ชุมชน บ้านยางเอน หมู่ที่ ๖ ตำบลท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

วัดยางเอนเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ได้สร้างขึ้นมาใน พ.ศ.ที่เท่าใด สมัยรัชกาลที่เท่าใด ไม่ปรากฎ เป็นหลักฐาน ได้สอบถามผู้ใหญ่ก็ไม่มีใีครทราบ เพราะวัดนี้ได้ร้างมานาน ไม่มีพระจำพรรษามานับร้อยปีมาแล้ว หรืออาจถูกทำลายมาตั้งแต่พม่ามาล้อมเมืองพิษณุโลก โดยอะแซหวุ่นกี้ก็อาจเป็นได้ ฉะนั้นจึงไม่สามารถจะทราบได้ สิ่งที่ปรากฎให้เห็นก็คือเจดีย์หนึ่งองค์ ซึ่งมีแต่ซาก เสาศาลาการเปรียญมีสองต้น ก็ผุผังไปตามการเวลา หลังจากที่ได้ถางป่าบูรณะวัดขึ้นใหม่นี่เอง ซากเสาจะเป็นโบสถ์หรือวิหารก็ไม่มีใครทราบ อิฐกระเบื้องต่างๆ ที่ถูกน้ำเซาะตลิ่งพังลงไปอยู่ในแม่น้ำน่านก็มี พระพุทธรูปอีกหนึ่งองค์มีผู้ได้พบเห็นกันบ่อยๆ ซึ่งจมอยู่ในน้ำ ทางคณะกรรมการได้ไปอาราธนาจะให้ขึ้นมาอยู่บนวัด เช่นเดิม แต่ก็หากันไม่พบ เพราะขณะนั้นน้ำในแม่น้ำน่านตั้งแต่มีเขื่อนสิริกิตขึ้น ระดับน้ำสูงกว่าเดิมมากจึงไม่สามารถจะค้นหาได้

ก่อนที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดยางเอน (วัดร้าง) เดิมทีประชาชนหมู่ที่ ๕-๖-๗ ตำบลท่าโพธิ์ ได้ไปทำบุญกันที่วัดศรีรัตนาราม (จูงนาง) และที่วัดสะกัดน้ำมัน วัดคุ้งวารี ซึ่งเป็นระยะทางไกล ไม่สะดวกแก่การที่จะไปบำเพ็ญกุศลดังกล่าวได้ ประชาชนจึงได้พร้อมใจกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดยางเอนขึ้น ได้ไปนิมนต์พระมาร่วมกันเป็นผู้สร้าง จำนวน ๕ รูป คือ พระเสวง พระอธิการผัน อิสฺสโร (เจ้าอาวาสรูปแรก) พระดา พระพล พระจำรอง ไม่ทราบฉายาเพราะไม่ได้บันทึกไว้ เมื่อนิมนต์พระมาอยู่แล้วก็ปลูกกระท่อมไม้ไผ่ให้พระได้อาศัยจำวัด นำอาหาร หวานคาวมาถวายทุกๆวัน พร้อมกันนี้ได้เริ่มต้นตัดถางต้นไม้ที่รกรุงรังออกจนหมด และได้หารถแทรกเตอร์มาช่วยดันต้นไม้ ไถสนามให้เตียนขึ้น พอได้ฤกษขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ตรงกับวันอังคาร ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๙ ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ถวายกุฏิ ๓ หลังๆละ ๒ ห้อง และหอสวดมนต์ขึ้นอีกหนึ่งหลัง กว้าง ๔ วายาว ๖ วา โดยยกขึ้นในวันเดียวกัน พร้อมกันทั้งหอสวดมนต์ และกุฏิทั้งสามหลัง เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จ พระขะยันโต ก็ยกเสาขึ้นพร้อมกันทั้งหมด ปรากฎว่าประชาชนก็ได้ไปดูและช่วยกันอย่างคับคั่ง ได้ร่วมกันสร้างประมาณหนึ่งเดือนเศษก็แล้วเสร็จ นิมนต์พระขึ้นอยู่ได้เลย เป็นศุภนิมิตอันดีของวัดยางเอนใหม่ ซึ่งได้ถูกลืมหรื่อรกร้างมาแล้ว เป็นจำนวนหลายร้อยปี การก่อสร้างครั้งนี้ไม่ได้เสียเงินค่าจ้างช่างเลย ราษฎรในหมู่ที่ ๕-๖-๗ ได้พร้อมกันทำทั้งสิ้น โดยใช้ไม้ยางที่วัดมาทำกัน และก็ได้บอกบุญสร้างพระพุทธรูปขึ้นหนึ่งองค์มีขนาดหน้าตักกว้าง ๘ ศอก สูง ๑๐ ศอก ชื่อว่า "หลวงพ่อโสธร" ประวัติมีว่า นายจรูญ สอนจันทร์ ได้เก็บนิ้วมือของหลวงพ่อโส อดีตอธิการวัดสระแก้วประทุมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งได้เก็บรักษาไว้มานานแล้ว ก็ได้นำมาบรรจุไว้ด้วย สำหรับเศียรของหลวงพ่อโสธรนี้ เป็นเศียรพระที่วัดขนมจีน แม่เขียน แสงสุวรรณ์เหนือวังวน ประมาณหนึ่งเส้นเศษ ( ๑ เส้นเท่ากับ ๔๐ เมตร)

