หน่วยการเรียนที่ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอล

ตอนที่ 1 ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของกีฬาบาสเกตบอล

ดร.เจมส์ เอ เนสมิธ (Dr. James A.Na0ismith )

กีฬาบาสเกตบอลถือกำเนิดที่ เมืองสปริงฟิลด์ มลรัฐแมสซาชูเสตส์ (Springfiel Massachusetts) ประเทศสหรัฐอเมริกา สืบเนื่องจากสมาชิก วาย เอ็ม ซี เอ (Y .M.C.A) มีปัญหาเกี่ยวกับการออกกำลังกายในฤดูหนาว ที่ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ เป็นอุปสรรคในการเล่นกีฬากลางแจ้ง คณะกรรมการ Y. M. C. A ได้พยายามช่วยเหลือให้สมาชิกทั้งหลายได้เล่นกีฬาตลอดฤดูหนาว โดยครั้งแรกได้มีการสอนกายบริหารทั้งชนิดใช้เครื่องมือประกอบและท่ามือเปล่า แต่ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

ในปี ค.ศ. 1891 ดร. เจมส์ เอ. เนสมิธ (Dr. James A.Naismith ) ขณะนั้นเป็นนักศึกษาฝึกสอนอยู่ ณ โรงเรียนฝึกหัดครูนานาชาติ สมาคม วาย เอ็ม ซี เอ (The International Y. M. C. A Training School of Springfield Massachusetts U.S.A) ต่อมาชื่อนี้ได้เปลี่ยนเป็น Springfield College ได้รับมอบหมายจาก ดร. ลูเธอร์ เอช กูลิค (Dr. Luther H. Gulick ) ให้คิดการเล่นกีฬาในร่ม เพื่อเล่นในฤดูหนาว ครั้งแรกได้พยายามคิดรวบรวมการเล่นฟุตบอลกับเบสบอลเข้าด้วยกัน และมีความมุ่งหมายที่จะให้มีการเล่นเป็นชุดเช่นเดียวกับฟุตบอล เขาได้ทดลองเล่นโดยการดัดแปลงการเล่นฟุตบอล โดยใช้เนื้อที่ขนาดเล็กลง แต่ก็ไม่ได้ผลอันใด ถึงแม้การเล่นจะมีความสนุกสนาน แต่ขาดความเป็นระเบียบ มีการชน มีการผลักกัน ซึ่งเป็นการเล่นที่รุนแรง

ต่อมา ดร. เจมส์ เอ. เนสมิธ ได้ดัดแปลงวิธีการเล่นใหม่โดยนำกีฬาฟุตบอลและรักบี้ฟุตบอลเข้าด้วยกัน ห้ามการเล่นที่มีการชนและการปะทะกัน ใช้ประตูที่ยกสูงขึ้นกว่าระดับปกติ สมาชิกคนหนึ่งให้ชื่อตอนแรกที่เห็นว่า “บาสเกตบอล” และชื่อนี้เป็นที่ชื่นชอบกันมากและได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว

ดร. เจมส์ เอ. เนสมิธ ได้คิดค้นดัดแปลงเกมต่าง ๆ ซึ่งมีมาแต่เดิม รวมทั้งกีฬาหลัก ๆ ในวิชาพลศึกษา เช่น รักบี้ อเมริกันฟุตบอล (แบบยุโรป) ลาครอส (Lacrosse) โดยให้หลักการไว้ดังนี้ (ส่วนพัฒนาวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักพัฒนาการพลศึกษา สุขภาพ และนันทนาการ. 2540 : 1 – 2)

1. ต้องเป็นเกมที่ใช้ลูกบอลขนาดใหญ่ แต่เบา และจับด้วยมือได้ง่าย

2. จะไม่อนุญาตให้พาลูกบอลวิ่ง

3. ไม่กีดกันผู้เล่นจากการได้ครอบครองลูกบอล ขณะที่ลูกบอลอยู่ในมือขณะเล่น

4. ทั้งสองทีมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ห้ามถูกต้องตัวกัน

5. ประตูที่จะยิงทำคะแนนนั้นต้องอยู่สูงและอยู่แนวนอน คือ ขนานกับพื้น

ด้วยหลักการเช่นนี้ ดร. เจมส์ เอ. เนสมิธ จึงคิดเกมที่เล่นในร่มในพื้นที่ตามกำหนดซึ่งจำกัดขนาดสนาม แต่ห้ามการถูกต้องตัวกัน หรือการฉุดหรือการชน ส่วนประตูเพื่อทำคะแนนนั้นต้องดัดแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้แรงมาก ๆ ในการยิงประตู

ห่วงประตูที่ใช้กันครั้งแรกเป็นรูปกรวย ติดแน่นกับแป้น โดยใช้ตะกร้าเก็บลูกพีช (Peach Basket ) เป็นประตู แขวนไว้ที่ฝาผนังของโรงพลศึกษาแต่ละข้าง ซึ่งอยู่เหนือศีรษะของผู้เล่นและให้ปากตะกร้าขนานกับพื้น ต่อมาได้พัฒนาเป็นห่วงเหล็กแทนตะกร้าเก็บลูกพีช ปี ค.ศ. 1920 - 1930 ได้มีการใช้เชือก ผ้าหรือแถบหนัง เป็นตาข่ายและในที่สุด ตาข่ายที่สานด้วยเชือกป่านก็กลายเป็นตาข่ายมาตรฐาน และต่อมาห่วงได้ถูกออกแบบให้ยื่นออกมาจากแป้น 15 เซนติเมตร จนเป็นสากลในปัจจุบัน

