พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ

พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในพุทธศักราช 2539 และ พสกนิกรชาวไทยพร้อมใจกันยกย่องพระองค์เป็น กษัตริย์เกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นบนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ณ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยสมเด็จดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นสถานที่เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านการเกษตร รวมถึงพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการพัฒนาการเกษตร พระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์โดยรวบรวมและแสดงข้อมูลของโครงการตามพระราชดำริ วิวัฒนาการด้านการเกษตรจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนผลงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประชาชนเข้าชมและรำลึกถึงพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร และเรียนรู้ถึงพระอัจฉริยภาพในการพัฒนาการเกษตรของพระองค์สืบไป

กิจกรรม

จากแนวคิดที่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์การเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวได้ สัมผัสได้ ผู้ชมสามารถรับความรู้ เกิดความรู้สึกร่วมและได้รับความเพลิดเพลินในเวลาเดียวกันกิจกรรมต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ได้กำหนดไว้เป็น 2 รูปแบบ คือ

1. กิจกรรมภายนอกอาคาร เป็นการสร้างบรรยากาศที่สอดคล้องกับเรื่องราวที่จัดแสดง อาทิ การจำลองสภาพป่าชุมชนเกษตร เรือนไทยสี่ภาคฯลฯ

2. กิจกรรมภายในอาคาร เป็นการนำเสนอผ่านเทคโนโลยีทันสมัย อาทิ การถาม-ตอบ การนำเสนอด้วยเทคนิค Magic Vision การจัดแสดงเรื่องราวประกอบแสง-เสียง-ภาพ หุ่นจำลองฯลฯ

1. กิจกรรมภายนอกอาคาร

การจัดกิจกรรมภายนอกอาคาร ณ พิพิธภัณฑ์ การเกษตรฯ มีการจัดกิจกรรมทางการเกษตรกลาง แจ้งที่มีทั้งการแสดง การสาธิต การทดลองวิจัยและ กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ ของผู้เข้าชมโดยกิจกรรม การเกษตรมีความหลากหลาย ตามรูปแบบ และ สภาพภูมิประเทศ ที่จัดจำลองขึ้น อาทิ เรือนเพาะ ปลูก แปลงนาสาธิต และการจำลองสภาพวิถี ชีวิต รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ครอบคลุม ทุกภูมิภาค ของประเทศไทย

• เรือนเพาะปลูก ไม้ดอก ไม้ประดับ

• ป่าไม้

• พืชสวน

• พืชไร่

• ปศุสัตว์

• ปฏิรูปที่ดิน

• ประมง

• นา

• ชุมชนเกษตรกร

• ชลประทาน

• องค์ประกอบส่วนกลาง

2. กิจกรรมภายในอาคาร

อาคาร 1 อาคารอำนวยการ

สถานที่ตั้งศูนย์อำนวยการพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ และจำหน่ายสินค้าที่ระลึก

อาคาร 2 ศูนย์อาหาร

บริการอาหารและเครื่องดื่มในบรรยากาศร่มรื่นริมทะเลสาบ

อาคาร 3 อาคารพัฒนาที่ดิน

แสดงข้อมูลและหุ่นจำลองของสิ่งมีชีวิต สภาพลักษณะใต้ดิน ตัวอย่างลักษณะที่ดิน 4 ภูมิภาค อุปกรณ์การสำรวจดิน ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน สหกรณ์ตามทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ ดังนี้

• โซน A การกำเนิดและองค์ประกอบของดิน

• โซน B ลักษณะดิน 4 ภูมิภาค

• โซน C การสำรวจและการทำแผนที่ดิน ( ภายในอาคาร ) ภูเขา และหุ่นจำลองคนขณะทำงานสำรวจดิน ( ภายนอกอาคาร )

• โซน D การอนุรักษ์ดินและน้ำ

• โซน E การพัฒนา - ปฏิรูปที่ดิน

• โซน F การสหกรณ์

อาคาร 4 อาคารทรัพยากรป่าไม้

แสดงภาพจำลองป่าชนิดต่าง ๆ สภาพถ้ำ สัตว์ป่า อุปกรณ์ป้องกันไฟป่า เครื่องมือในการทำไม้ การทำป่าไม้ในอดีต ชีวประวัติสืบ นาคะเสถียร และการอนุรักษ์สัตว์ป่า ข้อมูลแนะนำอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย โดยแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ ดังนี้

