ส่วนที่ 2 ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทาย ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษา 

ประเด็นที่ท้าทายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษา ของผู้จัดทำข้อตกลง  ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ แสดงให้เห็นถึงระดับการปฏิบัติที่คาดหวังของวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ คือ การริเริ่ม พัฒนา การบริหารจัดการสถานศึกษาและคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือ มีการพัฒนามากขึ้น (ทั้งนี้ ประเด็นท้าทายอาจจะแสดงให้เห็นถึงระดับการปฏิบัติที่คาดหวังในวิทยฐานะที่สูงกว่าได้)

ประเด็นท้าทาย เรื่อง การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยใช้เทคนิคการ PLC (With Growth Mindset)

1. สภาพปัญหา  ที่มาและความสำคัญ
ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ เทคโนโลยี การแข่งขัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทำให้องค์กรต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์เหล่านี้เรียกว่า “VUCA World”  ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้นำองค์กรที่ต้องเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือให้ทันสถานการณ์ VUCA world นี้ยังสามารถรวมถึง การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมอย่างพลิกผัน (Disruptive innovation) ด้วย จนมีคำกล่าวหนึ่งว่า “รีบเปลี่ยนแปลงเสียก่อน มิฉะนั้นคุณก็อาจจะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง” ในสถานการณ์ “VUCA World” นั้น ดูเหมือนว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางที่อิงกับการ "แก้ปัญหาและการวางแผนเพื่อลดความไม่แน่นอน" ไปสู่ โลกที่มีการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว ด้วย "การมีส่วนร่วม การพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง และรวดเร็วในการตัดสินใจ ตลอดจนการทำงานเชิงรุก"  ผู้นำในยุคดิจิตอลนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง  (Change) การคิดเชิงนวัตกรรม  (Innovation and Thinking different) เพื่อให้การทำงานสามารถรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรงเรียนบ้านปวงคำ(ประชาอุทิศ) เป็นองค์กรหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวน และไม่แน่นอนในปัจจุบัน ข้าพเจ้าในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้นำองค์กรจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างทีมงานและพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พัฒนาโรงเรียน และนักเรียนให้มีคุณภาพและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างดี   ในการพัฒนาโรงเรียน การสร้างบริบทแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนั้น ครูมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก หากครูมีการทำงานโดยร่วมมือกันย่อมส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีขึ้นและสอดคล้องกัน เดิมทีการทำงานของครูผู้สอนภายในโรงเรียนมักมีการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเพียงเล็กน้อย ครูมองว่าคาบเรียนที่ตนเองสอนเป็นความรับผิดชอบของตนเองเพียงผู้เดียว ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากการเรียนรู้ของนักเรียน การจัดการห้องเรียน หรือวิธีการสอนของครู ครูต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้เพียงลำพัง ในทางตรงกันข้าม ครูผู้มีประสบการณ์และความชำนาญก็ไม่ได้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับครูท่านอื่นๆ เพื่อก้าวข้ามปัญหาเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงได้นำเทคนิคการ PLC (With Growth Mindset) มาเป็นแนวทางการพัฒนาโรงเรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนให้สูงขึ้น

2. วิธีการดำเนินการให้บรรลุผล
หัวใจหลักของการทำ PLC คือ การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน มีความเป็นกัลยาณมิตร เห็นเป้าหมายไปสู่การพัฒนานักเรียนร่วมกัน ซึ่งการจัดกระบวนการ PLC ไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนหรือทรัพยากรมากมาย เพียงแค่ครูพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีการสอน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผนเพื่อวิเคราะห์ปัญหา  การทำ PLC มีความยืดหยุ่นสูง ขึ้นอยู่กับบริบทโรงเรียน, วัตถุประสงค์ และ ความพร้อมในการทำ สามารถจัดในรูปแบบจับกลุ่มครูระดับชั้นเดียวกัน (Grade-level teams) เน้นการร่วมมือกันวางแผนการสอนให้สอดคล้องกันภายในระดับชั้น หรือจับกลุ่มตามสาระการเรียนรู้ (Content-area teams) เน้นการปรับปรุงหลักสูตร หรือใช้ครูเพียง 2 คน ที่อยากพัฒนาวิชาชีพตนเองอาจมาจากต่างวิชา ต่างระดับชั้น หรือแม้กระทั่งต่างโรงเรียน ก็สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ ไม่ว่าจะเป็น PLC รูปแบบใด แต่รูปแบบ PLC ที่ประสบความสำเร็จเกิดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครูจริงๆ มีลักษณะสำคัญที่คล้ายคลึงกัน โดย Vescio et al. (2008) ได้ระบุลักษณะของ PLC ที่ประสบความสำเร็จไว้ 4 ข้อ ได้แก่

1. คุณครูร่วมมือกันทำงานสอน ร่วมกันเรียนรู้

2. คุณครูพุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้ของนักเรียน

3. คุณครูมีแนวคิดริเริ่มในการเสริมสร้างการเรียนรู้และการกำกับดูแลโรงเรียน

4. คุณครูพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะไปถึงเป้าหมายของการพัฒนาห้องเรียน

