ยุคของคอมพิวเตอร์


คอมพิวเตอร์แบ่งเป็น 5 ยุค


คอมพิวเตอร์ยุคที่ 1 (First Generation Computer) พ.ศ. 2488 ถึง พ.ศ. 2501 เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้หลอดสุญญากาศซึ่งใช้กำลังไฟฟ้าสูง จึงมีปัญหาเรื่องความร้อนและไส้หลอดขาดบ่อย ถึงแม้จะมีระบบระบายความร้อนที่ดีมาก การสั่งงานใช้ภาษาเครื่องซึ่งเป็นรหัสตัวเลขที่ยุ่งยากซับซ้อน เครื่องคอมพิวเตอร์ของยุคนี้มีขนาดใหญ่โต เช่น มาร์ค วัน (MARK I), อีนิแอค (ENIAC), ยูนิแวค (UNIVAC)



คอมพิวเตอร์ยุคที่ 2 (Second Generation) พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2506 เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์ โดยมีแกนเฟอร์ไรท์เป็นหน่วยความจำ มีอุปกรณ์เก็บข้อมูลสำรองในรูปของสื่อบันทึกแม่เหล็ก เช่น จานแม่เหล็ก ส่วนทางด้านซอฟต์แวร์ก็มีการพัฒนาดีขึ้น โดยสามารถเขียนโปรแกรมด้วยภาษาระดับสูงซึ่งเป็นภาษาที่เขียนเป็นประโยคที่คนสามารถเข้าใจได้ เช่น ภาษาฟอร์แทน ภาษาโคบอล เป็นต้น ภาษาระดับสูงนี้ได้มีการพัฒนาและใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน



คอมพิวเตอร์ยุคที่ 3 (Third Generation Computer) พ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2512 มีการประดิษฐ์คิดค้นเกี่ยวกับวงจรรวม (IC Integrated Circuit) วงจรเหล่านี้สามารถวางลงบนชิปเล็กๆ เพียงแผ่นเดียวและนำชิปเหล่านี้มาใช้แทนทรานซิลเตอร์ ทำให้ประหยัดพื้นที่ได้มาก


ชิป (Chip) เป็นการเรียกไมโครชิปอย่างสั้นๆ เป็นโมดุลขนาดเล็กและซับซ้อน ใช้เป็นหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ หรือเป็นวงจรทางตรรกะของไมโครโปรเซสเซอร์ ชิปที่รู้จักกันดี คือ Pentium ไมโครโปรเซสเซอร์ของ Intel หรือ Power PC ไมโครโปรเซสเซอร์ที่พัฒนาโดย Apple, Motorola และ IBM ใช้ในเครื่อง Macintosh และเครื่องเวิร์กสเตชั่นบางรุ่น AMD และ Cyrix เป็นผู้ผลิตชิปของไมโครโปรเซสเซอร์ที่มีชื่อเสียง



คอมพิวเตอร์ยุคที่ 4 (Fourth Generation Computer) พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน เป็นยุคของคอมพิวเตอร์ที่ใช้วงจรรวมความจุสูงมาก (Very Large Scale Integration : VLSI) เช่น ไมโครโพรเซสเซอร์ที่บรรจุทรานซิสเตอร์นับหมื่นนับแสนตัว ทำให้ขนาดเครื่องคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงสามารถตั้งบนโต๊ะในสำนักงาน หรือพกพาเหมือนกระเป๋าหิ้วไปในที่ต่าง ๆ ได้ ขณะเดียวกันระบบซอฟต์แวร์ก็ได้พัฒนาขีดความสามารถสูงขึ้นมาก มีโปรแกรมสำเร็จให้เลือกใช้กันมากทำให้เกิดความสะดวกในการใช้งานอย่างกว้างขวาง


คอมพิวเตอร์ยุคที่ 5 (Fifth Generation Computer) พ.ศ.2533-ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ยุคที่ 5 นี้ มุ่งหน้าพัฒนาความสามารถในการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ และความสะดวกสบายในการใช้คอมพิวเตอร์ มีการพัฒนาสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาขนาดเล็ก


โครงการพัฒนาอุปกรณ์ VLSI (Very Large Scale Integrated Circuit) ใช้งานง่ายมีความสามาสูงขึ้น รวมทั้งโครงการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เป็นหัวใจของการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ โดยหวังให้ระบบความพิวเตอร์มีความรู้ความสามารถวิเคราะห์ปัญหาอย่างมีเหตูผล


ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) คือ ความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นใช้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ปัญญาประดิษฐ์เป็นสาขาทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมเป็นหลัก และยังรวมถึงศาสตร์ในด้านต่างๆ เช่น จิตวิทยา ปรัชญา หรือชีววิทยา ซึ่งสาขาปัญญาประดิษฐ์เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิด การกระทำ การให้เหตุผล การปรับตัว การอนุมาน และการทำงานของสมอง

องค์ประกอบของระบบปัญญาประดิษฐ์ ประกอบด้วย


1. ระบบหุ่นยนต์ หรือแขนกล (Robotics or Robotarm System) คือ หุ่นจำลองร่างกายมนุษย์ที่ควบคุมการทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ มีจุดประสงค์เพื่อให้ทำงานแทนมนุษย์ในงานที่ต้องการความเร็ว หรือเสี่ยงอันตราย เช่น แขนกลในโรงงานอุตสาหกรรม หรือหุ่นยนต์กู้ระเบิด เป็นต้น

2. ระบบประมวลภาษาพูด (Natural Language Processing System) คือ การพัฒนาให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถสังเคราะห์เสียงที่มีอยู่ในธรรมชาติ (Synthesize) เพื่อสื่อความหมายกับมนุษย์ เช่น เครื่องคิดเลขพูดได้ (Talking Calculator) หรือนาฬิกาปลุกพูดได้ (Talking Clock) เป็นต้น

3. การรู้จำเสียงพูด (Speech Recognition System) คือ การพัฒนาให้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์ และสามารถจดจำคำพูดของมนุษย์ได้อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือเป็นการพัฒนาให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ด้วยภาษาพูด เช่น งานระบบรักษาความปลอดภัย งานพิมพ์เอกสารสำหรับผู้พิการ เป็นต้น

4. ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) คือ การพัฒนาให้ระบบคอมพิวเตอร์มีความรู้ รู้จักใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ปัญหา โดยใช้ความรู้ที่มี หรือจากประสบการณ์ในการแก้ปัญหาหนึ่ง ไปแก้ไขปัญหาอื่นอย่างมีเหตุผล ระบบนี้จำเป็นต้องอาศัยฐานข้อมูล (Database) ซึ่งมนุษย์ผู้มีความรู้ความสามารถเป็นผู้กำหนดองค์ความรู้ไว้ในฐานข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ได้จากฐานความรู้นั้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์วิเคราะห์โรค หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ทำนายโชคชะตาราศี

เมื่อคอมพิวเตอร์พัฒนามาถึงยุคที่ 5 มีความสามารถมากขึ้น ทำงานได้เร็ว การประมวลผลข้อมูลได้ครั้งละมากๆ สามารถทำงานหลายงานได้ในเวลาเดียวกัน (Multitasking) ขณะเดียวกันก็มีการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในองค์กร โดยใช้ระบบเครือข่ายท้องถิ่น (LAN : Local Area Network) เมื่อเชื่อมเครือข่ายหลายๆเครือข่ายองค์กร ก็เกิดเป็นเครือข่ายอินเตอร์เน็ต