หออัครศิลปิน

หออัครศิลปิน

สร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 และเปิดให้เข้าชมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งคำว่า “อัครศิลปิน” เป็นพระราชสมัญญาที่ทางคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แปลว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน”

ข้อมูลหออัครศิลปิน

สถานที่จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะเป็น “อัครศิลปิน” และ พระปรีชาสามารถขแง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในฐานะที่ทรงเป็น “วิศิษฏศิลปิน” และจัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ทั้ง 3 สาขา นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านต่างๆ ของศิลปินแห่งชาติ อีกด้วย หออัครศิลปิน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดหออัครศิลปินอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2553

ภายในหออัครศิลปิน แบ่งส่วนจัดแสดงเป็น

ชั้น 2 และ 3 จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รวมถึงจัดแสดงผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ขององค์ "อัครศิลปิน" ไว้เป็นจำนวนมาก และได้นำเสนอบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรูปแบบดนตรี 3 มิติ เป้นแห่งแรกของประเทศไทย

นิทรรศการประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ภายในห้องนิทรรศการมีการจัดแสดงรายชื่อของศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พร้อมลายเซ็นของทุกคน และยังแสดงประวัติ ผลงานที่ทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติ อาทิ ด้านประติมากรรม ด้านถ่ายภาพ ด้านจิตรกรรม ด้านหัตถศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรม เป็นต้น

นิทรรศการประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ การจัดแสดงในห้องนี้ ประกอบด้วย แผ่นป้ายพร้อมลายเซ็นของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ รวมถึงประวัติ ผลงาน และเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรม และยังมีส่วนของห้องสมุดที่รวบรวมผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่า เป็นคลังความรู้ให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้

นิทรรศการประวัติและผลงานของศฺลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง จัดแสดงแผ่นป้ายรายชื่อพร้อมลายเซ็นของศิลปินแห่งชาติ จัดแสดงผลงานในด้านต่างๆ อาทิ เพลงไทยลูกทุ่ง เพลงไทยสากล ดนตรีไทย การแสดงพื้นบ้าน เช่น หนังตะลุง กลองสะบัดชัย การแสดงนาฏศิลป์ เช่น โขน หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก ลิเก มโนราห์ และดุริยางคศิลป์ โดยมีการจำลองบรรยากาศของโรงละครและโรงฉายภาพยนต์ 3 มิติ สำหรับฉายภาพยนต์ประวัติผลงานของศิลปิน มีเวทีการแสดงประกอบแสงสีเสียง สำหรับใช้ถ่ายทอดภูมิปัญญา นอกจากนี้ยังมีห้องฉายภาพยนต์ขนาด 20 ที่นั่ง ห้องคาราโอเกะ อีกด้วย

ที่มา : www.culture.go.th/sah/ เขียนโดย นางสาวสิชล เชยสมบัติ