ข้าพเจ้ากำหนดเทคนิคการทำ PLC (Whit Growth Mindset)  ไว้  5  ขั้นตอน  ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะเป็นการสร้างทีมงาน ที่จะร่วมกันทำ PLC ครูต้องจับกลุ่มเลือกทีมกันเองได้ตามความเหมาะสม เช่น เป็นเพื่อนครูที่สนิทกัน อยู่กลุ่มสาระเดียวกัน อยู่โรงเรียนเดียวกัน มาจับกลุ่มรวมกัน จะได้ทำงานกันง่ายขึ้น หรือจะต่างกลุ่มสาระ ต่างโรงเรียน ก็ได้เช่นกัน และในการรวมกลุ่มจะต้องมีครูที่พอจะทำเรื่องเทคโนโลยี มาช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้นเพื่อความต่อเนื่องของการทำ PLC เช่น การสร้างกลุ่มไลน์ วิดีโอคอลประชุมกันก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของครู เมื่อได้สมาชิกในกลุ่มครบแล้ว ก็ต้องมากำหนดบทบาทหน้าที่ในการทำ PLC ซึ่งประกอบด้วย 

1. Model teacher คือ เจ้าของแผนหรือเจ้าของประเด็นท้าทาย 

2. Buddy คือ เพื่อครูที่สอนในระดับชั้นเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน 

3. Mentor คือ พี่เลี้ยง/ผู้ทรงคุณวุฒิ (คนที่โรงเรียนตั้งเป็นกรรมการประเมิน PA) 

4. Expert คือ ผู้เชี่ยงชาญ (ศึกษานิเทศประจำเครือข่าย) 

5. Administrator คือ ผู้บริหารสถานศึกษา 

โดยครูทุกคนในโรงเรียนจะต้องได้เป็น Model Teacher ในการทำ PLC ของตนเอง โรงเรียนบ้านปวงคำ(ประชาอุทิศ) เลือกใช้รูปแบบที่ 4 ในการจับกลุ่ม PLC เพราะสอดคล้องกับสภาพบริบทของโรงเรียนมากที่สุด

“เริ่มต้นดี  PLC  ก็เกิด”

เอกสารที่เกี่ยวข้อง  PLC_LPN2-01

ขั้นตอนที่ 2 : เป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้การสร้างทีม เพราะ “การกำหนดปัญหา” ครูจะต้องหาทางแก้ไขปัญหานั้นให้ได้ด้วย  เปิดโอกาสให้ครูผู้สอนได้กำหนดปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในห้องเรียน  เริ่มจากปัญหาที่ครูเจอบ่อยๆ พบบ่อยๆ เช่น เด็กไม่ยอมทำการบ้าน หรือไม่ส่งงานตามกำหนด หรือ ผู้บริหารกำหนดประเด็นที่ต้องการพัฒนา เช่น ประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ สื่อและแหล่งเรียนรู้ เป็นต้น เน้นปัญหาที่สามารถแก้ไขสำเร็จได้ ภายใน 1 ภาคเรียน หรือ 1 ปีการศึกษา และสามารถเชื่อมโยงกับสมรรถนะ และคุณสมลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนด้วย


 กำหนดปัญหาที่แท้จริง 


เอกสารที่เกี่ยวข้อง  PLC_LPN2-01


ขั้นตอนที่ 3 : วางแผนการแก้ไข และกำหนดกระบวนการดำเนินการ ผู้บริหารและครูในวง PLC ร่วมกันวางแผน กำหนดเป้าหมายในการร่วมวง PLC รวมทั้งหาวิธีการแก้ไขปัญหา หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างการทำงานไว้ด้วย  ในขั้นตอนนี้ครูที่เป็น Model Teacher ทุกคนต้องเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ และออกแบบกระบวนการสอนให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่กำหนดไว้ในวง PLC ซึ่งขั้นตอนหรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ควรออกแบบให้สอดคล้องกับเกณฑ์และตัวชี้วัดในการประเมิน PA (8 ตัวชี้วัด) และเหมาะสมกับระดับวิทยฐานะของตัวเอง อันจะนำไปสู่การส่งผลงานเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะต่อไป จากนั้นประชุมกลุ่ม PLC เพื่อร่วมกันสะท้อนคิดและวิพากษ์แผนการจัดการเรียนรู้ของกันและกัน สิ่งสำคัญคือ ครูต้องเคารพเสียงของกันและกัน เปิดใจร่วมพัฒนา (Growth Mindset) เพื่อให้ได้แผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด พร้อมที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมต่อไป คือ กิจกรรมเปิดชั้นเรียน (Classroom Observation)

เปิดใจร่วมพัฒนา (Growth Mindset)

เอกสารที่เกี่ยวข้อง  PLC_LPN2-02

ขั้นตอนที่ 4 : กิจกรรมเปิดชั้นเรียน (Classroom Observation) โดยให้ Model Teacher ดำเนินการสอนตามกระบวนการที่วางแผนไว้ที่ละขั้นตอน ผู้บริหารและผู้ที่ร่วมวง PLC ทุกคนต้องโฟกัสเป้าหมายให้เป็นไปตามที่ตั้งไว้ และในระหว่างการจัดการเรียนการสอนสิ่งที่ควรบันทึก/ข้อมูลที่ควรจะเก็บระหว่างจัดการเรียนการสอน คือ 

