วัดพระธาตุแอ้ว

ประเภทแหล่งท่องเที่ยว : แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ชื่อของแหล่งท่องเที่ยว :  วัดพระธาตุแอ้ว

รายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยว : ในสมัยก่อนประมาณ พ.ศ.๑๘๐๐ คนไทยที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรน่านเจ้าถูกศัตรูรุกราน จึงได้พากันอพยพจากที่เดิม หนีภัยข้าศึกลงมาสร้างบ้านแปลงเมืองลงมาทางใต้ แถบหลวงพระบางบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองกิตติศัพท์โด่งดังไปทั่ว จึงเป็นเหตุให้ข้าศึกศัตรูยกกองทัพเข้าตีชิงเอาเมือง เจ้าเมืองชื่อพระเจ้าคัมภีระสิ้นพระชนม์กลางสนามรบ พระราชธิดาชื่อ พระนางจามรี ราชธิดาจึงพาไพร่พลอพยพข้ามน้ำโขงมุ่งหน้ามาทางทิศตะวันตก ถึงเมืองฝาง และล่องลงมาทางทิศใต้เรื่อยๆ ซึ่งมีราชองครักษ์ชื่อ ท้าวปันมหาด พร้อมไพร่พลช้างและพลม้า ซึ่งมี ท้าวปูเหลือง เป็นขุนศึกเคียงคู่ท้าวปันมหาด ล่องลงมาตามลำน้ำปิงลงมาจากเมืองเชียงดาว ทนลำบากตรากตรำร่วมกันมาเหมือนลูก พ่อแม่ ตรงนี้เองพระนางจึงยอมรับว่าเป็น แม่เลี้ยงหรือแม่นะ และต่อมาแถวนั้นจึงชื่อว่า บ้านแม่นะ อยู่ในอำเภอเชียงดาวในปัจจุบันจนมาถึง เมืองแม่ระมิงค์ หรือเมืองเชียงใหม่ปัจจุบัน และล่องตามลำน้ำปิงไปเรื่อยๆ จนถึงดอยลูกหนึ่ง พระนางจึงบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่า ถ้าข้าพเจ้ามีบุญบารมีจะได้สร้างบ้านแปลงเมือง ณ ตรงไหน ก็ขอช้างม้ามงคลจงนำทางให้ข้าพเจ้าไปทางนั้นเถิด ช้างและม้ามงคลจึงหันหัวลงข้ามน้ำแม่ปิงตรง “ดอยหล่อ” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ลัดเลาะขึ้นมาตามลำน้ำลี้ขึ้นมาเรื่อยๆ มาจนถึงสบลำน้ำแม่ลอบขึ้นมา ซึ่งเป็นภูเขาสลับซับซ้อนสูงชันมาก จนอำมาตย์ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จเหน็ดเหนื่อยมาก จึงอุทานออกมาทางปากว่า “หุยหุย” และต่อมาตรงนั้นจึงเรียกว่า ดอยอี่หุย ซึ่งปัจจุบันจึงเรียกเพี้ยนว่า "ดอยอี่หุ้ย" ตั้งแต่อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปีขึ้นมาจนถึงบนยอดดอยเขตติดต่ออำเภอแม่ทา และเดินทางต่อมาเข้าเขต “อำเภอลี้” ทางบ้านทุ่งข้าวหางในเขตอำเภอทุ่งหัวช้างในปัจจุบันเรื่อยมา และมาซ่อมแซมแหย่งช้างและพักผ่อน เพราะเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง และต่อมาภายหลังจึงเรียกว่า “แม่แสม” พักผ่อนพอหายเหนื่อยแล้ว จึงได้นำช้างไปเลี้ยงตรงบ้านห้วยไร่ และช้างได้หลุดหายไปหลายวัน จึงตามหาเจอเมื่อหาช้างมงคลเจอแล้ว จึงได้เตรียมไพร่พลและเดินทางต่อ และต่อมาห้วยนั้นจึงเรียกว่า “ห้วยช้างหาย” และไปเจอช้างที่ขุนห้วยๆ หนึ่ง แล้วจึงนำช้างมงคลมาตกแต่งห้างประดับประดาเสร็จแล้ว จึงได้เดินทางต่อไป และต่อมาภายหลังตรงนั้นจึงเรียกว่า “ห้วยห้าง” เมื่อเดินทางมาถึงที่ๆ แห่งหนึ่งเป็นเวลานาน จึงสมควรที่จะพักผ่อน ท้าวปันมหาดราชองครักษ์ จึงพยายามใช้ขอและง้าวกระทุ้งหัวช้าง เพื่อจะให้ช้างหมอบ แต่ช้างไม่ยอมหมอบ จึงพยายามอยู่หลายครั้ง ช้างจึงยอม และต่อมาภายหลังตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า “ทุ่งหัวช้าง” ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอในปัจจุบันพักผ่อนหลายวันพอหายเหนื่อยแล้ว จึงได้เดินทางต่อไป จนถึงลำห้วยๆ หนึ่ง ช้างตกใจวิ่งหนีจนกระดิ่งหรือ (เด็ง) ที่แขวนคอช้างหลุดหาย ต่อมาภายหลังตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า ห้วย “แม่ปันเด็ง” จากนั้นจึงได้เดินทางต่อไป จนถึงบริเวณที่ราบเรียบสะอาดแห่งหนึ่งพอที่จะสร้างบ้านแปลงเมือง จึงพากันปลงข้าวของจอดพักเก็บข้าวของลงจากหลังช้างหลังม้า และต่อมาภายหลังตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า “แม่ปลง” หรือบ้านปวงในปัจจุบัน

