จุลกฐินวัดบ้านดงหลวง
“จุลกฐิน” คือ กฐินแห่งศรัทธา เพราะเป็นกฐินที่ต้องใช้เวลาในการทอผ้าหนึ่งวันเต็มให้เสร็จสิ้นก่อนอรุณรุ่ง เพื่อเตรียมถวายเป็นผ้ากฐินในวันรุ่งขึ้น
จุลกฐิน เป็นการทำงานใหญ่ภายในระยะเวลาอันสั้น และจำกัด แต่มีเนื้องานที่มีขั้นตอนและอุปสรรคมาก จึงเป็นการทำบุญที่ต้องใช้แรงศรัทธาที่มุ่งมั่นเพื่อให้งานลุล่วงสมบูรณ์ไปด้วยดี โดยอาศัยการรวมพลังศรัทธาของบรรดาญาติโยม รวมทั้งฝ่ายพระสงฆ์ที่ต้องทำกันอย่างรีบเร่งอาศัยการร่วมแรง ร่วมใจกันอย่างมาก ซึ่งต่างจากการทอดกฐินธรรมดา ที่มีข้อจำกัดเพียงว่า ผ้าที่จะใช้เป็นผ้ากฐินนั้น ต้องเป็นผ้าที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และต้องได้มาอย่างถูกต้องไม่ผิดพระธรรมวินัย จะเป็นผาใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ก็ได้ จะเป็นผ้าเทียมใหม่ ที่เคยผ่านการซักมาแล้วสองสามครั้งก็ได้ จะเป็นผ้าเก่าที่เก็บไว้นานไม่ได้ใช้ก็ได้ จะเป็นผ้าบังสุกุล หรือเป็นผ้าที่เจ้าของไม่ได้ใช้แล้วก็ได้ แต่ผ้าที่นำมาใช้ใน "งานจุลกฐิน" ต้องเป็นผ้าที่เกิดจาก การทอ การย้อม การตัด การเย็บ เป็นผ้าไตรจีวรให้เสร็จภายในวันเดียว ยิ่งไปกว่านั้น เส้นใยฝ้ายที่นำมาเข้าสู่กระบวนการถัก ทอ ตัด เย็บ ย้อม นั้นเป็นฝ้ายที่มักจะปลูกกันในวันวิสาขบูชา คือวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวไร่ชาวนากำลังเตรียมดิน เตรียมตัวกันปลูกข้าว ปลูกพืชไร่กัน ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านต่างร่วมแรงหลอมใจกันหว่านเมล็ดฝ้าย หลังจากที่ไถ พรวนดินรอไว้แล้ว
ซึ่งพิธีการต่างๆ ดูเรียบง่าย แต่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธที่ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมุ่งมั่น ระหว่างารหว่านเมล็ดฝ้ายลงไปในผืนดิน พระสงฆ์จะเจริญชัยมงคลคาถา อัญเชิญเทพเทวดาอารักษ์ แม่พระธรณี มาร่วมเป็นสักขีพยานต่อการกระทำงานบุญอันยิ่งใหญ่ และสิ่งที่น่าแปลกไปกว่านั้นคือ ทุกปีไม่ว่าฝนจะตก หรือน้ำจะแล้งอย่างไร แต่การปลูกฝ้ายที่อุดมด้วยพลังศรัทธาก็เติบโต ออกดอก ออกผลงอกงาม รอวันถักทอเป็นผ้าจุลกฐิน เพื่อทอดตามวันที่กำหนด คือ ช่วงหลังวันออกพรรษาของปีเดียวกัน
ตามตำนานในพุทธประวัติมีการกล่าวถึง "การทอดจุลกฐิน" ว่า องค์พระสมณะโคดมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแผ่พระญาณ ทำให้ทรงทราบว่า พระอนุรุทธ มีจีวรอันเก่าและขาด ใช้การเกือบไม่ได้ และก็เป็นเวลาจวนจะสิ้นสุดกฐินกาลแล้ว จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ ต่างก็ช่วยเป็นภาระขวนขวายหาผ้าบังสุกุลตามที่ต่างๆ แต่ก็ยังได้ผ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการที่จะเย็บเป็นจีวรได้ ความนี้ทราบถึงนางเทพธิดาซึ่งเคยเป็นภรรยาเก่าของพระอนุรุทธะเถระในชาติปางก่อน จึงได้เนรมิตผ้าทิพย์หมกไว้ในกองขยะ เมื่อพระอนุรุทธะมาพบเข้า จึงนำผ้านั้นไปซักแล้วนำไปสมทบในการทำจีวร
ซึ่งครั้งพุทธกาลนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จเป็นองค์ประธาน และทรงสนเข็มให้ในการเย็บผ้าไตรจีวรในครั้งนั้น ซึ่งทั้งพระสงฆ์สาวกพร้อมทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงได้ช่วยกันโดยพร้อมเพรียง นับเป็นการหลอมรวมใจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากพลังแห่งศรัทธา จนกระทั่งนำพาให้เกิดผ้าไตรจีวรอันบริสุทธิ์ พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทำผ้าให้แล้วเสร็จในวันนั้น ก่อนรุ่งอรุณขึ้น ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจของหมู่ภิกษุสงฆ์ พร้อมทั้งคฤหัสถ์ชายหญิง จึงได้ชื่อว่า “จุลกฐิน คือกฐินแห่งศรัทธา” จึงกลายเป็นประเพณีนับแต่นั้นมา
คำว่า “จุลกฐิน” หลายคนคิดว่า หมายถึงการทอดกฐินเล็กๆ ที่เล็กกว่าการทอดกฐินทั่วๆ ไป เพราะคำว่า “จุล” แปลว่า ส่วนเล็กๆ หลายคนจึงเกรงว่าจะไม่ได้รับบุญมาก แต่จริงๆ แล้ว จุลกฐินเป็นกฐินที่ต้องมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว ผู้คนที่เข้าร่วมงานในกระบวนการต่างๆ ต้องนุ่งขาว ห่มขาว ถือศีล ปฎิบัติพรมจรรย์ ก่อนการลงมือถัก ทอ ตัด เย็บ ย้อม ต้องบอกกล่าวเทพเทวาอารักษ์ และที่สำคัญต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณะโคดมถือว่า เป็นการประกอบกุศลกรรมดี เป็นมหาบุญแห่งปัญญา เป็นมหาบุญแห่งศรัทธาในการสร้างบารมีธรรม เพื่อน้อมนำตนและบริวารมุ่งสู่ทางแห่งพระนิพพาน
พิกัดสถานที่ตั้ง " จุลกฐินวัดบ้านดงหลวง "
เลขที่ 196/2 วัดบ้านดงหลวง หมู่ 5 ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ๕๑๑๒๐
ข้อมูลเนื้อหา โดย : ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
เรียบเรียงเนื้อหา โดย : นางสาวเพชรรัตน์ ยอดแก้ว
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย : คุณป้อม นิยมพานิช / กินไปทั่ว มั่วบ้านงาน