ปี ค.ศ. 1896 หลังจากได้มีการทดลองเล่นกีฬานี้บ้างแล้ว ผู้เล่นที่ลงเล่นครั้งแรกถูกเรียกตามตำแหน่งของฟุตบอลและรักบี้ฟุตบอล คือ หน้าซ้าย (Left forward) หน้าขวา (Right forward) กลางซ้าย (Left center ) กลางขวา (Right center ) หลังซ้าย (Left back) หลังขวา (Right back) และประตู (Goal) พอถึง ปี ค.ศ. 1897 บางตำแหน่งถูกตัดทิ้งไปคงเหลือตำแหน่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ลักษณะการเล่นยังเหมือนแบบฟุตบอล การแข่งขันระหว่าง ปี ค.ศ. 1901 - 1923 แต่ละทีมจะจัดผู้เล่นดังนี้ การ์ดตัวยืน (Standing guard) ทำหน้าที่ป้องกันเหมือนประตูฟุตบอล การ์ดตัววิ่ง (Running guard) รูปร่างเล็กแต่เร็ว ทำหน้าที่ช่วยในการป้องกันและช่วยรุกหนุนกองหน้าเพื่อทำคะแนน กองหน้าตัวยืน (Standing forward) ช่วยในการรุกและทำคะแนนส่วนมากจะอยู่ในแดนหน้าและเป็นผู้โยนประตูโทษเพียงคนเดียว กองหน้าตัววิ่ง (Running forward) จะเคลื่อนที่ตลอดแนวของสนาม ช่วยทั้งทำคะแนน และส่งลูกบอลให้แก่กองหน้าตัวยืน เซ็นเตอร์ (Center) หรือตัวกลาง มีหน้าที่กระโดดเพื่อเล่นลูกกระโดดที่วงกลมกลางสนาม กับเป็นตัวเชื่อมคอยรับการส่งลูกบอลจากเพื่อนร่วมทีม เมื่อส่งลูกบอลไปให้กองหน้าไม่ได้ แต่โดยมากจะเป็นผู้ช่วยเพื่อนร่วมทีม กีฬาบาสเกตบอลได้พัฒนามาอีกหลายปี จนผู้เล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์กลายเป็นผู้เล่นตำแหน่งหัวใจของเกมในปัจจุบัน

จากแรกเริ่มจนประมาณกลางปี ค.ศ. 1930 เป็นการเล่นที่ช้ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเล่นอย่างรวดเร็วของปัจจุบัน การทำคะแนนก็ช้า เพราะมีการจงใจฟาวล์กันมาก (นอกนั้นเวลาการเล่นก็สั้นกว่า เนื่องจากในปัจจุบันให้หยุดเวลาการเล่นเมื่อมีการทำผิดกติกา) จากปี ค.ศ. 1902 – 1914 มีการเล่นบาสเกตบอลโดยใช้กติกาหลายฉบับ ไม่เหมือนกัน จึงไม่ทราบว่าฉบับที่ได้รับการแก้ไขให้ได้มาตรฐานต่อมาเป็นฉบับใด การเล่นสมัยแรกรุนแรงมากเมื่อลูกบอลออกนอกสนามตามปกติ ผู้เล่นคนแรกที่ได้ลูกบอล มีสิทธิ์ได้ส่งลูกบอลเข้าเล่น ดังนั้น หากยิมเนเซียมใดมีลู่วิ่งบนระเบียงรอบ ๆ สนามแล้ว จะมีการแย่งชิงลูกบอลกันอย่างรุนแรง

บาสเกตบอลมีชื่อเรียกในสหรัฐ ฯ อีกชื่อหนึ่ง ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้านเรียกกัน คือ กีฬาในกรง (Cage game) ที่เรียกกันเช่นนี้เพราะในบางแห่งสร้างลูกกรงล้อมสนามเล่นไว้ด้วยลวดและตาข่าย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกบอลออกจากสนาม และป้องกันกองเชียร์จะทำร้ายผู้เล่น ผู้เล่นมักจะใช้ผนังเป็นเป้าส่งลูกบอลกระทบ แล้ววิ่งไปรับลูกบอลที่กระดอนออกมา หรือจะใช้เพดานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนามเล่นลูกกระทบ ให้ลูกบอลกระดอนลงห่วงประตู บางครั้งจะเห็นผู้เล่นปีนกำแพงที่ใกล้ห่วงประตูแล้วยิงด้วยการทุ่มลูกบอลลงห่วงประตู ซึ่งต่อมาได้เป็นแบบอย่างของการเล่นยัดห่วง (Dunking)

การเล่นต่อ ๆ มา ได้มีการพัฒนารูปแบบและกติกามากขึ้น ทางด้านผู้เล่นก็พัฒนาความสามารถ และมีการป้องกันอันตรายจากการเล่น มากขึ้น เช่น มีการสวมสนับเข่าหนา ๆ ลงแข่งขัน ในปี ค.ศ. 1915 มีการเปลี่ยนกติกาอย่างแจ่มชัดว่า ลูกบอลออกนอกสนามอย่างไร และการตัดสินมีมาตรฐานยิ่งขึ้น การเล่นจึงลดความรุนแรงลงเป็นอันมาก กติกาว่าด้วย 3 วินาที ที่ใช้ในปัจจุบันยังไม่มีใช้ในระยะนั้น ฉะนั้น ผู้เล่นฝ่ายรุกที่มีบอลสามารถ เข้า – ออก ในเขตนี้ได้ไม่กำหนดระยะเวลา และได้มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี ค.ศ. 1932

