป็นสิทธิพิเศษให้กับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี) ก็จะเป็น 1/0.75 บาท