ประเพณีปูจาข้าว

ประเพณีปูจาข้าว

อิทธิพลของวัฒนธรรมล้านนาแบบอย่างในการดำเนินชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีผลต่อศรัทธาและความเชื่อโดยความอย่างหนึ่งตามวัฒนธรรมล้านนาคือความเชื่อในเรื่องเคราะห์ ซึ่งแบ่งกว้าง ๆ ออกเป็นเคราะห์ดีและเคราะห์ร้าย ผู้ที่เคราะห์ดี จะมีโชคลาภ มีความสุขความเจริญ และมีความก้าวหน้าในชีวิต คิดสิ่งใดจะสำเร็จ สมความตั้งใจ คลาดแคล้วจากภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะมาแผ้วพาน ในขณะที่ผู้มีเคราะห์ร้ายจะพบในสิ่งตรงกับข้าม ความกลัวว่าตนเองและครอบครัว จะได้รับเคราะห์ร้ายจึงฝังแน่นอยู่ในจิตใจของชาวภาคเหนือ จึงเป็นที่มาของประเพณี พิธีกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการปัดเป่าบรรเทาเคราะห์ร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิต ให้เกิดเคราะห์ดีมีโชค เช่น การส่งเคราะห์ การบูชาเทียน การปูจาข้าว เป็นต้น ซึ่งการจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการปัดเป่าเคราะห์ร้าย บางพิธีกรรมทำเป็นประจำทุกปี

มีเวลากำหนดเป็นที่แน่นอน ขณะที่บางพิธีไม่ได้กำหนดเวลา แต่จะจัดทำเมื่อเกิดความไม่สบายใจคิดว่าตนเอง อาจมีเคราะห์ ซึ่งอาจเกิดจากมีลางร้าย หรือที่ได้รับคำทำนายทายทักจากหมอดู เป็นต้น

การป้องกันปัดเป่าเคราะห์ร้าย ไม่ให้มาแผ้วพานตนเองและครอบครัว ที่จัดกันเป็นประจำทุกปี จนเป็นประเพณีประจำท้องถิ่น อย่างหนึ่งได้แก่ “การปูจาข้าว ซึ่งเป็นพิธีที่จัดทำขึ้นโดยไม่จำเป็นว่าคนในครอบครัวจะต้องได้รับคำทำนายทายทักหรือมีลางร้ายแต่เป็นการป้องกันปัดเป่า เคราะห์ร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับทุกคนในครอบครัวในแต่ละปี

การปูจาข้าว ส่วนใหญ่นิยมทำกันปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะทำกัน ในวันที่ 16 เมษายน ซึ่งเป็น วันปากปี ของชาวภาคเหนือสำหรับครั้งที่ 2 จะทำกัน หลังจาก ออกพรรษาหนึ่งวัน โดยแต่ละครอบครัว ที่ต้องการ ปูจาข้าว ต้องจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ที่จะนำไปร่วมประกอบพิธี ได้แก่กะละมังใส่เสื้อผ้าของทุกคนในครอบครัวคนละ 1 ผืน ด้ายมงคลหรือด้ายสายสิญจน์ จำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัว

โดยแต่ละเส้นมีความยาว 1 วาของแต่ละคน นำด้ายนี้ไปชุบด้วยน้ำมันมะพร้าวพอชุ่มแล้วห่อไว้เพื่อนำไปใช้จุดในการทำพิธี นอกจากนี้ยังต้องเตรียมข้าวเหนียว 1 ปั้น อ้อย 1 ปล้อง กล้วย 1 ลูก หมาก - พลู 1 อัน เมี่ยง 1 อม บุหรี่ 1 มวน จ้อกระดาษสีขาว 1 อัน ธูป 1 ดอก ยอดตองกล้วยสำหรับวางสิ่งของ 1 ยอด โดยเชื่อว่าถ้าเป็นยอดตองกล้วยตีบดีที่สุด เนื่องจากจะช่วยให้เกิดตีบตันกั้นเคราะห์ร้ายได้ดี นอกจากนี้ยังมีใบมะเดื่อ ใบขนุน ใบค้ำอย่างละ 1 ใบ แต่ถ้าเป็นการจัดเครื่อง 4 สิ่งของต่าง ๆ ดังกล่าว นอกจากกะละมังและยอดตองแล้วจะต้องจัดจำนวนอย่าง ละ 4 ชิ้น

