กัณฑ์เทศน์ (เทศน์มหาชาติ)

ประเพณีเทศน์มหาชาติ หรือที่ชาวหนองกะท้าวเรียกว่า กัณฑ์เทศน์ จัดขึ้นตรงกับ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในตำบลหนองกะท้าว จะจัดประเพณีนี้ขึ้น 2 ครั้งใน 1 ปี คือก่อนออกพรรษา 1 วันพระ จะจัดแห่กัณฑ์เทศน์ที่วัดหนองสองเฒ่า และในวันออกพรรษา จะจัดแห่กัณฑ์เทศน์ที่วัดหนองกะท้าว ประเพณีแห่กัณฑ์เทศน์ในวันออกพรรษา ถือเป็นประเพณีคู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองกะท้าว

ในการแห่กัณฑ์เทศน์จะกัณฑ์เทศน์ รวม 13 กัณฑ์ เริ่มจากกัณฑ์ทศพร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า กัณฑ์ทศพรก่อนไก่โห่ เนื่องจากเจ้าของกัณฑ์แต่ละกัณฑ์จะต้องแห่กัณฑ์เทศน์จากบ้านมาให้ถึงวัดก่อนฟ้าสาง เมื่อพระเทศน์กัณฑ์ทศพรเสร็จ จึงมีพิธีตักบาตรเทโว ด้วยข้าวสารอาหารแห้ง แล้วจึงมีการเทศน์กัณฑ์หิมพานกัณฑ์และกัณฑ์อื่น ๆ ต่อไปเลื่อยๆ ทั้งวันจนกว่าจะครบ 13 กัณฑ์ ในการจัดกัณฑ์เทศน์แต่ละกัณฑ์จะมีผู้รับเป็นเจ้าภาพ โดยวิธีจับฉลาก

กัณฑ์เทศน์มหาชาติ มี 13 กัณฑ์

1.กัณฑ์ทศพร 2.กัณฑ์หิมพาน

3.กัณฑ์ทานกัณฑ์ 4.กัณฑ์วนประเวศน์

5.กัณฑ์ชูชก 6.กัณฑ์จุลพน

7.กัณฑ์มหาพน 8.กัณฑ์กุมาร

9.กัณฑ์มัทรี 10.กัณฑ์สักกบรรพ

11.กัณฑ์มหาราช 12.กัณฑ์ฉกษัตริย์

13.กัณฑ์นครกัณฑ์

กัณฑ์ชูชก ถือว่าเป็นกัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของตำบลหนองกะท้าวและเป็นกัณฑ์ที่สร้างสีสันให้กับงานเทศน์มหาชาติ และเป็นกัณฑ์ที่มีความสนุกสนาน มากกว่ากัณฑ์อื่น เพราะจะมีชูชก และเครื่องแห่ที่กัณฑ์อื่นไม่มีอยู่ในกระบวนแห่ ประกอบไปด้วยชูชกขาว ซึ่งเป็นชูชกดี จูงมือกัณหา ชาลี เข้าวัดฟังธรรม และตามด้วยเหล่านางฟ้าที่ช่วยกันหาบกระบุงเงิน กระบุงทอง ใส่ไม้ผ้าป่า นอกจากนี้ยังมีชูชกเหลือง ซึ่งเป็นชูชกร้าย จะแต่งกายด้วยเศษผ้าจีวรพระ สวมหัวคล้ายผี ผมยาวรุงรัง ในมือจะถือปลักขิกวิ่งไล่ทิ่มแทงชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีชูชกปลอม คือคนนุ่งขาวห่มขาว มาไล่ขอเงินเรี่ยไรจากชาวบ้าน

การเตรียมงาน เตรียมเครื่องกัณฑ์เทศน์ จะประกอบไปด้วย

1.เครื่องกัณฑ์ ได้แก่

หมอน 1 ใบ

ผ้าอาบน้ำฝน 1 ผืน

ผ้าขนหนู 1 ผืน

หมาก

ธูป (ตามจำนวนพระคาถาของแต่ละกัณฑ์)

เทียน (ตามจำนวนพระคาถาของแต่ละกัณฑ์)


2.ธงกบิล (ตามจำนวนพระคาถาของแต่ละกัณฑ์)

3.ถังเงินกัณฑ์เทศน์

4.ผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วย ฟักทอง อ้อย เป็นต้น

5.ดอกบัว

6.โพธิ์เงินโพธิ์ทอง

7.ข้าวสาร

8.ต้นระย้า

9.ข้าวแดง ข้าวตอกตัด ข้าวตอกปั่น ข้าวกระยาสารท

(สำหรับกัณฑ์ชูชกมีเพิ่มเติม คือ กระบุงเงิน กระบุงทอง จะใส่ผลไม้ ใส่ไม้ผ้าป่า)

ผู้ให้ข้อมูล นายละเดียง จันทร์ปาน

ผู้เขียน/ผู้เรียบ่รียง นายวีระวัฒน์ บุญจอม