เนื่องจากสนามบาสเกตบอล เล็กกว่าสนามฟุตบอล ทั้งความกว้างและความยาว จึงลำบากที่จะบ่งชี้ว่าตรงจุดไหนคือเขตแดนของผู้เล่นคนใด ผู้เล่นแทบทุกคนจะป้องกันทุกส่วนของสนาม จึงทำให้ต้องลดผู้เล่นลงเหลือเพียง 5 คน

การเลี้ยงลูกบอล (Dribble) ในสมัย แรก ๆ ห้ามการเคลื่อนที่ไปพร้อมกับลูกบอล แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี ค.ศ. 1915 เป็นอย่างที่เราใช้ในปัจจุบัน จึงทำให้มีการเลี้ยงลูกบอลมากขึ้น

การยิงประตู

การยิงประตูจากจุดต่าง ๆ ในสนาม ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาก ตอนแรกผู้เล่นโยนลูกบอลไปยังห่วงประตู (ตะกร้า) โดยถือลูกบอลอยู่หลังศีรษะก่อน แล้วจึงโยนลูกบอลไปเหมือนการทุ่มลูกบอลหรือโยนลูกบอลจากระดับอก บางคนยิงประตูแบบขว้างมือเดียวเหนือไหล่เหมือนขว้างลูกเบสบอล (Baseball) แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่ได้ผลดีนัก หลังจากลองผิดลองถูกมานาน จึงพบว่าการโยนลูกบอลแบบสองมือล่าง (Underhand throws with two hands) เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด โดยเฉพาะจากระยะไกล ๆ ปัจจุบัน ผู้เล่นรุ่นเยาว์มือใหม่ มักใช้วิธีการยิงประตูแบบสองมือล่างก่อน จึงจะเรียนรู้ทักษะที่สูงขึ้น

ในช่วงหลังของ ปี ค.ศ. 1915 – 1925 มีโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยเด่น ๆ หลายแห่งมีการเล่นยิงประตูแบบสองมือล่างข้ามหัวคนป้องกันได้อย่างแม่นยำ สาเหตุเพราะผู้เล่นฝ่ายรับจะถอยร่นมาประจำตำแหน่งการป้องกัน โดยไม่เข้ารบกวนฝ่ายรุก วิธีการนี้ได้มาจากวิธีการป้องกันของฟุตบอล ฉะนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้เล่นที่ถนัดการยิงประตูแบบสองมือล่าง ได้เล็งเป้าแล้วยิงประตูได้ง่าย ๆ เหตุนี้เองทำให้ฝ่ายป้องกันต้องเข้าประชิดมากขึ้น จึงทำให้ผู้ยิงประตู หาวิธีการที่จะทำคะแนนให้ได้ เช่น การยิงประตูแบบสองมือด้านบน (Two hand push) การเอนตัวถอยหลังยิง (Fade away) การก้าวไปด้านข้างแล้วยิง (Step - away) และการยิงประตูเหนือศีรษะ(Overhead) นอกจากนั้น ผู้ยิงประตูยังเรียนรู้วิธีการหลอกล่อ (Fake) ผ่านการป้องกันแล้วเข้ายิงประตูใกล้ ๆ โดยเฉพาะการยิงลูกใต้แป้นด้วยมือเดียว ซึ่งพัฒนามาจากการยิงประตูแบบยืนสองเท้า การยิงประตูแบบมือเดียวสามารถเลือกเป้าการยิงได้มากยิ่งขึ้น โดยการฝึกเล็งที่ขอบห่วงได้ดีกว่า เพราะมีการหมุนที่ลูกบอลน้อย และเมื่อถูกแป้นก็ไม่ค่อยกระดอนลงห่วงประตูเหมือนการยิงแบบสองมือล่างหรือสองมือบน

ในช่วงปี ค.ศ. 1914 – 1925 ผู้เล่นสามารถทำคะแนนได้ โดยมากมาจากการยิงประตูกระทบแป้นเพราะมีวิถีโค้งน้อย และการหมุนคืนหลังของลูกบอลที่ผู้เล่นโยนใส่แป้นให้กระดอนลงห่วงประตู แป้นกระดานที่ทำด้วยกระจก เริ่มมีในกลางปี 1920 แป้นแบบนี้ทำให้ลำบากในการยิงประตูกระทบแป้น เพราะมีความเสียดทานน้อยนอกจากนั้นความโปร่งแสงทำให้เห็นเป้าหมายอยากกว่าแบบแป้นไม้ ปัจจุบันมีการตีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นแนวบอกระดับของห่วงไว้ทำให้ผู้เล่นหาเป้าหมายได้ง่าย แต่ก็ให้ประโยชน์แก่ผู้ยิงระยะใกล้มากกว่าระยะไกลหรือระยะกลาง การใช้แป้นรูปครึ่งวงกลมหรือรูปพัด (ซึ่งใช้ได้ตามกติกา) ทำให้เป้าเล็กลง แต่เปิดช่องว่างให้ยิงได้มากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านข้างตามแนวเส้นหลัง

