หน่วยการเรียนที่ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอล

ตอนที่ 4 การเลือก การดูแลรักษาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก

ของกีฬาบาสเกตบอล

4.1 การเลือกอุปกรณ์กีฬาบาสเกตบอล

อุปกรณ์กีฬาบาสเกตบอลที่มีคุณภาพเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดบาดเจ็บของนักกีฬาบาสเกตบอลได้มาก สุนทร กายประจักษ์ (2536 : 163 – 164) ได้กล่าวถึง การเลือกอุปกรณ์กีฬาบาสเกตบอลไว้พอสรุปได้ดังนี้

1. ลูกบาสเกตบอล

ลูกบาสเกตบอลที่ใช้ในการเล่นบาสเกตบอลจะต้องมีคุณสมบัติที่จะใช้ในการฝึกซ้อมได้ดีต้องมีความทนทานต่อการจับต้อง ต่อการกระทบกับพื้นคอนกรีต ลูกบาสเกตบอลควรทำด้วยหนัง ยาง หรือไนล่อน

2. รองเท้า

อุปกรณ์ส่วนตัวที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้เล่น คือ รองเท้าเนื่องจากในการเล่นต้องใช้การวิ่งมาก ต้องกระโดด บิดตัว หมุนตัว เคลื่อนไหวอยู่ตลอดระยะเวลาการเล่น ทำให้ผู้เรียนต้องใส่รองเท้าที่กระชับและสวมสบาย รองเท้าที่ใส่ควรมีคุณสมบัติในการยืดหยุ่นช่วยในการพยุงข้อเท้า เกาะติดพื้นได้อย่างมั่นคงและไม่ลื่น มีพื้นหนานุ่ม เพื่อรองรับในการกระโดดได้อย่างดี ผู้เล่นจะเลือกใช้รองเท้าได้ทั้งแบบหุ้มส้นและหุ้มข้อ แต่ส่วนใหญ่แล้ว นักกีฬาตัวสูง ๆ มักจะชอบใช้รองเท้าหุ้มข้อแบบไฮคัทมากกว่าเพราะมันจะช่วยพยุงข้อเท้าได้ดี

ในปัจจุบันมีรองเท้าทั้งแบบหุ้มส้นและหุ้มข้อในท้องตลาดมากมายให้ผู้เล่นได้ลองเลือกใช้จนกว่าจะพบคู่ที่เหมาะสมกับตนเอง ผู้เล่นที่มีข้อเท้าไม่ค่อยแข็งแรงสามารถซื้อเครื่องพยุงกระชับข้อเท้าใช้เป็นพิเศษได้ แม้ว่ารองเท้าหุ้มข้อแบบพิเศษจะมีส่วนช่วยพยุงข้อเท้าอยู่แล้วก็ตามผู้เล่นส่วนใหญ่จะสวมถุงเท้าซ้อนกันหนา ๆ 2 – 3 คู่ เพื่อช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนจากการกระโดด ข้อแนะนำที่ดีในการสวมรองเท้าใหม่ ก็คือให้โรยแป้งฝุ่นลงไปในถุงเท้าคู่ในสุดมาก ๆ เพื่อช่วยป้องกันอาการของเท้าอันเกิดจากการเสียดสีกันระหว่างเท้าและรองเท้า

3. เสื้อผ้า

เสื้อผ้าที่เหมาะสมในการสวมใส่ คือ เสื้อยืดและกางเกงขาสั้น เพราะทำให้เกิดอิสระในการเคลื่อนไหว ไม่รัดตรึงอึดอัด เสื้อสวมทับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้เล่นที่ต้องใช้เวลานั่งคอยอยู่ข้างสนามถึงครึ่งเวลาการแข่งขัน เพื่อจะคอยเข้าไปเปลี่ยนตัว พวกเขาจะต้องใส่เพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เสื้อสวมทับที่ว่านี้ จะต้องถอดง่ายเพื่อผู้เล่นจะได้พร้อมที่จะลงสนามอย่างรวดเร็ว และสิ่งสุดท้ายผู้เล่นจะต้องมี ก็คือกระเป๋าใส่เครื่องกีฬา

4.2 การดูแลรักษาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกของกีฬาบาสเกตบอล

ถาวร วิบูลย์ศรินทร์ (2539 : 23 – 24) ได้กล่าวถึงการดูแลรักษาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกไว้พอสรุปได้ดังนี้

