ประเพณีพระพุทธบาทนางงอย

ประเพณีพระพุทธบาทนางงอย

รอยพระพุทธบาทนางงอย มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มาแล้วไม่มีใครรู้เห็นมาก่อนเลย เมื่อปี พ.ศ. 2439 มีพ่อเฒ่าคนหนึ่งได้ขึ้นไปเที่ยวบนดอย ได้หลงเข้าไปถ้ำลับแลที่ดอยพระพุทธบาท เมื่อผู้เฒ่าออกมาจากถ้ำ ก็ออกมาเจอพระพุทธบาท พอออกมาจากภูเขาลูกนี้ได้ก็ถางเปลือกไม้เพื่อที่จะทำเป็นทาง เพื่อกำกับเอาไว้เป็นทางไปในถ้ำอีกทีพอไปถึงบริเวณที่เจอถ้ำก็หาไม่เจอ เห็นแต่รอยพระพุทธบาท เพราะถ้ำนั้นเป็นถ้ำลับแลไม่สามารถมองเห็นได้ ถ้าใครอยากจะเห็นหรือพบถ้ำลับแลนั้น ต้องหลงป่าจึงจะเห็นถ้ำ เพราะว่าในถ้ำลับแลนั้นมีของมีค่ามากมาย และเป็นของสำคัญมากเมื่อสมัยก่อนตามที่ได้เล่าสืบกันต่อมา หากหมู่บ้านมีงานบวชก็จะออกไปยืมเครื่องนาค ฆ้องโมงที่เป็นทองคำ ไปแต่งและแห่นาค พอเสร็จแล้วต้องนำไปคืนที่เดิม หากว่ามีการบวชนาคครั้งต่อไปก็ไปยืมมาแต่งนาคอีก แต่ก็มีอีกคนไปยืมเครื่องนาคแล้วไม่นำไปคืน สร้อยคอเครื่องนาคก็หายกลับไปอยู่ที่เดิม คนที่ไม่ซื่อสัตย์ถ้าไปยืมอีกก็หาไม่เจอ เพราะว่าบริเวณถ้ำลับแลนั้น จะมีเทพรักษ์รักษาเอาไว้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พ่อเฒ่าได้พาลูกหลานไปสักการบูชาจนถึงทุกวันนี้ มีความเชื่อกันว่ารอยพระพุทธบาทข้างซ้ายนางงอย ส่วนข้าวขวา จะอยู่ที่พระพุทธบาทนางรอง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พระพุทธบาทนางงอย ในปัจจุบันอยู่ที่ หมู่บ้านกอรวก ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อยู่บนเขาสูง เมื่อปี พ.ศ. 2524 มีหลวงพ่อเณร ได้มาก่อสร้างบันไดขึ้นไปสัการะรอยพระพุทธบาทได้สร้างเจดีย์และศาลา ได้เปลี่ยนเป็นสำนักสงฆ์พระพุทธบาท เมื่อปี พ.ศ.2535 ได้มีพระมาจำพรรษา ได้สร้างกุฏิ 3หลัง เพื่อจะเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระที่สัญจรมา เพราะรอยพระพุทธบาทอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปประมาณ 800 เมตร และเหมาะสำหรับการภาวนาวิปัสากัมฏฐาน ต่อมาศาลาหลังเก่าชำรุด พระอธิการสมคิด และครูบาเกมสีมา จากวัดป่าตัน ต.ปงแสนทอง อ. เมือง จ.ลำปาง ได้พาญาติโยมมาสร้างศาลาหลังใหม่ขึ้น โดยผู้ที่ออกแบบ คือ ครูบาเกมสีมามีพ่อสล่า คือพ่อบุญส่ง พิชัยหล้า โดยมีชาวบ้านมาช่วยกันต่อมาเมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม 2548 ครูบาเกมสีมา และ พระสมคิด ได้พาญาติโยมได้ร่วมแรงร่วมใจกัน หล่อพระประธานองค์ใหม่ขนาดหน้าตั้ง 2 เมตร 29 เซนติเมตร ไว้ในศาลาหลังใหม่ มีพระจำพรรษา 1 รูป คือ ครูบาเกมสีมา พระพุทธบาทนางงอย จะมีประเพณีทุก ๆ ปี ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ โดยมีชาวบ้านทั่วสารทิศมาสักการบูชารอยพระพุทธบาทนางงอย เป็นการสืบทอดประเพณี และเป็นมงคลชีวิตให้แก่ตนเองเพื่อที่จะได้อยู่เย็นเป็นสุข และบริเวณพระพุทธบาทนางงอยมีทิวทัศน์สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง