วันดินโลก ปี 2566 “Soil and Water: a source of life ดินดีน้ำสมบูรณ์เกื้อกูลชีวิต”

จุดเริ่มต้นของ “วันดินโลก 5 ธันวาคม”

แนวคิดการจัดตั้งวันดินโลก เริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 ในวาระที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ หรือ IUSS (International Union of Soil Science) ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดินโลกที่กรุงเทพมหานคร  ซึ่งในครั้งนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้นำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ในเรื่องการพัฒนาที่ดินมาจัดแสดง ทำให้ IUSS ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถและซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการดินและแก้ไขปัญหาทรัพยากรดินเพื่อให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี จึงมีแนวความคิดจะเสนอให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันดินโลก เพื่อให้เป็น สัญลักษณ์ของการแสดงออกถึงความตระหนักในบทบาทอันสำคัญยิ่งของทรัพยากรดินที่มีต่อสิ่งมีชีวิต และร่วมกัน ดูแลรักษาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้บริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ผู้แทน กรมพัฒนาที่ดิน และผู้แทนสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ถึงวิสัยทัศน์และพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและอนุรักษ์ ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน และในโอกาสเดียวกัน ผู้บริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติได้ขอพระราชทานให้ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันดินโลก ซึ่งสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโรม กรมพัฒนาที่ดิน  และสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย ร่วมกันผลักดันเรื่องวันดินโลกในเวทีระดับนานาชาติจนสามารถเสนอเข้าสู่ที่ ประชุมองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) และองค์การสหประชาชาติได้ในที่สุด และเมื่อวันที่  20 ธันวาคม 2556 ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ได้มีมติรับรองสองวาระสำคัญที่ไทย เป็นผู้เสนอ ได้แก่

1. วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันดินโลก (World Soil Day) และ

2. ปี 2558 เป็นปีดินสากล (International Year of Soils 2015)

ซึ่งมีผลให้วันดินโลกได้รับการบรรจุในปฏิทินปฏิบัติงานขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ โดยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติต่างก็พร้อมกันจัดกิจกรรมเพื่อสร้าง  ความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินในวันดินโลก 5 ธันวาคม

นับตั้งแต่มีการประกาศรับรองวันดินโลก 5 ธันวาคม เมื่อปี 2557 เป็นต้นมา เอฟ เอ โอ โดยกลุ่ม สมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก หรือ Global Soil Partnership: GSP ได้จัดกิจกรรมวันดินโลกเป็นประจำ ทุกปี เพื่อให้เป็นวาระในการสื่อความสำคัญของทรัพยากรดินให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง ไม่จำกัดอยู่เพียงแต่กลุ่ม ของนักวิชาการหรือเกษตรกรเท่านั้น ด้วยเล็งเห็นว่า ทรัพยากรดินมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการดำรงชีวิต ประจำวันของมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์ใช้ดินเป็นแหล่งอาหาร เป็นที่ตั้งของบ้านเรือน ร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรม 

แหล่งน้ำ เป็นวัตถุดิบสำหรับสิ่งก่อสร้างและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ฯลฯ และดิน เมื่อถูกใช้ประโยชน์โดยปราศจาก การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว จะเกิดความเสื่อมโทรม ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาสนองประโยชน์ให้แก่มนุษย์ ได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ในการจัดกิจกรรมวันดินโลก GSP จะกำหนดหัวข้อหลักการจัดงานแต่ละปีโดยคัดเลือก ประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อสรุปหรือผลกระทบเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก

               ในส่วนของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี 

การประชาสัมพันธ์วันดินโลก ปี 2566

- เว็บไซต์ : http://worldsoilday ldd.go.th/

- facebook fanpase : คำค้น " World Soil Day วันดินโลก"

- #WorldSolDax #วันดินโลก #ดินดีน้ำ สมบูรณ์เกื้อกูลชีวิต

  #soilandwaterasourceoflife

- GSP ได้กำหนดตราสัญลักษณ์ของวันดินโลก 5 ธันวาคม ซึ่งเฟยแพร่ให้ทุกประเทศใช้ในการประชาสัมพันธ์และจัดงาน (ยกเว้นการใช้เพื่อแสวงหาผลกำไร) โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.fao.org/world-soil-day/campaign-materials/en/

วันดินโลก ปี 2566

งานวันดินโลกปี 2566 Global Soil Partnership (GSP) กำหนดหัวข้อหลักการจัดงานในชื่อ “Soil and Water: a source of life” เน้นความสำคัญของทรัพยากรดินและน้ำในภาคการเกษตร ซึ่งดินและน้ำมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดินดีจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำ ในขณะเดียวกัน น้ำที่สะอาดจะส่งผลต่อสุขภาพดินที่ดี การปกป้องดูแลทรัพยากรดินและน้ำให้มีความยั่งยืนจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร  ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมทั้งคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์โดยมี Key messages ดังนี้

1. ดินและน้ำเป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

            - ดินและน้ำเป็นรากฐานของกระบวนการผลิตอาหาร ระบบนิเวศ และสุขภาวะที่ดีของมนุษย์  การสร้างความตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญ   ของดินและน้ำ จะทำให้เกิดการร่วมมือกันปกป้อง ทรัพยากรอันมีค่านี้เพื่อคนรุ่นหลัง

            - การกร่อนดินและการอัดตัวของดินทำลายความสามารถในการกักเก็บ การระบาย และการ กรองน้ำ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมดินถล่ม และพายุฝุ่น/ทราย

            - ดินและน้ำเป็นตัวกลางให้ธาตุอาหารในดินส่งผ่านไปยังพืชเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต

            - ดินสุขภาพดีมีบทบาทสำคัญในการกรองและกักเก็บน้ำ

            - 70% ของปริมาณน้ำจืดบนโลก ถูกนำมาใช้ในการผลิตภาคเกษตรในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ซึ่ง ครอบคลุม 80% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด และผลิตอาหารมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิต อาหารทั่วโลก ดังนั้น ระบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้มาตรการการจัดการความชื้นในดินที่มี ประสิทธิภาพสูงสุด

2. ดินและน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จำเป็นต้องมีการจัดการแบบ บูรณาการ

- สุขภาพของดินมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับน้ำ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ

- การจัดการดินอย่างยั่งยืนจะทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตร

- ดินสุขภาพดี จะอุดมไปด้วยอินทรียวัตถุซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกักเก็บน้ำและความชื้นของ ดิน

           - การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงอย่างยั่งยืน การจัดการ ระบบชลประทานและระบายน้ำที่เหมาะสมและการติดตามระดับความเค็มของดินและน้ำ ใต้ดิน ล้วนมีความสำคัญต่อแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืน

- การจัดการดินอย่างยั่งยืนเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพน้ำในระบบชลประทาน

3. แนวทางการจัดการดินและน้ำที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลต่อการกร่อนดิน ความหลากหลาย ทางชีวภาพของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปริมาณและคุณภาพของน้ำ

        - การขาดแคลนน้ำเป็นเหตุให้ดินสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกัน กระบวนการยูโทรฟิเคชั่นและการชะละลายจากการทำการเกษตร ทำให้แหล่งน้ำสูญเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพเช่นกัน

           - การใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ไม่เหมาะสม ไม่เพียงแต่จะส่งผลร้ายต่อคุณภาพดินและน้ำ แต่ยัง ทำลายสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศอีกด้วย

           - การชลประทานและการระบายน้ำที่ไม่ดี เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดกระบวนการ สะสมเกลือในดิน

           - ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดิน และเสี่ยงต่อการเกิดการสะสมเกลือและ โซเดียมในดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคการเกษตร

4. การอนุรักษ์ดินและน้ำช่วยในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ

           - การจัดการดินและน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ที่ดินมีความทนทานและได้รับความเสียหาย น้อยลง เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุฝุ่น/ทราย - การจัดการดินและน้ำแบบบูรณาการ ช่วยส่งเสริมระบบนิเวศบริการ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ของมนุษย์ สัตว์ และพืช รวมทั้งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ

           - ดินสุขภาพดีจะทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใน บรรยากาศกักเก็บลงสู่ดิน ช่วยในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ 

ข้อมูลเนื้อหา โดย : กลุ่มแผนงานความร่วมมือกับต่างประเทศ กองแผนงาน กรมพัฒนาที่ดิน

เรียบเรียงเนื้อหา โดย : นางสาวเพชรรัตน์  ยอดแก้ว และ นางสาวรัชดา  เสมอใจ

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย : กลุ่มแผนงานความร่วมมือกับต่างประเทศ กองแผนงาน กรมพัฒนาที่ดิน

ข้อมูลคลังความรู้ประชาชน (TKP) : ประจำเดือน กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2567