ชุมชน บ้านวังส้มซ่า หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

ในอดีตกว่าร้อยปีที่แล้ว เกือบทุกครัวเรือนจะมีต้นส้มซ่าอยู่ บ้างเอาไว้ทำยา บ้างเอาไว้รับประทาน ที่นี่จึงมีชื่อเรียกขานกันว่า "บ้านวังส้มซ่า" แห่งพิษณุโลก

ลักษณะเด่น

เป็นหมู่บ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง จนอยากทำความรู้จักให้มากกว่าเพียงแค่ชื่อ อยากรู้ว่า ส้มซ่า คืออะไร และคนในชุมชนนี้มีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับส้มซ่า บ้านวังส้มซ่า เป็นชุมชนกึ่งเมือง กึ่งชนบท ตั้งอยู่ริมฝั่งรำน้ำน่าน ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง อาชีพหลักของคนในชุมชนที่ยึดถือกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็คือ การทำการเกษตร ทำนา ปลูกไม้ผลและพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีมาก โดยเฉพาะมะกรูด ตะไคร้ ว่านหางจระเข้ ดอกอัญชัน และส้มซ่า ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านประจำถิ่น จนมีแนวคิดในการนำสมุนไพรไทยเหล่านี้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อความงาม บำรุงผิวการและผิวหน้า ที่โดดเด่นตรงที่ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า

ประวัติ

บ้านวังส้มซ่า เป็นหมู่บ้านเก่าแก่อีกหมู่บ้านหนึ่งของตำบลท่าโพธิ์ เป็นที่เล่าสืบต่อกันมาว่า บริเวณแม่น้ำน่าน ที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านนี้ ริมฝั่งด้านทิศตะวันตกและที่วังน้ำมีต้นส้มซ่าขนาดใหญ่อยู่หนึ่งต้น และบริเวณใกล้เคียงก็มีต้นส้มซ่าขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านวังส้มซ่า" หมู่บ้านวังส้มซ่าตั้งมานานนับร้อยปีแล้ว ทุกบ้านเคยปลูกต้นส้มซ่าไว้บริโภคและทำยาแผนโบราณ อาจเรียกได้ว่าอดีตบ้านวังส้มซ่าปลูกต้นส้มซ่าเกือบทุกบ้าน ต่อมาด้วยความเจริญของสังคม ทำให้คนในหมู่บ้านหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น มะม่วง, ขนุน ที่ขายทำเงินได้ ขณะที่ผลส้มซ่ารสชาติไม่อร่อย ผลผลิตขายไม่ได้ ชาวบ้านจึงโค่นทิ้งเกือบทั้งหมด

“ส้มซ่า” พืชท้องถิ่นที่มีอยู่ในหมู่บ้าน “วังส้มซ่า” ที่มีมาตั้งแต่อดีต เป็นพืชไม้ผลตระกูลส้มชนิดหนึ่ง มีผิวสีเขียวขรุขระผลคล้ายมะนาว มีกลิ่นหอม เนื้อมีรสเปรี้ยวอมหวาน เป็นพืชท้องถิ่นที่อยู่คู่หมู่บ้านมาอย่างยาวนาน โดยก่อนหน้านี้ต้นส้มซ่าในหมู่บ้านได้ทะยอยตายไป เกือบจะสูญหายไปจากพื้นที่แห่งนี้ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ในปี 2557 ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการสำรวจสายพันธุ์และอนุรักษ์ต้นส้มซ่า และขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น

โดยต้นส้มซ่าทุกต้นที่อยู่ภายในหมู่บ้านแห่งนี้ เกิดจากการขยายพันธุ์มาจากต้นเดียวกัน แล้วนำไปแจกจ่ายทั่วหมู่บ้าน เพื่อคงความเป็นสายพันธุ์ประจำท้องถิ่นเอาไว้ ทำให้ต้นส้มซ่าของชุมชนได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยในทุกหลังคาเรือนของหมู่บ้านนี้ จะปลูกต้นส้มซ่าไว้หลังละอย่างน้อยหนึ่งต้น หากลองนับต้นส้มซ่ารวมทั้งหมู่บ้านจะมีจำนวนมากกว่า 150 ต้นเลยทีเดียว

หลังจากที่ต้นส้มซ่าเติบโตจนออกผลเพื่อได้นำออกมาจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจแล้ว ทางชุมชนยังได้คิดค้นและพัฒนาสมุนไพรที่มีอยู่นำมาแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ จากนั้นชาวบ้านรวมกลุ่มกันและก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสมุนไพรขึ้นมา

ต่อมาได้เปิดบริการเป็นสปาภายในชุมชนขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “ส้มซ่าสปา” เป็นการบริการนวดผ่อนคลายจากผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากผลของส้มซ่า เน้นการนวดหน้า นวดตัว นวดเท้า เพื่อความผ่อนคลายความเมื่อยล้า ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ส่วนใหญ่คนที่ทำการนวดก็จะเป็นคนในหมู่บ้าน อย่าง แม่บ้าน ผู้สูงอายุ และนักศึกษาที่อยู่ในชุมชน ได้ใช้เวลาว่างเว้นจากงานประจำมารวมกลุ่มกันทำงานของสปาชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

สรุป หมู่บ้านวังส้มซ่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือมาศึกษาดูงานได้มีอะไรให้ดูมากมาย

ผู้เขียน/เรียบเรียง/ถ่ายภาพโดย

ลภัสธยาน์ พูลชู ครู กศน.ตำบลท่าโพธิ์