การเลี้ยงปู่และการทำบุญกลางบ้านแก่งหว้า

การเลี้ยงปู่และการทำบุญกลางบ้านแก่งหว้า เป็นพิธีกรรมที่ต้องจัดขึ้นทุกปี โดยจะทำก่อนช่วงเข้าพรรษา นิยมทำกันเดือน 8 ห้ามตรงกับวันพุธ วันศุกร์และวันอาทิตย์ และการประกอบพิธีจะทำประมาณวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 เชื่อกันว่า เป็นวันและเดือนที่ดี ถือเป็นการสืบทอดและสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคีให้คนในหมู่บ้าน และสร้างความรักถิ่นฐานให้คนในหมู่บ้าน

ในพิธีจะมี ”เจ้ากวน” เป็นผู้ทำพิธี เจ้ากวนแต่ละคน ได้มาจากคนที่เป็นเจ้ากวนใหญ่จากอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นคนเลือก ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้ากวน จะต้องเป็นจนกว่าจะเสียชีวิต จึงจะมีการเลือกเจ้ากวนคนใหม่ คนบ้านแก่งหว้า เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากด่านซ้าย จังหวัดเลย จึงได้นำเอาพิธีกรรมดั้งเดิมมาปฏิบัติด้วย ก่อนการจัดพิธีการทำบุญกลางบ้าน แต่ละปี จะต้องไปสักการะพระธาตุศรีสองรักที่ด่านซ้าย จังหวัดเลยก่อน จากนั้นเจ้ากวนพระธาตุศรีสองรัก จะให้ฤกษ์ยามสำหรับกลับมามาประกอบพิธีการทำบุญกลางที่บ้านแก่งหว้า จึงจะถือเอาฤกษ์นั้นมาประกอบพิธีต่อไป

ศาลสำหรับประกอบพิธีจะประกอบด้วยศาล 3 ศาล เรีบงกัน ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าต้น ศาลเจ้ากลาง ศาลเจ้านาง

ในการประกอบพิธี ทุกคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต้องมาร่วมงานและอยู่จนพิธีกรรมจะเสร็จสิ้น เวลาทำพิธีคนที่ทำพิธีห้ามออกไปข้างนอกเขตพิธีและคนที่อยู่นอกห้ามเข้ามาในเขตพิธี หากผู้ใดออกจากเขตรพิธีก่อนพิธีกรรมจะเสร็จ เชื่อว่าจะเกิดเหตุร้ายกับผู้นั้น

ในวันประกอบพิธีจะมีเครื่องเซ่น คือ

1.หมูเมือง (หมูเป็นๆ) 1 ตัว

2.ไก่เมือง (ไก่เป็นๆ) 7 ตัว

3.หัวหมู (จำนวนขึ้นอยู่กับสินบนที่ขอไว้)

4.เหล้าขาว

5.ของหวาน ข้าวโพดต้ม ขนมแตง ข้าวต้มมัด

6.ข้าวเหนียว 1 กระติ๊บ

7.ยอดต้นบูชา เทียน ตามจำนวนคนและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบ้านและตามจำนวนรถของบ้านนั้นด้วย

ผู้ให้ข้อมูล นายสาย จันทร์คีรี

นางสนม สีบุญ

ผู้เขียน/ผู้เรียบ่รียง นายวีระวัฒน์ บุญจอม