เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงอำเภอทุ่งหัวช้าง

วัฒนธรรมประเพณี : เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยงอำเภอทุ่งหัวช้าง

ชุดสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว

ชุดสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน

ศิลปะ  วัฒนธรรม และประเพณี : การแต่งกายของกะเหรี่ยงอำเภอทุ่งหัวช้าง

ระวัติความป็นมาของศิลปะ  วัฒนธรรม และประเพณี : การแต่งกายของกะเหรี่ยงอำเภอทุ่งหัวช้าง

การแต่งกาย

เครื่องแต่งกายกะเหรี่ยง แยกออกเป็นการแต่งกายของผู้ชาย                 การแต่งกายของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และการแต่งกายของผู้หญิงโสด การปักและลวดลายประดิษฐ์มีทั้งลวดลายในการถักทอมีความหมายของลวดลายที่ถักทอลงไป ส่วนเครื่องประดับนั้นมี ต่างหู,เคาะกลอ,โข่กลอ,กิ๊ป,ลูกปัด,กำไลข้อมือ เป็นต้น ชาวกะเหรี่ยงในแต่กลุ่มจะมีเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะตัวในด้านสีสัน แต่รูปแบบลักษณะการแต่งกายจะเหมือนกันคือผู้ชายจะนิยมใส่ชุดเสื้อคอสีแดง ใส่กางเกงทรงกระบอก ส่วนผู้หญิงที่เป็นโสดจะใส่ชุดเสื้อทรงกระบอกผ้านี้ทอเองด้วยมือ มีทั้งสีขาวและสีแดง ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่ชุดเป็น 2 ส่วนคือผ้าซิ้นสีแดงและใส่เสื้อคอสีดำ บนเสื้อจะมีการประดับด้วยลูกเดือยหรือปักด้วยด้ายหลากสีในลวดลายชนิดต่างๆ ซึ่งแต่ละชนิดจะเลียนแบบจากธรรมชาติ ซึ่งมีการเรียกชื่อเฉพาะโดยจะให้ความรู้สึกและอารมณ์ที่แตกต่างกันไป

เนื่องด้วยในปัจจุบันผู้ชายกะเหรี่ยงสะกอ นิยมแต่งกายเหมือนคนไทยในท้องถิ่นทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีเสื้อสีแดงสำหรับไว้ใส่ในโอกาสสำคัญ เสื้อแดงตัวนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย นั่นคือความอดทนแข็งแรง ส่วนเด็กผู้ชายกะเหรี่ยงจะใส่เสื้อแดงตัวเดียวยาวถึงหัวเข่า

เสื้อสีแดงของชายกะเหรี่ยงเป็นเสื้อทรงกระสอบคอเสื้อรูปตัววี ตรงชายคาเสื้อจะติดพู่ห้อยลงมา สมัยก่อนเสื้อแดงของชายโสดจะมีพู่ห้อยยาวลงมาเลยชายเสื้อ ส่วนเสื้อแดงของชายที่แต่งานแล้วจะติดพู่ห้อยลงมาเสมอชายเสื้อ เพราะชายที่แต่งงานแล้วต้องทำงานมากขึ้น การที่ใส่เสื้อที่มีพู่ยาวจะทำให้รุงรัง ไม่สะดวกในการทำงาน ผู้ชายกะเหรี่ยงจะสวมกางเกงแบบคนไทยภาคเหนือหรือบางที่สวมใส่แบบโสร่งพม่า แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะสวมกางเกงขายาวตามสมัยนิยมและอาจจะสวมเสื้อแดงทับเสื้อสีขาวข้างในอีกทีหนึ่ง  (ชุดสูท)

นอกจากนี้แล้ว เสื้อแดงของผู้ชายกะเหรี่ยงจะใช้ผ้าโพกศีรษะซึ่งมีลวดลายปักสีแดง และมีถุงย่ามซึ่งจะออกสีแดงเช่นเดียวกัน เนื่องจากกะเหรี่ยงสะกอนับถือบรรพบุรุษฝ่ายแม่ แม่จะเป็นเจ้าของบ้านและเป็นใหญ่ในบ้าน วันแต่งงานผู้หญิงที่เป็นเจ้าสาวจะต้องเตรียมเสื้อผ้า ผ้าโพกศีรษะ และถุงย่ามไว้ให้เจ้าบ่าว ย่ามนี้จะต้องมีลายที่ปากถุง เพราะเชื่อกันว่าสามารถป้องกันผีไม่ให้ทำร้ายเจ้าบ่าวได้