วัดที่กล่าวนี้ก็ร้างมาไม่รู้ว่าร้างมาแต่สมัยใดเหมือนกัน ปรากฎว่ามีคนเขามาขอแต่เอาไปไม่ได้ เมื่อทางวัดยางเอนรู้ก็ไปขอบ้าง เมื่อเจ้าของที่คือแม่เขียน แสงสุวรรณ ได้อนุญาตให้ ทางวัดยางเอนก็ได้นำเรือ กลองยาวไปแห่แหนมาไว้ที่วัด มาทำเป็นเศียร หลวงพ่อโสธรจนทุกวันนี้ แม่เขียน แสงสุวรรณ ได้กล่าวว่า เป็นบุญของวัดยางเอน มีคนอื่นมาขอแต่ก็ไม่สามารถจำนำไปได้ คือเลื่อนไปจนนำไปไม่ได้เลย นี่ก็เป็นสิ่งที่อัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ก็ได้ขออนุญาต บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นเมื่อทางกรมศาสนาอนุมัติแล้ว เป็นการถูกต้องตามระเบียบของคณะสงฆ์ คือเป็นสำนักสงฆ์ ที่มีพระภิกษุตลอดมา ต่อมาครั้นถึงวันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ปีระกา ได้พร้อมใจกันสร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีกหนึ่งหลัง ขนาดกว้าง ๑๕ เมตร ๑ ศอก ยาว ๒๙ เมตร โดยมิได้จ้างนายช่างมาทำเลย ประชาชนหมู่ที่๕-๖-๗ ได้พร้อมใจกันสร้างขึ้น โดยเสาคอนกรีต และไม่ยาง ไม้แดง ไม้ประดู่ ด้วยควมพร้อมเพรียงของประชาชนได้เสียสละเวลามาช่วยกันทำประมาณ ๙๐ วัน ก็ใช้บำเพ็ญกุศลได้ แต่ยังไม่เรียบร้อย ปี ๒๕๑๓ น้ำท่วมข้าวหมดประชาชนเดือดร้อน เป็นเหตุให้ยกช่อฟ้าไม่ได้ ต่อมาปี ๒๕๑๔ จึงได้จ้างช่างฟ้อย วังส้มซ่ามาทำช่อฟ้า และยกช่อฟ้าจนสำเร็จลุล่วงไปได้ เมื่อกุฏิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ เสร็จเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้ริเริ่มก่อสร้างโบสถ์ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๖ ได้ไปนิมนต์พระครูสุวรรณศีลคุณ เจ้าคณะจังหวัดมาทำพิธีวางศิลาฤกษ์ อุโบสถนี้มีขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๘.๕๐ เมตร ซึ่งได้ทำคานล่าง เสา คานบน ไว้แล้วแต่เงินหมด ประกอบกับน้ำท่วมข้าวของราษฎรในหมู่บ้านมาสองปีติดๆกัน จึงเป็นเหตุให้การสร้างอุโบสถชะงักไปก่อน แต่ก็ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของเด็กซึ่งต้องอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเรียนจึงแบ่งเงินของวัดไปสร้างโรงเรียนขึ้นหนึ่งหลัง กว้าง ๕ เมตร ยาว ๓๕ เมตรห้องเรียนเทพื้นคอนกรีต มุงสังกะสี สรุป ปัจจุบันนี้ที่วัดยางเอนเป็นสถานที่มีแพวังปลาให้ผู้ที่ไปกราบไหว้หลวงพอโสธรได้ทำบุญเลี้ยงอาหารปลาที่ริมแม่น้ำน่าน

ผู้เขียน/เรียบเรียง/ถ่ายภาพโดย

ลภัสธยาน์ พูลชู ครู กศน.ตำบลท่าโพธิ์