หน่วยการเรียนที่ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอล

ตอนที่ 3 มารยาทและความปลอดภัยในการเล่นกีฬาบาสเกตบอล

การเล่นบาสเกตบอลนอกจากจะส่งเสริมสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมความมีน้ำใจนักกีฬาและการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขด้วย ดังนั้น ทั้งผู้เล่นและผู้ดูกีฬาบาสเกตบอล จึงควรปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว เจษฎา เจียระนัย (2545 : 122 – 123) ได้เรียบเรียงมารยาทของผู้เล่นบาสเกตบอลที่ดีไว้พอสรุปได้ดังนี้

มารยาทของผู้เล่นกีฬาบาสเกตบอลที่ดี

1. รู้และเล่นตามกฎและกติกาการแข่งขัน

2. เคารพคำตัดสินและผู้ตัดสิน

3. เคารพผู้ดูหรือกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย

4. แสดงความเป็นมิตรกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม

5. บาสเกตบอลเป็นกีฬาประเภททีม จึงไม่ควรครอบครองหรือเล่นลูกคนเดียว ควรแจกจ่ายให้เพื่อร่วมทีมได้เล่นอย่างทั่วถึง

6. แสดงกิริยาสุภาพเรียบร้อย ไม่โอ้อวด เย่อหยิ่ง

7. ควบคุมอารมณ์โกรธได้ดี เมื่อมีการยั่วยุจากฝ่ายตรงข้าม

8. เล่นเต็มความสามารถ ไม่ประมาท หรือดูถูกคู่แข่งขัน

9. ตั้งใจและขยันหมั่นฝึกซ้อมโดยเฉพาะทักษะที่ยังบกพร่องอยู่

10. รู้จักระงับสติอารมณ์เมื่อถูกยั่วยุ และแสดงอาการเยือกเย็น หนักแน่น สุขุมเสมอ

11. ยอมรับในผลการแข่งขัน

12. รู้จักขอโทษ ขออภัย ไม่เอาเปรียบคู่แข่งขันอย่างผิดกติกา รู้จักช่วยเหลือคู่แข่งขันและเพื่อนร่วมทีม

13. ใช้อุปกรณ์การเล่นให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

14. เล่นบาสเกตบอลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและสังคม

ถาวร วิบูลยศรินทร์ (2539 : 22) ได้เรียบเรียงมารยาทของการเป็นผู้ดูกีฬาบาสเกตบอลที่ดีไว้พอสรุปได้ดังนี้

มารยาทของผู้ดูกีฬาบาสเกตบอลที่ดี

1. ไม่ยืนกีดขวางทางผู้เข้าชมกีฬา หรือผู้เล่น

2. ไม่ตะโกนด่าว่านักกีฬา หรือผู้ตัดสินเมื่อมีการกระทำที่ผิดพลาด

3. ไม่ขว้างปานักกีฬา ผู้ตัดสิน หรือผู้ดูกีฬาด้วยกัน เมื่อเกิดความไม่พอใจ

4. ไม่ทิ้งกระดาษ ถุงพลาสติก เศษอาหารลงบนพื้นที่นั่งดูกีฬา หรือพื้นสนาม

5. ไม่ส่งเสียงเชียร์นักกีฬาด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือรบกวนผู้อื่นในขณะที่ประกาศลำดับการแข่งขันหรือผลการแข่งขัน

6. นั่งบนอัฒจันทร์ หรือที่นั่งที่จัดไว้ให้ดูกีฬาชนิดนั้นๆ

7. ปรบมือต้อนรับนักกีฬา และผู้ตัดสินเมื่อลงสนามแข่งขัน

8. ปรบมือชมเชยนักกีฬาที่เล่นได้ดี หรือแสดงมารยาทสุภาพอ่อนน้อม

9. ปรบมือให้กำลังใจผู้ตัดสินในกรณีที่การตัดสินถูกต้องเฉียบขาด

10. ปรบมือแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะ เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน

11. ปรบมือให้เกียรตินักกีฬา เมื่อมีการรับมอบรางวัลการแข่งขัน

12. ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุทะเลาะวิวาท

ความปลอดภัยในการเล่นกีฬาบาสเกตบอล

ถาวร วิบูลยศรินทร์ (2539 : 25 – 26) ได้เรียบเรียงความปลอดภัยในการเล่นกีฬาบาสเกตบอลไว้พอสรุปได้ดังนี้

1. ควรให้แพทย์ตรวจร่างกายก่อนเรียน หรือฝึกซ้อมกีฬาบาสเกตบอล

2. แต่งกายให้รัดกุม สะอาดเรียบร้อย และถูกต้องตามกติกา

3. ควรอบอุ่นร่างกายทุกส่วนให้มีความพร้อมที่จะเล่นกีฬา

4. ตรวจดูอุปกรณ์การเล่นให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย แข็งแรง และพร้อมที่จะใช้ได้อยู่เสมอ