1. ข้อมูลพื้นฐานของกิจกรรมที่ทำ : ชื่อเรื่อง กลุ่มนักเรียนที่ร่วมกิจกรรม วันที่ เวลาเริ่มต้น ถึงสิ้นสุด เป็นต้น 

2. บรรยากาศช่วงเริ่มต้นการสอน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ว่านักเรียนมีปฏิกิริยากับสิ่งที่คุณครูสอนอย่างไรบ้าง สนใจมากน้อยแค่ไหน 

3. การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามแผนหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามแผนให้ระบุสาเหตุด้วย 

4. พฤติกรรมนักเรียนระหว่างจัดการเรียนการสอน เกิดการเรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ 

5. ครูมีวิธีจัดการ/ดำเนินการกับนักเรียนที่แสดงออกมาระหว่างเรียนว่ารู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องในเรื่องที่สอนอย่างไรบ้าง 

6. ระหว่างจัดการเรียนการสอน มีสิ่งใดที่เป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อน หรือต้องแก้ไขส่วนใด 

 ซึ่งในกลุ่ม PLC อาจจะมีแบบสังเกตการสอน และ แบบบันทึกการสะท้อนผลการสอน หรือ แบบบันทึกอื่นๆ เพื่อใช้ในการ observe ชั้นเรียนด้วยก็ได้

โฟกัสเป้าหมาย

เอกสารที่เกี่ยวข้อง  PLC_LPN2-03 และ  PLC_LPN2-04

ขั้นตอนที่ 5 : สนทนาสะท้อนผลหลังการปฏิบัติ ขั้นตอนนี้ผู้บริหารและทุกคนในวง PLC ต้องกลับมาสรุปร่วมกันในกลุ่ม PLC โดยในการสรุปนั้น ต้องพยายามตอบคำถามใน 4 ประเด็นดังต่อไปนี้ ให้ได้มากที่สุด  

1. นักเรียนได้เรียนรู้และเกิดพฤติกรรม ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้มากน้อยแค่ไหน  

2. เรารู้ได้อย่างไรว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้หรือบรรลุตามเป้าหมายที่เราวางไว้  

3. เราจะจัดการหรือหาวิธีทำอย่างไรกับกลุ่มนักเรียนที่ไม่เกิดการเรียนรู้หรือไม่บรรลุพฤติกรรมตามเป้าหมาย  

4. เมื่อนักเรียนเกิดการเรียนรู้และบรรลุพฤติกรรมตามเป้าหมายแล้วจะทำอย่างไรต่อ

หาคำตอบแต่ละข้อให้ได้มากที่สุด เพราะยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ เราจะมีข้อมูลไปวิเคราะห์ในการทำ PLC ในวงรอบต่อไปมากขึ้น 

จากนั้น ให้สมาชิกในกลุ่ม PLC ร่วมกันวางแผนการจัดการเรียนรู้ในรอบใหม่ โดยครูคนที่เป็น Model Teacher นำผลที่สรุปไว้มาบันทึกรวบรวมผล และเก็บไว้ให้เรียบร้อย 


ตอบคำถาม 4 ข้อ และ บันทึกหลังสอน

เอกสารที่เกี่ยวข้อง PLC_LPN2-05

ในการบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ ต้องสะท้อนว่า กว่าจะสามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุผลได้นั้น สมาชิกได้มี “บทเรียนที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน” อย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญมาก! ผลจากการสรุปต้อง “นำไปสู่การวางแผนจัดการเรียนรู้ในรอบใหม่” เพราะจะทำให้เกิดความแม่นยำในการแก้ปัญหาและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเมื่อสรุปผลครบถ้วน ครูสามารถเริ่มดำเนินการจัดการเรียนรู้ในรอบใหม่ได้เลย นั่นก็คือกลับไปใน ขั้นตอนที่ 3 การวางแผนและออกแบบกระบวนการ วนกลับมาทำอีกครั้งซึ่งเมื่อเกิดการทำแบบนี้ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายจะกลายเป็นการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ที่มีความเฉพาะเจาะจงของโรงเรียน ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม PLC นั้นๆ ได้

3. ผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวัง
3.1 เชิงปริมาณ  

  3.1.1 นักเรียนร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยสูงขึ้น เทียบจากปีการศึกษาก่อนกน้า

  3.1.2 ครูผู้สอนร้อยละ 80 มีนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหาผู้เรียนในชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ 

 3.2 เชิงคุณภาพ

3.2.1 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยสูงขึ้น

3.2.2 ครูผู้สอนมีนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหาผู้เรียนในชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ

3.2.3 โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ

ลงชื่อ.........................................................................
(นายชนะชัย เหลืองอ่อน)
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปวงคำ(ประชาอุทิศ)
ผู้จัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน
30 กันยายน 2566