การแยกความแตกต่างของการแต่งกาย ระหว่างสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้ว ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดทอด้วยมือทรงกระสอบสีขาว(หมายถึงสาวพรหมจรรย์) ยาวกรอมถึงเท้า (ณ ปัจจุบันแปลกตาขึ้นมีทั้งสีเขียวและสีแดงวิวัฒนาการ) ในสมัยก่อนถ้าสวมใส่กระโปรงมีความยาวแค่เข่า สาวก็จะอายมากจนมีนิทานเล่าว่า ถ้ามีชายมาเห็นเข่าอ่อน สาวผู้นั้นก็จะฆ่าตัวตาย (เท่ากับว่าเสียความบริสุทธิ์แล้ว) ชุดขาวนี้จึงเรียกว่า”เซ้ว้า” ผู้หญิงจะใส่ตั้งแต่เด็กจนถึงวันแต่งงานถึงจะเปลี่ยน การใส่ชุดขาวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หญิงใดที่ตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้เข้าพิธีแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี ก็ถือว่ามีความผิดอย่างร้ายแรง จนกระทั่งมีคำด่าที่ถือว่าเป็นคำหยาบคายมากในบรรดากะเหรี่ยงสะกอด้วยกัน คืออุ้มท้องทั้งชุดขาว หรือเรียกว่า“เด้อเซ้ว้า” สาวโสดมีผ้าโพกศีรษะเพื่อกันแดดในหน้าฤดูร้อน ให้ความอบอุ่นในหน้าฤดูหนาวและเพื่อป้องกันไม่ให้ผมสกปรกเร็วจนเกินไป ในวันแต่งงานหญิงสาวกะเหรี่ยงจะมีผู้ใหญ่ช่วยเปลี่ยนชุดขาวเป็นชุดสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว เจ้าสาวจะต้องมอบชุดขาวนั้นให้คนอื่นทั้งหมดเพราะไม่ต้องใช้แล้ว แต่จะให้น้องสาวซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียงกันไม่ได้เช่นกัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้น้องไม่ได้แต่งงาน

ผู้หญิงกะเหรี่ยงสะกอที่แต่งานแล้ว จะสวมเสื้อประดับประดาด้วยลูกเดือยและฝ้ายสี การประดิษฐ์ลวดลาย และการใช้สีสันต่างๆ คิดค้นขึ้นมาแทนสิ่งที่เห็นอยู่รอบตัว เช่น นำเม็ดลูกเดือยมาเรียงกัน 2 เม็ด หมายถึงรอยรอยเท้าสุนัข หรือการปักไขว้ด้วยด้ายสีแดงเป็นรัศมี หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นต้น เสื้อดังกล่าวเป็นรูปทรงกระสอบ ตัวสั้นเลยเอว คอเสื้อเป็นรูปตัววี แขนในตัว สั้นเลยไหล่มานิดหนอ่อย เสื้อนี้เรียกว่า           “เซ้ ซุ “ และจะสวมผ้าซิ่น ทั้งเสื้อและผ้าซิ่นเป็นเครื่องหมายแสดงว่ามีเจ้าของแล้ว จะไม่มีชายอื่นมาเกี่ยวข้องอีก สาวโสดจะใส่ชุดของหญิงที่แต่งงานแล้วไม่ได้ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ไม่ได้แต่งงาน หรือมีลูกโดยยังไม่ได้แต่งงาน หรืออาจทำให้เป็นบ้าไปเลยก็ได้ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็จะกลับไปสวมใส่ชุดขาวอีกไม่ได้ เพราะเป็นการดูถูกความบริสุทธิ์ของหญิงสาว เสื้อของหญิงที่แต่งงานแล้ว จะต้องมีลายปัก เพระถ้าไม่มีเชื่อว่าจะทำให้ไม่มีลูกเสื้อของหญิงที่แต่งงานแล้วจึงต้องมีการปักลูกเดือย เพราะเชื่อกันผีได้ และมักจะทอลายลงไปเลย ใช้วิธีปักด้วยมือดังเช่นนี้เสื้อของกะเหรี่ยงที่นับถือผีจะใส่ผ้าซิ่นที่มีลายกี่ ผ้าซิ่นของหญิงที่แต่งงานแล้วลวดลายของผ้าซิ่นแสดงความขยันหมั่นเพียรของผู้ทำ ยิ่งลวดลายมีมากก็ยิ่งแสดงความขยันหมั่นเพียรมมากขึ้นเท่านั้น

การย้อมสีของผ้ากะเหรี่ยงนั้น จะใช้วัสดุธรรมชาติ วัสดุที่จะนำมาย้อม ได้แก่ เปลือกไม้สัก ไม้แต่ง ไม้ประดู่ เป็นต้น ผู้ชายจะเป็นผู้หามาให้จากป่า หรือที่ห่างไกลจากที่อยู่อาศัย ส่วนต้นไม้ที่ใช้ย้อมสีเป็นต้นเล็กๆ เช่น ต้นคราม ต้นแสดหรือเงาะป่า เป็นต้น การย้อมสีของลายกี่จะต้องไปเอาต้นไม้ชนิดหนึ่งในป่าซึ่งมีสีอย่างลายของกี่ เวลาไปเอาจะต้องไม่บอกใคร เพราะจะทำให้ย้อมไม่ติด