เมื่อจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆได้ครบแล้ว พับเสื้อผ้าของทุกคนใส่ลงในกะละมังแล้วใช้กระดาษสะอาดมาคลุมทับเสื้อผ้า นำยอดใบตองกล้วยตีบวางทับกระดาษ แล้วนำของที่เหลือวางบนใบตอง ส่วนจ้อขาวปักไว้บนข้าวปั้น และถ้าใครจะทำการปูจาข้าวคู่อายุ ต้องจัดเตรียมสิ่งของเท่ากับอายุของตนเอง พิธีการปูจาข้าว นี้จัดทำในตอนเช้า โดยตัวแทนของแต่ละครอบครัวนำกะละมังที่เตรียมไว้ไปวางรวมกันที่พื้นวิหารต่อหน้าพระประธานโดยผู้ประกอบพิธีคือพระสงฆ์ สำหรับผู้ที่จะถวายปัจจัยเป็นเงินทอง แก่พระสงฆ์จะนำเงินรวมกันในขันที่จัดเตรียมไว้จำนวนตามแต่ศรัทธาเมื่อเห็นว่ามีคนมาพร้อมเพรียงกันแล้วตัวแทน ชาวบ้านจะ นิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป มาสวดทำพิธีปูจาข้าว

การปูจาข้าว เพื่อป้องกันปัดเป่าเคราะห์ร้าย ในระหว่างการสวดชาวบ้านแต่ละคนหยิบด้ายมงคลที่ชุบน้ำมันมะพร้าวไว้ ออกไปหาที่วางด้ายแล้วจุดไฟเผาด้าย ถือเป็นการปัดเป่าเคราะห์ เมื่อพระสงฆ์สวดจนจบหลังจากนั้นจะมีสามเณรมาเก็บยกเอาใบตองและสิ่งของที่อยู่บนใบตองออกจากกะละมังแล้วคว่ำกะละมังกองทับเสื้อผ้า ชาวบ้านแต่ละคนทยอยมาเก็บเสื้อผ้าและกะละมังของตนเองขณะที่ชาวบ้านเก็บเสื้อผ้าจะปัดเบา ๆ บนเสื้อผ้า และอาจกล่าวว่า “ เคราะห์สิบสาม นามสิบห้า เคราะห์ไปใต้หล้าตกไปตวยไฟไหลไปตวยน้ำ ไปนอกฟ้าจักรวาล ขอหื้อ มีโชคลาภ ” คำพูดที่นำมากล่าวอาจเป็นอย่างอื่น แต่สรุปได้ว่าเป็นคำพูดที่ขอให้เกิดเคราะห์ดีมีโชคกับตนและครอบครัว ส่วนการสะบัดและปัดเสื้อนั้นเชื่อว่าเป็น การทำให้เคราะห์ของแต่ละคนตกอยู่ที่หน้าพระพุทธรูปนี้ ถือเป็นอันหมดเคราะห์และเสร็จพิธี การปูจาข้าว เป็นพิธีการป้องกันปัดเป่าเคราะห์ร้าย ตามความเชื่อ เป็นพิธีที่ไม่ยุ่งยากเสียค่าใช้จ่ายน้อย ทำ 1 ครั้งแต่ให้ความคุ้มครองทุกคนในครอบครัวทั้งเด็กและผู้ใหญ่และเมื่อได้ทำพิธีนี้แล้วจะทำให้เกิดกำลังใจ โดยเชื่อว่าจะเกิดสิริมงคลกับทุกคนในครอบครัว ปัจจุบัน การปูจาข้าว ยังเป็นประเพณีที่เป็นที่นิยมในหมู่บ้านต่าง ๆ และมีการจัดทำในทุกปี