การป้องกัน

การป้องกันในยุคต้น ๆ ทีมต่าง ๆ มักป้องกันแบบตัวต่อตัว (Man – to - Man defense) ซึ่งก็ได้แบบมาจากการเล่นป้องกันของฟุตบอล ฝ่ายรับจะถอยไปยังห่วงประตูตนเอง เนื่องจากยังไม่มีกติกาบังคับเรื่องเวลาและเส้นแบ่งครึ่งสนาม ทั้งสองทีมจึงไม่ค่อยเร่งรีบนัก แต่จะค่อย ๆเคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งการป้องกันของตนเอง สำหรับการเล่นแบบโซน (Zone) เป็นการเล่นแบบช่วยเพื่อนป้องกันพื้นที่ ซึ่งก็ได้แบบมาจากการเล่นฟุตบอลและรักบี้ฟุตบอล ต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้น และเป็นที่นิยมใช้มาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากบาสเกตบอลเกิดขึ้นได้ไม่นาน ก็มีการจัดการแข่งขันบาสเกตบอลหญิงขึ้น ในปี ค.ศ. 1892 โดยใช้กติกาของผู้ชาย สมิธ คอลเลจ (Smith College) ปี ค.ศ.1896 มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบอร์คลี่ย์ (University of California at Berkley) ได้ทำการแข่งขันบาสเกตบอลหญิงระหว่างมหาวิทยาลัย ต่อมาก็มีการแข่งขันบาสเกตบอลหญิงระดับมัธยมศึกษา จนถึงปลายปี ค.ศ. 1920 มีการเปลี่ยนแปลงกติกาสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1982 ได้มีบางส่วนของประเทศมีการให้เด็กชายและเด็กหญิงของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแข่งขันบาสเกตบอลภายใต้กติกาและสภาพสนามเดียวกัน ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา ประชาชนหญิงและประชาชนชายเล่นบาสเกตบอลภายใต้กติกาเดียวกันทั่วประเทศ

การเปลี่ยนแปลงกติกา

ปี ค.ศ. 1923 – 1924 มีการเปลี่ยนแปลงกติกาเหมือนที่ใช้ในปัจจุบัน คือ เมื่อมีการกระทำฟาวล์ต่อใคร ผู้เล่นคนนั้นจะเป็นผู้โยนโทษ เมื่อเริ่มการแข่งขัน รูปแบบของการวางตัวผู้เล่นของฝ่ายรุกและฝ่ายรับจะเลียนแบบของฟุตบอล โดยกองหน้าจะเป็นผู้รับลูกบอล เพื่อเข้าทำคะแนน เซ็นเตอร์จะเล่นในเขตกลางสนามคอยช่วยตัดลูกบอล หรือส่งลูกบอลให้กองหน้า หลังซ้ายและหลังขวา คือ ผู้ป้องกัน และผู้ส่งลูกบอลจะอยู่ในแดนหลังเพื่อป้องกันห่วงประตู การเล่นจะส่งลูกบอลไป – มา ในทีมเดียวกันเพื่อพาลูกไปยิงประตู ถ้าทำคะแนนได้ก็จะเริ่มเล่นใหม่ โดยเซ็นเตอร์ของทั้งสองทีมเล่นลูกกระโดดที่วงกลมกลางสนาม ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้การเล่นช้ามาก เพราะมีการจงใจทำฟาวล์ผู้เล่นมาก นอกจากนั้นเวลาของการเล่นสั้น เพราะไม่มีการหยุดเวลาเมื่อมีการผิดกติกา ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงกติกาเพื่อให้การเล่นรวดเร็วขึ้นดังต่อไปนี้ คือ

1. กติกา ปี ค.ศ. 1932 - 1933 บังคับว่า ทีมที่ได้ครอบครองบอลให้นำลูกบอลข้ามเส้นแบ่งแดนภายใน 10 วินาที

2. กติกา ปี ค.ศ. 1935 – 1936 บังคับว่า หลังจากการโยนโทษเป็นผล เพราะการทำฟาวล์บุคคลให้ส่งลูกบอลเข้าเล่นจากนอกสนามที่เส้นหลัง

3. กติกา ปี ค.ศ. 1937 – 1938 ได้ยกเลิกการเล่นลูกกระโดดที่วงกลมกลางสนาม ภายหลังลูกบอลลงห่วงประตูจากการยิงประตูธรรมดา

สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศรับกีฬาบาสเกตบอลเป็นกีฬาประจำชาติ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1892 ต่อมาได้แพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ๆโดยสมาคมนักศึกษาและพ่อค้านักธุรกิจเป็นสื่อ ปรากฏว่าการเล่นได้เผยแพร่เข้าไปในประเทศจีนและอินเดียในปี ค.ศ. 1894 ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1895 และประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1900 ทั้งได้ขยายกว้างออกไปจนเป็นที่นิยมกันในประเทศที่เจริญทั่วโลก ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ขณะนี้มีประเทศที่นิยมการเล่นบาสเกตบอลไม่น้อยกว่า 50 ประเทศ กติกาการเล่นได้ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศประมาณ 30 ภาษา

เสกสรร ห้วยอำพันและคณะ (2532 : 8 – 9) ได้เรียบเรียงกติกาต้นแบบที่ ดร. เจมส์ เอ เนสมิธ ได้กำหนดไว้มี 13 ข้อ ดังนี้กติกาต้นแบบที่ ดร. เจมส์ เอ. เนสมิธ ได้กำหนดไว้สำหรับการเล่น มี 13 ข้อ ซึ่งต้นฉบับยังคงปรากฏอยู่ที่กระดานเกียรติยศในโรงฝึกพลศึกษา ณ เมืองสปริงฟิลด์ อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ คือ

1. การโยนลูกบอลอนุญาตให้โยนได้ทั้งมือเดียวและสองมือและจะโยนไปในทิศทางใดก็ได้

2. การตีลูกบอลอนุญาตให้ตีได้ทั้งมือเดียวหรือสองมือและจะตีไปในทิศทางใดก็ได้

3. ผู้เล่นจะพาลูกบอลวิ่งไปไม่ได้ จะต้องส่งจากจุดรับลูกบอล ยกเว้นการวิ่งมารับลูกบอลอย่างเร็วแล้ววิ่งเลยไปเล็กน้อยก็ส่งลูกบอลได้

4. จับลูกบอลด้วยมือทั้งสองแต่จะใช้แขนหรือร่างกายช่วยในการครอบครองไม่ได้

5. การเล่นจะใช้ไหล่กระแทกหรือดึง ผลัก ตี และทำให้ล้มไม่ได้ ถ้าละเมิดกติกาถือเป็นฟาวล์หนึ่งครั้ง และฟาวล์สองครั้งให้ออกจากการเล่น จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำประตูได้จึงจะกลับมาเล่นได้อีก หากมีเจตนาทำให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามบาดเจ็บก็ให้ออกจากการแข่งขันตลอดการแข่งขัน และไม่ให้ผู้เล่นอื่นเข้ามาแทน

6. การตีลูกบอลด้วยกำปั้นถือว่าผิดระเบียบการแข่งขันและให้ปรับเป็นฟาวล์เช่นเดียวกับข้อ 5

7. ถ้าทีมใดทีมหนึ่งทำฟาวล์ติดต่อกัน 3 ครั้ง ต้องปรับให้ฝ่ายหนึ่งได้ประตู

8. การได้ประตู จะทำได้ด้วยการโยนหรือตีลูกบอลไปที่ตะกร้าและค้างอยู่ที่ตะกร้าซึ่งฝ่ายตรงข้ามจะไปยุ่งเกี่ยวกับประตูไม่ได้

9. เมื่อลูกบอลออกนอกสนาม ให้ผู้เล่นที่ไปจับลูกบอลคนแรกเป็นผู้ส่งลูกบอลเข้ามาเล่น ในกรณีที่ไม่รู้ว่าใครไปถึงก่อน ให้ผู้ตัดสินส่งลูกบอลเข้ามาเล่น การส่งลูกบอลแต่ละครั้งผู้ส่งต้องส่งลูกบอลเข้าเล่นภายใน 5 วินาที ถ้าช้ากว่านี้ให้เปลี่ยนส่งหรือถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถ่วงเวลาการเล่นอยู่เสมอให้ปรับเป็นฟาวล์

10. หน้าที่ของผู้ตัดสิน คือ ตัดสินผู้เล่นทำผิดระเบียบการเล่นและลงโทษ

11. ผู้ตัดสินมีหน้าที่รักษาเวลา และบันทึกคะแนนที่ทีมทำได้

12. การเล่นแบ่งออกเป็น 2 ครึ่ง ๆ ละ 15 นาที

13. ฝ่ายใดทำประตูได้มากกว่า ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะ ถ้าคะแนนเท่ากันให้หัวหน้าทีม ตกลงกันเพื่อต่อเวลา และถ้าฝ่ายใดทำประตูได้ก่อนเป็นฝ่ายชนะ

ประวัติความเป็นมาของกีฬาบาสเกตบอลอาชีพ (National Basketball Association= NBA)

สาโรช คุณีพงษ์ (ม.ป.ป. : 4 – 10) ได้เรียบเรียงประวัติบาสเกตบอลอาชีพ บาสเกตบอลในเอเชีย สหพันธ์บาสเกตบอลแห่งเอเชีย และบาสเกตบอลในประเทศไทยไว้พอสรุปได้ดังนี้

เอ็นบีเอ (NBA) คือ สมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ควบคุมสโมสรกีฬาบาสเกตบอล ซึ่งเป็นสมาชิกของการแข่งขันระดับอาชีพ (Professional)

กีฬาบาสเกตบอลที่จัดแข่งขันแบบอาชีพในสหรัฐอเมริกามีขึ้นประมาณ ค.ศ. 1900 ครั้งแรกจัดที่เมืองเทรนตัน (Trenton) รัฐนิวเจอร์ ซี่ (New Jersy) คือ ทางตะวันออกของประเทศ จากนั้นก็มีทีมในเมืองต่าง ๆ แถบตะวันออก เช่น ทีมของนิวยอร์ค (New Yourk) ทีมของบัฟฟาโล่ (Buffalo) ทีมของเมืองบอสตัน (Boston) ซึ่งทีมนี้กำเนิดเมื่อ ค.ศ. 1915 แต่เลิกล้มไป เรียกว่าทีมเซลติกส์ (Celtics)

ปี ค.ศ. 1930 เมือง New york ได้ตั้งทีมเซลติกส์ แทนบอสตัน และมีทีมเพิ่มอีก 1 ทีม มีชื่อว่า เรเนแซนส์ (Renaissance) เรียกสั้น ๆ ว่า เรนส์ (Rens)