• โซน A บรรยายเนื้อหาโดยรวมที่จัแสดงภายใน และส่วนจำลองสภาพป่าชนิดต่าง ๆ น้ำตก สภาพถ้ำ และสัตว์ป่าจำลอง

• โซน B วิศวกรรมป่าไม้ กฏหมายป่าไม้

• โซน C การสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า

• โซน D การทำป่าไม้ในอดีต และการใช้ป่าไม้อย่างมีคุณค่า

• โซน E พฤษศาสตร์ป่าไม้

• โซน F การปลูกป่า

อาคาร 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ

ชั้น 1 ภายในบริเวณอาคาร เป็นการจัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตแห่งสังคมไทยและแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานพัฒนาการเกษตร ด้านชลประทาน แสดงภาพเขื่อนต่างๆ ที่สำคัญในประเทศไทย ประวัติ และวิวัฒนาการของงานชลประทานในประเทศไทย การควบคุมและนำน้ำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในลักษณะต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในงานชลประทาน ด้านแมลงและการอารักขาพืช เป็นอาคารที่นำเสนอเกี่ยวกับโลกของแมลงที่ก่อให้เกิดประโยชน์และโทษต่อมนุษย์ หุ่นจำลองศัตรูพืช โรคพืช การป้องกันกำจัดโดยการใช้สารเคมีและวิธีเกษตรอินทรีย์ เรื่องราวเกี่ยวกับผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง การปลูก เป็นการแสดงประวัติ และวิวัฒนาการการปลูกข้าว พืชไร่ พืชสวน ยางพารา ฝ้าย การขยายพันธุ์พืช เครื่องจักรกลการเกษตรของไทย นอกจากนี้ยังมีการแสดงเกี่ยวกับกิจกรรมอุตสาหกรรม และรับรองคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร หม่อน-เลี้ยงไหม รวมถึงเห็ด และผลิตภัณฑ์จากเห็ด ด้านพืชพันธุ์

ชั้น 2 นำเสนอเรื่องราวของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งพระราชทานแนวพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน อาทิ โครงการศูนย์พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทฤษฎีใหม่ สหกรณ์โคนม และหมู่บ้านสหกรณ์ โครงการฝนหลวง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินงานด้านการศึกษาทดลองเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธารและการใช้ลุ่มน้ำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ โดยเน้นงานด้านพัฒนาแหล่งน้ำ ป่าไม้ ดินประมง และปลูกหญ้าแฝก

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากมาพระราชดำริ ดำเนินงานด้านการทดลองพัฒนาการเกษตรต่าง ๆ ตามความเหมาะสมสำหรับเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติ รวมทั้งระบบชลประทานและการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยเน้นงานด้านการเกษตรป่าไม้ การพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน ปศุสัตว์และส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากมาพระราชดำริ ดำเนินงานด้านการศึกษาวิจัยดินพรุให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมให้ได้มากที่สุด โดยเน้นงานด้านการวิจัยพัฒนาดินพรุพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรม และพัฒนาเศรษฐกิจ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากมาพระราชดำริ ดำเนินกิจกรรมในการปรับปรุงฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเกษตรได้มากที่สุด โดยเน้นงานพัฒนาที่ดิน วิชาการเกษตร ส่งเสริมการเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ประมง พัฒนาชุมชน และส่งเสริมสหกรณ์

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากมาพระราชดำริ ดำเนินค้นคว้า ทดลอง สาธิตการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านประมงชายฝั่ง เพื่อให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตเพื่อการพัฒนาตนเองได้ในระยะยาว โดยเน้นงานด้านประมง ป่าไม้ วิชาการเกษตรพัฒนาที่ดิน และส่งเสริมสหกรณ์