ในขณะพักไพร่พลอยู่นั้น ท้าวปันมหาดซึ่งมีนิสัยชอบออกป่าล่าสัตว์ จึงได้ชวนบริวารไพร่พลออกล่าสัตว์ ซึ่งไม่ไกลจากห้วยแม่ปลงนัก ท้าวปันมหาดจึงได้ประสบอุบัติเหตุถูกอสรพิษกัด ฝ่ายพระนางจามรีและคณะบริวารที่รอคอยไม่เห็นการกลับมาของท้าวปันมหาด จึงพากันออกติดตามหา จึงได้มาพบและหาหยูกยามาโรม มาทา เสกเป่า พยาบาลรักษา แต่ก็ไม่หาย ท้าวปันมหาดทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่พิราลัย ณ ที่บ้านแม่ปวงแห่งนั้น  พระนางจามรีจึงให้ข้าราชบริพารจัดการบำเพ็ญพระราชกุศลศพท้าวปันมหาดตามขัตติยราชประเพณี แล้วจึงได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุและวัตถุมงคลต่างๆ ที่ได้อาราธนาติดตามตัวมาก่อสร้างพระธาตุเจ้าเจดีย์เป็นอนุสรณ์สถานกราบไหว้ จึงถวายพระนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระธาตุแอ่ว” หรือ วัดพระธาตุแอ้ว ในปัจจุบัน เสร็จแล้วพระนางจึงบวงสรวงเทพยดาและ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วจึงได้เดินทางต่อไปจนถึงเมืองลี้ สร้างวัดพระธาตุดวงเดียวและพระราชสถานพระธาตุ ห้าดวง และสร้างเมืองลี้ขึ้นจนเจริญรุ่งเรืองตามประวัติเมืองลี้ หลังจากบ้านเมืองเข้าสู่ความปกติสุข พระนางจึงได้ส่งข้าราชบริพารเสนาอำมาตย์กลับมาทำนุบำรุงวัดพระธาตุแอ้วและวัดวาอารามอีกหลายแห่ง ตลอดจนมาตั้งรกรากสร้างไร่สร้างนาทำมาหากินกันที่บ้านปวง บ้านทุ่งหัวช้าง จึงเกิดเป็นต้นตระกูลหลายตระกูลดังนี้

๑ ตระกูลท้าวปันมหาด 

๒ ตระกูลเจ้าข้อมือเหล็ก

๓ ตระกูลเจ้ากาบบัวไหล

๔ ตระกูลเจ้าหนานเสือ ส่วนเจ้าปูเหลือง เจ้าน้อยบุญศรี ยกศาลขึ้นให้เป็นอารักษ์เจนเมืองขึ้น ณ ทางเข้าบ้านปวง ส่วนเจ้าปันมหาด และเจ้าปูเหลือง ยกศาลขึ้นไว้ที่บ้านฆ้องคำ และยังมีตระกูลอื่นๆ อีกหลายตระกูล ซึ่งพากันตั้งหลักปักฐานทำมาหากินอยู่แถวนี้ส่วนวัดพระธาตุแอ้ว ก็มีพระภิกษุสามเณรอยู่ประจำบ้างไม่อยู่บ้าง ถูกทิ้งร้างบ้างเป็นบางช่วงบางตอน ลุมาถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ คณะศรัทธาผู้เฒ่า     ผู้แก่ได้ไปอาราธนาท่านครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี วัดพระพุทธบาทผาหนาม อ.ลี้ มาเป็นประธานในการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุให้ดีดังเดิม มีพระสงฆ์มาอยู่บ้างไม่อยู่บ้าง และถูกทิ้งร้างมาโดยตลอดจนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๕๐ ได้มีพระสงฆ์มาอยู่ประจำ ได้บูรณะดังที่เห็นอยู่เวลานี้ และได้ยกฐานะวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ประจำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้ซื้อที่ดินขยายวัดและพัฒนาวัดทุกๆ ด้านขึ้น แต่ก็ยังขาดจตุปัจจัยและทุนทรัพย์ในการดำเนินงาน จึงขอบอกบุญญาติโยมพุทธบริษัทร่วมเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาวัดพระธาตุแอ้วให้สำเร็จลุล่วง ให้เป็นที่ทำบุญทำกุศล ศึกษาเล่าเรียน กราบไหว้บูชาของลูกหลานและพุทธศาสนิกชน

การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนและภาครัฐ : ชุมชนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจมาร่วมประกอบศาสนกิจของทางวัด อาทิเช่น ประเพณีสรงน้ำพระ  การแห่ช้างเผือก

สถานที่ ที่ตั้ง(พิกัด)ของแหล่งท่องเที่ยว วัดพระธาตุแอ้ว ตั้งอยู่ที่ บ้านปวง หมู่ที่  ตำบลบ้านปวง  อำเภทุ่งหัวช้าง  จังหวัดลำพูน

ผู้ให้ข้อมูล : pimnuttapa 

ภาพถ่ายโดย : pimnuttapa 

ผู้เขียนหรือผู้เรียบเรียง : นางสาวสุจิตรา   ศรีชำนาญ