การปูจาเตียน

การปูจาเตียน

การจุดปูจาเทียนหน้าพระประธานในวิหาร “ เทียน ” “ เตียน ”เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชน รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี เทียนตามความเชื่อของชาวพุทธเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรมดังนั้นการใช้เทียนประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจึงมีมานานแล้วซึ่งในอดีตจัดทำเทียนสำหรับจุดด้วยมือ โดยใช้ขี้ผึ้งแท้ที่ได้จากการเคี่ยวรังผึ้งแยกเอาขี้ผึ้งออกมาแล้วใส่ในภาชนะ เช่น ถ้วย จานเมื่อขี้ผึ้งเย็นแล้วจึงใช้มีดตัดแยกเป็นชิ้น ๆ แกะออกเก็บไว้ เมื่อจะใช้ทำเทียนก็นำขี้ผึ้งนี้มาสี(คลึง)กับพื้นเรียบ ๆ ที่สะอาดจนเป็นแท่งกลมจะได้เทียนที่พร้อมจะนำไปจุด วิธีการจัดทำเทียน ดังกล่าว เรียกว่า “ การสีเตียน ” การจุดเทียนนอกจากจะจุดเทียนเพื่อบูชาพระธรรมแล้ว ยังมีความเชื่อว่าเทียนที่ผ่านการทำพิธีของอาจารย์วัด หรือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการบูชาเทียน จะช่วยให้พ้นเคราะห์ มีโชคดีและมีอายุยืนยาวพิธีการปูจาเตียนจึงเป็นพิธีกรรมหนึ่ง ที่นิยมทำกันมาจนถึงปัจจุบัน

การปูจาเตียน เป็นการนำเทียนที่ผ่านการทำพิธี แล้วมาจุดบูชา เป็นพิธีที่จัดทำขึ้นด้วยความเชื่อ

ที่ว่าจะทำให้รอดพ้นจากเคราะห์ร้ายที่อาจจะมีมาเมื่อปูจาเตียนแล้วทำให้ ได้รับโชคดีอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยมีอายุยืนยาวโดยเทียนที่ใช้ในพิธีปูจาเตียนนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

1. เทียนสืบชะตา

2. เทียนสะเดาะเคราะห์

3. เทียนฉิมพลีหรือเทียนโชค

เทียนที่ใช้ในพิธีปูจาเตียน

เทียนทั้งสามประเภทนั้น ด้ายที่ใช้ทำเป็นไส้เทียนจัดทำเท่าอายุของผู้ที่ประสงค์ จะบูชาเทียนหรือบางหมู่บ้านอาจใช้ด้ายเกินอายุ 1 ปี เช่น อายุ 20 ปี ด้ายที่ใช้ทำไส้เทียนจะมี 20 เส้นถึง 21 เส้น โดยเชื่อว่าเทียนเป็นตัวแทนของโชคชะตาของผู้ที่บูชาเทียน การใช้ไส้เทียนเกินอายุจะทำให้อายุยืนยาวขึ้น ส่วนผู้ทำไส้เทียนเท่าอายุเชื่อว่าอายุเท่าใดต้องทำเท่านั้น ถ้าทำเกินก็เป็นอายุของคนอื่นจะทำให้การปูจาเตียนไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล สำหรับขนาดของเทียนนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยที่เทียนสืบชะตาและเทียนสะเดาะเคราะห์มีขนาดเท่ากัน ส่วนเทียนฉิมพลีหรือเทียนโชคจะมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งส่งผลให้เมื่อจุดเทียนจะมีความสว่างโชติช่วง ซึ่งเปรียบเสมือนชีวิตที่เจริญก้าวหน้าต่อไป

คาถาที่ใช้เขียนกำกับไส้เทียนสืบชะตา

ผู้ที่จะจัดการทำการปูจาเตียนให้กับผู้อื่นจะเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับคาถาที่จะใช้ในการทำพิธีซึ่ง

อาจเป็นพระสงฆ์หรืออาจารย์ผู้ที่บวชเรียนมาแล้ว โดยผู้ที่ประสงค์จะทำพิธีการปูจาเตียนต้องไปติดต่อขอให้ทำพิธีให้โดยต้องบอกให้ชัดเจน ว่าจะบูชาเทียนประเภทใด ซึ่งบางคนปูจาเตียนเพียง 1 เล่มบางคนทำครบทั้ง 3 เล่ม แต่ส่วนใหญ่นิยมทำเพียง 2 เล่ม คือ เทียนสะเดาะเคราะห์และเทียนโชคเมื่อทราบว่าจะ ปูจาเตียนชนิดใดแล้วอาจารย์ผู้ทำพิธีจะสอบถามวัน เดือน ปีเกิด ของผู้ที่ต้องการปูจาเตียนเพื่อนำไปเขียนใส่ลงไปในไส้เทียนนำไปสีเทียนจะได้เทียนที่ต้องการส่วนในปัจจุบันนิยมนำเทียนที่สีแล้วมาเขียนวัน เดือน ปีเกิด ลงบนลำเทียน และเทียนที่ใช้ในบางหมู่บ้าน จะเป็นเทียนที่ซื้อมา เป็นกล่องจากตลาดไม่ต้องสีเทียนทั้งนี้เนื่องจากความสะดวกในการจัดทำ และราคาของขี้ผึ้งแท้แพงขึ้น การทำแบบดั้งเดิมต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงการนำเทียนกล่องมาใช้จึงไม่ได้คำนึงถึงจำนวนด้ายที่เป็นไส้เทียนว่าจะเท่าอายุหรือไม่หลังจาก

ที่อาจารย์ผู้ทำพิธีเขียน วัน เดือนปีเกิดของคนที่จะบูชาเทียนเรียบร้อยแล้วจะนำเทียนไปจุดในตอนค่ำหลังจากพระอาทิตย์ตกดินโดยนิยมนำไปจุดในพระวิหารหน้าพระประธานคาถาที่ใช้กำกับไส้เทียนอีกลักษณะหนึ่ง

ขณะที่จุดเทียนอาจารย์สวดคาถาที่ใช้ในการบูชาเทียน แต่ละประเภทไปด้วย จนจบบท แล้วปล่อยให้เทียนดับไปเอง ในการจุดเทียนนี้บางคนเชื่อว่า ถ้าแสงเทียนของตนลุกโชติช่วงสว่างไสวแสดงว่า ชีวิตจะรุ่งเรือง แต่ถ้าแสงเทียนริบหรี่หมายถึง ชีวิตที่จะพบปัญหาอุปสรรคซึ่งสิ่งนี้เป็นความเชื่อ ของแต่ละบุคคล แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญของเรื่องดังกล่าว

การปูจาเตียน เป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านเชื่อว่า เมื่อทำพิธีนี้แล้วจะช่วยป้องกันปัดเป่าโชคร้ายหรือเคราะห์ร้าย ให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ มีโชคลาภและมีอายุยืนยาว