แรก ๆ จัดเป็นลีก (League) หรือสโมสร ชื่อแรก คือ NBL = National basketball League ต่อมาเมื่อ ปี ค.ศ. 1938 ได้มีลีกเพิ่มอีก คือ BAA = Basketball Association of America

เนื่องจากทั้งสองลีกจัดการแข่งขันแล้วมักจะมีปัญหาขัดแย้งกัน ในที่สุด เมื่อ ค.ศ. 1949 ทั้ง 2 ลีก จึงได้รวมเป็นสมาคมเดียว ชื่อ National Basketball Association (NBA) ซึ่งโด่งดังในปัจจุบัน

ในระหว่าง ค.ศ. 1961 – 1968 ได้มีสมาคมอีกสมาคมหนึ่งเพิ่มขึ้น คือ American Basketball Association (ABN) แต่ก็รวมกันกับ เอ็น บี เอ (NBA ) เหลือเป็นสมาคมเดียวเช่นปัจจุบัน

ในฤดูกาลแข่งขัน ค.ศ. 1984 – 1985 มีทีมอาชีพรวม 23 ทีม แบ่งออกเป็นภาคต่างๆ ดังนี้

1. ภาคตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 เขต คือ

1.1 เขตมหาสมุทรแอตแลนติก มี 5 ทีม คือ

1.1.1 บอสตัน (Boston )

1.1.2 ฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia)

1.1.3 นิว เจอร์ซี่ (New Jersey)

1.1.4 นิว ยอร์ค (New York)

1.1.5 วอชิงตัน (Washington)

1.2 เขตกลาง มี 6 ทีม คือ

1.2.1 ดีทร้อยท์ (Detroit)

12.2 มิลวอคกี้ (Milwaukee)

1.2.3 ชิคาโก้ (Chicago)

1.2.4 คลีฟ แลนด์ (Cleveland)

1.2.5 แอตแลนต้า (Atlanta)

1.2.6 อินเดียน่า (Indiana)

ภาคตะวันตก แบ่งออกเป็น 2 เขต คือ

1.3 เขตตะวันตกตอนกลาง มี 6 ทีม คือ

1.3 .1 ยูท่าห์ (Utah)

1.3.2 ดัลลัส (Dallas)

1.3.3 เดนเวอร์ (Denver)

1.3.4 แซนอันโตนิโอ (San Antonio)

1.3.5 แคนซัสซิตี้ (Kansas City)

1.3.6 ฮูสตัน (Houston)

1.4 เขตแปซิฟิก มี 6 ทีม

1.4.1 ลอสแองเจลีส (Los Angeles) ทีม 1-Lakers

1.4.2 ลอสแองเจลีส ทีม 2-Clippers

1.4.3 พอร์ทแลนด์ (Portland)

1.4.4 ฟินิกส์ (Phoenix)

1.4.5 ซีแอตเติ้ล (Seattle)

1.4.6 โกลเด้น สเตท (Golden State)


ประวัติความเป็นมาของกีฬาบาสเกตบอลในเอเชีย

ในบรรดานักศึกษาของวิทยาลัยสปริงฟิลด์ในสมัยนั้น มีการเล่นบาสเกตบอลเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1891 มี 5 คน เป็นชาวแคนนาดา 2 คน ชาวญี่ปุ่น 1 คน ชาวจีน 1 คน และคนสุดท้ายเป็นชาวอินเดีย นักศึกษาญี่ปุ่นที่กลับบ้านชื่อเกนซาบุโร เอส อิชิกาวา (Genzaburo S. Ishikawa) เป็นผู้นำกีฬาบาสเกตบอลเข้าไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น ดร .เจมส์ เอ เนสมิธ จึงตั้งบุคคลเหล่านี้ให้เป็นผู้บุกเบิกกีฬาบาสเกตบอลให้แพร่เข้าสู่เอเชีย อย่างไรก็ตามถ้าไม่นับนักศึกษาชาวแคนาดาแล้ว บุคคลอื่นที่กล่าวมาก็มีบทบาทเฉพาะในประเทศของตนเท่านั้น

ในญี่ปุ่นนั้นยังมีอีกคนหนึ่งที่สำเร็จการศึกษาจากสปริงฟิลด์ เมื่อ ค.ศ. 1900 ชื่อ ไฮโอโซ โอโมริ (Hyozo Omori) ได้รับเกียรติว่าเป็นบุคคลแรกที่จัดให้มีเกมบาสเกตบอลที่เป็นทางการ ณ สถานที่ทำการของ วาย เอ็ม ซี เอ แห่งโตเกียว บุคคลผู้นี้เป็นผู้อำนวยการพลศึกษาคนแรกของ วาย เอ็ม ซี เอ

ในปี ค.ศ. 1913 แฟรงกลิน เอช บราวน์ (Franklin H. Brown ) จากสภาบริหารกลางของ วาย เอ็ม ซี เอ แห่งสหรัฐอเมริกา คือ บุคคลที่ได้รับความสำเร็จในการนำเกมบาสเกตบอลให้เป็นที่สนใจของชาวญี่ปุ่นตามสำนักงาน วาย เอ็ม ซี เอ ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ภายในไม่กี่ปีบาสเกตบอลก็เผยแพร่ขยายไปทั่วประเทศ