ผ้าซิ่นที่ทอเป็นลายกี่ เชื่อกันว่าป้องกันอันตรายได้ ผู้ชายที่เป็นทหารหรือนักรบ เวลาออกไปรบจะเอาเศษผ้าถุงของแม่มาติดไว้บนศีรษะ เพื่อป้องกันอันตราย นอกจากนี้ในสมัยก่อน อัตราการตายของหญิงมีครรภ์และของทารกแรกเกิดค่อนข้างสูง จึงเชื่อว่าลายกี่จะช่วยป้องกันไม่ให้ทารกตายได้ นอกจากนี้ ขณะที่ผู้หญิงกะเหรี่ยงกำลังอยู่ไฟหลังคลอดลูก จะเอากระบุงใส่ฟืนที่เรียกว่า”เส่กวะ” มาวางไว้ใกล้กับประตูบ้าน แล้วเอาเสื้อที่ติดลายลูกเดือยมาวางบนปากกระบุง เพื่อป้องกันไม่ให้ผีมาทำร้ายเด็ก เพราะเมื่อผีมาถึงจะต้องนับลูกเดือย นับลายเสื้อและลายของกระบุง จนมึนงงและตาลายไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้

เสื้อกะเหรี่ยง ส่วนใหญ่จะทอเองด้วยมือ การทอผ้านับเป็นวัฒนธรรมที่เก่าแก่ดั้งเดิมอย่างหนึ่งของกะเหรี่ยง ได้ทอผ้าใช้ในครอบครัวมาเป็นเวลานานแล้ว รูปแบบการทอผ้ามีลักษณะคล้ายกับการทอผ้าของชาวเปรูในสมัยโบราณ และเหมือนของชนเผ่าหนึ่งในแถบในประเทศกัวเตมาลา ฟิลิปปินส์ ปัจจุบันการทอผ้าแบบนี้ของกะเหรี่ยงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มว่าจะสูญหายไปในที่สุด การทอผ้าที่ปรากฏเป็นแบบ back strap ทั้งสิ้นซึ่งมีลักษณะดังนี้ คือ “ ขึงด้ายกับไม้คาน 2 อันในแนวนอน คานด้านหนึ่งผูกติดกับหลัก ส่วนคานอีกด้านหนึ่งผู้ทอจะใช้สายหนังวัวคล้องหัวท้าย ติดกับตัวเอวของตน ความตึงของด้ายยืนจึงไม่คงที่ ผู้ทอสามารถบังคับให้ด้ายยืน ตึงหรือหย่อนได้ตามความต้องการ ซึ่งทำให้เกิดผลดีคือ เนื้อผ้ามีความเรียบและแน่น สม่ำเสมอ ผู้ทอจะโน้มตัวไปข้างหน้าเมื่อต้องการให้ด้ายยืนหย่อน และเอนตัวมาด้านหลังเมื่อต้องการให้ด้ายตึงในปัจจุบัน กะเหรี่ยงนิยมซื้อด้ายสำเร็จรูปมาทอ เนื่องจากผลผลิตจากไร่ไม่เพียงพอ และไม่สามารถหาแหล่งซื้อปุยฝ้ายได้ ประกอบกับกรรมวิธีการผลิตเส้นด้ายนี้ ต้องใช้เวลามาก ในเรื่องเกี่ยวกับการทอผ้านี้ มีการแนะนำจากหน่วยงานราชการ ให้ใช้การทอผ้าแบบกี่กระตุกเพื่อทำให้เกิดความรวดเร็ว และได้ปริมาณมากขึ้นสามารถขายเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว แต่การทอผ้าแบบนี้ยังไม่พอแพร่หลายนัก


การสืบสาน  อนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม  ประเพณี

ชนเผ่ากะเหรี่ยงในอำเภอทุ่งหัวช้าง ยังคงอนุรักษ์การแต่งกายของตนเองด้วยการแต่งชุดกะเหรี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวันและการร่วมกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ในชุมชน 

สื่อประกอบ

ผู้ให้ข้อมูล : https://www.baanjomyut.com/library/karen/10.html

ภาพถ่ายโดย : นางสาวสุภาภรณ์  ประแดงโค , นางสาวจิรานุช  ปุ๊ดแค , นายมติพจน์  แซดู

ผู้เขียนหรือผู้เรียบเรียง : นางสาวสุจิตรา   ศรีชำนาญ