5. เล่นให้ถูกต้องตามกติกา ด้วยความระมัดระวังไม่ประมาท

6. ไม่ออกแรงฝึกซ้อมกีฬาอย่างหักโหม หรือเหน็ดเหนื่อยมากจนเกินไป

7. หลีกเลี่ยงการเล่นที่ต้องปะทะกันอย่างรุนแรงเกินความจำเป็น

8. ควรงดเว้นการฝึกซ้อมกีฬาในสนามกลางแจ้ง ในขณะที่มีแดดร้อนจัด หรือมีฝนตก ฟ้าคะนอง

9. ควรงดเว้นการฝึกซ้อมกีฬา เมื่อมีการเจ็บป่วยหรือหายจากการเป็นไข้

10. ไม่ควรฝึกซ้อมกีฬาเมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร หรือหลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ

11. ไม่ควรสวมเครื่องประดับต่าง ๆ ลงฝึกซ้อมหรือแข่งขันกีฬา

งานวิชาการ กองการฝึกอบรม สำนักพัฒนาบุคลากรทางการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (2547 : 11 – 12) ได้กล่าวถึงสิ่งที่ควรคำนึงในการเล่นกีฬาบาสเกตบอลให้เกิดความปลอดภัยไว้ดังนี้

สิ่งที่ควรคำนึงในการเล่นกีฬาบาสเกตบอลให้เกิดความปลอดภัย

1. ผู้เล่น ควรปฏิบัติดังนี้

1.1 ผู้เล่นควรมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเล่น ด้วยการสร้างสมรรถภาพทางกายเป็นประจำ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเป็นอันตรายจากการเล่น

1.2 ผู้เล่นควรแต่งกายอย่างเหมาะสมกับการเล่นกีฬาบาสเกตบอล เช่น เสื้อผ้า ควรเป็นผ้าที่ซับเหงื่อได้ดี เมื่อสวมใส่แล้วจะต้องไม่หลวมหรือคับจนเกินไป เพราะจะทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก รองเท้าควรเป็นรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อชนิดที่มีเชือกร้อย ผู้เล่นจะดึงเชือกให้รัดแน่นหรือคลายเชือกได้ตามต้องการ เพื่อป้องกันมิให้ข้อเท้าแพลงหรือได้รับอันตรายได้

1.3 ก่อนการเล่นทุกครั้งจะต้องมีการอบอุ่นร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายและจิตใจมีความพร้อมที่จะเล่น ถ้าผู้เล่นไม่มีการอบอุ่นร่างกายก่อนการเล่นแล้ว จะทำให้กล้ามเนื้อปวดเมื่อยหรือกล้ามเนื้อฉีกขาดได้

1.4 ก่อนการเล่นควรตรวจสภาพของสนามและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะเล่นได้อย่างปลอดภัย

1.5 ผู้เล่นควรปฏิบัติตามกติกาโดยเคร่งครัด ไม่ควรหยอกล้อหรือกลั่นแกล้งเพื่อนระหว่างเล่น

1.6 รู้จักประมาณกำลังความสามารถของตน ไม่หักโหมฝึกซ้อมจนเกินไป

1.7 เมื่อเกิดการผิดปกติใด ๆ ต่อร่างกายในระหว่างฝึกซ้อม ควรรีบหยุดพักทันที

1.8 ควรตัดเล็บให้สั้นและไม่สวมเครื่องประดับใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น

1.9 ควรหลีกเลี่ยงการเล่นในลักษณะที่รุนแรง การปะทะกันที่อาจก่อให้เกิดอันตราย

1.10 ควรฝึกตามขั้นตอนโดยเริ่มจากทำง่าย ๆ ที่เป็นพื้นฐานของการเล่น

2. สนาม ควรตรวจสอบสภาพสนามเสียก่อน

2.1 พื้นสนามต้องเรียบ ถ้าเป็นสนามในร่ม พื้นไม่ต้องไม่มีหัวตะปูโผล่ออกมา รอยต่อของพื้นสนามต้องสนิท ถ้าสนามกลางแจ้ง พื้นสนามต้องเรียบ อย่าให้ขรุขระเป็นหลุมหรือมีก้อนหิน ดิน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เล่นได้รับอันตรายได้

2.2 พื้นสนามต้องแห้ง ถ้ามีน้ำต้องเช็ดถูให้แห้งเสียก่อน

2.3 บริเวณข้างสนามต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง เช่น เก้าอี้ โต๊ะ เป็นต้น

3. เสาและห่วงประตู ควรอยู่ในสภาพที่เรียบร้อยมั่นคง เมื่อเสาและแป้นห่วงประตูหลวมหรือคลอน ควรรีบทำการซ่อมแซมให้เรียบร้อย

4. ลูกบอล ต้องไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป เพราะถ้าลูกบอลนิ่มจะเลี้ยงลูกบอลไม่กระดอน ถ้าลูกบอลแข็งเกินไป เวลาเลี้ยงลูกบอลจะกระดอนสูงมากกว่าปกติ อาจทำให้ถูกหน้าผู้เลี้ยงบอลได้