สลากย้อม

สลากย้อม

บุญสลากย้อม วัดประตูป่า จ.ลำพูน 57.mp4

เป็นพิธีทานสลากพิเศษของชาวไทยอง สลากย้อมนี้จะประดิษฐ์จากต้นไม้หรือ กิ่งไม้สูงประมาณ 4-5 วา มีร่มกางที่ปลายยอด ลำต้นของสลากจะมีฟางมัดเป็นกำ ๆ สำหรับปักไม้ไผ่ที่ผูกแขวนเครื่องปัจจัยไทยทาน ซึ่งเครื่องไทยทานนั้นจะเป็นเครื่องประดับ ของมีค่า เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เห็นความเชื่อที่ว่า ผู้ที่ถวายทานสลากย้อมนี้มีเครื่องใช้ในการครองเรือนและมีคุณสมบัติครบถ้วนแก่การครองเรือนแล้วนั่นเอง ทั้งนี้สลากย้อมดังกล่าว เมื่อทำพิธีถวายแก่พระสงฆ์แล้ว เจ้าตัวก็จะรีบบูชากลับคืนไป และจากการสังเกตจากสำนวนคำร่ำสลากย้อมแล้ว พบว่ามีการเรียกสลากชนิดนี้ว่า “กัปปรุกขา” หรือต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ในนิยายที่อาจบันดาลสิ่งต่าง ๆ ตามความประสงค์ของผู้ขอได้

การทานสลากย้อม เป็นการทานสลากภัตชนิดหนึ่ง ซึ่งต้นสลากมีขนาดใหญ่กว่าสลากชนิดอื่น ซึ่งจัดกันมาตั้งแต่โบราณกาลของวัดในหมู่บ้านชาวยองแถบตำบลริมปิง ตำบลประตูป่า ตำบลเหมืองง่า และตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน การทานสลากย้อมมักจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะการทำต้นสลากที่มีขนาดใหญ่และสูงประมาณ 5 – 6 วา และประกอบด้วยเครื่องตกแต่งและเครื่องประดับมากมาย ปัจจุบันถ้าหากจะทำต้นสลากย้อมดังกล่าว คงต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาท ครอบครัวที่จะทานสลากย้อมได้จึงเป็นครอบครัวที่ พอจะมีฐานะและมีลูกสาวอายุ 20 ปีขึ้นไป มีความพร้อมที่จะแต่งงานมีครอบครัว ในอดีตเชื่อกันว่าเป็นหน้าที่ของหญิงสาวที่จะพึงทาน โดยเฉพาะ ฉะนั้นเมื่อหญิงสาวคนใดมีความสามารถพอที่จะทำงานได้ พ่อแม่ ก็จะแนะนำให้ลูกทราบถึงหน้าที่ที่หญิงสาวพึงปฏิบัติเป็นเบื้องแรก คือการเก็บหอมรอมริบเงินทองที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง เพื่อจัดทำต้นสลากย้อม เพราะโบราณกล่าวว่าหญิงใดยังไม่ได้ทานสลากย้อมหญิงนั้นไม่สมควรจะแต่งงาน ถ้าหญิงใดทานสลากย้อมแล้วถือว่าพร้อมที่จะแต่งงานเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีได้ การทำสลากย้อมจึงเป็นการเรียนรู้ฝึกฝนต่าง ๆ เช่น การเย็บปักถักร้อย และงานอื่น ๆ ในหน้าที่แม่บ้าน แม่เรือนอย่างสมบูรณ์แบบ ผู้หญิงชาวยองในชนบทเรียนจบการศึกษาเพียงภาคบังคับ คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่นิยมเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และครอบครัวมีอาชีพหลักในการทำการเกษตร เช่น การทำนา ทำสวน เป็นต้น สาวชาวยองเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง จึงทำนาน ทำสวน เก็บหอมรอมริบด้วยน้ำพักน้ำแรงเป็นเวลาหลายปี การทานสลากย้อมจึงมิได้มีทุกครอบครัว ครอบครัวที่ยังไม่พร้อมก็ถวายทานสลากภัตชนิดก๋วยสลาก หรือสลากโชค ส่วนหญิงสาวที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็จะทานสลากต้นที่มีขนาดเล็กกว่าสลากย้อม แต่มีเครื่องประดับตกแต่งเหมือนสลากย้อมต้นใหญ่ทุกประการและ มีชื่อเรียกว่า “สำรับ”

การเตรียมต้นสลากย้อม

การจัดเตรียมจัดทำเครื่องตกแต่งต้นสลากย้อม นอกจากหญิงสาวจะจัดซื้อหาและจัดทำไว้บ้างแล้ว ยังมีงานที่จะต้องทำและประดิดประดอยอีกมากมายหลายอย่าง แต่ละครอบครัวที่จะทานสลากย้อม หญิงสาวจะขอให้ญาติพี่น้องและเพื่อนมาช่วยกันในการจัดทำเครื่องตกแต่งต้นสลากย้อมซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างในตอนเย็นและตอนกลางคืน บ้างก็จะมานอนค้างคืน ส่วนตอนกลางวันก็จะกลับบ้านไปทำงานบ้านตามปกติ ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนวันทานสลาก และเป็นช่วงเข้าพรรษาหลังจากฤดูทำนา จึงทำให้มีเวลาว่าง มีการ “จ่าตอง” คือการรีดยอดตองด้วยเตารีดถ่าน เพื่อไว้ใช้สำหรับมวนบุหรี่ (ทำบุหรี่) ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมาก แล้วนำบุหรี่ดังกล่าวมาถักเป็นแพ เรียกว่า “มูลีแป” (บุหรี่ที่ถักเรียงกันลงมามีความยาว 3-4 เมตร) เพื่อใช้แขวนประดับกับต้นสลากย้อม และมีการประดับจ้อง (ร่ม) ด้วยดอกไม้แห้ง มีดอกจำปา สร้อยคอ เข็มขัดตลับเงิน เพื่อประดับไว้ส่วนยอดของต้นสลาก รอบ ๆ ขอบชายร่มก็จะนำสตางค์แดงหรือเงินแถบ (เงินรูปี) ถักด้วยข้าวเปลือกเรียงรอบขอบเหรียญด้วยฝีมือประณีตสวยงาม เรียกว่าการถัก “ขะจา” มาร้อยแขวนโดยรอบขอบร่ม และมีการเตรียมมีดและไม้ไผ่สีสุกสำหรับเหลาเฮียวไว้

ในยามค่ำคืนของการเตรียมงานเช่นนี้ ก็จะมีหนุ่ม ๆ ทั้งจากบ้านใกล้และไกลเดินทางมาเที่ยว “แอ๋วสาว”หลอกล้อพูดคุย และช่วยทำงาน เช่น งานเหลาไม้เฮียว เป็นต้น ทำให้บรรยากาศครึกครื้น บ้างก็นำสิ่งของเครื่องใช้ที่ประดิษฐ์อย่างประณีตด้วยตนเองมามอบให้หญิงสาวร่วมนำเข้าของสลาก เพื่อร่วมถวายทาน ส่วนหนุ่มที่หมายปองหญิงสาวเจ้าของสลากย้อมก็จะช่วยทำเครื่องประกอบต้นสลากย้อมอย่างประณีตเป็นพิเศษ เช่น ตะกร้า (อ่านว่า ซ้า) กระบวยที่ประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น

ผู้เรียบเรียง : นางสาวจุฑาทิพย์ วิจิตร์