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินงานด้านการฟื้นฟุสภาพแหล่งเสื่อมโทรม และสร้างแนวป้องกันไฟป่าโดยใช้ระบบป่าเปียกซึ่งจะเน้นงานด้านป่าไม้ พัฒนาที่ดิน และจัดที่ดิน รวมถึงเพาะเลี้ยง และขยายพันธ์สัตว์ป่า

ห้องสมุด เป็นสถานที่รวบรวมและให้บริการหนังสือ เอกสาร ข้อมูล ตลอดจนสื่อต่างๆ สำหรับการค้นคว้าทางการเกษตร

อาคาร 6 อาคารการประมง

แสดงเรื่องราวกิจการประมงน้ำเค็ม น้ำจืด และระบบนิเวศวิทยาใต้น้ำ โดยแบ่งเป็นส่วนย่อยๆดังนี้

• โซน A จัดแสดงหุ่นจำลองเรือประมง รวมทั้งพัฒนาการด้านการประมงไทย และพันธุ์ไม้น้ำ

• โซน B ประมงน้ำจืด จัดแสดงข้อมูลการประมงน้ำจืด หุ่นจำลองเครืองมือเครื่องใช้และระบบนิเวศน้ำจืด

• โซน C ประมงชายฝั่ง จัดแสดงข้อมูลการประมงชายฝั่ง หุ่นจำลองแสดงภาพบ้านชาวประมง

• โซน D ประมงทะเล จัดแสดงข้อมูลการใช้อุปกรณ์ประมงทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม ปลาผิวน้ำ และปะการัง ภาพแกะสลักนุนต่ำโครงกระดูกปลาวาฬ

• โซน E พันธุ์ปลาน้ำจืดและทะเล จัดแสดงภาพพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ

อาคาร 7 อาคารระบบนิเวศ

แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเต่าทะเล การเลี้ยงหอยแบบต่างๆ ระบบนิเวศป่าชายเลน การทำนากุ้งแบบปิด สัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ อาทิ จระเข้ ตะพาบน้ำ หมู่บ้านชาวประมง รวมถึงผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ผลิตภายในประเทศไทย โดยแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ ดังนี้

• โซน A การแนะนำและบรรยายเนื้อหาโดยรวม

• โซน B เต่าทะเล และการเลี้ยงหอย

• โซน C ป่าชายเลน

• โซน D นากุ้ง กุ้งน้ำจืด กุ้งน้ำเค็ม การเพาะพันธ์ การอนุรักษ์ และการพัฒนาพันธุ์

• โซน E จระเข้ และเต่าน้ำจืด

• โซน F อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ

อาคาร 8 อาคารประชุมสัมมนา

สถานที่สำหรับจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน

อาคาร 9 อาคารการปศุสัตว์

แสดงข้อมูลและหุ่นจำลองเกี่ยวกับพันธุ์สัตว์ และวิวัฒนาการด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ การจัดการเลี้ยงดู โรคและการป้องกันรักษา สัตว์เศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ตลอดจนประเพณีเกี่ยวกับสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กับสังคมเกษตรกรไทยใน 4 ภาค อาทิ การชนวัวในภาคใต้ การชนไก่ในภาคกลาง การใช้ควายไถนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวิถีชีวิตของชาวเขาภาคเหนือ

• โซน A ความสัมพันธ์ระหว่างการปศุสัตว์กับสังคมเกษตรกรไทย

• โซน B พันธุ์สัตว์ และวิวัฒนาการด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์

• โซน C อาหารสัตว์ และวิวัฒนาการด้านอาหารสัตว์

• โซน D วิวัฒนาการด้านการจัดการเลี้ยงดูสัตว์

• โซน E โรค และวิวัฒนาการด้านการป้องกัน การรักษา การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจแต่ละประเภท

ตั้งอยู่ที่ ถนนพหลโยธิน กม.46-48 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ตั้งแต่เวลา 9.30 - 15.30 น. วันอังคาร - วันอาทิตย์ ปิดทุกวันจันทร์

โทรศัพท์ 02-529-4015 โทรสาร02-529-2214


ที่มา : http://www.wisdomking.or.th/ เขียนโดย ว่าที่ ร.ต.อัศวิน อินตา