ใน ค.ศ. 1904 โรเบอร์ท อาร์ เกลี่ (Robert R. Gailey) นำอเมริกันฟุตบอลรวมดารา จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (Princeton ) ซึ่งเล่นในตำแหน่งเซ็นเตอร์ โดยเผยแพร่บาสเกตบอลในมณฑลเทียนสินแห่งประเทศจีน ในปลายปี ค.ศ. 1908 ก็มีทีมต่าง ๆ มากขึ้นจนพอที่จะจัดเป็นสมาคมหรือลีก (League ) เพื่อการแข่งขัน

ในอินเดียต้องใช้เวลาหลายปีที่บาสเกตบอลจะได้รับความนิยมเพราะถูกอิทธิพลของอังกฤษควบคุม ชาวอินเดียรู้จักบาสเกตบอลเพราะชาวอังกฤษเล่นบาสเกตบอลกัน ผู้ทำให้บาสเกตบอลเติบโตในอินเดียได้นั้น คือ เจ เอช เกรย์ (J. H. Gray) แห่งสำนักงาน วาย เอ็ม ซี เอ ของเมืองกัลกัตตา (Calcutta) บาสเกตบอลเข้าสู่ฟิลิปปินส์ เพราะหน่วยทหารและสมาชิกของ วาย เอ็ม ซี เอ นำเข้าไปและได้รับความสนใจจากนักเรียนชาย - หญิงทันที ทั้งนี้เพราะสำนักงานท้องถิ่นของกระทรวงศึกษาของประเทศซึ่งมีอยู่ทั่วทุกเกาะนั่นเอง ได้มีการจัดการแข่งขันชิงชนะเลิศบาสเกตบอลในปี ค.ศ. 1904 – 1905 ด้วย

ในฤดูร้อน ค.ศ. 1912 ชาวอเมริกาในกรุงมนิลา ได้มีแนวคิดจัดตั้ง ‘’สมาคมกีฬาแห่งตะวันออกไกล’’ ขึ้น (Far Eastern Athletic Association) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นองค์การกีฬาที่ทำงานเกี่ยวกับผู้คนแห่งเอเชียนับล้าน ๆ คน นอกจากนั้นยังทำให้เกิดสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นแห่งฟิลิปปินส์ (The Philippines Amateur Athletic Federation) ซึ่งมีบทบาทเป็นอย่างมากทำให้ประเทศนั้นกลายเป็นแหล่งเล่นกีฬาที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง บุคคลที่มีบทบาทอย่างมากในเรื่องนี้ คือ เอลวูด เอส บราว น์ (Elwood S. Brown ) ต่อมาบุคคลผู้นี้ได้จัดให้มีการแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกลขึ้น และเริ่มแข่งขันเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1913

การแข่งขันบาสเกตบอลระดับนานาชาติในเอเชียมีมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1913 ภายใต้ชื่อว่า “กีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล” (The Far Eastern Athletic Championship Games) จึงจัดให้มีทุก 2 ปี ระหว่างกลุ่มประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ การแข่งขันประกอบด้วยกีฬาต่าง ๆ คือ บาสเกตบอล ว่ายน้ำ ฟุตบอล วอลเลย์บอล เทนนิส เบสบอล และจักรยาน อาจกล่าวได้ว่า การแข่งขันกีฬาครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นของ เอเชี่ยนเกมส์ (Asian Games) ซึ่งกำหนดขึ้นที่กรุงนิวเดลีของอินเดียใน ค.ศ. 1915

สำหรับผลการแข่งขันกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกลพอสรุปได้ดังนี้

หลังปี ค.ศ. 1934 องค์กรนี้ก็เลิกกิจกรรมเพราะการเมือง จึงจัดการเข้าแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 2 แทน ณ กรุงมนิลา ในปี ค.ศ. 1954

สำหรับแนวคิดในการก่อตั้งองค์กรบาสเกตบอลแห่งเอเชียนั้นได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 3 ณ กรุงโตเกียว เมื่อปี ค.ศ. 1958 ซึ่งมีการแข่งขันบาสเกตบอลรวมอยู่ด้วย


ประวัติสหพันธ์บาสเกตบอลแห่งเอเชีย (The Asian Basketball Confederation = ABC)

ในระหว่างการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 3 ณ กรุงโตเกียว ปี ค.ศ. 1958 นั้น มร. โยชิมิ ยูเอดะ (Yoshimi Ueda) แห่งญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มโดยได้ศึกษาและเจรจากับ มร. ลีซุงกู (Lee Sung - ku) ประธานบาสเกตบอลของเกาหลีเกี่ยวกับการจัดตั้งสหพันธ์บาสเกตบอลแห่งโซนเอเชีย (Federation of the Asian Zone) ทั้งสองคนจึงได้พบเจรจากับ ดร. วิลเลียม โจนส์ (Dr. Willian Jones) ซึ่งเป็นผู้แทนสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติที่สมาคมบาสเกตบอลแห่งญี่ปุ่นเชิญมาเป็นประธาน การจัดการแข่งขันบาสเกตบอลของเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 3 นั้น ที่ประชุมจึงตกลงให้เชิญผู้แทนของสมาคมบาสเกตบอลแห่งฟิลิปปินส์ คือ ดร. ดีโอนิชิโอ คาลโว (Dr. Dionisio Calvo) เข้าร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ และได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนของฟีบ้า (FIBA) คือ ดร. โจนส์ ซึ่งตกลงกันว่าสหพันธ์จะต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมของฟีบ้า และใช้ระเบียบการทุกอย่างของฟีบ้า

