วัดชัยมงคล หรือที่ชาวบ้านเรียกวว่า 'วังมุย' เป็นวัดเล็ก ๆ ในตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน แม้จะเป็นวัดเล็กแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป เนื่องมาจากเจ้าอาวาสรูปแรกคือ ครูบาชุ่ม โพธิโก (พ.ศ. 2442- 2519) ท่านเป็นอริยสงฆ์ที่มีความรู้และเป็นที่นับถืออย่างกว้างขวาง มีศิษยานุศิษย์มากมายที่ศรัทธาในบารมีของท่าน

ครูบาชุ่ม โพธิโก นามเดิมว่า ชุ่ม ปลาวิน กำเนิดเมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 ณ บ้านวังมุย ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เมื่ออายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยบุพการี ได้นำตัวไปฝากเป็นศิษย์ครูบาอินตา แห่งวัดพระธาตุขาว จังหวัดลำพูน จนเมื่ออายุได้ 20 ปี สามเณรชุ่ม ปลาวิน จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระครูบาอินตา เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “โพธิโก” และได้มุ่งมั่นศึกษาทั้งทางด้านปริยัติควบคู่กับด้านปฏิบัติ

ครูบาชุ่มเป็นลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ท่านได้รับใช้และปวารณาตัวช่วยครูบาศรีวิชัยบำเพ็ญสาธาณประโยชน์แก่ชาวล้านนาไว้มากมาย อาทิ สร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ สร้างสะพานศรีวิชัย ข้ามแม่น้ำปิง จากการที่ใกล้ชิดกับครูบาศรีวิชัยท่านจึงมีโอกาสได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากครูบาศรีวิชัย ในช่วงที่การก่อสร้างทางขึ้นดอยสุเทพใกล้แล้วเสร็จ ครูบาศรีวิชัยได้มอบพัดหางนกยูงพร้อมกับไม้เท้าประจำองค์ท่านให้ครูบาชุ่ม และสั่งไว้ว่า “เอาไว้เดินทางเทศนา”

พิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารโพธิกเถรานุสรณ์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ครูบาชุ่ม โพธิโก พระสงฆ์เกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านวังมุยและลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วสารทิศเคารพนับถือ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ตั้งอยู่ภายในศาลาก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวสร้างใหม่ ภายในแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นห้องกระจก ภายในประดิษฐานรูปหล่อครูบาศรีวิชัย และครูบาชุ่มท่านั่งสมาธิขนาดเท่าจริง ซึ่งมีกระจกครอบทั้งสององค์ไว้อีกชั้นหนึ่ง วางไว้ขนาบด้านซ้ายและขวาของโลงศพไม้ (เข้าใจว่าเป็นโลงของครูบาชุ่ม) และโต๊ะหมู่บูชา และอัฐิธาตุของครูบาชุ่ม ส่วนด้านหน้าโต๊ะหมู่บูชา จัดวางรูปหล่อบูชาครูบาชุ่มขนาดเล็กจำนวนหลายสิบองค์ เหรียญครูบาชุ่ม ภาพถ่ายเก่าครูบาชุ่มในอิริยาบถต่างๆ ภาพถ่ายเก่าปราสาทตอนประชุมเพลิง บาตรน้ำมนต์ สร้อยประคำ ผ้ายันต์ และเครื่องรางของขลังต่างๆ ที่เป็นของสะสมของวัดชัยมงคล โดยเฉพาะยันต์สิบสองดอก ซึ่งเป็นเครื่องรางของขลังที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่เชื่อถือในความขลังในหมู่ทหารตำรวจ ตั้งแต่สมัยที่ครูบาชุ่มยังมีชีวิตอยู่ จนปัจจุบันยังมีคนมาขอเช่ากับลูกศิษย์ครูบาคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่ได้รับการสืบทอดวิชาการทำยันต์จากครูบาชุ่ม

ส่วนด้านหน้าห้องกระจกมีป้ายคำนมัสการของทั้งครูบาศรีวิชัย และครูบาชุ่ม เป็นภาษาบาลี พร้อมพานดอกไม้ธูปเทียน ทั้งส่วนบริเวณด้านนอกห้องกระจก เป็นพื้นที่โล่ง ใช้งานในลักษณะสำหรับกราบไหว้นมัสการรูปหล่อของครูบาศรีวิจัยและครูบาชุ่มที่อยู่ด้านใน มิได้จัดแสดงสิ่งของอย่างเป็นระบบระเบียบมากนัก มีเพียงอาสนะสงฆ์เก่าของวัด 2 ตัว และตู้ไม้เก่า 1 หลัง

แหล่งข้อมูล : เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (วังมุย)

ผู้เรียบเรียง : นางสาวจุฑาทิพย์ วิจิตร์