การเอาใจใส่หมั่นตรวจอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการเรียนการสอนพลศึกษาให้อยู่ในสภาพดีและใช้การได้เสมอ เป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย หรือเสื่อมคุณภาพ อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้เรียนได้ ครูผู้สอนจึงควรเปลี่ยนแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ดี ใช้การได้ดังเดิม การดูแลรักษาอุปกรณ์ให้ถูกต้องจะช่วยยืดอายุการใช้งานได้นาน ช่วยประหยัดงบประมาณของทางราชการได้อีกส่วนหนึ่งด้วย ไม่ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะเป็นของโรงเรียน หรือของนักเรียนก็ตาม ถ้าได้จัดเก็บไว้เป็นที่หยิบง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา ครูจึงควรได้แนะนำวิธีการใช้และการเก็บรักษา

อุปกรณ์ที่ถูกต้องให้นักเรียนได้รู้และปฏิบัติจนเกิดเป็นลักษณะนิสัยที่ดี เป็นผู้มีระเบียบวินัยในตนเองสืบไป

1. ลูกบาสเกตบอล

1.1 เมื่อจะนำมาใช้ฝึกซ้อมหรือแข่งขัน จะต้องสูบลมให้แข็งตามกติกาที่กำหนดไว้

1.2 เมื่อเล่นแล้วต้องปล่อยลมออกให้ลูกบอลอ่อนตัวลง จะช่วยทำให้ลูกบอลไม่เบี้ยว และทรงรูปกลมอยู่เสมอ

1.3 ไม่นั่งทับลูกบอลหรือใช้เท้าเตะลูกบอล ซึ่งจะทำให้ชำรุดได้ง่าย

1.4 ลูกบอลที่เปียกน้ำ หรือสกปรกควรทำความสะอาด และใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง นำไปผึ่งลมไว้ ไม่ควรผึ่งไว้กลางแดดจัด จะทำให้ยางเสื่อมสภาพได้

1.5 การปล่อยลมออกจากลูกบอล ต้องใช้เข็มสูบ หรือเครื่องปล่อยลมโดยเฉพาะ ไม่ควรใช้ตะปู หรือของแหลมทิ่มแทง จะทำให้เสียได้ง่าย

1.6 ตรวจนับอุปกรณ์ให้ครบจำนวนก่อนใช้ฝึกซ้อมและเก็บไว้ที่ทุกครั้ง

1.7 ตู้หรือห้องที่ใช้เก็บลูกบอล ควรมีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มืดทึบ เปียกชื้น หรือเป็นที่มีอุณหภูมิร้อนจัด จะทำให้ลูกบอลเสื่อมคุณภาพได้ง่าย

2. อุปกรณ์ของผู้เล่น

2.1 ชุดฝึกซ้อมหรือใช้แข่งขันบาสเกตบอล ควรมีขนาดเหมาะสม กับรูปร่างของผู้เล่น และควรรักษาความสะอาดพร้อมที่จะใช้ได้เสมอ

2.2 รองเท้าบาสเกตบอล ควรใช้ชนิดหุ้มข้อเท้า มีขนาดพอเหมาะกับเท้า ไม่คับหรือหลวมเกินไป ควรรักษาความสะอาดอยู่เสมอ

2.3 ผ้าพันข้อเท้า ควรซักและตากให้แห้ง ไม่ใช้ผ้าที่เปียกชื้น และถ้าเห็นว่าเสื่อมคุณภาพควรทิ้งไป

2.4 สนับเข่าควรเลือกขนาดพอเหมาะกับเข่า ควรรักษาให้สะอาด เมื่อชำรุดให้เลิกใช้ทันที

3. สนามบาสเกตบอล

3.1 พื้นสนามที่ใช้เรียนหรือแข่งขัน ต้องเรียบแห้งสะอาดและบริเวณสนามต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใด ๆ

3.2 สนามเล่นในร่ม พื้นปูปาเก้ ต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรสวมรองเท้าหนังลงไปในสนามเล่น

3.3 พื้นสนามที่เกิดชำรุด ต้องได้รับการดูแลปรับปรุงให้คงสภาพใช้การได้ดีดังเดิม

3.4 แป้นหรือกระดานหลังที่ใช้ติดห่วง หรือตาข่าย ต้องดูแลให้อยู่ในสภาพดี พร้อมที่จะใช้เล่นได้ด้วยความปลอดภัย

3.5 เสาที่ใช้ติดตั้งกระดานหรือห่วงประตู ซึ่งทำด้วยเหล็กหรือปูน ควรใช้ผ้าหรือฟองน้ำพันหุ้มไว้ ป้องกันนักเรียนวิ่งชนได้รับอุบัติเหตุได้ง่าย