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1960 ฟิลิปปินส์ได้เชิญสมาคมบาสเกตบอลชาติต่าง ๆ แห่งเอเชียเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก พร้อมกันนั้นก็นำทีมบาสเกตบอลของชาติตนเองไปแข่งขันเพื่อสาธิตรูปแบบของการแข่งขันขององค์กรต่อไป คือ ทีมของฟิลิปปินส์ เกาหลี จีน ไทเป ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน (เฉพาะผู้แทน) และ ญี่ปุ่น รวม 8 ชาติ จึงถือว่านี่คือการชิงชนะเลิศแห่งเอเชียครั้งแรก และฟิลิปปินส์ชนะเลิศ ด้วยเหตุนี้สหพันธ์บาสเกตบอลแห่งเอเชีย (ABC) จึงได้ก่อตั้งขึ้นภายหลังการประชุมกันที่โตเกียว ของบุคคลทั้ง 3 ท่านดังกล่าวแล้ว

ในปี ค.ศ. 1958 มร. คาลโว ได้ถึงแก่กรรม มร. ลี ได้เกษียณอายุตัวเอง และ ดร.โจนส์ ก็ถึงแก่กรรม คงเหลือแต่ มร.โยชิมิ ยูเอดะ ทำงานต่อมาตลอด 25 ปีหลัง พอครบรอบ 25 ปี มร.โยชิมิ ยูเอดะ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหารกลางของฟีบ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านภูมิใจมากที่สุด ต่อมากีฬาบาสเกตบอลได้รับการบรรจุเข้าประเภทกีฬาของโอลิมปิก ในปี ค.ศ. 1900 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์รัฐเยอรมัน

ในปี ค.ศ. 1960 ก็มีการประชุมคองเกรส ของ เอบีซี (ABC) เป็นครั้งแรกและได้มีมติให้จัดการแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งเอเชียครั้งที่สองที่ประเทศไทย ในปี ค.ศ. 1963 และจัดเช่นนี้ทุก ๆ 2 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 สมาคมบาสเกตบอลชาติอื่น ๆ ต่างก็เป็นสมาชิกของฟีบ้า และสหพันธ์บาสเกตบอลแห่งเอเชียปัจจุบันได้มีประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย 42 ชาติสมัครเข้าเป็นสมาชิก

นอกจากนี้ สหพันธ์บาสเกตบอลแห่งเอเชีย (ABC) ยังจัดการแข่งขันชิงชนะเลิศโซนในกลุ่มสมาชิกด้วย โดยจัดแข่งขันในประเภทประชาชนชาย เยาวชนชาย เยาวชนหญิง และมินิบาสเกตบอล


ประวัติกีฬาบาสเกตบอลในประเทศไทย

การเล่นบาสเกตบอลแพร่หลายเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อใดนั้น ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้แน่ชัด แต่เท่าที่ได้ปรากฏมาก็ราวประมาณ 60 กว่าปีมาแล้วที่การเล่นบาสเกตบอลได้มีการเล่นกัน ต่อมาราวปี พ.ศ. 2477 นายนพคุณ พงษ์สุวรรณ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์สอนภาษาจีน ณ โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข ได้ช่วยกรมพลศึกษาจัดแปลกติกาการเล่นบาสเกตบอลขึ้น ต่อมาในปีเดียวกันกระทรวงธรรมการได้เปิดอบรมครูจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 100 คน ขึ้น โดยมี พล. ต. อ. หลวงชาติตระการโกศล ผู้ซึ่งมีความรู้และเชี่ยวชาญการเล่นบาสเกตบอล ทั้งได้เคยเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการแข่งขันเมื่อครั้งท่านกำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้เป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการเล่นบาสเกตบอลแก่บรรดาครูที่เข้ารับการอบรม ต่อมาการเล่นบาสเกตบอลในประเทศไทยก็ได้แพร่หลายไปสู่จังหวัดต่าง ๆ และนิยมเล่นกันมาก จนมีชุดจากจังหวัดต่าง ๆ เดินทางไปแข่งขันกันเสมอ ในกรุงเทพมหานครได้จัดการแข่งขันประเภทนักเรียนชายในปี พ.ศ. 2477 ในสมัยที่ นาวาเอกหลวงศุภชลาศัย ร. น. ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษาและจัดการแข่งขันประเภทประชาชน ในปี พ.ศ. 2491 ประเภทมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2492 ประเภทนักเรียนหญิง ปี พ.ศ. 2495 ต่อมาได้มีบุคคลคณะหนึ่งซึ่งมี คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เป็นประธานได้ขออนุญาตจัดตั้งสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย จากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2495 และได้เข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (FIBA) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2500 โดยใช้อักษรย่อว่า ส.บ.ท. ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Basketball Asssociation of Thailand มีเครื่องหมายเป็นรูปลูกบาสเกตบอลอยู่บนห่วงตาข่าย ภายใต้พระมหามงกุฎด้านล่างมีชื่อว่า “สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” และต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2528 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย ข้อบังคับที่ 6 ว่าด้วยการควบคุมสมาคมซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการกีฬาหรือส่งเสริมกีฬาโดยตรง ได้ออกใบอนุญาตให้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมตามใบอนุญาตที่ 007 / 2531 กทม. 3 และใบอนุญาตให้ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” ใบอนุญาตที่ 007 / 2531 กกท. 7