ประเพณีตานก๋วยสลาก

ประเพณีตานก๋วยสลาก

การกินสลากหรือสลากภัตต์ หรือการกินข้าวสลาก เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่ง เมื่อวัดและชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลาก ชาวบ้านต่างจัดเตรียมเครื่องไทยทาน ทั้งที่จัดใส่ก๋วยเรียกว่า “ ก๋วยสลาก ” เป็นสลากน้อย และที่จัดแต่งเป็นต้นกัลปพฤกษ์ เป็นสลากหลวงซึ่งทำด้วยไม้ไผ่สูงและทำเป็นชั้น ๆ อาจเป็น 3 ชั้น หรือ 5 ชั้นหรือ 7 ชั้นหรือ 9 ชั้น

สลากหลวง หรือเรียกว่า ต้นกัลปพฤกษ์ โดยแต่ละชั้นนำวัตถุไทยทานมาผูกติดไว้ให้สวยงาม ปลายสุดที่เป็นส่วนยอดนิยมนำร่มมาเสียบติดไว้ ผูกธนบัตรที่ขอบร่มจำนวนเงินตามแต่ความพอใจของ ผู้จัดทำ โดยสลากหลวงจะมีจำนวนเงินสูงกว่าสลากน้อยเมื่อถึงวันที่ชาวบ้านกำหนดเจ้าของกัณฑ์สลาก แห่เครื่องไทยทานเข้าวัดและตั้งกัณฑ์สลาก โดยแต่ละกัณฑ์จะมีเส้นสลาก เขียนข้อความ อุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และมีชื่อเจ้าของกัณฑ์ในเส้นสลากเส้นสลาก นี้เดิมนิยมเขียน ในแผ่นใบตาล ใบลาน ในปัจจุบันใช้ กระดาษแข็ง เท่าจำนวนของเครื่องไทยทาน แล้วนำเส้นสลากไปกองรวมกันยังที่กำหนดไว้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในวิหาร หน้าพระประธาน กรรมการจะจัดแบ่งสลากออกเป็นกอง ๆ ตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมพิธี และจัดแบ่งให้แก่พระประธานด้วยซึ่งสลาก ของพระประธานนี้จะตกเป็นของวัดนั้น ๆ และถ้ามีสลากจำนวนมากพระภิกษุจะได้ 20 เส้น สามเณรได้ 10 เส้น ที่เหลือสมทบ

ถวายพระประธาน เมื่อเสร็จจากการแบ่งเส้นสลาก คณะกรรมการจะนำเส้นสลากที่แบ่งแล้วจำนวน 1 มัด

ไปประเคนพระผู้อาวุโส ซึ่งเป็นประธานในพิธี ต่อจากนั้นกรรมการจึงนำเส้นสลากไปถวายพระรูปอื่น ๆ ตามลำดับ พระสงฆ์อนุโมทนาเสร็จแล้วชาวบ้านต่างแยกย้ายกันไปนั่ง ณ ที่จัดไว้ให้ ชาวบ้านเจ้าของกัณฑ์สลากต่างพากัน ตามหาเส้นสลากของตนที่อยู่ในมือพระภิกษุสามเณรจนพบหลังจากนั้นพระภิกษุสามเณรอ่านเส้นสลากแล้วจึง ถวายกัณฑ์สลาก เมื่อรับพรจากพระเสร็จแล้ว จะรับเส้นสลากของตนไปเผาพร้อมกับ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ตายเป็นอันเสร็จพิธี สำหรับเครื่องไทยทานที่จัดทำขึ้นเป็นต้นกัลปพฤกษ์ เจ้าของต้องนิมนต์พระภิกษุสามเณรที่ได ้รับเส้นสลาก ไปยังที่ตั้งของเครื่องไทยทานเพื่อถวาย

การทำบุญกินสลาก บางแห่งกัณฑ์สลาก จัดทำเป็นหุ่นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ขนาดใกล้เคียงของจริง ทำด้วยผ้าหุ้มโครงไม้ไผ่ เชื่อว่าถ้าถวายแล้วชาติหน้าจะได้เป็นเจ้าของสัตว์นั้นๆ แต่การถวายก็มีลักษณะเช่นเดียวกับกัณฑ์สลากอื่น ๆ การกินสลากนิยมจัดหลังจากการออกพรรษา ส่วนใหญ่ไม่ได้จัดทำทุกปี เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการจัดทำกัณฑ์สลาก ดังนั้นบางวัดอาจจัดปีเว้นปีหรือสี่ห้าปีต่อครั้ง ประเพณีการกินสลากเป็นประเพณีการทำบุญ ของชาวบ้าน ที่แสดงออกถึงความสามัคคีร่วมใจกัน ในการถวายเครื่องไทยทานจากพระสงฆ์ซึ่งมาจากที่ต่าง ๆ ตามที่ได้นิมนต์ไว้ นอกจากนี้ยังได้แสดงออก ถึงความสามารถ ทางศิลปะในการจัดแต่งเครื่องไทยทาน ของชาวบ้านเป็นต้นกัลปพฤกษ์ ตลอดจนหุ่นรูปสัตว์ต่าง ๆ บ้าง นอกจากนี้การกินสลากยังบ่งชี้ให้เห็นถึงฐานะ ทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน ถ้าเศรษฐกิจดีชาวบ้านจะจัดทำกัณฑ์สลากเป็นต้นกัลปพฤกษ์ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และถ้าเศรษฐกิจไม่ดี อาจไม่มีประเพณีการกินสลากในปีนั้น ในปัจจุบันการจัดประเพณีนี้มีน้อยลง ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การกินสลากก็ไม่ถึงกับว่าไม่มีเลย บางท้องที่ยังคงร่วมกันอนุรักษ์สภาพวัฒนธรรมและประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่ไม่ลืมเลือนเพื่อให้เด็กๆได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป