บ้านจุฬาภรณ์ 9

หมู่บ้านจุฬาภรณ์ 9

ประเภท ประวัติศาสตร์

ป่าฮาลาบาลา เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคำถาม ซึ่งมีหนทางหาคำตอบเพียงทางเดียวคือ มาท่องเที่ยว โดยอาจเริ่มต้นที่หมู่บ้านท่องเที่ยวใกล้ป่าฮาลาบาลาอย่าง “บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9” หรือ บ้าน 9 ใน ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา

บ้าน 9 เปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2533 เริ่มแรกนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวจีนมาเลเซียที่มาศึกษาประวัติศาสตร์ของ “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา” ซึ่งหากใครสนใจแต่ฮาลาบาลาต้องสนใจประวัติศาสตร์ เพราะมีเส้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผืนป่าฮาลาบาลาโดยตรง

หมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์เดียวกันคือ บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10, 11 และ 12 ซึ่งก็คือกลุ่มคอมมิวนิสต์มลายาที่ไปตั้งค่ายอยู่ในป่าแล้วออกมาตั้งเป็นหมู่บ้านหลังการเซ็นสันติภาพที่ภูเก็ต โดยบ้าน 10 ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเบตง จ.ยะลา บ้าน 11 ตั้งอยู่ที่ อ.กาบัง จ.ยะลา และบ้าน 12 ตั้งอยู่ที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ใกล้กับอีกด้านของป่าฮาลาบาลาแต่ในพื้นที่นั้นจะเรียกว่า ป่าบาลาฮาลา

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติละแวกบ้าน 9 ถูกค้นพบจากการบอกเล่าของลุงป้าน้าอาที่เคยอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์มลายาอย่าง น้ำตกฮาลาซะห์ น้ำตกสูงใหญ่กลางป่า หากเดินจากหมู่บ้านจะมีระยะทางราว 4 กม. โดยเป็นทางปูนครึ่งทาง จากนั้นเป็นทางดินราบ และเป็นทางเดินในป่าทึบอีก 100 เมตร ระหว่างทางอาจเจอทากตัวเรียวคอยทักทาย แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะสามารถป้องกันได้ด้วยถุงกันทากและชโลมน้ำผสมยาเส้น น้ำตกฮาลาซะห์ช่วงปลายฝนเช่นนี้มีน้ำน้อย แต่ก็ไหลเอื่อยพอได้ยินเสียงน้ำกระทบหิน โดยรอบน้ำตกถูกรายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบ หลิงปิงชี้ให้ดูต้นใบไม้สีทองหรือต้นย่านดาโอ๊ะ ที่พบเฉพาะในยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นสีทองเหลืองโดดขึ้นมาจากป่าช่างสวยงาม

ระหว่างเดินกลับจากน้ำตกสู่หมู่บ้านสามารถแวะไปชมผืนป่าฮาลาบาลาได้ที่ หาดกระทิง หมุดหมายใหม่ที่ทางชุมชนเพิ่งตั้งชื่อให้ มีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก และจะกลายเป็นพื้นราบสีเขียวขนาดใหญ่ในช่วงน้ำลดเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ มีกระทิงลงมาแทะเล็มอยู่บ้างจึงถูกเรียกว่า หาดกระทิง โดยช่วงเช้าจะเห็นสายหมอกเคลื่อนตัวเหนือแนวป่า (แต่อากาศไม่หนาว) ส่วนเบื้องล่างเป็นลำธารเสมือนภาพวาดโดยจิตรกร

จากอดีตถึงปัจจุบันชาวบ้านจุฬาภรณ์ฯ 9ล้วนใช้ชีวิตใกล้ชิดกับป่าฮาลาบาลา จากที่เคยใช้ป่าเป็นค่ายหลบภัย วันนี้ได้กลายเป็นสวนหลังบ้านขนาดใหญ่ที่ยังหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านเช่นเดิม